21 บาทต่อวัน คือ ค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนไทยที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐตาม “โครงการอาหารกลางวัน” คำถามคือ 21 บาทเพียงพอหรือเปล่าสำหรับในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นปัจจุบัน?

โครงการอาหารกลางวัน เกิดจากความตระหนักของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กเนื่องจากพบว่าเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาจำนวนมากขาดแคลนอาหารกลางวันหรือมีอาหารกลางวันแต่ปริมาณไม่เพียงพอ หรืออาหารมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ โครงการอาหารกลางวันจึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2495 ในขั้นทดลองได้จัดหาอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและพบว่าโรงเรียนขาดงบประมาณในการดำเนินงานทำให้ไม่สามารถจัดหาอาหารกลางวันได้อย่างทั่วถึง

กระทั่งปี 2530 สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติได้กำหนดนโยบายให้ดำเนินโครงการอาหารกลางวันทุกโรงเรียนก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ภายใต้คำขวัญ “60 พรรษามหาราชา เด็กประถมศึกษาไม่หิวโหย” และในช่วงปลายปีงบประมาณ 2534 รัฐบาลได้ออกกำหนดให้มีกฎหมาย พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544 กระทรวงศึกษาธิการได้ถ่ายโอนงบประมาณค่าอาหารกลางวันไปให้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดตั้งและจัดสรรงบประมาณเองมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 จนถึงปัจจุบัน

ธงโภชนาการ โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย
ธงโภชนาการ โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย

ผลการประเมินคุณภาพอาหารกลางวันในโรงเรียนปี พ.ศ.2558 ในเอกสาร “คู่มือการจัดการอาหารกลางวันนักเรียนตามมาตรฐานโภชนาการ สุขาภิบาลอาหารและอาหารปลอดภัยสำหรับโรงเรียนประถมศึกษา” ที่จัดทำโดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า

“การตักอาหารให้เด็กยังไม่ได้ปริมาณและสัดส่วนตามธงโภชนาการหรือเหมาะตามวัยและภาวะสุขภาพของนักเรียน โดยเฉพาะอาหารประเภทผัก ผลไม้ส่วนใหญตักให้เด็กต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรได้รับ ส่วนข้าวหรืออาหารประเภทแป้งได้รับมากกว่าความต้องการ และพบว่าในโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนพักนอน เด็กอนุบาลและประถมศึกษาปีที่ 1-6 จะได้รับปริมาณอาหารที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากต้องเฉลี่ยอาหารให้เด็กมัธยมศึกษาปีที่1-3 กินด้วย ภายใต้งบ 20 บาท หรือในบางโรงเรียนมีเงินสมทบอีก 5 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอ”

การปรับอัตราอุดหนุนงบประมาณโครงการอาหารกลางวัน

  • ปีงบประมาณ 2534 รัฐบาลตราพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 ขึ้น
  • พ.ศ. 2542 ปรับขึ้นจาก 5 บาท เป็น 6 บาทต่อคนต่อวัน
  • พ.ศ. 2551 ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาคนละ 10 บาทต่อคนต่อวัน
  • พ.ศ. 2553 ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาจาก 10 บาท เป็น 13 บาทต่อคนต่อวัน
  • พ.ศ. 2556 รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณค่าอาหารกลางวันให้สำหรับเด็กนักเรียนทุกคนในระดับอนุบาลและประถมศึกษา จาก 13 บาท เป็น 20 บาทต่อคนต่อวัน
  • พ.ศ. 2564 ปรับอัตราสนับสนุนค่าอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้น อนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 จาก 20 บาท เป็น 21 บาทต่อคนต่อวัน
ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2565 “น.ส.ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอขอปรับขึ้นอัตราสนับสนุนค่าอาหารกลางวันเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจค่าครองชีพสูงขึ้นทำให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับผลกระทบอย่างมาก เบื้องต้นสำนักงานสภาพัฒนากาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอว่า ควรปรับเพิ่มเงินสนับสนุนอาหารกลางวันสำหรับเด็กเล็กจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 สูงสุด 28 บาทต่อคนต่อวัน อย่างไรก็ตามในวันถัดมา (6 ก.ย.) รมว.กระทรวงศึกษาธิการได้ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยให้เหตุผลว่า “วันนี้มีหลายเรื่องเสนอเข้ามา จึงขอถอนออกมาก่อน ซึ่งที่ผ่านมาเรื่องนี้ได้ผ่านการเห็นชอบจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ สศช. แล้ว แต่มีตัวเลขบางอย่างที่ขอไปดูให้ชัดเจน เช่น กรอบวงเงินที่จะใช้ วงเงินที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งจำนวนโรงเรียนที่จะได้รับเงิน ซึ่งอาจจะไม่เท่ากัน เพราะต้องดูตามขนาดของโรงเรียนให้ชัด คาดว่าจะเสนอครม. ครั้งหน้า”

