- แปลจากบทความภาษาอังกฤษ โดย วัชรพล พุทธรักษา อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 9-15 มกราคม พ.ศ.2558
(1 มกราคม 1916)
เมื่อตื่นขึ้นภายใต้ท้องฟ้าอันมืดมิดในทุกๆ เช้าตรู่ ข้าพเจ้ารู้สึกได้ว่าสำหรับตนเองแล้ว นี่แหละคือ “วันปีใหม่”
นี่คือเหตุผลที่ข้าพเจ้าเกลียด “วันปีใหม่” ซึ่งกลายเป็นการกำหนดวาระอย่างแข็งทื่อที่เปลี่ยนชีวิตและจิตวิญญาณของมนุษย์ไปสู่การคิดคำนวณทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำงบดุลให้เหมาะสม มีผลประกอบการอันโดดเด่น และจัดวางงบประมาณสำหรับการจัดการเรื่องใหม่ๆ
สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เราสูญเสียความต่อเนื่องในชีวิตและจิตวิญญาณไป สุดท้ายแล้วคุณเองก็จะลงเอยไปที่การหมกมุ่นครุ่นคิดว่าจะมีการแตกหักระหว่างช่วงเวลาปีหนึ่งกับช่วงเวลาในอีกปีถัดไป ซึ่งมักทำให้คุณคิดว่าประวัติศาสตร์หน้าใหม่กำลังเริ่มต้นและให้พื้นที่กับคุณเพื่อตั้งปณิธานในสิ่งที่จะทำและเสียใจต่อสิ่งที่ตนไม่ได้ทำทั้งหลายทั้งปวง
ความผิดพลาดทั้งหมดที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้ล้วนเป็นผลมาจากวิธีคิดเรื่องวันที่
ว่ากันว่าลำดับเหตุการณ์นั้นคือแก่นแกนของประวัติศาสตร์ อันนี้เข้าใจได้ แต่เราต้องยอมรับเช่นกันว่ามักจะมีวันสำคัญอยู่สี่หรือห้าวันที่คนดีทุกคนเก็บรักษาไว้ในสมองของตน อันจะแสดงให้เห็นถึงเหลี่ยมเล่ห์ทางประวัติศาสตร์
วันเหล่านั้นก็คือวันปีใหม่นี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นวันปีใหม่ในประวัติศาสตร์โรมัน หรือในยุคกลาง กระทั่งในยุคสมัยใหม่
ทั้งพวกเขายังรุกรานและแช่แข็งให้พวกเรามีความคิดในบางครั้งว่าชีวิตในอิตาลีเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ.752 ส่วน ค.ศ.1490 และ 1492 ก็เปรียบเสมือนภูเขาที่มนุษยชาติกระโดดข้าม และพบว่าทันใดนั้นตนเองได้มาอยู่บนโลกใบใหม่และชีวิตแบบใหม่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ วันที่นี่แหละคืออุปสรรคที่เป็นดั่งกำแพง ซึ่งหยุดยั้งเราจากการพบว่าประวัติศาสตร์นั้นดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เส้นกำกับที่ไม่เคยเปลี่ยนและไม่เคยหยุด เช่นเดียวกับในโรงภาพยนตร์ที่เมื่อฟิล์มหมดม้วนก็จะยังคงมีแสงวาววับในระหว่างที่เปลี่ยนฟิล์ม
ไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดวันพักผ่อนหรอก เพราะข้าพเจ้าจะเลือกหยุดพักด้วยตัวของข้าพเจ้าเอง เมื่อใดก็ตามที่รู้สึกมัวเมาไปกับความตึงเครียดของชีวิต และต้องการกระโจนเข้าสู่ความเป็นเดรัจฉานเพื่อดูดซับเอาพลังใหม่ๆ
ไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดช่วงเวลาพิเศษสำหรับจิตวิญญาณ เพราะข้าพเจ้าปรารถนาให้ทุกชั่วโมงในชีวิตของข้าพเจ้าเป็นสิ่งใหม่ที่ยังคงเชื่อมร้อยกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องมีงานเฉลิมฉลองร่วมกันเป็นหมู่คณะอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งข้าพเจ้าต้องแชร์กับคนแปลกหน้าที่ตนไม่ได้สนใจแม้แต่น้อย
ถ้าเพียงเพราะว่าปู่ของปู่ของเราเคยเฉลิมฉลองร่วมกัน แล้วทำให้เราต้องรู้สึกว่าอยากเฉลิมฉลองด้วยกันนั้น นั่นก็คงน่าผะอืดผะอมสิ้นดี
ข้าพเจ้ารอคอยสังคมนิยมด้วยเหตุผลดังกล่าวเช่นกัน เพราะสังคมนิยมจะโยนแนวคิดเรื่องวันที่ ซึ่งไม่ได้สร้างแรงสะเทือนใดๆ ให้กับจิตวิญญาณของเราทิ้งไป
และหากจะสร้างวันที่พิเศษขึ้นมาใหม่ อย่างน้อยที่สุดวันเหล่านั้นก็เป็นวันของเราเอง หาใช่วันที่เราต้องยอมรับจากบรรพบุรุษงี่เง่าโดยดุษณีแต่อย่างใด
หมายเหตุ
- บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอิตาเลี่ยน ในหนังสือพิมพ์ Avanti! เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1916 แปลจากภาษาอิตาเลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษโดย อัลแบร์โต ทอสคาโน ใน http://viewpointmag.com
- “อันโตนิโอ กรัมชี่” (1891-1937) คือ นักคิดและนักปฏิวัติมาร์กซิสต์ชาวอิตาเลี่ยน ซึ่งต้องโทษถูกคุมขังในยุคระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ ที่นำโดย เบนิโต มุสโสลินี