ความเป็น “อมตะ” ของเพลง “ประวัติศาสตร์”
“ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน เปลี่ยนไปเป็นฉันและเธอเท่าเทียมกัน ประวัติศาสตร์ในวันนี้ จะแตกต่างจากวันนั้น รักของเราจะทันสมัย”
“ประวัติศาสตร์” เพลงจังหวะสนุกๆ ชวนลุกขึ้นมาเต้น แถมยังมีเนื้อหาชวนฉุกคิด จากอัลบั้มชุด “นินจา” ผลงานเดี่ยวชุดแรกของ “คริสติน่า อากีล่าร์” เมื่อปี 2533 กลายเป็นหนึ่งใน “ผลงานอมตะข้ามกาลเวลา” จากอุตสาหกรรมเพลงไทยยุค 90 ซึ่งไม่เพียงถูกขับร้องบนเวทีคอนเสิร์ต ถูกเปิดตามสถานบันเทิงนานาชนิด มาอย่างต่อเนื่องร่วมสามทศวรรษ
แต่เพลงเพลงนี้ยังมีสถานะเป็น “เพลงการเมือง” ทั้งในฐานะบทเพลงวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารตั้งแต่ปี 2549-2557 จนมาถึงการเป็นเพลงประจำม็อบเยาวชนช่วงต้นทศวรรษ 2560
ความเป็นอมตะของเพลง “ประวัติศาสตร์” ยึดโยงกับเนื้อหาคลาสสิกที่กล่าวถึงแก่นสัจธรรมของเรื่องราว “ประวัติศาสตร์” ทุกหน้าบนโลกใบนี้ ซึ่งย้ำเตือนกับเราว่า “ความเปลี่ยนแปลงคือนิรันดร์”
แล้วเพิ่มเติมแง่มุมความคิดอันคมคายว่าด้วยประเด็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ต้องเท่าเทียมกันระหว่าง “ชาย” กับ “หญิง” ลงไป
คนเขียนเนื้อเพลง “ประวัติศาสตร์” ชื่อ “มวล พร้อมพงศ์” แล้ว “มวล พร้อมพงศ์” เป็นใคร?
ปริศนาอีกข้อหนึ่งที่หลายคนสงสัยใคร่รู้ และยังไม่มีใครมาเฉลยให้เกิดความกระจ่างชัดในระดับสาธารณะ ก็คือ ตัวตนจริงๆ ของ “คนเขียนเนื้อร้อง” เพลง “ประวัติศาสตร์”
ระบบการทำงานและเผยแพร่ผลงานของค่ายแกรมมี่ที่ค่อนข้างให้เกียรติ-ให้ความสำคัญกับคนเบื้องหลัง ทำให้เรารับทราบอย่างเด่นชัดว่าผู้แต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรีเพลง “ประวัติศาสตร์” คือ “โอม-ชาตรี คงสุวรรณ” อดีตสมาชิกวง “ดิ อินโนเซนต์” ซึ่งมีสถานะเป็นโปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม “นินจา” ด้วย
แต่ข้อมูลที่คลุมเครืออย่างยิ่งกลับเป็นตัวตนของผู้เขียนเนื้อร้อง ซึ่งใช้นามปากกาว่า “มวล พร้อมพงศ์”
ตลอดช่วงทศวรรษ 2530-2540 แกรมมี่นั้นมีกระบวนการก่อร่างสร้างอัตลักษณ์และชื่อเสียงของคนเบื้องหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณี “คนเขียนคำร้อง” ที่เข้มข้นจริงจังไม่น้อย
หรือในอีกด้านหนึ่ง นี่อาจเป็นผลลัพธ์โดยบังเอิญของกระบวนการจัดจำหน่ายเทปคาสเส็ตที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยชื่อเสียงเรียงนามของ “คนแต่งเพลง” สามารถแพร่กระจายออกสู่การรับรู้ของสาธารณชน ไปพร้อมๆ กับข้อความเครดิตคนทำงานที่ปรากฏในปกเทป ซึ่งอาจมียอดจำหน่ายถึงหลักล้านตลับ
สถานภาพ “นักแต่ง (เนื้อ) เพลง” ผู้ประสบความสำเร็จของ “ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค” คือดอกผลหนึ่งจากกระบวนการและความบังเอิญทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว
แม้จะไม่โด่งดังเทียบเท่าศิลปิน แต่ “นักแต่ง (เนื้อ) เพลง” ฝีมือโดดเด่นหลายรายก็มักถูกติดต่อขอสัมภาษณ์จากสื่อนิตยสารจำนวนมากมายในยุคนั้น ขณะที่อาชีพ “คนแต่งเนื้อร้อง” ก็กลายเป็นงานในฝันของคนหนุ่ม-สาวยุค 2530-2540 จำนวนไม่น้อย
ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น จึงไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นหากแฟนเพลงจะต้องการค้นหาคำตอบว่า “นักแต่งเพลง” คนนี้ เขียน “เนื้อร้อง” ของเพลงฮิตเพลงไหนบ้าง หรือ “นามปากกา” นี้ เป็นนามแฝงของ “นักแต่งเพลง” คนใด
แต่ปริศนาน่าสนใจ ก็คือ แทบไม่มี “นักแต่ง (เนื้อ) เพลง” คนไหน ที่ออกมากล่าวอ้างผ่านลายลักษณ์อักษรหรือถ้อยคำสัมภาษณ์ใดๆ ว่าตนเองเป็นเจ้าของนามปากกา “มวล พร้อมพงศ์” ผู้เขียนคำร้องเพลง “ประวัติศาสตร์”
กระทั่งในยุคเฮือกสุดท้ายของอุตสาหกรรมซีดี (หลังจากเทปคาสเส็ตตกยุคมาพักใหญ่) ซึ่งทางแกรมมี่ได้เคยผลิตอัลบั้มรวมฮิตให้แก่บรรดา “นักแต่งคำร้องมือเอก” ของบริษัทแยกเป็นรายบุคคล ก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างยิ่งที่ไม่มีเพลง “ประวัติศาสตร์” ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มรวมฮิตกลุ่มนั้น
หมายความว่า “นักแต่ง (เนื้อ) เพลง” ดังๆ ผู้มีลายเซ็นเป็นของตนเอง ต่างมิได้เป็นเจ้าของนามปากกา “มวล พร้อมพงศ์”
ท่ามกลางความไม่ชัดเจน นักฟังหลายรายอาจมี “ทฤษฎี” ที่ผิดแผกกันไป ในการคาดเดาว่าใครคือ “มวล พร้อมพงศ์”
บางคนอาจเชื่อว่านี่คือนามปากกาหนึ่งของ “นิติพงษ์ ห่อนาค” เพราะถึงแม้ “ดี้ นิติพงษ์” จะไม่ได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าพ่อเพลงเร็ว” แห่งค่ายแกรมมี่ แต่อย่างน้อยที่สุด เมื่อปี 2532 เขาก็เคยเขียนเนื้อร้องเพลง “เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม” ของ “บิลลี่ โอแกน” โดยมี “ชาตรี คงสุวรรณ” เป็นผู้แต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรี (เช่นเดียวกับเพลง “ประวัติศาสตร์”)
ถ้ามองว่าคนเขียนเนื้อเพลง “ประวัติศาสตร์” ควรเป็นยอดฝีมือระดับ “เจ้าพ่อเพลงเร็ว” นี่ก็อาจเป็นผลงานของ “ประชา พงศ์สุพัฒน์” ผู้แต่งคำร้องเพลงเร็วที่ได้รับความนิยมหลายต่อหลายเพลงของศิลปินแกรมมี่ในช่วงทศวรรษนั้น
ถ้ามองว่าเนื้อหาอันคมคายเกินเพลงรักที่ปรากฏในเพลง “ประวัติศาสตร์” ควรเกิดขึ้นจากมันสมองของ “นักแต่งคำร้อง” ผู้ชอบร้อยเรียงถ้อยคำสละสลวยเข้ากับความคิดที่ลึกซึ้ง นี่ก็อาจเป็นผลงานของ “เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์” คนดนตรีอาวุโสผู้ล่วงลับ
ถ้ามองว่าเพลงของศิลปินหญิงที่พูดถึงการเมืองเรื่องเพศสภาพอย่างมาก่อนกาลเพลงนี้ น่าจะเป็นฝีมือของ “นักแต่ง (เนื้อ) เพลงผู้หญิง” ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 ค่ายแกรมมี่ก็มี “คนเขียนคำร้องสตรี” อยู่สองราย ได้แก่ “สีฟ้า” (กัลยารัตน์ วารณะวัฒน์) และ “วรัชยา พรหมสถิต”
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ “มวล พร้อมพงศ์” จะเป็นนามปากการ่วมของ “นักแต่ง (เนื้อ) เพลง” หลายๆ คน ด้วยวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมอันเข้มแข็งในบริษัทแกรมมี่ยุคตั้งไข่
แต่ก็ไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ชัดเจนอยู่ดีว่า มี “นักแต่งคำร้อง” คนใดบ้างที่ประกอบร่างกันขึ้นเป็น “มวล พร้อมพงศ์”? และพวกเขา/เธอมีด้วยกันทั้งหมดกี่คน?
