“คนไทยรักษาฟรี เลยไม่ดูแลสุขภาพ” ถือเป็นคำกล่าวที่หลายคนเคยได้ยินมาแล้วหลายยุคหลายสมัย และล่าสุดก็ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งกับดราม่าจากภารกิจ One Man And The River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้ ของนักร้องนักแสดงหนุ่ม “โตโน่ ภาคิน” ที่ว่ายน้ำระดมเงินบริจาคให้กับโรงยาบาล
ผ่านข้อความจาก “หมอริท เดอะสตาร์” หรือ หมอริท เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช ที่ออกมาโพสต์แสดงความเห็นถึงโครงการ “One Man And The River” ว่าแม้ว่าจะมีเงินบริจาคมากแค่ไหน แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็ยังเหนื่อยเท่าเดิม โดยมีข้อความระบุว่า
“ต่อให้พี่ว่ายน้ำข้ามโขงเป็น 10 รอบ ได้เงินบริจาคมากว่า 1,000 ล้าน หมอ พยาบาล เค้าก็เหนื่อยเท่าเดิมครับ ขอยกตัวอย่างในฝั่งของหมอนะครับ ระบบสุขภาพของประเทศไทยคือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แปลว่า คนไทยจะป่วยยังไง ก็มีการรักษารองรับ (ซึ่งจริงๆ ดีกับคนไทยในบางมุมนะ เช่น คนจนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา แต่ข้อเสียก็คือ คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ) ซึ่งทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ยังได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม”
หมอริท เดอะสตาร์ โพสต์ข้อความ
หลังจากข้อความของ “หมอริท” ถูกโพสต์ออกมาก็มีประชาชนเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์กันจำนวนมาก แต่เมื่อเราลองมองย้อนกลับไปถึงคำกล่าวทำนองว่า “คนไทยรักษาฟรี เลยไม่ดูแลสุขภาพ” ก็เคยถูกพูดถึงมาแล้ว โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวไว้เมื่อวันที่ 10 กันยายน ปี 2561ว่า
“วันนี้คนมักจะเป็นโรค ความดันสูง เบาหวาน มะเร็ง สมองเสื่อม แต่ทุกคนบอกสบาย ช่างมันเถอะ ไม่ต้องออกกำลังกาย ไม่ต้องป้องกันตัวเอง เดี๋ยวไปรักษาฟรีอยู่แล้ว ไม่คิดว่าทำอย่างไรถึงจะไม่เป็น คิดแต่เพียงว่าเป็นแล้วรักษาฟรี พอไม่ได้คุณภาพด่าคนรักษา มันต้องเข้าใจบริบททั้งหมดด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นในระบบ”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวนาทีที่ 37.45 ถึง 38.25
ขณะที่เพจดัง Drama-addict ก็โพสต์ข้อความถึงประเด็นนี้โดยสรุปว่า คำกล่าวที่ว่า 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้คนไทยไม่สนใจดูแลสุขภาพตัวเอง เป็นวาทกรรมที่มีมานานเกือบ 20 ปีแล้ว ซึ่งเป็นความเชื่อของคนจำนวนหนึ่ง รวมถึงบุคลากรทางแพทย์ที่เชื่อว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ารักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือจ่ายในราคาถูก ทำให้คนไม่ดูแลสุขภาพ ไม่ออกกำลังกาย ไม่เลิกเหล้าบุหรี่ เพราะถ้าป่วยก็รักษาฟรี
แนวคิดแบบนี้ในทางสาธารณสุข เรียกว่า “moral Hazard” ซึ่งเป็นแนวคิดในทางเศรษฐศาสตร์ ว่าคนที่ได้รับประกันสุขภาพ อาจละเลยการดูแลสุขภาพของตน เพราะมีคนจ่ายค่ารักษาแทนให้ (คือรัฐเป็นผู้จ่ายในกรณี 30 บาท)
แต่เมื่อพิจารณาจากงานวิจัยที่ได้ศึกษาเรื่องนี้พบว่า 30 บาท รักษาทุกโรคไม่ได้ทำให้เกิด moral hazard เมื่อเทียบสถิติพบว่าหลังมีระบบ30 บาท หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนไทยก็ไม่ได้ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่มากขึ้น และเมื่อเทียบตัวเลขของเคสที่เกิดโรคจากการดื่มเหล้า และสูบบุหรี่ ก็ไม่ได้แตกต่างกันแบบมีนัยยะสำคัญ
งานวิจัยบางชิ้นยังระบุว่าการมีโครงการ 30 บาท ทำให้คนไทยเข้าถึงหมอได้ง่ายขึ้น คนไข้ได้รับข้อมูล และคำเตือนเรื่องการกินเหล้าสูบบุหรี่มากขึ้น ก็จะส่งผลต่อการช่วยให้เลิกเหล้าเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น
