อุตสาหกรรมการอ่านมีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากสื่อกระดาษ เรายังมีแพลตฟอร์มการอ่านออนไลน์เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง FEED จะพาไปรู้จักกับ “ไช้ – รวิวร มะหะสิทธิ์” และ “โก๋ – กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม” 2 เพื่อนซี้ผู้ก่อตั้ง Meb : mobile e-books แพลตฟอร์มจำหน่ายอีบุ๊ก ที่ปัจจุบันมีหนังสือจำหน่ายรวมกว่า 200,000 เล่ม และ ReadAwrite คอมมูนิตี้นักเขียน ทั้ง 2 แพลตฟอร์มมียอดผู้ใช้รวมกันกว่า 5-6 ล้านรายต่อเดือน กับการมีส่วนช่วยก่อร่างสร้างวัฒนธรรมการอ่านออนไลน์ขึ้นมา และทักษะการอยู่รอดของปลาเล็กที่ไม่ให้โดนปลาใหญ่กิน
FEED : จากสำนักพิมพ์ กว่าจะก่อตั้งเป็น meb และ ReadAWrite ?
โก๋ : ก่อนหน้านี้เราทำสำนักพิมพ์เล็กๆ และมีงานที่เป็น Developer บ้าง ตอนที่เริ่มทำ meb คือหนักหนาที่สุดแล้ว เพราะเรามองว่าถ้าเราทำแบบเดิมต่อไป เราน่าจะไปได้อีกแค่ไม่กี่ปี ก็เลยตัดสินใจเลือกว่าเราจะทุบหม้อข้าวตัวเองทิ้ง จะหยุดหารายได้แบบเดิมทุกๆ อย่าง แล้วตีกรุงให้ชนะ เราก็เลือกจะทุบหม้อข้าวเพื่อมาพัฒนา meb
ไช้ : ตอนนั้นต้องบอกว่าเราทำบริษัทที่สร้างแต่รายจ่าย ไม่ค่อยสร้างรายได้ (หัวเราะ) เราดูกันเป็นเดือนต่อเดือนว่าจะอยู่ได้อีกนานเท่าไร แล้วพอมาเริ่มทำอีบุ๊ก ตอนนั้นมันไม่ใช่ว่าเราทำอยู่คนเดียว คนอื่นเขาก็ทำกันครับ แล้วปรากฏว่าพอเราจะเริ่มเปิดตัว เจ้าใหญ่เขาก็เปิดตัวออกมาไล่ๆ กัน
FEED : สิ่งใดที่ทำให้ meb อยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขัน
พูดสั้น ๆ ก็คือสู้ยิบตา เราต้อง ระลึกว่าเราไม่มีทุนรอน และไม่มีคน ถ้าอะไรที่เราพอจะทำได้ เราก็ทำ เข้าไป approach นักเขียน สำนักพิมพ์ ช่วงนั้นพอเราไปเสนอเจ้าใหญ่ๆ ก็ถูกปฏิเสธบอกว่าจะติดต่อกลับมาบ้าง หรือบางคนก็บอกว่าเขาก็จะทำอีบุ๊กเองอยู่แล้ว การไม่ตอบรับกลายเป็นเรื่องปกติ ก็ต้องใช้ความขยัน ในการติดต่อใครที่เขาจะเปิดใจกับเราได้ เราทำทุกวิธีที่คนตัวเล็กมีทรัพยากรน้อยจะทำได้
FEED : meb ทำอย่างไรเพื่อ รักษามาตรฐานจนเป็นร้านหนังสือออนไลน์อันดับ 1
ไช้ : หลักๆ ของเรามี meb ที่เป็นร้านอีบุ๊ก มี ReadAwrite ที่เป็นคอมมูนิตี้นักอ่าน การทำให้แพลตฟอร์มของเรามีหนังสือ ที่นักอ่านค้นหาให้มันครอบคลุม ประเด็นคือร้านเรามีของให้เขาอ่านหรือเปล่า นั่นคือโจทย์ข้อที่ 1 ส่วนอ่านง่ายอ่านสะดวกนั่นคือโจทย์ข้อที่ 2 ทั้งสองส่วนเราก็พัฒนาภายในอย่างต่อเนื่องมีการปรับปรุง UX UI ทำให้ใช้งานง่ายขึ้นสะดวกขึ้น รับฟีดแบ็กลูกค้ารวมถึงเสริมฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้าไป
