กลายเป็นดราม่าร้อนแรง พร้อมทัวร์ลงฉ่ำ! เมื่อ ‘นท พนายางกูร’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ นท เดอะสตาร์ ได้เล่าประสบการณ์ชีวิตผ่านรายการ ป๋าเต็ดทอล์ก ว่าเคยทำพิธีกรรม ‘อายาวัสกา’ ดื่มน้ำรากไม้ เหมือนทดลองตาย ทำให้โซเชียลถกสนั่น “แบบนี้นับเป็นสารเสพติดไหม?”
โดย นท ได้เผยการเยียวยาตนเอง ผ่านการทดลองเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ จิตวิญญาณ, จักระมนุษย์, ศาสตร์การบำบัดด้วยเสียง ฯลฯ รวมถึงเธอเคยร่วมทำพิธีกรรม ‘อายาวัสกา’ (ayahuasca) โดยเธอเล่าว่า ‘อายาวัสกา’ (ayahuasca) คือ พิธีกรรมที่จะต้องดื่มน้ำสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่ถูกสกัดจากรากไม้ที่มาจากแอฟริกาใต้
และอ้างว่า เมื่อดื่มน้ำสมุนไพรนี้เข้าไป จะทำให้สมองหลั่งสารที่เรียกว่า DMT ซึ่งสารนี้จะมีการหลั่งในสมองมนุษย์แค่ 2 ครั้งเท่านั้นในชีวิต คือ ตอนที่เกิด และตอนที่ตาย เสมือนเป็นการทดลองตาย นำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริง
นท เล่าต่ออีกว่า ขณะที่ทำพิธีกรรม เธอรู้สึกถึงความตายจริง ๆ เหมือนกำลังหายใจเฮือกสุดท้าย และได้รู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสรรพสิ่ง เราคือธรรมชาติ
ทั้งนี้ เธอย้ำว่า การทำพิธีกรรมนี้ จะต้องมีผู้นำจิตวิญญาณที่เชี่ยวชาญมาก เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากสนใจทำ ต้องศึกษาอย่างดี และทดลองทำกับผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และควรทำในที่ปลอดภัย ใกล้ธรรมชาติ ที่สำคัญควรมีแพทย์ในระหว่างทำพิธีกรรมพร้อมเตือนว่า พิธีกรรมนี้ไม่เหมาะกับทุกคน ไม่ควรทำไปเพราะความสนุก
เมื่อคลิปวิดีโอดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกโซเชียล มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากว่า ‘พิธีกรรม’ ดังกล่าว รวมไปถึงการอ้างถึง ‘น้ำสมุนไพร’ ‘กระบวนการกระตุ้นการหลั่งสารในสมอง’ ที่เธออ้างถึงนั้น เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในประเทศไทยหรือไม่
สำหรับ สาร DMT ที่มีการอ้างถึงในคลิปวิดีโอดังกล่าว ทาง กองควบคุมวัตถุเสพติด ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า วัตถุออกฤทธิ์ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
– วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 เป็นสารที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดการใช้ยาในทางที่ผิด มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพสูง และ ไม่มีการใช้ทางการแพทย์ ส่วนใหญ่มีฤทธิ์หลอนประสาท ได้แก่ Mescaline, Psilocybin, DMT, DET, Cathinone เป็นต้น กฎหมายจึงห้ามเด็ดขาดไม่ให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง
– วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นสารที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดการใช้ในทางที่ผิดสูง มีอันตรายต่อสุขภาพมากหากใช้ไม่เหมาะสมหรือไม่อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพ แต่มีประโยชน์ทางการแพทย์ ได้แก่ Phentermine, Midazolam, Zolpidem, Methylphenidate, Ketamine, Pseudoephedrine เป็นต้น กฎหมายห้ามมิให้ผู้ใด ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข
– วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 เป็นยามีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ที่มีศักยภาพในการก่อให้เกิดการใช้ในทางที่ผิดปานกลาง เช่น Amobarbital, Pentobarbital, Pentazocine เป็นต้น
– วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 เป็นยาที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ และศักยภาพในการก่อให้เกิดการนำไปใช้ในทางที่ผิดต่ำ เช่น Diazepam, Lorazepam, Clorazepate, Chlordiazepoxide เป็นต้น
กฎหมาย ห้ามมิให้บุคคลใด ผลิต ขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือ 4 หรือนำผ่านวัตถุออกฤทธิ์ทุกประเภท เว้นแต่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ไม่ใช้บังคับแก่
– ผู้ประกอบผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพ
การสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุขอื่น ที่มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือ 4 ไว้ในครอบครองในปริมาณที่กฎหมายกำหนด เช่น Amobarbital ครอบครองได้ไม่เกิน 10 กรัม Diazepam ครอบครองได้ไม่เกิน 10 กรัม Lorazepam ครอบครองได้ไม่เกิน 2 กรัม เป็นต้น
– การผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออก โดยกระทรวง ทบวง กรม หรือสภากาชาดไทย
– การมีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือ 4 ตามหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม หรือสภากาชาดไทย หรือหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด
ที่มา : กองควบคุมวัตถุเสพติด
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_8252325https://narcotic.fda.moph.go.th/detail-psycho-new1/category/detail-psychrotrophic1