“บางนาทีเราก็คิดว่าเรามาทำแบบนี้ทำไม ครอบครัวเราก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า แต่อีกด้านเราก็คิดว่ามันต้องมีคนเริ่มก่อนถ้าเกิดอยากให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลง”
ษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม
คุยกับ “ทนายตั้ม” ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชน เพื่อเยาวชนและสังคม ทนายหนุ่มมากฝีมือ ผู้เปิดหน้าต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม กับประเภทคนที่ไม่คบตลอดชีวิต
“ทนายตั้ม” เล่าว่าชีวิตวัยเด็กของตัวเองเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อกับแม่ทำอาชีพขายปลาทู อยู่ที่ตลาดกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร วัยเด็กไม่ตั้งใจเรียน สอบวิชาอะไรก็ได้เกรด 0 บ้าง 1 บ้าง ถือว่าเป็นเด็กเกเรคนหนึ่งที่ถูไถเรียนจนจบ ม.6 ก่อนจะมาพบกับจุดเปลี่ยนของชีวิต
“ผมจำได้เลยวันนั้นแอบได้ยินพ่อกับแม่เขาคุยกันว่า อยากให้ลูกเราเรียนจบปริญญา มีรูปรับปริญญาติดอยู่ที่ผนังบ้านเหมือนอย่างลูกญาติข้างบ้านเขาบ้าง”
คำพูดไม่กี่ประโยคของพ่อแม่ทำให้ นายษิทรา ในวันนั้น คิดขึ้นมาทันทีว่าเราต้องทำให้ได้ เราต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แล้ว จึงไปเอ็นทรานซ์เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย แต่เมื่อถึงวันสอบกลับทำข้อสอบไม่ได้เลยสักข้อเดียว
จึงเลือกสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่เลื่องชื่อว่าเข้าง่ายแต่ออกยากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยไปหาซื้อแนวข้อสอบเก่าๆ มาอ่านให้มากที่สุดอ่านทั้งวันทั้งคืน จนประสบความสำเร็จได้ปริญญาใบแรกมาครอบครอง ก่อนเรียนต่อปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์อีกหนึ่งใบ จากนั้นก็ไปสอบตั๋วทนาย และเรียนเนติบัณฑิต โดยสอบได้ลำดับที่ 29 ของประเทศ เข้าสู่วงการทนายความเต็มตัว
จุดเริ่มต้นอาชีพทนายความกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือ
เมื่อเรียนจบ “ทนายตั้ม” เล่าว่าได้ไปสมัครทำงานกับลุงแถวบ้านที่เขาเปิดสำนักงานทนายความ ได้เงินคดีละ 1 – 2 พันบาท จนกระทั่งมีบริษัทหนึ่งว่าจ้างให้ทำคดีเงินกู้ ฟ้องร้องลูกหนี้คนละ 5 หมื่นบาท เมื่อฟ้องไปก็ชนะคดีหมด แต่ลูกหนี้หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ากู้ยืมมาเพียงแค่ 1-2 หมื่นบาท ทำไมถึงฟ้องเรียกเงินตั้ง 5 หมื่นบาท จึงเริ่มเอะใจว่าแบบนี้ไม่น่าจะใช่แล้ว
หลังจากไปไปตรวจสอบก็พบว่าบริษัทที่มาว่าจ้างให้ทำคดี ได้ใช้วิธีให้ลูกหนี้เซ็นสัญญากู้ลอยแล้วก็ไปเพิ่มตัวเลขเอาตามใจชอบ เมื่อความจริงปรากฏ “ทนายตั้ม” บอกว่า ตอนนั้นรู้สึกแย่มากว่าเราตกเป็นเครื่องมือให้เขาหรือเปล่า จึงตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกมาตั้งสำนักงานทนายความของตัวเอง และหาวิธีชดเชยสิ่งที่ทำลงไป
โดยใช้เวลาว่างในวันเสาร์-อาทิตย์ มาตั้งโต๊ะในชุมชนให้คำปรึกษากับชาวบ้านแถวบ้านฟรี ช่วงแรกๆ ไม่มีใครกล้าเข้ามาคุยด้วยเลย เพราะกลัวทนายเรียกเก็บเงิน แต่นานวันไปก็เริ่มมีชาวบ้านเข้ามาพูดคุย สะท้อนปัญหาในชุมชน มีลูกความเยอะขึ้นเรื่อยๆ พอให้คำปรึกษาเสร็จชาวบ้านก็จะให้เงินบ้าง ผักผลไม้บ้าง เป็นสินน้ำใจที่มีให้กัน
โครงการพี่สอนน้อง ให้เป็นคนดีของสังคม
หลังจากฟังชาวบ้านมาสะท้อนปัญหาเยอะขึ้นเรื่อยๆ ก็พบว่าแต่ละครอบครัวมีปัญหาที่แตกต่างกัน แต่จุดที่คล้ายกันคือปัญหาในครอบครัวเรื่องการดูแลลูกหลาน ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ลูกหลานไปขี่รถจักรยานยนต์เป็นเด็กแว้น ซิ่งรถ หรือยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จึงปิ๊งไอเดียนำความรู้ที่ตัวเองมีก่อตั้ง “โครงการพี่สอนน้อง ให้เป็นคนดีของสังคม”