Drama-addict ระบุไว้อีกว่า การไปใช้สิทธิรักษาในโรงพยาบาลรัฐ ต้องยอมรับว่าใช้เวลานานไม่มีใครอยากมาเจอหมอเพราะของฟรีหรอก แต่ที่ผ่านมาก็เคยมีเคสมาหาหมอรักษาโรคเบาหวาน ความดัน แต่ไหนๆ มาแล้วก็ขอยาแถม เช่นยาแก้ปวด แก้ไอ เอาไปตุนไว้ พอไม่ให้ก็บ่น แบบนี้ก็พอมีบ้าง แต่ว่าไม่เยอะมาก ขอฝากคนไข้ว่าเราจ่ายยาตามจำเป็น อย่าขอหมอเลย ขณะที่ฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องทำลายมายาคติเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคทำให้คนไม่ดูแลสุขภาพเช่นกัน
เมื่อกล่าวถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคกันมาขนาดนี้แล้ว FEED จึงขอเล่าเรื่องราวของชายคนหนึ่ง ชายผู้เป็นตำนานแห่งวงการสาธารณสุขไทย โดยพาผู้อ่านย้อนกลับไป 21 ปีก่อน
ปี 2544 ถ้าใครเกิดทันในยุคนั้นก็จะจำได้ว่าข้าวของไม่ได้มีราคาแพงหูฉี่เหมือนทุกวันนี้ แต่ในยุคนั้นสิ่งที่ผู้มีรายได้น้อยกังวลกันมากคือการรักษาพยาบาล ถ้าใครเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาการตัดสินใจไปหาหมอไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เพราะว่าการไปโรงพยาบาลอาจจะต้องเสียเงินจำนวนมาก ทั้งค่าเหมารถเดินทางไปโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล และยังไม่รู้ว่าจะเสียค่ารักษาอีกเท่าไร
กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ก็เลยเลือกที่จะไม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล ใช้วิธีรักษากันไปตามอาการ เพราะกลัวว่าจะเป็นภาระให้กับครอบครัว และลูกหลาน บางคนต้องนำที่ดิน วัว ควาย ที่หามาทั้งชีวิต ไปจำนองหรือนำไปขาย หรือต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อมารักษาตัว ถ้าใครไม่มีเงินจ่ายก็ต้องเป็นคนไข้อนาถา ต่อคิวรักษากันไปตามอาการ หรือที่เรียกกันว่ารักษากันตามมีตามเกิดนั่นเอง
ในอดีตมีคนจำนวนนับไม่ถ้วน ที่ต้องทุกข์ทรมนจากการเจ็บปวดของโรค เจ็บปวดจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก แม้บางคนจะได้รับการรักษาจนทุเลาหรือหายขาด แต่ก็สิ้นเนื้อประดาตัวไปกับค่าใช้จ่าย จนเป็นหนี้สิน เรื่องราวเหล่านี้คือภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของประเทศไทย
แต่ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ก็ถูกทำให้เจือจางลงเมื่อนักศึกษาแพทย์ชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ต่อมารู้จักกันในนามของหมอสงวน เด็กหนุ่มชนชั้นกลาง ลูกคนเมืองที่ไม่รู้จักชนบท แต่เขาผู้นี้หอบหิ้วเอาอุดมการณ์ความเชื่อ หรือบางคนอาจจะคิดว่าเป็นเพียงความฝัน เพราะเขาคิดว่าสังคมที่ดีคือสังคมที่อยู่กันอย่างเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข เอื้ออาทร คนรวยช่วยคนจน คนแข็งแรงช่วยเหลือคนอ่อนแอ
เมื่อเรียนจบแพทย์ หมอสงวน จึงอาสาไปเป็นแพทย์ชนบท ประจำโรงพยาบาลราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างนั้นก็ได้พบความยากลำบากของของผู้มีรายได้น้อย คนที่เข้าไม่ถึงระบบการรักษามากมาย เขาจึงเริ่มทดลองสมมติฐานการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ภายใต้โครงการอยุธยา โดยทดลองระบบสุขภาพถ้วนหน้าจากประเทศเบลเยียม ก่อนที่จะตกผลึกได้ข้อสรุปที่สำคัญต่อการวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั่นก็คือการเก็บค่ารักษาพยาบาลแบบเหมาจ่ายรายโรค คือให้คนไข้จ่ายครั้งเดียว และจะได้รับการรักษาจนหายขาดจากโรคนั้น
จากนั้นหมอสงวนก็เดินสายขายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่พรรคการเมืองต่างๆ ตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลอยู่พวกเขาก็ยอมรับว่าเป็นหลักการที่ดี แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ
หมอสงวน จึงเดินสายต่อก่อนมาปิดดีลที่พรรคไทยรักไทยซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับคุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แล้วก็คุณหมอภูมินทร์ เลิศสุริย์เดช อยู่แล้ว ก็เลยทำให้ประตูของพรรคไทยรักไทยเปิดรับหมอสงวน ส่วนคนที่ตัดสินใจที่จะใช้ไอเดียนี้ก็คืออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็เลยกลายเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “หมอสงวนคิด ทักษิณทำ” และได้เกิดเป็นโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งเป็นต้นทางของการพัฒนารูปแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขด้านสาธารณสุข