โดยส่วนตัว ในฐานะ “คนฟังเพลงที่สงสัยใคร่รู้” คนหนึ่ง หลังจากสืบสวนสอบสวนและครุ่นคิดจินตนาการเกี่ยวกับ “มวล พร้อมพงศ์” โดยไม่พบเบาะแสเพิ่มเติมมานานหลายปี ผมก็พบเจอ “ทางลัด” เข้าจนได้เมื่อปลายปี 2561
เวลานั้น ผมได้อ่านหนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง” ของ “สุรักษ์ สุขเสวี” หนึ่งใน “นักแต่ง (เนื้อ) เพลง” ของแกรมมี่ยุครุ่งเรือง
จากเนื้อหาภายในหนังสือเล่มดังกล่าว ผมพอจะจับท่าทีได้ว่า “สุรักษ์” ดูมีความสุขมากๆ เวลาเขียนถึงสภาพการทำงานที่แกรมมี่ในทศวรรษ 2530
ดูคล้ายความทรงจำของเขาจะพรั่งพรูเป็นพิเศษเวลาเขียนถึงเพื่อนๆ พี่ๆ ทีม “นักแต่งเพลง” ยุคแรกของแกรมมี่
ที่สำคัญ ดูเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจกับการได้เขียนเนื้อร้องให้เพลงดังๆ เช่น “หัวใจขอมา” และ “นาทีที่ยิ่งใหญ่” ของ “คริสติน่า อากีล่าร์”
บางที “สุรักษ์ สุขเสวี” อาจเป็นผู้หนึ่งที่พอจะให้คำตอบได้ว่าใครคือ “มวล พร้อมพงศ์”
ผมไม่รอช้ารีบลงมือเขียนข้อความกึ่งจดหมายไปหา “สุรักษ์” ผ่านทางโซเชียลมีเดียประเภทหนึ่ง
ในข้อความที่ส่งไป ผมระบุว่าเพิ่งได้อ่านหนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง” ของเขา และคิดว่าเขาน่าจะเป็นผู้ตอบคำถามได้ว่าใครคือ “มวล พร้อมพงศ์” ผู้แต่งเพลง “ประวัติศาสตร์”
ผ่านไปหนึ่งคืน “สุรักษ์” ก็ส่งคำตอบกลับมาด้วยดีและฉันมิตร
“นักแต่งเพลง” ผู้นี้ เริ่มต้นด้วยการแจ้งให้ผมทราบว่า “มวล พร้อมพงศ์” คือนามปากการ่วม
โดยนามสกุล “พร้อมพงศ์” ก็มาจาก “ซอยพร้อมพงศ์ 39” ซึ่งที่เป็นที่ตั้งของออฟฟิศบริษัทแกรมมี่ยุคนั้น
ส่วนใครคือ “มวล พร้อมพงศ์” บ้าง สุรักษ์บอกใบ้ให้ผมกลับไปอ่านรายชื่อทีม “นักแต่งคำร้อง” สิบคนแรกของค่ายแกรมมี่ ซึ่งเขาไล่เรียงเอาไว้ในบทที่เขียนถึงเพลง “นักเดินทาง” จากหนังสือ “ชีวิตลิขิตเพลง”
คนเหล่านั้นทั้งหมดนั่นแหละ คือ “มวล พร้อมพงศ์”
เมื่อไปนั่งทำการบ้านตามคำชี้แนะของ “สุรักษ์” ผมจึงพบว่า “มวล พร้อมพงศ์” เป็นนามแฝงของ “ทีมเขียนเนื้อ” จำนวนสิบชีวิต อันประกอบด้วย นิติพงษ์ ห่อนาค, เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, ประชา พงศ์สุพัฒน์, อรรณพ จันสุตะ, สีฟ้า (กัลยารัตน์ วารณะวัฒน์), นวฉัตร (สมควร มีศิลปสุข), วรัชยา พรหมสถิต, วีระเกียรติ รุจิรกุล, จักราวุธ แสวงผล และสุรักษ์ สุขเสวี
“ประวัติศาสตร์” ที่ยังไม่สิ้นสุด
หลังทราบคำตอบใหม่ๆ ผมรู้สึกว่าภารกิจในการตามหา “มวล พร้อมพงศ์” ของตนเองยังไม่สำเร็จสมบูรณ์เสียทีเดียว
เพราะต่อให้ “นักแต่งคำร้อง” ทั้งสิบรายจะได้ร่วมกันเขียนเนื้อร้องเพลง “ประวัติศาสตร์” ขึ้นมาจริงๆ ผ่านวิธีระดมไอเดียในห้องประชุม แต่ ณ จุดเริ่มต้นแรกสุด ก็คงต้องมีใครคนหนึ่งจุดประกายขึ้นมาว่าเพลงเพลงนี้ควรพูดถึงแนวคิดเรื่อง “ประวัติศาสตร์” เพลงเพลงนี้ควรพูดถึงการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย
ปัญหาคือผู้จุดประกายดังกล่าวเป็นใคร?
ผมเคยคิดจะส่งคำถามข้อใหม่นี้ไปถึง “สุรักษ์” แต่ก็กังวลว่าอาจเป็นการรบกวนเขาเกินเหตุ พร้อมๆ กับที่มีความรู้สึกว่าตัวเองมิได้ต้องการรับทราบคำตอบเพิ่มเติมดังกล่าวอย่างเร่งด่วนขนาดนั้น
เผลอแป๊บเดียว วันเวลาก็ผ่านไปห้าปี โดยผมยังไม่รู้ชัดเสียทีว่า “นักแต่งคำร้อง” คนไหน? คือผู้มีส่วนสำคัญในการวางโครงร่างให้แก่เนื้อเพลง “ประวัติศาสตร์”
อย่างไรก็ดี เมื่อมานึกทบทวนในอีกแง่มุมหนึ่ง การปล่อยให้คำเฉลยยุติอยู่ตรงที่ว่า “มวล พร้อมพงศ์” คือ “คนเขียนเพลง” จำนวนสิบชีวิต นั้นกลับเชื่อมโยงถึงแง่คิดที่น่าสนใจบางประการ
ประการแรก การที่เพลง “ประวัติศาสตร์” ถูกแต่งเนื้อโดย “มวล พร้อมพงศ์” อาจบ่งชี้ว่า ผลงานทางวัฒนธรรมชิ้นหนึ่งๆ นั้นย่อมถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยคณะบุคคลหลายคน มากกว่าจะเกิดขึ้นจากฝีมือ-มันสมองของปัจเจกบุคคลเพียงรายเดียว
ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ของ “มวล พร้อมพงศ์” ยังช่วยเน้นย้ำถึงแนวคิดที่ว่า “ประวัติศาสตร์” ไม่ใช่สมบัติหรือกรรมสิทธิ์ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ “ประวัติศาสตร์” คือกระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของผู้คนจำนวนมากมายมหาศาล
เมื่อเป็นดังนี้แล้ว “ประวัติศาสตร์ที่แล้วมา (จึง) จะถูกจดบันทึกใหม่” อยู่ร่ำไป