นาแปลงใหญ่ ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มเพื่อผลิต เพื่อจำหน่าย เพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกรตลอดกระบวนการผลิต ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในที่สุด ภายใต้เงื่อนไขที่เกษตรกรยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่และทำการผลิตเอง มีเป้าหมายการดำเนินงานของกลุ่มชัดเจน
โดยเกษตรกรที่จะสามารถเข้ารับการส่งเสริมในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ได้ จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการดังนี้
1. เกษตรกรต้องมีการรวมตัวกัน 30 คนขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกัน 300 ไร่ ขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องเป็นแปลงติดกันเป็นผืนเดียวแต่ควรมีพื้นที่อยู่ภายในชุมชนใกล้เคียงกัน
2. เกษตรกรต้องสมัครใจเข้าร่วมโครงการ และควรมีกระบวนการร่วมกลุ่ม แต่หากยังไม่เป็นกลุ่ม ต้องเป็นกลุ่ม ที่สามารถนำมาพัฒนาให้เกิดเป็นกลุ่มต่อไปได้
นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าวกล่าวว่าสำหรับโครงการนาแปลงใหญ่ ถือเป็นหัวใจหลักของการรวมตัวกันของเกษตรกร เพื่อที่จะแก้ปัญหาทั้งในด้านปัจจัยการผลิต การขายสินค้า รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เนื่องจากการทำนาคนเดียว เกษตรกรยังไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะไปต่อสู้กับต้นทุนการผลิต และมีอำนาจต่อรองกับตลาดได้เท่าที่ควร ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบถึงปัญหาที่พี่น้องเกษตรกรได้รับและไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้เร่งลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการขยายพื้นที่นาแปลงใหญ่ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกษตรกรรวมตัวกันผลิต รวมตัวกันจำหน่าย และมีอำนาจต่อรองราคากับตลาด
โดยที่ผ่านมากรมการข้าวรับผิดชอบดูแลในเรื่องของนาแปลงใหญ่ ก็ได้มีการสนับสนุนงบประมาณให้กับกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ เป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาทต่อกลุ่ม สำหรับให้เกษตรกรได้นำไปซื้อเครื่องไม้เครื่องมือที่มีความจำเป็นต่อภาคการผลิตข้าว เช่น รถดำนา รถไถ รถเกี่ยวนวดข้าว โดรน รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำนาทั้งหมด
“ตอนนี้กลุ่มนาแปลงใหญ่ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมการข้าว มีอยู่ประมาณ 2,027 กลุ่ม เป็นเงิน 7,000 กว่าล้านบาท สำหรับให้พี่น้องเกษตรกรได้ไปซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ ฉะนั้นนาแปลงใหญ่จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะต้องรวบรวมพี่น้องเกษตรกรอาชีพเดียวกัน หรือปลูกพืชชนิดเดียวกันรวมกันให้เป็นกลุ่ม แล้วก็มารวมกันผลิต มาใช้เครื่องไม้เครื่องมือร่วมกัน ทางภาครัฐก็ได้สนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือให้กับพี่น้องเกษตรกร เพราะเล็งเห็นแล้วว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำนามีต้นทุนที่สูง ก็เกิดมาจากการที่พี่น้องเกษตรกรต้องไปเช่าเครื่องมือ หรือว่าไปจ้างเครื่องมือจากทางภาคเอกชน หรือว่าเกษตรกรบางรายที่มีเครื่องไม้เครื่องมือในพื้นที่ ในราคาค่อนข้างสูง จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตของพี่น้องเกษตรกรสูงตามไปด้วย” นายณัฏฐกิตติ์ กล่าว
ฉะนั้นนโยบายยุทธศาสตร์ชาติของประเทศ ตั้งแต่สมัยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต ทำได้ในต้นทุนที่ต่ำ และมีประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องเกษตรกรจะต้องรวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการบริหารต้นทุน รวมถึงทำให้ระบบการทำงานของนาแปลงใหญ่เป็นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งนอกจากการสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือแล้ว กรมการข้าวยังได้มีการสนับสนุนในส่วนของเมล็ดพันธุ์ที่ดี รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนการแปรรูปสร้างมูลค่า ขึ้นอยู่กับกลุ่มสมาชิกนาแปลงใหญ่ตกลงกัน ถือว่าเป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นับเป็นนโยบายที่ดีในการส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรมีความเข้มแข็ง