1 เมษายน 2544 โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในประเทศไทย โดยหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 2 เมษายน 2544 ได้ลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เป็นกรอบเล็กมีข้อความว่า “30 บาท วันแรกคนไม่ตื่น สาวใหญ่ประเดิมคลอดลูก” ขณะที่อีกกรอบหนึ่งเขียนว่าคลอดลูกสุดประหยัดแค่ 30 บาท พร้อมรายละเอียดว่า “สาวใหญ่ปลื้มประเดิมคลอดลูกตามโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ลดรายจ่ายฮวบจากเดิมเสียเป็นพัน ร.พ.สมุทรสาคร ยอดสูงสุดคนใช้บริการ 91 ราย โรงพยาบาลเชียงคำต่ำสุดแค่ 4 ราย”
จากนั้นประเทศไทยก็มีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขึ้นในปี พ.ศ.2545 มีการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นองค์กรที่รับผิดชอบ โดยมีหมอสงวน เป็นเลขาธิการคนแรก
แต่หลังจากรับตำแหน่งในสมัยแรกเพียงไม่กี่เดือน หมอสงวน ไปตรวจร่างกายและพบว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งปอด จึงเข้ารับการรักษาด้วยสิทธิ 30 บาท และเขียนบันทึกเรื่องชีวิตไว้ว่าผลพวงอย่างหนึ่งที่ตามมาจากการที่ตัวเองเจ็บป่วย คราวนี้เป็นประสบการณ์ตรงในการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมองเห็นจุดอ่อนโดยเฉพาะผู้ป่วยป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น มะเร็ง และโรคหัวใจ
ภายหลังอาการป่วยทุเลาลง หมอสงวน ก็รีบเอาประสบการณ์ตรงที่พบเจอมาหาวิธีการแก้ไข เช่นการจองคิวผ่าตัดโรคหัวใจที่อดีตต้องรอคิวผ่าตัดนานมาก คนไข้บางคนต้องรอคิวผ่าตัดหัวใจนานถึง 8 เดือน จนคนไข้บอกว่า “จะไม่ตายก่อนได้ผ่าตัดเหรอหมอ” เขาก็เลยไปตรวจสอบคิวผ่าตัดหัวใจของโรงพยาบาลต่างๆ แต่ละแห่งก็มีคิวสั้นคิวยาวไม่เท่ากัน แล้วก็นำแนวคิดการบริหารจัดการให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานมาแก้ไขปัญหาเส้นแบ่งระหว่างการเป็นรัฐ และเอกชน มาจัดเกลี่ยคิวใหม่ ทำให้ผู้ป่วยได้คิวผ่าตัดเร็วขึ้น และยังผลักดันต่อในเรื่องผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้าย ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติให้มีการฟอกไตทางช่องท้องอยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย
ปลายปี 2550 อาการป่วยของ หมอสงวน มีอาการหนักขึ้น และจากไปเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 ปิดฉากชีวิตของชายผู้ทิ้งมรดกเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ประชาชนคนไทย
และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานของชายที่ชื่อว่า สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ก่อคุณูปการแก่วงการสาธารณสุขไทย แม้จะทำงานไปด้วยร่างกายที่เจ็บป่วยทรมานจากโรคร้าย แต่ก็ยังทุ่มเทพละกำลังร่ายกาย ความคิด จิตใจ เพื่อส่วนรวม ตราบจนช่วงสุดท้ายของชีวิต
หมอสงวน ยังเขียนจดหมายด้วยลายมือทิ้งไว้ว่า “ขออุทิศร่างกายให้คณะแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี เพื่อตอบแทนความรู้ และเติบโตในวิชาชีพแพทย์”
สำหรับความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือที่บางคนเรียกกันว่าบัตรทอง ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ไม่ร่ำรวยกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงไม่กี่ประเทศ ที่สามารถจัดสวัสดิการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชาชนทุกคนในประเทศ เป็นประวัติศาสตร์ที่พลิกโฉมหน้าระบบสาธารณสุขของไทยในขณะนั้น จนทำให้สหประชาชาติประกาศให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน