“เมื่อผู้สูงอายุเสียชีวิต เราจะสอบถามญาติว่าต้องการนำศพไปทำพิธีกรรมทางศาสนาหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ญาติและครอบครัวจะไม่รับศพกลับไป”
“ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งมักจะมีภาวะซึมเศร้า ตรอมใจ และเกิดความขัดแย้งในใจว่าทำไมสมัยที่ตัวเองมีสภาพร่างกายแข็งแรง เขาสามารถที่จะเลี้ยงดูลูกหลานได้ แต่เมื่อตัวเองแก่ตัวลง รายได้ไม่มี ทำไมลูกหลานไม่เลี้ยงดูเราบ้าง”
“สังคมสูงวัย ที่ไร้ลูกหลาน” คำๆ นี้น่าจะเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับมีเด็กเกิดขึ้นมาดูโลกน้อยลงทุกวัน
จากข้อมูลปี 2565 พบว่าผู้สูงอายุมีจำนวน 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดการณ์ไว้ว่าในอีก 18 ข้างหน้า ปี 2583 สัดส่วนวัยเด็กจะเหลือเพียง ร้อยละ 12.8 ,วัยทำงาน ร้อยละ 56 และวัยสูงอายุจะมีมากถึง ร้อยละ 31.2
เมื่ออนาคตอันใกล้คนส่วนหนึ่งของประเทศเลือกที่จะโสด หรือมีสามีภรรยาแต่ก็เลือกที่จะไม่มีลูก และหันมาดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดีขึ้นมีอายุยืนยาวขึ้น เมื่อแก่ตัวไป “บ้านพักคนชรา” จึงกลายเป็นตัวเลือกที่หลายคนใช้เป็นสถานที่สุดท้ายของชีวิต
หากพูดถึงบ้านพักคนชรา ณ ปัจจุบัน มีทั้งรูปแบบบ้านเดี่ยว บ้านทาวน์โฮม คอนโดมิเนียม ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันให้เลือกสรรไปอยู่ได้ตามจำนวนเงินที่มีในกระเป๋า แต่หากเป็นบ้านพักคนชราดั้งเดิมที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดีคงหนีไม่พ้น “บ้านบางแค” หรือศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค เนื่องจากเป็นสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุแห่งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย
บ้านบางแค ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2496 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เดิมใช้ชื่อว่าสถานสงเคราะห์คนชราบางแค เพื่อสงเคราะห์ผู้สูงอายุตามนโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐ ทำให้หลายคนมีภาพจำเกี่ยวกับบ้านบางแคว่าเป็นบ้านพักสำหรับผู้สูงอายุที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง และไม่มีใครเหลียวแล
แต่ในปัจจุบันเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บ้านพักคนชรา หรือ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ รวมไปถึงบ้านบางแค ก็มีการปรับตัวเพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และบ้านบางแคได้กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่คนนับพันรอต่อคิวเข้ามาอยู่
วลัยรักษ์ อังคะมาตย์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มงานสวัสดิการผู้สูงอายุที่บ้านบางแค เล่าว่าบ้านบางแคมีที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบ่งเป็น 3 ประเภท ประเภทที่หนึ่งคือ ประเภทสามัญ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีผู้ดูแล ฐานะยากจน หรือว่าสัมพันธภาพในครอบครัวไม่ดี ซึ่งผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะต้องผ่านการประเมินจากเจ้าหน้าที่บ้านบางแค ก็สามารถเข้ามาพักอาศัยได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งประเภทสามัญนี้บ้านบางแค สามารถรองรับได้จำนวน 250 คนเท่านั้น
ประเภทที่สองเป็นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุแบบหอพัก มีจำนวนทั้งสิ้น 40 ห้อง โดยผู้สูงอายุจะต้องเสียค่าห้องเดือนละ 1,500 บาท หากอยู่เป็นคู่จะเสียค่าห้องเพิ่มเป็นเดือนละ 2,000 บาท พร้อมเสียค่าน้ำค่าไฟตามจำนวนยูนิตที่ใช้ ซึ่งตอนนี้มีผู้ประสงค์เข้าอยู่จองคิวไว้กว่า 2,000 คิวแล้ว
ประเภทที่สามประเภทพิเศษ เป็นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุในรูปแบบบังกะโล หรือ บ้านเดี่ยวชั้นเดียว มีจำนวน 11 หลัง ผู้สูงอายุที่ต้องการเข้าพักจะต้องจองคิวล่วงหน้า จ่ายค่าแรกเข้าประมาณ 300,000 บาท และจ่ายค่าห้องรายเดือน เดือนละ 1,500 บาท โดยเสียค่าน้ำค่าไฟแยกต่างหากเช่นเดียวกับประเภทหอพัก ซึ่งขณะนี้ที่อยู่อาศัยในรูปแบบบังกะโลเต็มทุกหลัง และมีผู้สูงอายุรอคิวเข้าอยู่กว่า 500 คิว
ส่วนบริการที่ผู้สูงอายุจะได้รับเมื่อเข้าพักที่บ้านบางแค จะได้รับบริการด้านปัจจัย 4 ที่จำเป็นในบั้นปลายชีวิต เช่น บริการด้านการรักษาพยาบาล โดยมีเจ้าหน้าที่พยาบาลอยู่เวรดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจร่างกาย ปฐมพยาบาล ให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย การออกกำลังกาย และการฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุ บริการด้านกายภาพบำบัด บริการด้านอาชีวบำบัด โดยจัดผู้เชี่ยวชาญมาฝึกสอนงานประดิษฐ์ต่างๆ ให้กับผู้สูงอายุ เช่น งานเครื่องหอม งานของชำร่วย จัดทำเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุยามว่าง
พร้อมบริการด้านสังคมสงเคราะห์ มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษารวมทั้งดำเนินการด้านกฎหมาย เช่น การจัดทำพินัยกรรม และบริการด้านจิตวิทยา เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ นอกจากนี้ยังมีบริการด้านศาสนา โดยบ้านบางแคจะนิมนต์พระสงฆ์มาแสดงธรรมเทศนาทุกวันพระ วันสำคัญทางศาสนา และจัดพิธีฌาปนกิจศพให้กับผู้สูงอายุเมื่อถึงแก่กรรมด้วย
“เมื่อผู้สูงอายุเสียชีวิต เราจะสอบถามญาติว่าต้องการนำศพไปทำพิธีกรรมทางศาสนาหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ญาติ และครอบครัวจะไม่รับศพกลับไป ให้เป็นหน้าที่ของบ้านบางแคดำเนินการให้ ทางบ้านบางแคก็จะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดใกล้ๆ มาสวดศพตามพิธีกรรมทางศาสนาก่อนเคลื่อนย้ายศพไปเก็บไว้ที่วัดนิมมานรดี โดยจะทำการฌาปนกิจศพพร้อมกันในเดือนมีนาคมของแต่ละปี และนำอัฐิส่วนหนึ่งไปลอยอังคาร อีกส่วนหนึ่งเก็บรวมไว้ภายในเจดีย์ของบ้านบางแค ซึ่งเราจะทำบุญให้ทุกปี”
เจ้าหน้าที่บ้านบางแค ยังเล่าให้เราฟังอีกว่าหลายคนมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบ้านบางแคว่าผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ที่นี่มีแต่ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง และเมื่อเข้ามาอยู่ก็ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งมีเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่สมัครใจมารอต่อคิวเพื่อเข้ามาอยู่
แต่หลังเกิดการแพร่ระบาดของ COVID 19 ทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ผู้สูงอายุออกไปข้างนอก ยกเว้นกรณีจำเป็น เช่นไปโรงพยาบาล หรือไปทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อเนื่องจากผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ แต่หากเป็นสถานการณ์ปกติผู้สูงอายุทุกคนสามารถออกไปข้างนอกได้แต่มีระเบียบการเข้าออกว่าจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง และกลับเข้าบ้านบางแคไม่เกิน 18.00 น.
“เราได้รับแจ้งว่ามีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานต่างๆ บางคนถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล บางคนมีรถแท็กซี่ขับมาทิ้งไว้ เมื่อบ้านบางแครับตัวผู้สูงอายุเหล่านี้มาก็จะมีภาวะซึมเศร้า ตรอมใจ และเกิดความขัดแย้งในใจว่าทำไมสมัยอยู่บ้าน สมัยที่ตัวเองมีศักยภาพ มีสภาพร่างกายแข็งแรง มีงาน มีรายได้ เขาสามารถที่จะเลี้ยงดูลูกหลานได้ แต่เมื่อตัวเองแก่ตัวลง รายได้ไม่มี ทำไมลูกหลานไม่เลี้ยงดูเราบ้าง”
สำหรับผู้สูงอายุประเภทสามัญ หรือถูกทอดทิ้งจากครอบครัว เมื่อถูกส่งตัวมาส่วนใหญ่จะมีอาการซึมเศร้า เจ้าหน้าที่บ้านบางแคจะใช้วิธีเข้าไปพูดคุยปรับสภาพจิตใจเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลนำไปวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงให้ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ภายในบ้านบางแค ไม่รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว หากไม่มีการปรับสภาพจิตใจผู้สูงอายุก็จะมีพฤติกรรมแยกตัวซึ่งจะส่งผลเสียทั้งร่างกายและจิตใจ
ขณะนี้บ้านบางแค ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อาสาสมัครชุมชน ร่วมกันเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน สร้างความเข้าใจกับลูกหลานในการดูแลผู้สูงอายุ ส่วนเรื่องที่เป็นห่วงที่สุดตอนนี้คือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การทำร้ายร่างกายผู้สูงอายุ ที่พบเห็นในข่าวรายวันส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด
และในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้สูงอายุ และพบเห็นผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งอย่างต่อเนื่องว่าขอวิงวอนไปถึงผู้คนในสังคม และลูกหลานภายในครอบครัวให้ใส่ใจความสัมพันธ์ภายในครอบครัว มีความกตัญญูไม่ทอดทิ้งผู้สูงอายุให้พวกเขาโดดเดี่ยว เนื่องจากครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ไม่มีใครดูแลและห่วงใยเราได้เท่ากับคนในครอบครัวของเราเอง