ปรากฎการณ์ความนิยมซีรีส์ Y ทั้งในประเทศไทยและเพื่อนบ้านคงเป็นที่น่าสนใจไม่น้อย หากมองจากมุมคนที่ศึกษาพัฒนาการประวัติศาสตร์สื่อมวลชน

ถ้าผนวกรวมกับคนที่เป็นกระบอกเสียงของแนวคิด สตรีนิยม และสิทธิของความหลากหลายทางเพศ อย่าง ชเนตตี ทินนาม อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สื่อจากมุมความเท่าเทียมทางเพศ และเคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในตำแหน่งคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

จากสายธารสื่อสารมวลชนกระแสหลัก ตัวละครที่มีความหลากหลาย-ไหลลื่นทางเพศ หรือมีเพศวิถีไม่ใช่แบบคู่ตรงข้าม มักจะถูกวางบทบาทไว้ชายขอบจักรวาล “ชาย-หญิง” หรือทำให้ “มองไม่เห็น”

“การเติบโตพัฒนาการของสื่อหนีไม่พ้นบริบทสังคม การเมือง และวัฒนธรรม มันต้องไปด้วยกัน เราแยกขาดการเติบโตของซีรีส์ Y อย่างเป็นเอกเทศไม่ได้”

คือคำตอบส่วนหนึ่งในบทสนทนาของเรากับ “ชเนตตี” ที่กระตุ้นเตือนให้เรามองปรากฎการณ์นี้คู่ไปกับความเป็นไปของสังคม  และ “สื่อมวลชน-สื่อบันเทิง” ที่ถูกคาดหมายให้ทำหน้าที่เป็น “กระจก” สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น

ความนิยมของซีรีส์ Y สะท้อนบริบทความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างไร รวมทั้งโจทย์ท้าทายของสังคมที่จะต้อง ถม ช่องว่างของแฟนตาซีในซีรีส์ และความรักที่ยังไม่เสรีของสังคมไทยอย่างไร ชวนหาคำตอบพร้อมกัน

ชเนตตี ทินนาม

จากสายตาคนสอนวิชาสื่อสารมวลชน มองความนิยมซีรีส์ Y ในช่วงหลายปีมานี้อย่างไร

ซีรีส์คือโลกของแฟนตาซีอย่างหนึ่ง เพราะเราก็รู้ว่าการทำซีรีส์อาจไม่ได้มีพื้นฐานจากความเป็นจริงเลยก็ได้ แต่อาจพยายามทำให้คนหลุดเข้าไปและดื่มด่ำ เสพย์ความรื่มรมย์บันเทิงใจหรือแง่คิดที่ซีรีส์เสนอ

ถ้ามองในแง่อุตสาหกรรมและการเติบโตของทุนนิยม คิดว่าเป็นโอกาสดีที่อุตสาหกรรมสื่อมีพื้นที่ มีทิศทาง และสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ในเชิงทุนทางวัฒนธรรมของสังคมได้ แต่เราต้องไม่ละเลยช่องว่างที่เกิดขึ้นทางสังคมด้วย ต้องไม่ลืมว่าสื่อมวลชน แม้จะมีหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นสังคม ความเป็นไปของสังคมก็จริง แต่กระจกต้องไม่บิดเบี้ยว ต้องสะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรุนแรง หรือ การที่สังคมยังมีการกดขี่ เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอยู่

“ช่องว่าง” ที่พูดถึงระหว่างโลกแฟนตาซีของซีรีส์ และความเป็นจริงมีอะไรบ้าง

เป็นปัญหาร่วมกันในการผลิตอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศไทย ตั้งแต่ซีรีส์ที่นำเสนอความรักระหว่างชาย-หญิง จนถึงปัจจุบันที่มีการเติบโตของซีรีส์ Y อาจารย์คิดว่ามันไม่ได้ถอดขนบการสร้างภาพเหมารวม (stereotype) บางอย่างในเรื่องเพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศ และรสนิยมทางเพศของสังคม

ภาพของผู้หญิงที่เกิดขึ้นในละครหรือซีรีส์ชาย-หญิงจะพบว่าผู้หญิงมักจะตกในสถานการณ์ที่เป็นรอง ถูกสร้างภาพเหมารวมให้มีแบบฉบับเดียว ทำให้เกิดความรุนแรงบนฐานเพศสภาพให้ผู้หญิงตกอยู่ในกรอบบรรทัดฐานทางสังคม เช่น ต้องไขว่หาความรัก วิ่งหาความเป็นผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบ หรือการมีชีวิตคู่ที่ต้องจบลงด้วยฉากแต่งงาน และชีวิตหลังจากนั้นอาจเสนอภาพการเป็นภรรยา เป็นแม่ที่ดี หรือการฉายภาพผู้ชายหล่อ-ผู้หญิงสวย ภาพคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

ขนบการก่อร่างสร้างตัวของซีรีส์ Y ที่จริงแล้วยังคงเป็นขนบเดียวกับที่ปรากฎในละครของชาย-หญิงที่ยึดโยงกับอัตลักษณ์แบบเดียว แล้วก็ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเสนอภาพตัวแทน (represent) เกย์อย่างแท้จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงผู้ชายรักกับผู้ชายคนหนึ่งเท่านั้น และอาจจะลดทอนความเป็นจริงแห่งชีวิตที่หลากหลาย ทับซ้อน และความเป็นจริงอาจจะเจ็บปวดกว่านั้นด้วยซ้ำ

ถ้าเรามาดูสถิติของความรุนแรงบนฐานเพศสภาพที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เราจะพบว่าประเทศไทยไม่ใช่สวรรค์ของสันติภาพสำหรับบุคคลหลากหลายทางเพศเลย เพราะฉะนั้นซีรีส์ Y จึงไม่ควรทำหน้าที่เป็นเพียงสื่อบันเทิงที่ใช้หลบหลีกจากความทุกข์ระทมในชีวิต แต่ต้องกระตุกอะไรบางอย่างให้กับผู้ชมให้คิดถึงบุคคลที่หากมีชีวิตจริงในสังคม เขาจะอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ไหน

มักจะมีข้อถกเถียงว่าควรแยกประเภทสื่อ Y ออกจาก LGBTQ มองเรื่องนี้อย่างไร

การเกิดขึ้นของซีรีส์ Y ไม่ได้พัฒนาจากจุดยืนความเป็นเกย์ เลสเบี้ยน หรือ LGBTIQA+ จากการศึกษาจะพบว่ามาจากนิยาย Y หรือ “ยาโออิ” ของญี่ปุ่นซึ่งต้นตำรับคือผู้หญิงเป็นคนเขียนซึ่งเป็นเหมือนการสร้างโลกจินตนาการที่อยากจับผู้ชายมามีความรักกัน

การวิเคราะห์จากแนวคิดสตรีนิยมในงานวิจัยหลายชิ้นพบว่านิยาย Y เข้ามาในประเทศไทยประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว และเป็นนิยายที่สร้างความจิ้นให้กับผู้หญิง ต่อมาถูกเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็น สาว Y สมัยก่อนจะมีแฮชแท็กว่า #ชายได้ชายสายวายนิพพาน คือความรักโรแมนติกของชาย-ชายทำให้ผู้หญิงถึงกับบรรลุอะไรบางอย่าง

ชเนตตี ทินนาม

งานวิจัยหลายชิ้นวิเคราะห์ตรงกันว่าจริงๆ แล้วการสร้างนิยาย Y หรือวัฒนธรรมวายในช่วงต้น อาจจะรวมถึงดอกผลของซีรีส์ Y ในตอนนี้เป็นความพยายามของผู้หญิงเพื่อต่อรองกับบรรทัดฐานเรื่องเพศของในสังคมชายเป็นใหญ่

ในทฤษฎีด้านนิเทศศาสตร์ เช่น ด้านภาพยนตร์จะมีทฤษฎีเรื่อง male gaze หรือ การจ้องมองจากสายตาของผู้ชาย หมายความว่าทุกฉาก ทุกภาพที่ปรากฎล้วนถูกผลิตออกมาด้วยสายตาแห่งผู้ชาย เพื่อให้ผู้ชายดู เราจะพบว่าผู้หญิงจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เป็นวัตถุทางเพศ (objectification)

และเวลาผู้หญิงดูภาพยนตร์ที่ใช้มุมมองสายตาแบบ male gaze ก็จะรู้สึกว่าไม่ใช่พื้นที่ของเขา รู้สึกว่าเขาถูกกดทับ เพราะฉะนั้น หลายสำนักคิดจึงมองว่าซีรีส์ Y เป็นการต่อสู้และต่อรองต่ออำนาจปิตาธิปไตยของผู้หญิงที่เป็นสาว Y นั่นคือการพลิกตัวเองจากการเป็นวัตถุทางเพศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ให้เป็นผู้ชมที่สร้างจินตนาการและกำหนดชะตากรรมความรักของชาย-ชายได้ คือการช่วงชิงและต่อรองเชิงอำนาจเชิงวัฒนธรรมของผู้หญิงรูปแบบหนึ่ง

นอกจากมุมมองเกี่ยวกับอำนาจของผู้หญิง ซีรีส์ Y หรือวัฒนธรรม Y มีส่วนเชื่อมโยงถึงด้านความหลากหลายทางเพศอย่างไร

ต้องไม่ลืมว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ความเป็น LGBTIQA+ ไม่ปรากฎเลยในพื้นที่สื่อเลย หรือถ้าหากปรากฎก็อยู่ในสถานะตัวรอง โศกนาฏกรรม เป็นผู้ป่วยทางจิต เป็นกลุ่มคนที่อันตราย หรือกลุ่มคนที่ทำลายวัฒนธรรมทางสังคม ดังนั้นการได้รับความนิยมของซีรีส์ Y ทำให้คนกลับมาตั้งคำถามว่าชีวิตของ LGBTIQA+ สวยงาม มีความสุข สมหวังแบบในซีรีส์ที่กำลังนำเสนออยู่หรือเปล่า

ประเด็นนี้เป็นคุณูปการที่ต้องขีดเส้นใต้เลยว่าเกิดมาจากบทบาทของซีรีส์ Y และจะโยงเข้าสู่พื้นที่การเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมในประเทศไทยด้านอื่นอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศซึ่งเป็นสองหัวหอกสำคัญในการเคลื่อนไหวขณะนี้

ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าในอนาคต ซีรีส์ Y จะพัฒนาต่อในรูปแบบไหน ถ้าหากเกิดการเล่าเรื่องในขนบอื่นไม่ได้มีเฉพาะซีรีส์ Y แต่จะกลายเป็นหมวดหมู่ (genre) ใหม่สำหรับซีรีส์ในลักษณะแบบนี้หรือไม่ หรือจะกลายเป็นหลอมรวม genre ที่เป็น Y ให้กลายเป็นซีรีส์สำหรับความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ นี่ก็เป็นวิวัฒนาการของสื่อ เพราะ genre ของสื่อเกิดขึ้นใหม่หรือเสื่อมความนิยมไป ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ชเนตตี ทินนาม

การเติบโตและพัฒนาการของสื่อมันหนีไม่พ้นจากบริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม มันต้องไปด้วยกัน ตัวซีรีส์เองก็คือกระจกสะท้อนการเติบโตทางความคิดและสำนึกในเรื่องเพศของสังคมในห้วงขณะเวลานั้นเช่นกัน ขณะเดียวกันแรงกดบีบจากสังคมที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นแรงบันดาลใจทำให้ศิลปิน คนทำงานสื่ออยากจะสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่เอื้อและส่งผลต่อกัน เราจึงแยกการเติบโตของซีรีส์ Y อย่างเป็นเอกเทศ ไม่สัมพันธ์กับสิ่งที่ปรากฎในสภาพความเป็นจริงเลยก็คงไม่ใช่

พูดถึงสื่อวัฒนธรรม Y เมื่อก่อนก็เคยเป็นสิ่งที่ถูก ‘กวาดล้าง’ และมองว่าเป็นสิ่งลามกอนาจาร เหล่านี้สะท้อนบริบททางสังคมและการเมืองของไทยอย่างไร

สมัยก่อนการซื้อขายนิยาย Y ถูกจับนะ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองวางขายนิยาย-การ์ตูน Y บนชั้นหนังสือไม่ได้ เพราะถูกจัดว่าเป็นสื่อลามกอนาจาร ถ้าคุณจะอ่านในช่วงนั้นคุณต้องรู้จักสถานที่ซื้อขาย หรือสำนักพิมพ์ น่าแปลกใจว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ที่ขายหนังสือนิยาย Y ขายดีมาก พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก มีความต้องการสูงมาก แล้วก็ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป

สะท้อนว่าเมื่อก่อนสังคมไทยมีอาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน (homophobia) อย่างชัดเจน และอาการเหล่านี้อยู่ในกฎหมาย ตำราเรียน หรือสื่อทุกแขนง อาจจะรวมทั้งคำสอนในวัด โบสถ์ เป็นสิ่งผิดศีลธรรม ผิดบรรทัดฐาน ไม่สอดรับค่านิยมที่ดีงามของสังคมไทย เลยเกิดคำว่า แก้ทอม ซ่อมดี้ หรือถ้าเด็กผู้ชายเป็นเกย์ กะเทยต้องจับไปบวช หรือไม่ก็จับแต่งงาน แม้แต่เคยมีข่าวว่าบางคนจ้างผู้ชายมาข่มขืนลูกสาวที่เป็นทอมเพื่อหวังให้กลับมาเป็นผู้หญิง ฯลฯ

จากสังคมที่เคยมีบรรยากาศเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ทำไมซีรีส์ Y ถึงได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศในช่วงหลายปีมานี้

หนึ่ง โครงสร้างทางการเมือง ตอนช่วงเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คณะนิเทศศาสตร์เคยจัดงานวัน IDAHOT (ไอดาฮอต) หรือวันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน มีการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาคุยทิศทางนโยบาย เราเป็นคนพูดบนเวทีวันนั้นว่าเหลือเชื่อมากว่าเมื่อหลายปีก่อน การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องที่ถูกปฏิเสธ ไม่เคยถูกมองเห็นในพื้นที่สื่อ หรือต้องทำกิจกรรมกันในวงเล็ก

ในด้านการเมือง นักการเมืองอาจจะมองว่า LGBTIQA+ คือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นประชากรของประเทศ ถ้ามีนโยบายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศอาจดึงให้คนกลุ่มนี้มาลงคะแนน และหลังการเลือกตั้งก็มีพรรคการเมืองฝ่ายค้านบางพรรครณรงค์และเปิดประเด็นอภิปรายในเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างต่อเนื่อง และเมื่อโครงสร้างระดับใหญ่มองเห็น การขับเคลื่อนในโครงสร้างอื่นๆ ก็จะตามมา

สอง อิทธิพลของกระแสโลก เช่น ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2019 ตามมาด้วยหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา กระแสระดับโลกช่วยสนับสนุนและผลักดันให้วาระนี้กลายเป็นวาระสำคัญที่พรรคการเมืองให้ความสำคัญ

สมรสเท่าเทียม ไต้หวัน
การณรงค์กฎหมายสมรสเท่าเทียมในไต้หวัน ปี 2016 (ภาพ: Sam YEH / AFP)

สาม การบูมของโซเชียลมีเดียและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้กระแสเรียกร้องอยู่ในความสนใจตลอดเวลา  และยังเป็นพื้นที่สำคัญมากของการส่งเสียงของเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมทั้งเป็นโลกของการเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดในห้องเรียนซึ่งเราไม่เคยเรียนรู้เรื่องเพศและสำนึกความเท่าเทียมทางเพศ หรือไม่ได้จำกัดแค่ตำราเรียนที่มีแต่เนื้อหาเหยียดเพศอีกต่อไป

และสุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการเมืองบนท้องถนน การเมืองของเด็กและเยาวชนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเพียงการเรียกร้องปฏิรูปเชิงโครงสร้างหรือเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเดียว แต่มันเกิดขบวนการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของความหลากหลายทางเพศด้วย การเกิดขึ้นของงานไพร์ดคือหมุดหมายสำคัญมาก

มองอนาคตการขับเคลื่อนด้านสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ และสังคมไทยหลังจากนี้อย่างไร

ประวัติศาสตร์บอกไว้ชัดเจนว่าความหลากหลายทางเพศต้องมีที่หยัดยืนแน่นอนในอุตสาหกรรมสื่อไทย ตอนนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเลยที่ทำให้ความหลากหลายทางเพศในสื่อปรากฎขึ้น การเกิดอุตสาหกรรมซีรีส์ Y ในเวลานี้เป็นตัวสปริงบอร์ดทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

แต่หลังจากนี้ทิศทางของซีรีส์ Y จะไปในทางไหน คิดว่ากระแสทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงการขับเคลื่อนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม จนกระทั่งการเลือกตั้งที่จะมาถึงจะเป็นตัวบอกความก้าวหน้าในพัฒนาการเหล่านี้

ส่วนตัวเชื่อว่าคลื่นลูกใหม่กำลังจะถาโถม เราเห็นคนรุ่นใหม่ในระดับมหาวิทยาลัยคนรุ่นใหม่ที่เรียนด้านการทำภาพยนตร์สนใจเรื่องความหลากหลายทางเพศสูงมาก ระดับปริญญาโทก็มีคนทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับซีรีส์ Y ทุกปี ดังนั้นเราอย่ากลัวที่จะตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาต่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ

อย่าทำให้ซีรีส์ Y จบแค่การขายฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง แต่ต้องทำให้โลกความเป็นจริงฝันได้ และเป็นโลกที่ทุกคนรักกันได้อย่างเสรี ความรักที่เกิดขึ้นในซีรีส์ Y ก็อยากให้เกิดความรักในโลกความเป็นจริง

ชเนตตี ทินนาม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก