จากผลสำรวจของ Pew Research Center พบว่ามีประชากรโลกจำนวนมากกว่า 1.1 ล้านคนที่แสดงตนว่า ‘ไม่นับถือศาสนา’ มากเป็นอันดับที่สาม รองลงมาจากศาสนาคริสต์อันดับที่หนึ่ง และศาสนาอิสลามอันดับที่สอง นอกจากนั้นมีการคาดการณ์ว่าประเทศที่มีผู้ไม่นับถือศาสนามากที่สุด คือประเทศจีน 720 ล้านคน อีกทั้งหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มไม่นับถือศาสนามากกว่ากลุ่มคนสูงวัยด้วย
แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีสถิติหรือผลสำรวจที่ชัดเจนและเป็นทางการ แต่นักวิชาการด้านศาสนวิทยา ระบุว่าประเทศไทยจะมีคนไม่นับถือศาสนาเพิ่มถึงร้อยละ 20 สาเหตุมาจากประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้น และผิดหวังกับบุคคลทางศาสนา
อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแส ‘มูเตลู’ กลับมาแรงอย่างมากในสังคมไทยโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปขอพรและบูชาองค์เทพตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การเลือกแต่งตัวตามสีมงคล และการดูดวง แม้แต่เพจออนไลน์ หรือแบรนด์ต่างๆ ของคนรุ่นใหม่ก็ยังหยิบกระแสมูเตลูนี้มาสร้างจุดขายและผลิตเป็นสินค้าด้วยเช่นกัน จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าอะไรที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในประเทศไทยเริ่มที่จะไม่นับถือศาสนา แต่กลับเอนเอียงไปทางมูเตลูมากขึ้น ดังนั้นเราเลยไปพูดคุยกับ ศาสตราจารย์ ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับปรากฏการณ์มูเตลูและการไม่นับถือศาสนาที่กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่
ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เลือกที่จะไม่นับถือศาสนา แต่หันมาพึ่งพามูเตลูแทน อาจารย์มีความคิดเห็นหรือมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร
“น่าจะมาจากการที่ศาสนาของเรา ศาสนาหลัก ศาสนาพุทธ อยู่ในรูปสถาบันมากเกินไป หมายความว่าอยู่มาแบบยาวนาน และก็เน้นเรื่องประเพณี พิธีกรรม การกระทำอะไรที่มีมาแต่ดั้งเดิมมากๆ คือเวลาเราฟังอะไรที่มาจากพระ หรือวงการพระ มักจะเน้นเรื่องรักษาพุทธศาสนา สืบทอด ทำอะไรให้ต่อเนื่อง ความหมายเป็นไปในทำนองว่าอะไรที่มีมาแต่อดีต รักษาไว้ให้เหมือนเดิม ซึ่งไม่เข้ากับคนรุ่นใหม่ ไม่เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะว่าคนที่เขาจะมานับถือศาสนา คนที่เขาจะใช้ประโยชน์จากศาสนา เขาไม่ได้อยู่แบบเก่า ไม่ใช่คนโบราณ ไม่ใช่ว่าจับทุกอย่าง Freeze เอาไว้ แต่ว่าในรูปสถาบัน องคาพยพใหญ่ เขาไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ทำให้เขาไม่สามารถตอบสนองความต้องการหรือปัญหา ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากโลกกำลังเปลี่ยนไปได้ ก็เลยทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถหาคำตอบที่เขาอยากได้จากสถาบันศาสนาแบบนี้”
