จากกรณีที่เว็บไซต์ https://mteveresttoday.com/ รายงานข่าวว่า สองนักปีนเขาหญิงจากไทย เสียชีวิตขณะร่วมในทริปเดินป่าเทรคกิ้ง บริเวณ เมโสคันโต เขตมุสตัง เหนือของเนปาล โดยทั้งคู่เสียชีวิตเมื่อช่วงเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน ตามเวลาท้องถิ่นในเนปาล
ข่าวระบุว่า หญิงไทยทั้งสองคน คนหนึ่งอายุ 49 ปี อีกคนอายุ 37 ปี เสียชีวิตขณะอยู่บริเวณเนินเขาเมโสคันโต ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเล 4,200 เมตร โดยรายงานข่าวระบุว่า สาเหตุเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นจัดและปริมาณออกซิเจนที่มีจำกัดบนที่สูง
มาถึงตรงนี้ FEED อยากแชร์ข้อมูลโรค “High Altitude Sickness หรือโรคแพ้พื้นที่สูง” ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายมากสำหรับนักท่องเที่ยว ที่เดินทางไปในพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมากกว่า 8,000 ฟุต หรือ 2,500 เมตร
อาการแพ้พื้นที่สูงนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศทุกวัย แต่ผู้สูงอายุอาจจะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวของร่างกายอาจไม่ดีเท่ากับคนวัยหนุ่มสาว และอาจมีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยช่วยเร่ง แต่ที่ผ่านมาก็พบว่า เด็ก วัยรุ่น และคนวัยทำงาน ก็มีอาการของโรคนี้ได้เช่นกัน
แอดมินเอง เคยประสบมากับตัวเอง เมื่อครั้งไปท่องเที่ยวภูเขาสูงในต่างประเทศที่พบว่า เมื่อขึ้นไปบนยอดเขา ผู้ร่วมเดินทางไม่ว่าผู้สูงอายุ หรือเด็กอายุน้อย ก็มีอาการของโรคนี้ได้ เพียงแต่ไม่รุนแรง อาการที่พบคือวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน (อาจจะเป็นไปได้ว่าพื้นที่ที่ขึ้นไปไม่ถึงกับสูงมาก)
กล่าวโดยสรุปสำหรับอาการของโรคแพ้พื้นที่สูงแบ่งเป็น 3 กลุ่มอาการ ได้แก่
1. Acute Mountain Sickness (AMS) เป็นอาการเริ่มแรก เช่น มีอาการปวดหัวเล็กน้อย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เป็นต้น หากมีอาการเช่นนี้ ให้พักผ่อนมากๆ หลีกเลี่ยงการขึ้นไปยังที่สูงกว่านี้ ควรพักผ่อนจนกว่าจะอาการดีขึ้นถึงไปต่อ หากแย่ลง อาการจะหนักขึ้นไปเป็นกลุ่มอาการที่ 2 หรือ 3
2. High Altitude Cerebral Edema หรือภาวะสมองบวมจากการแพ้พื้นที่สูง อาการนี้เป็นอาการต่อเนื่องจาก AMS โดยมีอาการปวดหัวรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียนมาก เดินเซ ชัก พูดไม่รู้เรื่อง โคม่า หรือเสียชีวิต หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบลงจากระดับความสูงนั้นให้เร็วที่สุด และไปพบแพทย์ในทันที
3. High Altitude Pulmonary Edema (HAPE) หรือน้ำท่วมปอดจากการแพ้พื้นที่สูง จะมีอาการเช่น เหนื่อยมากขึ้น โดยมักมีอาการเหนื่อยตอนกลางคืน และไอแห้งๆ ข้อแตกต่างระหว่างอาการกลุ่ม AMS และอาการกลุ่มนี้ คือ หากเป็น AMS เมื่อหยุดพักแล้ว จะมีอาการดีขึ้น แต่หากเป็นกลุ่มอาการ HAPE แม้ว่าจะพักสักระยะหนึ่งแล้ว ก็ยังมีอาการเหนื่อยมากขึ้น และอยู่เฉยๆ ก็รู้สึกเหนื่อย ซึ่งแสดงถึงอาการที่อันตรายมาก ต้องพบแพทย์และลงจากที่สูงในทันที
แหล่งที่มาข้อมูล