กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 กับกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ หอบเอกสารไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบว่าการที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น
การออกมาเคลื่อนไหวในช่วงใกล้วันเลือกตั้งแบบนี้สร้างความกังวลใจไม่น้อยให้กับบรรดากองเชียร์แฟนคลับของพรรคก้าวไกล ว่าอนาคตทางการเมืองของพิธาหนึ่งในแคนดิเดตที่มาแรงที่สุดในตอนนี้จะเป็นเช่นไร เพราะเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2562 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบในเวลาต่อมา
ขณะที่นายพิธา ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ @Piti_MFP ว่า “ต่อกรณีหุ้น ITV ผมไม่มีความกังวลเพราะ ไม่ใช่หุ้นของผม เป็นของกองมรดก ผมเพียงมีฐานะ ผจก.มรดก และได้ปรึกษาและแจ้งต่อ ปปช. ไปนานแล้ว ฝ่ายทีมกฎหมายพร้อมเตรียมการชี้แจงอยู่แล้วเมื่อ กกต.ส่งคำร้องมา เรื่องนี้อาจมีเจตนาสกัด #พรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ต้องการเห็นการ #ทลายทุนผูกขาด ในประเทศนี้”
อดีต กกต.ยอมรับ “หนักใจ”
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ในรายการข่าวเด่นประเด็นฮอตของมติชนทีวี ถึงกรณีดังกล่าวว่า “ใช้คำว่า “หนักใจ” แล้วกันนะ เพราะว่าสิ่งซึ่งร้องเป็นโครงการถือหุ้นสื่อ ITV ก็เป็นสื่อ แม้ว่าปัจจุบันอาจจะไม่มีการประกอบการแล้วก็ตาม ซึ่งประเด็นนี้จะคล้ายคลึงกับประเด็นคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งก็ถือหุ้นนิตยสารแฟชั่นเล่มนึงและเลิกกิจการไปแล้วแต่ก็ยังหาเรื่องกัน เพราะฉะนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับว่าทางฝ่ายที่มีอำนาจจะพิจารณาในเรื่องนี้อย่างไร”
“มันก็เป็นไปได้ทั้งบวกและลบ ถ้าหากว่าทางพรรคเขาเองสามารถที่จะแปรวิกฤตเป็นโอกาสได้ก็คือแสดงให้เห็นว่าโดนรังแกอีกแล้วนะ กำลังจะโดนกลั่นแกล้งอีกแล้วนะ ก็อาจจะมีคะแนนเห็นใจในการร่วมลงคะแนนให้มากขึ้นก็ได้ ขณะเดียวกันในเชิงลบก็อาจจะมองว่าทำไมไม่จัดการให้เรียบร้อยจะเตรียมตัวมาเป็นผู้บริหารประเทศแล้วเรื่องเล็กๆ ต่างเหล่านี้ก็ต้องเคลียร์ให้เรียบร้อยก่อนไม่ค่อยรอบคอบ มันก็เป็นไปได้ทั้งสองอย่างซึ่งอันนี้ก็ไม่สามารถประเมินได้แต่เอาเป็นว่าเป็นสิ่งที่อาจจะรบกวนจิตใจในช่วงนี้”
ITV หยุดประกอบกิจการตั้งแต่ 2550
ขณะที่ นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) โพสต์เฟซบุ๊ก anupong chaiyariti ชี้แจงถึงกรณีไอทีวีว่า สรุปสาระสำคัญของบริษัทไอทีวี จากรายงานประจำปี 2565 ว่า
1.หยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวีตั้งแต่ 24.00 น.วันที่ 7 มีนาคม 2550 สืบเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
2.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย delist ถอดหุ้นไอทีวีจากการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2557
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการฟ้องร้องพิพาททางกฎหมายกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากกรณีที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า
-การบอกเลิกสัญญาของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
-ให้ สปน.ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,890 ล้านบาท
3.1 ต่อมา สปน.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของ สปน.
3.2 มกราคม 2564 สปน.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
4.ปีบัญชี 2565 ไอทีวี มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ 20.5 ล้านบาท (ผลตอบแทนจากตราสารหนี้และตราสารทุน) กำไรสุทธิ 8.5 ล้านบาท
5.ไอทีวี มีบริษัทย่อย 1 บริษัท คือบ.อาร์ตแวร์มีเดีย ให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ สถานะปัจจุบันของบริษัท คือ หยุดประกอบกิจการ
6.กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่โดยพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานบ.ไอทีวีในปัจจุบัน คือบ.อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
7.การรักษาสถานะความเป็นนิติบุคคลของบ.ไอทีวี เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับสปน. (ความเห็นผู้เขียน)
มาตราเจ้าปัญหา 98(3)
สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน-นักแปล ระบุว่า “มาตราเจ้าปัญหาคือ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(3) ซึ่งบัญญัติห้ามไม่ให้ “บุคคลที่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.”
“เจตนารมณ์ของมาตรานี้้ ก็คือ ไม่ต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. ใช้ “สื่อในมือตัวเอง” สร้างอิทธิพล โปรโมทตัวเองหรือชักจูงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง”
“แต่สิ่งที่ทำให้มันเป็น “มาตราเจ้าปัญหา” ใช้กลั่นแกล้งกันได้ง่ายดาย ก็คือ มาตรานี้ดันใช้ทั้งคำว่า “เจ้าของ” และคำว่า “ผู้ถือหุ้น” ทั้งที่ในความเป็นจริง ลำพังการเป็นแค่ผู้ถือหุ้นรายย่อย (ถือหุ้น 0.001% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท เป็นต้น) ไม่ได้ทำให้ใครมีสิทธิสั่งการบริษัทสื่อนั้นๆ ให้ทำตามความประสงค์ได้”
บทสรุปสุดท้ายของเรื่องราวนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไร หากแต่หมุดหมายสำคัญคือวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 อาจเป็นวันชี้ชะตาที่จะพลิกโฉมหน้าการเมืองไทยในอนาคต