ประเทศไทย คือ ผู้ผลิตและส่งออกซีรีส์วายอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้หลายพันล้านบาท ภาครัฐที่เล็งเห็นโอกาสเติบโตจุดนี้จึงต้องการเข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนทั้งในส่วนของงบประมาณและการสอดแทรกวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย ทั้งอาหาร เครื่องแต่งกาย และสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อผลักดันให้เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทยสู่เวทีระดับโลก
FEED สื่ออารมณ์ดีภายใต้เครือบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดงาน “FEE:D Y CAPITAL 2ND เมืองหลวงซีรีส์วาย ครั้งที่ 2” ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ ให้แฟนคลับได้มาพบกับดารานักแสดงจากซีรีส์วาย และศิลปิน T-POP ตลอดจนเปิดเวทีทอล์คสุดพิเศษจากตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้กำกับภาพยนตร์ ให้ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมซีรีส์วายไทยให้ดียิ่งขึ้น
“จิราพร สินธุไพร” หรือ ส.ส.น้ำ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในแขกรับเชิญได้นำเสนอแผนการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมซีรีส์วายไทยระบุว่า “วันนี้มาใน 2 ฐานะ คือ 1.มาในฐานะของตัวแทนพรรคการเมืองพรรคเพื่อไทย และ 2.มาในฐานะของสาววาย แต่จะเป็นสาววายรุ่นบุกเบิกตั้งแต่สมัยที่การเสพสื่อวาย การอ่านฟิควายเป็นเรื่องที่ดูผิดบาปเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในสังคม จนวันนี้คอนเทนต์วายเดินทางมาไกลมากจากเป็นคอนเทนต์ที่ต้องซื้อขายกันใต้ดินเมื่อหลายสิบปีที่แล้วกลายเป็นว่าตอนนี้ซีรีส์วายฉายบน main stream แล้ว และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าอู้ฟู่ ซีรีส์วายเป็นอุตสาหกรรมที่ปังแล้ว ปังอยู่ และกำลังจะปังต่อ”
“ในช่วงที่มีโควิด-19 ที่ผ่านมา ซีรีส์วายสามารถสร้างมูลค่าทำเงินได้นับพันล้านบาทจากทั่วโลก มีฐานคนดูที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า Y Economy ยังมีอีกหนึ่งตัวเลขสำคัญที่น่าสนใจแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของซีรีส์วายอย่างรวดเร็วคือ จำนวนซีรีส์วายที่ฉายในแพลตฟอร์มต่างๆ ถ้าเราดูจากที่ผ่านมามีข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและจากเว็บไซต์ blwatcher.com จะพบว่า หลายปีที่แล้วซีรีส์วายมีการผลิตแค่ไม่กี่เรื่อง แต่ในช่วงปี 2564 จนถึง 2566 ระยะเวลาแค่ 3 ปีเท่านั้น อัตราการเติบโตของจำนวนซีรีส์วายเพิ่มขึ้นถึง 270% ถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่รวดเร็วมาก และสะท้อนให้เห็นถึงฐานคนดูที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
ประเทศไทย HUB คอนเทนต์วายของเอเชีย
“ข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตคอนเทนต์วายเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย เป็น hub คอนเทนต์วายที่หลายประเทศทั่วโลกจับตามองมากที่สุด ซีรีส์วายของเราไปบุกตลาดต่างประเทศและได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ล่าสุดมีประเทศจีนที่กำลังคลั่งไคล้กันเป็นอย่างมาก ซีรีส์วายของเราได้ฉายบนแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของประเทศจีนที่มีสมาชิกนับร้อยล้านคน นี่คือความปังของซีรีส์วายไทยของเรา”
“ไม่ได้มีเฉพาะซีรีส์วายหรือคอนเทนต์วายที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าทางการตลาดเท่านั้น แต่ความคลั่งไคล้ในตัวศิลปินนำไปสู่การเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา นำไปสู่อีเวนต์หลายอีเวนต์ ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตไม่ว่าจะเป็นแฟนมีต ซึ่งต้องเรียนว่าสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่าฮอลล์แตก ห้างแตก สนามบินแตกมาแล้ว”
“ที่ผ่านมานักแสดงซีรีส์วายสามารถที่จะสร้าง market value ได้สูงมาก เราจะเห็นว่าหลายๆ ครั้งที่จะมีแฮชแท็กที่เกี่ยวเนื่องกับนักแสดงซีรีส์วายถูกรีทวิตในโลกทวิตเตอร์จนติดเทรนด์โลกหลายครั้ง นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความอู้ฟู่ของอุตสาหกรรมนี้ ยังไม่พอแค่นั้นนักแสดงซีรีส์วายหลายคนยังได้รับแต่งตั้งเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของแบรนด์ใหญ่ระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น PRADA , BURBERRY , DIOR ล่าสุด “คุณพีพี กฤษฏ์ อำนวยเดชกร” เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง BALENCIAGA ให้เป็นคนเอเชียคนแรกที่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ประกบคู่กับนักแสดงชื่อดังของฝรั่งเศส”
ความสำเร็จที่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ
“ความสำเร็จที่ผ่านมาจากการที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการหลายท่านส่วนใหญ่เป็นความสำเร็จที่ภาคเอกชนทำกันเอง ไปกันเอง ทำกันเอง ต่างคนต่างไป น้อยมากที่จะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เพราะฉะนั้นในเมื่อซีรีส์วายเป็นอุตสาหกรรมที่ศักยภาพที่ไประดับโลกเราจึงต้องมาคิดต่อว่าเราจะสามารถต่อยอดอย่างไรให้ซีรีส์วายที่มีศักยภาพมีฐานคนดูที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสามารถที่จะดันให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับซอฟต์พาวเวอร์อื่นๆ ได้มีโอกาสเติบโตไปด้วย จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะใส่ซีนการทำอาหารไทยเข้าไปในซีรีส์วายเพื่อให้จานอาหารไทยได้รับความนิยม จะเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะทำงานร่วมกับผู้ผลิตซีรีส์วายในการช่วยโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวเมืองหลัก เมืองรองของไทย เป็นไปได้หรือไม่ที่ซีรีส์วายของเราจะช่วยทำให้กีฬาบางประเภทของไทยได้รับความนิยมในระดับสากล และเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะใช้ซีรีส์วายในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศไทยทำให้หลายประเทศทั่วโลกได้รู้ว่าประเทศไทยไม่ได้ขี่ช้างเป็นพาหนะแล้ว แต่เรามี BTS เรามีโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกมากมาย”
“เพื่อตอบโจทย์ใหญ่นี้ทางพรรคเพื่อไทยได้หารือร่วมกันกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์หลายอุตสาหกรรม พรรคเพื่อไทยตกผลึกเป็นข้อเสนอ 2 ส่วนที่จะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ และนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของไทยสำเร็จขึ้นจริงได้ คือ 1.การพัฒนาคน และ 2.การพัฒนาอุตสาหกรรม”
“ธุรกิจผลิตสื่อบันเทิงเป็นภาคบริการที่สร้างมูลค่าสูงมาก แต่เรามีแรงงานในอุตสาหกรรมนี้เพียงแค่ 0.14% ของจำนวนที่มีงานทำทั้งหมด นั่นหมายความว่าถ้าเราจะทำให้ธุรกิจซีรีส์วาย อุตสาหกรรมซีรีส์วายสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเราต้องผลิตคนเข้าไปสู่อุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นหรือแม้กระทั่งการปรับทักษะ เพิ่มทักษะของคนที่ทำงานอยู่แล้วให้เพิ่มมากขึ้น ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงมีโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นการพัฒนาคนโดยการ Upskill Reskill ให้มีทักษะที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ ทำให้เป็นการยกระดับแรงงานไทยให้เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง”
“การพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งเราจะใช้โมเดลของเกาหลีใต้คือ KOCCA (Korea Creative Content Agency) ในการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เพื่อรองรับโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ รองรับแรงงานทักษะจากโครงการนั้นซึ่งต้องเรียนว่าสำหรับประเทศไทยเราจะตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า Thailand Creative Content Agency หรือ THACCA หน่วยงานนี้จะเป็นหน่วยงานกลางเหมือน one stop service ที่ผลักดันทุกอุตสาหกรรมของซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทยให้เกิดขึ้นได้ หน่วยงานนี้จะทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนในการที่จะกำหนดทิศทางกำหนดยุทธศาสตร์ กำหนดนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ร่วมกันแก้ไขปัญหา แก้ไขกฎระเบียบ รวมถึงร่วมกันใช้งบประมาณกับภาครัฐ”
“พรรคเพื่อไทยเราถอดบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาเราเคยทำหลายโครงการแต่ว่าต้องสะดุดลงเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีการทำรัฐประหาร ดังนั้นครั้งนี้ THACCA จะถูกตั้งขึ้นโดยการใช้พระราชบัญญัติในการตั้งส่วนนี้ขึ้นมาซึ่งจะทำให้สามารถที่จะทำงานได้อย่างต่อเนื่อง พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้อย่างต่อเนื่องไม่ต้องสะดุดหยุดลงตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต้องเรียนว่าตอนนี้การก่อตั้ง THACCA อยู่ในระหว่างการร่างพระราชบัญญัติขึ้นมา ทางรัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้นมา โดยเราจะทำงานร่วมกันทั้งคนที่อยู่เบื้องหลังนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของพรรคเพื่อไทย ตัวแทนหน่วยงานราชการ ตัวแทนจากภาคเอกชนทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ทำงานร่วมกัน”
เดินหน้าส่งเสริมความเท่าเทียมผ่านกฎหมาย
“ที่ผ่านมาเราพูดถึงซีรีส์วาย เราพูดถึงความรักเพศเดียวกัน ความรักของ LGBTQ ส่วนใหญ่เป็นในมุมมองของมิติเศรษฐกิจแต่ในความเป็นจริงแล้ว เราต้องทำงานควบคู่กันไปกับการพัฒนามิติของสังคม ความสำเร็จของซีรีส์วายถือว่าเป็นพลังเชิงบวกที่ทำให้ประเทศไทยถูก normalize ทำให้ความรักระหว่างเพศเดียวกันของ LGBTQ ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดบาปเหมือนหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องเรียนว่าในความเป็นจริงแล้ว เราจะทำอย่างไรที่จะใช้โอกาสนี้ที่มันเกิดขึ้นแล้วที่สังคมเริ่มเปิดกว้างแล้ว ทำให้คนไทยได้ตระหนักรู้ถึงสิทธิเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ อย่างแท้จริง”
“สำหรับพรรคเพื่อไทยเองช่วงที่ผ่านมาเราพยายามที่จะตั้งรัฐบาลให้เสร็จเร็วที่สุดเพื่อที่จะทันในการยืนยันร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่ค้างในสภา แต่ปรากฏว่าเราตั้งรัฐบาลไม่ทันทำให้ไม่สามารถที่จะยืนยันร่างกฎหมายนั้น ทำให้ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอีกหลายสิบฉบับต้องเป็นอันตกไป แต่ดิฉันเรียนว่ายังไงเราก็จะสานต่อ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมนี้ และดิฉันขอเชิญชวนทางพี่น้องชาววายทุกท่านไม่ว่าคุณจะเป็น LGBTQ หรือไม่ ให้ทุกคนได้ร่วมกันสนับสนุนกฎหมายที่จะส่งเสริมให้คนได้มีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันของคนทุกเพศทุกวัย ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่โอบรับความหลากหลายทางเพศได้อย่างแท้จริง”
“การผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของพรรคเพื่อไทยเรามีเป้าหมายใหญ่ที่จะยกระดับชีวิตของคนไทย ยกระดับเศรษฐกิจไทย เปลี่ยนประเทศไทยที่ตอนนี้ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เราต้องการที่จะใช้ซอฟต์พาวเวอร์ในการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนไทย เราต้องการที่จะใช้ซอฟต์พาวเวอร์ในการที่จะทำให้ประเทศไทยและคนไทยกลับมามีที่ยืนในเวทีโลกอีกครั้ง เพราะฉะนั้นการผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์จึงไม่ใช่เพียงแค่วาระของรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่วาระของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นวาระของคนไทยทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปด้วยกันค่ะ”