“มูเตลูคือนับถือเทพ ที่นี้นับถือเทพก็หลากหลายมาก มีเทพหลายองค์มาก คือไม่เหมือนกับมหาเถรสมาคม หรือระบบกฎหมายที่จะจัดการว่าคนไทยต้องนับถือเทพองค์นี้ๆ คือไม่มีไง ก็เลยเป็นกิจกรรมส่วนตัวมากๆ บางคนก็นับถือพระพิฆเนศ บางคนนับถือเจ้าแม่อุมาที่วัดแขกสีลม บางคนก็นับถือพระศิวะ บางคนนับถือพระตรีมูรติ และก็มีอื่นๆ อีกเยอะ นี่หมายถึงเทพที่มีมาแต่ดั้งเดิมนะ ก็คือพระพิฆเนศ เจ้าแม่อุมา พระศิวะ พระตรีมูรติ แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน เป็นปรากฏการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นที่เป็นภาพรวม ส่วนภาพกว้างก็คือจะเป็นความชอบของแต่ละบุคคล ที่ไม่ได้เกิดจากการมีองค์กรขนาดใหญ่ที่มาบังคับ และมาจากอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องการเปิดเสรีภาพในความเชื่อด้วย”
คำว่า ‘ไม่มีศาสนา’ กับ ‘มูเตลู’ อาจารย์ให้นิยามอย่างไร มีความเหมือนหรือแตกต่างกันไหม
“มูเตลูมาจากแถวอินโด จะมีหนังเรื่องหนึ่ง แล้วก็เป็นหนังเกี่ยวกับเรื่องที่ว่ามีสองฝ่าย เขาใช้เวทมนตร์เข้ามาต่อสู้กัน แล้วก็คำว่ามูเตลูอยู่ในเวทมนตร์ที่เขาใช้ ก็เลยกลายเป็นคำที่เข้ามาในภาษาไทย น่าจะมาจากภาษาอินโด ภาษามลายู และก็เข้ามาในภาษาไทย กลายเป็นคำภาษาไทยไป หมายถึง พวกไสยศาสตร์ เวทมนตร์ ที่นี้ถามว่ามาได้ไง ก็คงมาจากโซเชียลมีเดีย เพราะมันเกิดที่อินโด แล้วก็แพร่กระจายเข้ามาผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ คนก็รับมาใช้กัน ถ้าเป็นศาสนาในความเข้าใจของคนทั่วไป ของตำราทั่วไป หรืออะไรที่เป็นทางการหน่อย ศาสนาจะต้องเป็นอะไรที่มีองค์กร มีระบบการจัดการ มีการแบ่งว่าใครปกครองใคร ใครเป็นหัวหน้า ใครเป็นเหมือนกับเทียบเท่าพระสังฆราช มีระบบการปกครอง พระสังฆราช แล้วก็เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เรียกได้ว่ามีระบบการปกครองที่เป็นระบบ เป็นรูปเป็นร่างที่เรียบร้อยชัดเจน ซึ่งมูเตลูไม่มี เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละกลุ่ม ของแต่ละคนที่อยากจะเชื่ออะไรก็ได้ เพราะในความหมายเกือบจะเรียกได้ว่ามูเตลูไม่ใช่ศาสนา”
ถ้าหากคนรุ่นใหม่เลือกที่จะไม่นับถือศาสนา แล้วพวกเขาใช้อะไรเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ
“กลุ่มมูเตลู เขาอาจจะเหมือนเวลามีความทุกข์ร้อนอะไร เขาอาจจะยึดเทพบางองค์ที่เขานับถือ อาจจะเป็นเทพประจำตัวของเขา ประจำกลุ่มของเขา ซึ่งอาจจะเป็นเทพคนละเทพ คนละองค์กับที่กลุ่มอื่น หรือศาสนาอื่นเช่นฮินดูนับถือก็ได้
ถ้าเช่นนั้นในอีกความหมายหนึ่งของศาสนาคือมีอะไรที่เป็นที่ยึดเหนี่ยว ที่เป็นเหมือนเทพ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ (ถ้าหากเป็นพุทธ เขาเรียกว่าพระพุทธเจ้า ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) ที่ไม่มีอยู่ในโลกของเรา หรือในความคิดของเรา คือเป็นที่ยึดเหนี่ยวเวลาทุกข์ร้อนใจและที่พึ่งขอให้ช่วยได้ เขาก็ยึดสิ่งเหล่านั้น”
“ถ้าเผื่อเป็นคนไม่นับถือศาสนาจริงๆ เขาจะไม่ยึดอะไรข้างนอก เวลาเขาเดือดเนื้อร้อนใจ เขาก็อาจจะวิเคราะห์ว่ามาจากไหน แล้วก็หาทางแก้ไขไปตามนั้น ใช้หลักวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย อาจจะขึ้นอยู่กับว่าเขาเดือดร้อนเรื่องอะไร เช่น เรื่องเงิน ก็ต้องมาวิเคราะห์ว่ามาจากไหน ไม่มีเงินก็ต้องไปหางานทำ หรือหายืมจากเพื่อน แทนที่จะไปไหว้พระพิฆเนศขอให้รวย เขาอาจจะไม่เชื่อว่าพระพิฆเนศมีจริง หรือช่วยให้แก้จนได้”
เรามักจะได้ยินบ่อยๆ ว่าศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี แล้วการที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะไม่นับถือศาสนา แปลว่าพวกเขาไม่สามารถเป็นคนดีได้เลยเหรอ
“การเป็นคนดีไม่เกี่ยวกับการนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนา แต่เกี่ยวกับว่าเราทำตัวของเราให้เป็นไปตามระบบระเบียบของสังคมที่เขายึดถือกัน ว่าเป็นการประพฤติที่จำเป็นเวลาจะต้องอยู่ด้วยกันหรือเปล่า ตัวอย่างเช่น เวลาสัญญากับใครแล้ว ก็ต้องทำตามสัญญา เรื่องทำตามสัญญาไม่เกี่ยวกับการนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนา คนไม่นับถือศาสนา เวลาคุณไปสัญญากับใคร ว่านี่นะ ฉันจะคืนเงินเธอภายในสองอาทิตย์ ก็ต้องทำอย่างนั้น ถ้าเผื่อฉันไม่คืนเงินเธอโดยที่บอกไปแล้ว หรือสัญญาอาจจะเซ็นชื่อด้วยซ้ำไป ว่าฉันจะคืนเงินเธอ แล้วหายไปเฉย หรือทำไม่รู้เรื่อง ทำเนียน ทำลืม มันไม่ได้ไง เป็นเรื่องผิด ไม่ว่าคนที่ผิดสัญญานั้น จะนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาก็ตาม มันผิด คือจะมีระบบสังคมแบบนี้ เรื่องความซื่อสัตย์ เรื่องการที่เราสามารถทำตัวของเราให้คนอื่นไว้ใจ เชื่อถือในคำพูดของเราได้ เป็น Basic ของการอยู่ร่วมกันในสังคม แล้วก็เป็น Basic ของการที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดี ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนา”
คิดว่ามูเตลูกำลังส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เกิดความงมงายมากขึ้นหรือไม่
“ไม่ถึงกับอย่างนั้นนะ คืออาจจะมีบางกลุ่มที่เน้นเรื่องงมงายเป็นหลัก แต่ไม่ใช่กลุ่มกระแสหลัก คือกลุ่มที่เน้นงมงาย ตัวอย่างเช่น เป็นกลุ่มที่ต่อต้านสังคม หรือกลุ่มที่เอาคนที่มีความเห็นไปในทางสุดโต่งแล้วมารวมอยู่ด้วยกัน แล้วก็เชื่ออะไรบางอย่างแบบฝังหัวจริงๆ ส่วนมากแบบนี้ น่าจะอยู่ในกลุ่มที่เป็นศาสนาด้วยซ้ำไป อย่างในสหรัฐอเมริกา จะมีกลุ่มแบบนี้เยอะ เขาเรียกว่า Fundamentalism เขาเชื่อในทุกสิ่งทุกอย่างที่คัมภีร์ไบเบิลเขียนไว้ตามตัวอักษร เช่น พระคัมภีร์บอกว่าพระเจ้าสร้างโลกเสร็จใน 6 วัน วันที่ 7 พัก ก็เชื่อจริงๆ ว่าพระเจ้าสร้างโลกเสร็จใน 6 วัน วันที่ 7 พัก ก็ตามตัวอักษร แล้วก็ไม่ค่อยเปิดตัวเองรับกับความเชื่อที่ไม่ตรงกับที่ตนเองเชื่อ เพราะเขาเชื่อความจริงอันสูงสุดของเขา”
“หรืออย่างในพม่าก็มีกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงที่เคยเป็นข่าว แล้วก็มีพระที่เป็นผู้นำคอยเหมือนไปปลุกกระแส ปลุกระดม ให้เกิดความเกลียดชังชาวมุสลิม คนก็เกิดความคลั่งขึ้นมา เกลียดมุสลิม แล้วก็ยกพวกไปทำลายร้านค้าของชาวมุสลิม นี่คือความงมงาย คือเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง ไม่มีจิตวิพากษ์ วิเคราะห์ หรือใช้เหตุผล คือ เชื่อแบบเห็นหัวหน้าของตนเองเป็นเหมือนศาสนา เป็นเหมือนความจริงสูงสุดอยู่ที่หัวหน้ากลุ่มของตนเอง ซึ่งโชคดีมากๆ ที่เมืองไทยยังไม่เป็นถึงขนาดนี้”
อะไรที่ทำให้มูเตลูมาแรงแซงศาสนาขนาดนี้
“ปัจจุบันนี้โซเชียลมีเดียเป็นหลัก แต่ก่อนมีหนังสือพิมพ์ มีทีวี ปัจจุบันบทบาทลดลงไปเยอะ นอกจากโซเชียลมีเดีย อาจจะเป็นปากต่อปาก เจอกัน แล้วก็คุยกัน Face to Face ก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เขาอยากจะให้ความคิดเขาแพร่กระจายไป โซเชียลมีเดียมาเป็นเบอร์หนึ่ง แล้วก็ปากต่อปาก หรือว่ามีสื่ออะไรอยู่ในมือ เช่น ช่องทีวีต่างๆ เขาก็พูดผ่านช่องทีวีของเขา ก็เป็นการแพร่กระจายของความคิด คำพูด รูปภาพ”
การที่คนรุ่นใหม่พึ่งพามูเตลูมากขึ้น องค์กรคณะสงฆ์หรือสถาบันศาสนายังมีความจำเป็นอยู่ไหม
“หลายๆ วัดก็มีการปรับตัวนะ คือบางวัดเขาก็มีรูปปั้นพระราหูองค์เบ้อเร่อตั้งอยู่ในวัด คนก็มาไหว้พระราหูกัน แล้วก็พระราหูเป็นมูเตลูอย่างหนึ่ง ชัดเจนอยู่แล้ว หรือบางวัดก็มีเทพองค์นู้นองค์นี้ มีพระพิฆเนศตั้งอยู่เต็มไปหมด หรือบางวัดก็มีทุกอย่าง คนอยากได้อะไรก็มาสั่งทำรูปปั้นเทพของตนเองวางไว้ในวัดได้ ก็เป็นช่องทางให้คนมาวัดอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้น แต่ว่าไม่ยั่งยืน คือถ้าหากจะให้ยั่งยืน องค์กรคณะสงฆ์เองต้องปรับที่เนื้อในของคณะสงฆ์เลย เพื่อให้พระพูดกับชาวบ้านรู้เรื่องมากขึ้น ชาวบ้านสมัยใหม่ ที่เรากำลังพูดกันอยู่แบบนี้ รู้เรื่องมากขึ้น ทำลายกำแพงการติดต่อสื่อสาร คือเวลาเราเห็นพระ ก็ไม่อยากจะเข้าใกล้ไง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่”
เป็นไปได้ไหมว่าในอนาคตคนรุ่นใหม่จะหันหลังให้กับศาสนามากขึ้น
“ถ้าหากศาสนายังเป็นแบบที่พูดกันในตอนแรก แบบแช่แข็ง ก็มีความเป็นไปได้เยอะขึ้น คือก็เป็นอยู่ในเวลานี้ แล้วเนื่องจากศาสนาพุทธ ตัวคำสอนศาสนาพุทธ จริงๆ ยังตอบโจทย์ได้อยู่ แต่ว่ารูปแบบ องคาพยพใหญ่ การจัดการองค์กร มันไม่เอื้อไง ก็เลยมีสิ่งนี้เกิดขึ้น อันที่จริงเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่กำลังเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ที่คนเขาอยากจะต้องการหาคำตอบจากศาสนาพุทธ ยังศรัทธาในศาสนาพุทธ แต่ไม่ศรัทธาในองค์กรคณะสงฆ์ ก็เลยหาวิธี หาคำตอบด้วยตัวเอง คือแทนที่จะไปวัด ก็นัดกัน คนที่สนใจมาร่วมกิจกรรม เช่น สวดมนต์ด้วยกัน นั่งสมาธิด้วยกัน ที่ห้องนั้น ห้องนี้ หรือตึกนั้น ตึกนี้ ก็กลายเป็นภาษาที่เขาเรียกว่าสังฆะ เป็น Community ก็รู้จักกัน แล้วก็เจอกันเป็นระยะๆ แล้วก็มีกิจกรรมนั่งสมาธิด้วยกัน หรือชวนไปทำบุญด้วยกัน ซึ่งทำบุญสมัยใหม่จะไม่จำเป็นต้องไปทอดกฐินหรืออะไร แต่ว่าไปเหมือนกับเวลามีอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือ ที่คนเดือดร้อน ก็ไปช่วยเขาในด้านต่างๆ จะมีกลุ่มแบบนี้เยอะขึ้น แล้วไม่มีพระสงฆ์มาเกี่ยวข้อง คือเป็นกลุ่มชาวพุทธที่ทำกิจกรรมของศาสนาพุทธด้วยกันเอง”
เราจะหาจุดแกนกลางที่เชื่อมคนนับถือศาสนาและไม่นับถือศาสนาให้อยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างไร
“ต้องหาภาษาร่วมกัน ภาษาที่คุยกันรู้เรื่อง ก็คือภาษาที่คุยกันอยู่ตามปกติ ที่เรากำลังคุยกันอยู่ คือเวลาเราคุยกับชาวคริสต์ เราก็ไม่ได้คุยกับเขาเรื่องพระเจ้า เพราะเราไม่ค่อยรู้เรื่องพระเจ้า แล้วถ้าหากเขาเผื่ออยากคุย ก็คุยกันเรื่องปกติธรรมดา เรื่องต่างๆ เช่น เรื่องงาน เรื่องไปเที่ยว ถ้าเผื่อเขาไม่ได้ตั้งใจจะมา Converse มาเปลี่ยนศาสนาเรา เขาก็จะไม่มาพูดเรื่องพระเจ้ากับเรา หรือชวนเราไปโบสถ์ เพราะเขาก็จะเคารพในความเชื่อของเรา คือเคารพในความเชื่อของกันและกัน ถึงจะอยู่ร่วมกันได้ในสังคม”
อ้างอิง https://www.thaipbs.or.th/news/content/269750 https://www.pewresearch.org/religion/2012/12/18/global-religious-landscape-unaffiliated/ https://www.pewresearch.org/religion/2018/06/13/young-adults-around-the-world-are-less-religious-by-several-measures/