สร้างความหวั่นวิตกให้กับใครหลายคน เมื่อเพจ “หมอแล็บแพนด้า” โพสต์รูปภาพขนมโตเกียวที่มีแฟนเพจส่งเข้ามา ทว่าเมื่อสังเกตดูดีๆ จะพบว่าถุงที่ใช้ใส่ขนมโตเกียวกลับกลายเป็นเอกสารผู้ป่วยนวก (OPD) จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ที่สำคัญบนเอกสารยังบอกว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวมีโรคไวรัสตับอักเสบบี เพิ่มความกังวลใจขึ้นไปอีก โดยหมอแล็บแพนด้าโพสต์ข้อความระบุว่า “แฟนเพจแจ้งว่า เจอขนมโตเกียวใส่ถุงพับจากเอกสาร OPD รพ.นึงในจ.อุบล รายละเอียดครบเลย เป็นเพศชายติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะกินต่อหรือพอแค่นี้”
ภายหลังที่มีการแชร์ภาพดังกล่าวออกไป มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากถึงการนำเอกสารทางการแพทย์จากโรงพยาบาลมาใช้สำหรับห่ออาหาร ทั้งกังวลเรื่องความเสี่ยงจากการติดโรคไวรัสตับอักเสบบี และเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ขณะที่บางส่วนบอกว่าเคยเจอการนำเอกสารเก่ามาใช้ห่ออาหารเช่นเดียวกัน
แพทย์เตือนเสี่ยงโรคเพียบ!
“นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมาให้ข้อมูลในประเด็นดังกล่าวว่า สำหรับความกังวลเรื่องเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีนั้น ไม่น่าเกิดเนื่องจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีติดต่อทางเลือดและสารคัดหลังเท่านั้น ไม่ติดต่อโดยการรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตาม การใช้ถุงลักษณะดังกล่าวมาบรรจุอาหารถือว่าไม่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ถูกสุขลักษณะ เนื่องจากกระดาษที่ห่อขนมใช้บรรจุอาหารนั้น หากเป็นเอกสารที่ผ่านการหยิบจับหรือใช้งานอื่นๆ มาหลายครั้งหลายมือ อาจมีการแพร่กระจายของเชื้อโรคติดอยู่ในกระดาษดังกล่าวได้ ซึ่งที่น่ากังวลคือเชื้อโรคที่ติดต่อทางเดินอาหาร
สารเคมีอันตรายอาจตกค้างเมื่อใช้กระดาษที่มีการพิมพ์หรือถ่ายเอกสารมาบรรจุอาหาร สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มสารอนินทรีย์อันตราย ได้แก่ โลหะหนักเป็นพิษที่ออกฤทธิ์เรื้อรังต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณน้อย ๆ แต่เป็นประจำ หรือแบบเฉียบพลันหากได้รับในประมาณสูง หรือก่อเกิดพิษเรื้อรัง เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โครเมียม และ (2) กลุ่มสารอินทรีย์อันตรายที่มีฤทธิ์ก่อมะเร็ง เช่น บิสฟีนอล เอ (Bisphenol A) เบนโซฟีโนน (Benzophenone) สารกลุ่มพทาเลต สีเอโซ (Azo dye) โดยเฉพาะเบนโซฟีโนน ซึ่งเป็นสารตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการพอลิเมอร์ไรเซชัน เพื่อทำให้หมึกพิมพ์แข็งตัวเป็นฟิล์มเคลือบบนวัสดุที่พิมพ์ เป็นอันตรายทำให้เกิดการก่อมะเร็ง
นายแพทย์รุ่งเรือง แนะนำว่ากระดาษที่ใช้ห่อหุ้มหรือบรรจุอาหารควรเป็นกระดาษที่ระบุว่าสัมผัสอาหารได้เท่านั้น ไม่ควรใช้กระดาษรียูสหรือกระดาษรีไซเคิลใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องสัมผัสโดยตรงกับอาหาร และถึงไม่สัมผัสโดยตรงก็ไม่ควรนำมาห่อหุ้มอาหารที่มีความร้อน ความชื้น และน้ำมันออกมาด้วย เนื่องจากสารพิษบางตัวสามารถละลายน้ำหรือน้ำมันหรือกลายเป็นไอระเหยปนเปื้อนมากลับอาหารได้ เมื่อเรารับประทานเข้าไปก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
นอกจากจะมีความเสี่ยงอันตรายต่อร่างกายแล้ว การใช้กระดาษประวัติส่วนบุคคลของผู้ป่วยมาทำถุงห่ออาหารยังถือว่าผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคลหรือที่เรียกว่ากฎหมาย PDPA ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2565 ด้วย ข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย หรือข้อมูลส่วนบุคคลต้องถูกจัดเก็บให้ถูกต้องเป็นระบบและไม่ควรหลุดรอดออกจากโรงพยาบาล จนกว่าจะมีการทำลายด้วยเครื่องมือเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำลายเอกสาร
แหล่งอ้างอิงข้อมูล