“หลังจากที่เกษตรกรรวมตัวกันผลิตแล้ว ผลผลิตที่ได้ออกมา ยกตัวอย่างภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี ภาคกลาง สระบุรี พิษณุโลก กำแพงเพชร ภาคเหนือ เช่น เชียงราย ล้วนแล้วเป็นกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะภาคอีสาน ที่มีการแปรรูปทำข้าวฮาง ข้าวกล้องงอก ข้าวกล้องงอกผง น้ำนมข้าวกล้อง และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอื่นๆ อีกมากมายในการเพิ่มมูลค่า” นายณัฏฐกิตติ์ กล่าว
ซึ่งความหลากหลายของนาแปลงใหญ่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรมากมายเลย โดยที่กรมการข้าวได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความรู้ แล้วรวบรวมนำกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่มารับการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต และการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยจะขอยกกลุ่มตัวอย่างนาแปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ ดังนี้
1. กลุ่มเกษตรกรต้นน้ำ แปลงใหญ่ข้าว หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 9 ตำบลลมศักดิ์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
คุณจิรณี พิมผุย รองประธานวิสาหกิจชุมชน นาแปลงใหญ่ หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 9 ตำบลลมศักดิ์ อำเภอขุขันธ์จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 9มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 60 ราย มีพื้นที่ทำนาทั้งหมด 780 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ ที่ได้รับรองมาตรฐานจากโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ จากกรมการข้าว 9 ราย บนพื้นที่จำนวน 160 ไร่ และแบ่งเป็นพื้นที่กำลังปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบอินทรีย์อีก 41 ราย บนพื้นที่กว่า 580 ไร่
โดยในปี 2564 ทางวิสาหกิจชุมชน นาแปลงใหญ่ หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 9 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมการข้าว สำหรับการจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นจำนวนเงินกว่า 2,880,000 บาท เพื่อช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ยังขาดแคลนเครื่องจักรกลการเกษตร และไม่มีเงินทุนที่มากพอสำหรับการไปจ้างรถไถ เครื่องเกี่ยวข้าว รวมถึงอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในการทำการเกษตร
“หลังจากที่ทางวิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่ของเรา ได้รับงบสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรจากกรมการข้าว ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกทุกคนก็ดีขึ้น ทั้งในด้านการผลิตที่สะดวกสบายขึ้น โดยเฉพาะในด้านของการลดต้นทุนการผลิตที่เห็นได้อย่างชัดเจน และนอกจากการสนับสนุนด้านเครื่องไม้เครื่องมือในการทำเกษตรแล้ว ทางกรมการข้าว รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีต่างๆ ยังได้มีการส่งเจ้าหน้าที่คอยสลับกันเข้ามาอบรมให้ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวให้ได้คุณภาพ รวมถึงการถ่ายทอดนวัตกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้าวอีกด้วย” คุณจิรณี กล่าว
ซึ่งจากที่เมื่อก่อนเคยขายแต่ข้าวเปลือกให้กับโรงสีได้กิโลกรัมละ 8-9 บาท แต่พอหลังจากการนำข้าวมาแปรรูปเป็นข้าวกล้องหอมมะลิก็สามารถเพิ่มมูลค่าได้เป็นกิโลกรัมละ 80 บาท และได้มีการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของเรา มีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวกว่า 7 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวกล้อง 3 รส ข้าวกล้องมะลิแดง ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้องงอก น้ำข้าวกล้องงอก และข้าวกล้องผง รวมถึงการนำรำข้าว ที่เป็นผลพลอยได้จากการสีข้าวเปลือกมาเลี้ยงสัตว์ในชุมชน และนำแกลบมาทำเป็นปุ๋ยในนาข้าว ช่วยสร้างความยั่งยืนที่แท้จริงสู่ชุมชน
2. กลุ่มเกษตรกรกลางน้ำ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวบ้านดอนไม้งาม หมู่ที่ 6 ตำบลหนองหมี่ อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
คุณสมบูรณ์ คำเอี่ยม ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่บ้านดอนไม้งาม กล่าวว่าจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งกลุ่ม เกิดขึ้นจากการที่อยากจะหาวิธีช่วยสมาชิกให้สามารถช่วยเหลือพึ่งพาตนเองได้ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่บ้านดอนไม้งาม เริ่มมีการจัดตั้ง ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2554 มีสมาชิก 30 ราย จนถึงปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 193 ราย ซึ่งการรวมกลุ่มนาแปลงใหญ่ คนที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดก็จะเป็นสมาชิก เพราะว่าขายข้าวได้ราคาสูง รวมไปถึงเข้าใจในเรื่องของการผลิตข้าว เพื่อให้ได้ข้าวมาตรฐาน
โดยในแต่ละปีจะมีคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจประมาณ 4 ครั้ง จนกว่าจะเก็บเกี่ยว เนื่องจากการทำนาในพื้นที่นี้มีทั้งการทำนาเพื่อผลิตภัณฑ์ข้าวปลูก พร้อมทั้งนำผลผลิตที่ได้นำมาสีเป็นข้าวสารเพื่อจำหน่าย และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วยการนำมาผลิตเป็นผงข้าวกล้องงอก ซึ่งเกณฑ์การแปรรูปจะดูตามความต้องการของตลาดเป็นหลัก หากช่วงไหนพันธุ์ข้าวปลูกขายได้ดี จะนำมาทำการแปรรูปน้อยลง เพราะฉะนั้นผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสินค้าได้มาตรฐานเพราะมีการตรวจสอบอยู่เสมอ
สำหรับการทำตลาดของกลุ่มคือ ขายพันธุ์กระสอบละ 25 บาท นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวที่หลากหลายเพื่อรองรับตลาด คือ 1. ข้าวแพ็ก บรรจุ 1 กิโลกรัม ราคาเพ็กละ 40 บาท 2. ข้าวกล้องงอก บรรรจุ 1/2 กิโลกรัม ราคาแพ็กละ 40 บาท 3. ข้าวกล้องงอกผง มี 4 รสชาติ ได้แก่ ชาเขียว โกโก้ นม คอลลาเจน กล่องละ 20 บาท และ 4. น้ำจากข้าวกล้องงอก ขวดละ 10 บาท
“การรวมกลุ่มทำให้การตลาดเกิดความเข้มแข็ง และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเราพี่น้องเกษตรกรได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยทุกปีเฉลี่ยสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งออกจำหน่ายเป็นจำนวน 12-15 ตันต่อปี และข้าวสารที่นำมาทำการแปรรูปจำหน่ายอยู่ที่ 15-20 ตันต่อปี ” คุณสมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
3. กลุ่มเกษตรกรปลายน้ำ แปลงใหญ่ข้าวบ้านมะยาง (มะยางทอง) หมู่ที่ 16 ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
คุณกิตติศักดิ์ สิงห์คำ ประธานแปลงใหญ่ข้าวบ้านมะยาง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า แปลงใหญ่ข้าวบ้านมะยาง มีจุดเริ่มต้นจากศูนย์ส่งเสริมขยายพันธุ์ข้าวตำบลหนองแค ภายใต้แนวความคิด ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ในนาข้าว และการแปรรูปข้าวจากสมาชิก เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน
ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกจำนวน 120 คน มีพื้นที่ผลิตข้าว 2,008 ไร่ มีเป้าหมายในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี 100 ตัน เป้าหมายการผลิตข้าวสารอินทรีย์ 600 ตัน ข้าวเปลือกหรือข้าวสาร 300 ตัน
โดยผลิตภัณฑ์หลักของ “ข้าวมะยางทอง” คือ ข้าวหอมมะลิออร์แกนิก ข้าวงอกหอมมะลิออร์แกนิก ข้าวไรซ์เบอร์รี่ออร์แกนิก สินค้าของกลุ่มได้รับการคัดสรรโอท็อป 5 ดาวทุกประเภท
และนอกจากการแปรรูปข้าวออร์แกนิกแล้ว ทางกลุ่มยังได้นำข้าวมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ข้าวกล้องงอก ที่ผ่านการบ่มให้เกิดการงอก มีสารกาบาถึง 15 เท่า เพิ่มคุณประโยชน์ต่อร่างกาย , โจ๊กข้าวกล้องงอกอินทรีย์ ที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงสมอง มีสารต้านอนุมูลอิสระ
สำหรับการตลาด ทางกลุ่มเน้นขายตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยจำหน่ายสินค้าผ่าน Trader จำหน่ายหน้าร้านของกลุ่ม และร้านขายผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดศรีสะเกษ รวมถึงการนำสินค้าออกบูธในงานแสดงสินค้าต่างๆ โดยรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐทั้งในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือในการทำเกษตร การสนับสนุนองค์ความรู้ และการผลักดันตลาด ทำให้กลุ่มสมาชิกไม่ต้องเผชิญกับปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ ขาดทุนจากการทำนาอีกต่อไป