โก๋ : โดยพื้นฐาน meb กับ ReadAWrite จะต้องเป็นสิ่งที่คนอ่านรู้สึกดีกับมันอยู่เหมือนเดิม เราไม่ทอดทิ้งลูกค้าเดิม กลุ่มเป้าหมายของอีบุ๊กก็ต้องยอมรับว่าเป็นกลุ่มผู้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อายุ 10 ปีขึ้นไปจนถึงช่วง 50 ปี
และยังมีกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจอย่างคนสูงอายุก็อาจจะอ่านอีบุ๊กมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะว่าผู้สูงอายุสายตาอาจไม่ดี หนังสือแบบเล่มตัวหนังสือมันขยายไม่ได้ แต่พอเป็นอีบุ๊กเราปรับให้มันพอดีได้ รวมถึงมีอุปกรณ์ใหม่ใหม่อย่างพวก E-Reader ที่เหมือนกับอ่านบนกระดาษเลย เราก็ปรับตัวหนังสือให้มีขนาดที่เหมาะสม ก็เลยทำให้กลายเป็นว่าผู้สูงอายุก็ชอบอ่านอีบุ๊กมากขึ้น
FEED : อีบุ๊กเคยถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของหนังสือเล่ม แต่วันนี้ยังเป็นเช่นนั้นหรือไม่
ไช้ : มันเป็นสิ่งที่เราพูดกับสำนักพิมพ์มาตลอดว่า จริง ๆ แล้วอีบุ๊กไม่ได้เป็นคู่แข่งของหนังสือเล่มหรอก อีบุ๊กจะมาช่วยในเรื่องของวงการหนังสือด้วย เพราะถ้าเกิดว่าเราไม่สามารถเอาหนังสือเข้าไปอยู่ในดีไวซ์ได้ สุดท้ายคนที่จะมาฆ่าหนังสือเล่มมันไม่ใช่อีบุ๊กหรอก มันคือบริการอื่นๆ
พวกผมอยู่ในธุรกิจอีบุ๊คมาตั้งแต่ปี 2011 ตอนนั้นยอดขายของอีบุ๊กอาจจะไม่ถึง 1% แต่ทุกวันนี้จากการคาดประมาณภายใน ผมว่าคนอ่านอีบุ๊กอยู่ที่ประมาณ 10 ถึง 15% ขึ้นไป และอาจจะใกล้แตะ 20% ของคนที่อ่านหนังสือทั้งหมดแล้ว
FEED : meb และ ReadAWrite อยู่รอดได้อย่างไรในสมรภูมิการอ่าน
โก๋ : โดยพื้นฐานเราก็อยากทำอะไรให้องค์กรไม่เทอะทะเกินไป เรารู้สึกว่าแบบนี้มันขยับเขยื้อน มันเปลี่ยนทิศทางง่ายกว่า
ไช้ : ของพวกนี้มันเหมือนเราทำทีละเล็กทีละน้อย มองเห็นภาพเป้าหมายระยะสั้นๆ แล้วก็ทำเป้าหมายระยะสั้นๆ ให้ดีที่สุด ตอนนี้ในโลกธุรกิจ ผมว่าปลาใหญ่ก็ยังกินปลาเล็ก แล้วอย่าไปคิดว่าปลาใหญ่เขาขยับช้า ปลาใหญ่ขยับเร็วก็มีเยอะ ปลาเล็กก็โดนกินไปเยอะด้วย ผมแค่เป็นปลาเล็กที่ไม่โดนกิน
ผมว่าปลาเล็กก็ต้องไปหาอาหารที่ปลาใหญ่เขายังไม่ไปกิน เพราะปลาใหญ่จะไปกินของที่มันชิ้นใหญ่ๆ ส่วนพวกที่อยู่ตามโขดหิน เล็กๆ น้อยๆ เขาคงไม่ไปกิน เพราะกินแล้วไม่อิ่ม เราก็ไปกิน กัดโดนอาหารบ้าง โดนหินบ้างก็ไม่เป็นไร ปลาเล็กมันว่ายไปหาอาหารเอง ข้อดีคือมันจะรู้ว่าแหล่งอาหารอยู่ตรงไหน ด้วยตัวปลาเล็กเอง มันพุ่งไปแล้วกัดโดนตรงจุด ปลาเล็กก็ระลึกและสำเหนียกตัวเองไว้ว่า เขามีกระสุนร้อยนัด คุณมี 3 นัด คุณยิงให้มันเข้านะ อย่ายิงซี้ซั้ว นั่นคือสิ่งที่จะบอก
ความสำเร็จของ meb และ ReadAWrite จึงไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา หรือความบังเอิญ แต่คือความพยายามแบบ “สู้ยิบตา” รวมถึงการไม่หยุดพัฒนา ทำสิ่งเล็กๆ ให้ดีในทุกวัน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่ใหญ่กว่า