COVID-19 (โควิด-19) โรคระบาดที่ทำร้ายประชาชนทั่วโลกมากว่า 2 ปีแล้ว โดยนอกจากจะสร้างความเสียหายต่อร่างกายที่ตัวเชื้อนั้นลงไปทำลายปอด ระบบหายใจ จนก่อให้เกิดโรคที่ติดตามมาอีกมากมาย จนสุดท้ายแล้วต้องสังเวยชีวิตของผู้ป่วยไปมากมาย นอกจากนั้นยังทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องชะงัก จากการที่ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างเสรีในช่วงแรก การค้าขายต่างๆที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัวเข้ากับโลกในช่วงที่มี โควิด-19
ระยะเวลาผ่านมากว่า 2 ปี ชาวโลกพยายามอย่างที่สุดเพื่อจะหาทางออกกับโรคระบาดที่ร้ายแรงในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาวัคซีนที่มีที่มาของการสร้างมากมาย ซึ่งผลที่ได้ก็ทำให้คนทั่วโลกสามารถกลับมาใช้ชีวิตที่เกือบจะปกติได้อีกครั้ง สามารถลดการเสียชีวิตไปได้มาก แต่ปัจจุบันสิ่งที่เหล่านักวิจัยกำลังศึกษาก็เห็นจะหนีไม่พ้นการหาตัวยาที่จะมารักษาโควิด-19 ที่เมื่อได้รับเชื้อแล้วต้องใช้เวลารักษาที่ค่อนข้างนานหลายวัน
ยา Molnupiravir ( โมลนูพิราเวียร์ ) เป็นยาต้านไวรัสที่ผลิตโดย Merck, Sharp และ Dohme (MSD) โดยยาต้านไวรัสนี้ถูกทดลองกับกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโควิดที่ได้รับวัคซีนจำนวนกว่า 25,000 คน ซึ่งพบว่าสามารถลดระยะการพักฟื้นได้ ผู้ทดลองเป็นกลุ่มคนไข้ที่ได้รับเชื้อโควิดชนิดโอไมครอน จะได้รับยาวันละสองครั้ง เป็นระยะเวลา 5 วัน นอกจากนี้กลุ่มทดลองที่ถูกเลือกยังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต หรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากโควิด เนื่องจากอายุหรือสภาวะสุขภาพไม่แข็งแรง ในการทดลองยานี้ ผู้ที่รับยาจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวผ่านกระบวนการมาตรฐาน การทดลองนี้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการศึกษาก่อนหน้านี้เกี่ยวกับโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งแนะนำว่ามีประสิทธิผลในการลดการรับเข้ารักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโควิดเล็กน้อยถึงปานกลาง
ผลจากการทดลองในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการรักษาช่วยลดเวลาพักฟื้นประมาณสี่วัน และยังลดปริมาณไวรัสไปจนถึงระดับของการติดเชื้อ โดยแม้จะช่วยฟื้นฟู แต่ยานี้ไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตหรือการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ยานี้ไม่เหมาะสำหรับประชากรทั้งหมด แต่ในสถานการณ์ที่วิกฤตสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ ทำให้โมลนูพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสตัวแรกที่ทำการศึกษาเพื่อใช้รักษาโควิดในชุมชน หมายความว่ายาดังกล่าวต้องรับประทานเองที่บ้านมากกว่าที่สถานพยาบาล
คริส บัตเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านการดูแลเบื้องต้นใน Nuffield Department of Primary Care Health Sciences กล่าวว่า “การค้นหาวิธีรักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และปรับขนาดการรักษาในชุมชน ถือเป็นแนวหน้าที่สำคัญลำดับต่อไปในการตอบสนองโรคระบาดโควิด”
“แต่การตัดสินใจว่าจะรักษาใคร ควรขึ้นอยู่กับหลักฐานทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องคนไข้ที่ควรได้รับยามากที่สุด” คริส บัตเลอร์ กล่าว
อดีตรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอังกฤษ ศ.เซอร์ โจนาธาน แวน-แทม ซึ่งเป็นรองอธิการบดีคณะแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมและผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า “ในขณะที่พบ Molnupiravir ในช่วงเริ่มแรก ทำงานได้ดีเพื่อลดการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโควิด ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน”
แต่สิ่งที่น่าเก็บมาคิดคือการที่ ศ.เซอร์ โจนาธาน แวน-แทม กล่าวต่อไปว่า “การวิจัยล่าสุดนี้ ได้ทำให้เห็นว่าประชากรที่ได้รับวัคซีน มีการป้องกันจากวัคซีนที่ดีเยี่ยม จนไม่มีประโยชน์ที่ชัดเจนจากยาในแง่ของการลดการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต”
ศ.เซอร์ โจนาธาน แวน-แทม กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาของการแสดงอาการและระบาดของไวรัสจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเราต้องรออีกนาน กว่าจะทราบว่ามันจะมีผลกระทบที่เห็นได้ชัดกับ โควิดในระยะยาว (Long Covid)หรือไม่”
เป็นที่น่าติดตามกันว่า หลังจากนี้ประชากรทั่วโลกจะได้รับกระบวนการรักษาโรคโควิด-19 ที่ชัดเจนและเข้าถึงการรักษาง่ายขึ้นหรือไม่ ประเทศไทยเองเมื่อโลกมีกระบวนการการรักษาที่ชัดเจนแล้ว ประชาชนในประเทศจะสามารถเข้าถึงการรักษาโควิด-19 ได้อย่างเท่าเทียมหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่รัฐคงต้องออกมาให้คำตอบกันต่อไป
แหล่งที่มาและข้อมูล: BBC
หากคุณผู้อ่านกำลังสนใจบทความเกี่ยวกับสุขภาพ อ่านที่นี่ได้เลยครับ