“เราไม่ได้ไปสอนกฎหมายให้เด็ก แต่เรานำประสบการณ์ เรื่องราวของชีวิตประจำวันไปบอกเล่าให้เขาฟัง แล้วปรับให้มันเข้ากับกฎหมาย จากนั้นมันก็เริ่มมีกระแสจากผู้ปกครองที่บอกต่อกันว่าเป็นโครงการที่ดี จนท่านรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ให้ทีมทนายความของเราไปพบ และท่านให้เราไปทำโครงการนี้ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และอีสาน ซึ่งเริ่มทำมานานกว่า 10 ปีแล้ว”
ชื่อของนายษิทรา เบี้ยบังเกิด และมูลนิธิทีมงานทนายประชาชน เพื่อเยาวชนและสังคม เริ่มกลายเป็นที่รู้จัก และโด่งดังไปทั้งจังหวัด ก่อนจะมาทำคดีหวย 30 ล้าน จนประชาชนรู้จักทั้งประเทศ
สารพัดคำขู่ตลอดเส้นทางทนายความ
ส่วนคดีที่กดดันที่สุดทนายชื่อดังคนนี้เล่าว่าจะเป็นคดีไหนไม่ได้ นอกจากคดีที่ตำรวจทำให้ผู้ต้องหาเสียชีวิต (คดีที่ตำรวจใช้ถุงดำคลุมศีรษะผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต) เนื่องจากตำรวจคนนั้นให้การปฏิเสธ และช่วงแรกสังคมก็เกิดความสงสัย แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายว่าตำรวจทำจริงหรือไม่ จนได้รับหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดมา เมื่อเปิดดูก็คิดอยู่พักหนึ่งว่าถ้าเกิดเราทำมันจะส่งผลกลับมาที่เรามากน้อยแค่ไหน แต่ก็คิดอีกด้านว่าแล้วถ้าเราไม่ทำเขาอาจจะทำแบบนี้กับคนอื่นอีกก็ได้จึงตัดสินใจเปิดเผยคลิป
การทำคดีกับคนที่มีอิทธิพล หรือการทำคดีใดก็ตามการ์ดเราจะต้องสูง ข้อที่หนึ่ง ไม่เปิดช่องโหว่ให้เขาฟ้องร้องกลับได้ ข้อที่สองต้องปกป้องแหล่งข่าวที่มาให้ข้อมูลกับเรา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีไม่ให้เขาได้รับผลกระทบ และต้องชั่งน้ำหนักให้ดีเรื่องการเปิดเผยข้อมูล เพราะบางเรื่องก็ต้องเปิดเผยให้สังคมรับรู้
คดีที่ผ่านมาแทบจะทุกคดีที่มีผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง “ทนายตั้ม” เล่าว่าตัวเองถูกข่มขู่มาโดยตลอด บางครั้งก็คนมาเฝ้าที่หน้าหมู่บ้าน โทรศัพท์มาข่มขู่ หรือให้คนที่เรารู้จักเองมาเตือนว่าอย่ายุ่งกับเรื่องนี้ ถ้ามายุ่งจะไม่รับประกันว่าจะเกิดอันตรายขึ้นหรือไม่ บางคนก็ข่มขู่ไปถึงครอบครัว ก็เจอมาทุกรูปแบบแล้ว รู้สึกห่วงความปลอดภัยของครอบครัว จึงส่งลูกไปเรียนที่ต่างประเทศ
“บางนาทีเราก็คิดว่าเรามาทำแบบนี้ทำไม ครอบครัวเราก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า แต่อีกด้านเราก็คิดว่ามันต้องมีคนเริ่มก่อนถ้าเกิดอยากให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลง เราเริ่มนับหนึ่งก่อนเราเป็นทนายที่กล้าออกมาทำแบบนี้มันเหมือนกับเปิดสวิตช์ดวงแรก เดี๋ยวคนอื่นเขาเห็นเขาก็จะตามกันมาเอง โดยยึดคติเตือนใจไว้ตลอดว่านักกฎหมายต้องมีใจเสียสละ มีธรรมะในใจอยู่เสมอ พร้อมต่อสู้กับสิ่งผิดที่ได้เจอ นั่นแหละเธอนักกฎหมายที่แท้จริง”
ทนายตั้ม ยังเล่าว่าตลอดเวลาที่ทำอาชีพทนายความเจอคนมาหลายรูปแบบ แต่ คนประเภทที่ตัวเองเลือกจะไม่คบแน่นอนคือคนที่เคยหักหลังเรามาก่อน หากเราให้อภัยแล้วกลับมาคบกันอีกครั้งจะมีอะไรประกันว่าเขาจะไม่เหยียบหัวเราอีก และคนอีกประเภทหนึ่งคือพวกต่อหน้าอย่างลับหลังอย่าง คนประเภทนี้รู้จักกันได้แต่ต้องอยู่ห่างๆ เพราะไม่ได้เลวร้ายเหมือนกับคนประเภทแรก
สำหรับใครที่อยากจะมาปรึกษาคดีหรือติดต่อให้ทางทางทีมทนายไปบรรยายกฎหมายให้ฟรี สามารถติดต่อมาได้ที่เพจ Facebook ษิทรา เบี้ยบังเกิด ส่วนคดีว่าจ้างตอนนี้ “ทนายตั้ม” เปิดสำนักงานชื่อ Sittra Law Firm ที่ตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์ สาทร สามารถแอดไลน์ @sittra โดยมีค่าปรึกษาทางโทรศัพท์ 1 พันบาท แต่ถ้าจะมาปรึกษาคดีที่สำนักงานก็มีค่าปรึกษา 3 พันบาท และหากไม่มีเงินจ้าง แต่อยากให้ทนายตั้มทำคดีให้ มีเงื่อนไขว่าคุณจะต้องเป็นฝ่ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ใช่คนที่ไปเอาเปรียบเขา ก็สามารถติดต่อมาหาทนายตั้มได้เช่นกัน