โครงการอาหารกลางวัน
อาหารกลางวันจากโครงการอาหารกลางวัน

เงิน 21 บาทในตอนนี้ซื้ออะไรมากคงไม่ได้ “นายเสรี เจริญกลาง” ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสระแก้ว อ.เมือง จ.นครราชสีมา บอกว่า “สถานการณ์เศรษฐกิจข้าวของราคาทุกอย่างแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อต้นทุนการทำอาหารกลางวันเด็กนักเรียนอย่างมาก ครั้นจะทอดผ้าป่าเพื่อหารายได้สมทบเป็นทุนค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนก็ทำไม่ได้ เพราะถือว่าโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐมาแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำขณะนี้คือต้องพยายามบริหารจัดการทำอาหารกลางวันให้เพียงพอและมีคุณภาพมากที่สุด”  

“ด้วยงบประมาณ 21 บาทต่อหัว ยืนยันว่าเท่านี้ไม่พอแน่นอน หากสถานการณ์ข้าวของทุกอย่างยังแพงอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะทางโรงเรียนไม่สามารถไปควบคุมราคาวัตถุดิบได้เลย โดยเฉพาะราคาเนื้อหมู เนื้อไก่ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับนำมาเป็นวัตถุดิบอาหารกลางวันเด็กราคาสูงมากแต่ก็จำเป็นต้องซื้อ การเพิ่มเงินค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนให้แค่ 1 บาทไม่สมเหตุสมผลเลย”

เด็กนักเรียนปลูกผักสำหรับทำอาหาร ในโครงการอาหารกลางวัน
เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยไผ่ขุย ปลูกผักเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร

เมื่อเงินสมทบจากภาครัฐไม่เพียงพอเราจะเห็นข่าวอยู่เป็นประจำว่า โรงเรียนตามต่างจังหวัดมักมีโครงการปลูกผักปลอดสารพิษหรือเลี้ยงสัตว์ภายในโรงเรียนเพื่อให้เป็นพื้นที่เรียนรู้การเพาะปลูกและใช้เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารของนักเรียนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายเพราะเงินที่ได้รับสนับสนุนจากรัฐไม่เพียงพอ ดังเช่นที่โรงเรียนบ้านห้วยไผ่ขุย อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 รวม 44 คน ได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันรวม 924 บาทต่อวันแต่ก็ไม่เพียงพอด้วยภาวะเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง

“นางปัทมนันท์ อิสริยภานันท์” ครูชำนาญการพิเศษ รักษาการผู้อำนวยการบอกว่า “ทางโรงเรียนได้ปรึกษากับกรรมการสถานศึกษาและผู้ปกครอง ในการปรับตัวเพื่อให้โครงการอาหารกลางวันของนักเรียนยังคงพอเพียงและนักเรียนได้อิ่มท้องทุกมื้อ จนเกิดเป็นความร่วมมือในการปลูกผักสวนครัวเพื่อนำมาใช้ในโครงการอาหารกลางวันส่วนที่เหลือจากทำอาหารก็จะนำไปจำหน่ายในราคาต้นทุน เพื่อนำเงินที่ได้เป็นทุนไว้ใช้ต่อยอดหมุนเวียน”

เอกสารประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการทานอาหารมังสวิรัติ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เอกสารประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการทานอาหารมังสวิรัติ จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

สพฐ. แนะทานอาหารมังสวิรัติเป็นมื้อกลางวัน

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตให้จัดทำอาหารมังสวิรัติเป็นมื้อกลางวันสำหรับเด็กเพื่อลดการเบียดเบียนสัตว์ช่วงเข้าพรรษา โดยระบุว่า “สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการรับประทานมังสวิรัติในช่วงเข้าพรรษา “กินดี มีบุญ เข้าพรรษา 2565” ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2565โดยการส่งเสริมให้โรงเรียนประกอบอาหารมังสวิรัติและรับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นมื้อกลางวันในวันพระ หรือตามที่โรงเรียนกำหนด รวมจำนวน 9 มื้อ เพื่อลดการเบียดเบียน ส่งเสริมและปลูกฝังความเมตตาต่อสัตว์ตามหลักธรรมทางพุทธศาสนา โรงเรียนสามารถออกแบบพัฒนาอาหารกลางวันแก่นักเรียนอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการและเสริมสร้างพัฒนาสุขภาพที่ดีแก่นักเรียน” พร้อมกับแนบเอกสารกำหนดให้โรงเรียนต้องรายงายผลกิจกรรม ประกอบด้วยชื่อเมนูอาหาร ส่วนผสม วิธีปรุง รูปภาพอาหาร และผลจากการรับประทานอาหารมังสวิรัติของนักเรียน

กิจกรรมข้างต้นทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าแทนที่จะจัดหางบประมาณเพื่อส่งเสริมโภชนาการที่ดีและให้นักเรียนได้ทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ แต่กลับเป็นการสร้างภาระให้สถานศึกษาเพิ่ม เพราะเด็กต้องการสารอาหารที่หลากหลายเพื่อการเจริญเติบโตทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา และพัฒนาการด้านต่างๆ จนเลขาธิการ สพฐ. ต้องออกมาชี้แจงว่า “หนังสือฉบับดังกล่าวไม่ได้เป็นคำสั่งแต่เป็นการรณรงค์เชิญชวนซึ่งดำเนินการมาเป็นประจำทุกปีในช่วงเข้าพรรษา ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ไม่ได้เป็นการบังคับ”

เด็กนักเรียนชาวกัมพูชารอรับอาหาร
เด็กนักเรียนชาวกัมพูชารอรับอาหาร ภาพ TANG CHHIN Sothy / AFP)

ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็ก เพื่อนบ้านของเราอย่าง “กัมพูชา” ก็มีโครงการลักษณะคล้ายๆ กัน ผลการศึกษาย้อนหลังจาก “กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ” หรือ UNICEF พบว่า กัมพูชาต้องใช้งบประมาณกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 14,604,000,000 บาท) หรือคิดเป็น 2.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเพื่อรับมือกับปัญหาภาวะทุพโภชนาการ

โรงเรียนกว่า 1,000 แห่งทั่วกัมพูชามีโครงการอาหารเช้าสำหรับเด็กซึ่งได้รับการสนุนจาก WFP และมีสวนปลูกผักเพื่อการเรียนรู้อีกประมาณ 50 แห่งจาก Plan International องค์กรเพื่อการพัฒนาและมนุษยธรรม เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยก่อนที่จะเริ่มเรียนในแต่ละวันเด็กๆ จะได้รับอาหารเช้าฟรีเป็นข้าว ซุปปลา และผักที่ปลูกจากสวน

“Long Tov” ครูใหญ่โรงเรียน Chroy Neang Nguon บอกว่า “โครงการอาหารเช้าและสวนผักช่วยเพิ่มศักยภาพของนักเรียนที่นี่ทำให้เด็กมีสมาธิ ความจำ และผลการเรียนที่ดีขึ้นจากการได้รับสารอาหารครบถ้วน นอกจากนี้ยังช่วยลดอัตราการหยุดเรียนกลางคันได้อย่างมหาศาล”

โครงการอาหารกลางวัน
อาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน

ย้อนกลับมาที่คำถาม “21 บาทเพียงพอหรือเปล่าสำหรับค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนในปัจจุบัน?” หลายคนน่าจะมีคำตอบในใจตัวเองอยู่แล้วเพราะเงินจำนวนนี้คงซื้ออะไรได้ไม่มากเท่าไร แต่อย่าลืมว่าจุดเริ่มต้นของ “โครงการอาหารกลางวัน” มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก แต่การที่จะไปถึงจุดนั้นได้โครงการนี้ยังต้องการการสนับสนุนด้านงบประมาณที่มากกว่านี้ เว้นเสียแต่ว่าภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “เด็ก” มากนักเมื่อเทียบกับเบี้ยเลี้ยงเบิกจ่ายค่าอาหารของ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา” ในวันที่มีการประชุมซึ่งมีค่าอาหารเฉลี่ย 582 – 861 บาทต่อคน นี่คือคำถามที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป

แหล่งข้อมูลประกอบบทความ

coffee lover and caffeine addict หลงใหลในการเดินทาง เรียนรู้ประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ มองโลกผ่านกล้องถ่ายภาพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก