ใครที่ได้รับชมซีรีส์เน็ตฟลิกซ์เรื่อง “Analog Squad ทีมรักนักหลอก” ไปแล้ว น่าจะประทับใจกับบทบาทของตัวละคร “ปู่เขียว” บ้างไม่มากก็น้อย

แต่คนดูรุ่นใหม่ๆ อาจไม่ทราบว่านักแสดงชายที่มารับบทเป็นชายชราเจ้าของร้านถ่ายรูป/อัดรูปที่เพิ่งฟื้นจากอาการโคม่า ซึ่งมีปมปัญหาชีวิตกับลูกชายคนเดียว และต้องสานสายสัมพันธ์กับเหล่าลูกสะใภ้-หลานสาว-หลานชาย “ตัวปลอม” นั้น ถือเป็น “คนดนตรี” ระดับตำนานรายสำคัญ ในยุคตั้งไข่อุตสาหกรรมเพลงไทยช่วงทศวรรษ 2520-2530

ผู้รับบท “ปู่เขียว” ก็คือ “สุรสีห์ อิทธิกุล”

ปัจจุบัน สุรสีห์หรือ “พี่อ้อง” มีอายุ 73 ปี ย้อนไปเมื่อหลายทศวรรษก่อน สุรสีห์คือเด็กหนุ่มชาวไทยที่เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบการศึกษาด้านดนตรีจากมหาวิทยาลัยออริกอน

เมื่อเดินทางกลับบ้านเกิด เขารับราชการอยู่ที่กองดุริยางค์ทหารบกเป็นระยะสั้นๆ ก่อนจะออกมาร่วมกับเพื่อนๆ นักดนตรีรุ่นราวคราวเดียวกัน ก่อตั้งบริษัททำเพลงชื่อ “บัตเตอร์ฟลาย” และโรงเรียนสอนดนตรี “ศศิลิยะ” (ซึ่งเป็นเหมือนจุดกำเนิดของค่ายแกรมมี่ในเวลาต่อมา)

สุรสีห์เป็นทั้งนักร้องและนักแต่งเพลง ที่เคยมีสตูดิโออัลบั้มของตนเองจำนวน 4 ชุด พร้อมทั้งฝากเสียงร้องทรงเสน่ห์ไว้ในผลงานอื่นๆ อีกมากมายหลายหลาก

และนี่คือบทเพลงเด่นๆ บางส่วน บนเส้นทางวิชาชีพ “คนดนตรี” ของเขา

ตะเกียง

คำร้อง เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ ทำนอง สุรสีห์

เพลงจากอัลบั้ม “คนดนตรี” ซึ่งเป็นผลงานเดี่ยวลำดับที่สองของพี่อ้อง ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อปี 2533 นี่เป็นเพลงรักข้างเดียวแบบเศร้าๆ ที่ถูกถ่ายทอดด้วยภาคดนตรีอันมีชั้นเชิง-รสนิยม และเนื้อร้องภาษาสละสลวยจากปลายปากกาของ “เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์” คนเขียนคำร้องคู่ใจของสุรสีห์ ทั้งยังเป็นเพื่อนร่วมงานของเขามาตั้งแต่ครั้งทำบริษัทบัตเตอร์ฟลายและโรงเรียนศศิลิยะ

ไกล

คำร้อง เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ ทำนอง คณิต พฤกษ์พระกานต์

เพลงว่าด้วยความสัมพันธ์ห่างเหินคล้ายๆ กับเพลง “ตะเกียง” แต่บอกเล่าผ่านโครงสร้างเรื่องราวอีกแบบ ด้วยภาษาอันสละสลวยไม่แพ้กัน เพลงนี้ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มชุด “พอดี พอดี” เมื่อปี 2535 คำร้องถูกเขียนโดยเขตต์อรัญเช่นเคย ขณะที่ผู้แต่งทำนองคือ “ฝิ่น-คณิต พฤกษ์พระกานต์” คนเบื้องหลังฝีมือดีอีกราย ซึ่งต่อมาจะไปก่อตั้งค่ายเพลงอินดี้ “ฟิลฮาร์โมนิก” ที่มีศิลปินในสังกัดอย่าง “โจ-ก้อง” “ไมโคร” และ “สยามซีเคร็ตเซอร์วิส”

ปราสาททราย

คำร้อง นิติพงษ์ ห่อนาค ทำนอง สุรสีห์

อาจจะเป็นเพลงดังในวงกว้างที่สุดของสุรสีห์ นี่เป็นเพลงรักไม่สมหวังที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านการพังทลายลงของปราสาททราย โดยมี “ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค” เป็นผู้เขียนคำร้อง ขณะที่คนแต่งทำนองคือตัวสุรสีห์เอง เพลงนี้ถูกบรรจุอยู่ในชุด “คนดนตรี”

กัลปาวสาน

คำร้อง เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ ทำนอง อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ

ไตเติลแทร็กจากอัลบั้มชื่อเดียวกับเพลง ซึ่งถือเป็นผลงานเดี่ยวชุดแรกสุดของสุรสีห์ในปี 2528 นี่คือเพลงรักที่มีเนื้อหาลึกซึ้งกว่าความรักทั่วไป แต่ก้าวข้ามไปสู่การตั้งคำถามเรื่อง “เวลา” ในมิติทางปรัชญา ผู้เขียนคำร้องจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคู่หูของสุรสีห์อย่างเขตต์อรัญ ขณะที่ผู้แต่งทำนองคืออีกหนึ่งคนดนตรีรุ่นเก๋าแห่งบัตเตอร์ฟลายและแกรมมี่ “อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ”

เธอหรือเปล่า

คำร้อง ประชา พงศ์สุพัฒน์ ทำนอง สมชัย ขำเลิศกุล

อีกหนึ่งเพลงดีๆ ในอัลบั้มชุด “คนดนตรี” นี่เป็นเพลงบอกรักหวานๆ ผ่านคำร้องสวยๆ ของ “ประชา พงศ์สุพัฒน์” เจ้าพ่อเพลงเด็กและเพลงเร็วในยุคนั้น ซึ่งไม่ได้เขียนเพลงแบบนี้บ่อยครั้งนัก ขณะที่ผู้แต่งทำนองคือ “สมชัย ขำเลิศกุล” หรือ “ฉ่าย กัมปะนี”

วันหนึ่งวันนั้น

คำร้อง เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ ทำนอง ดนู ฮันตระกูล

บทเพลงของ “สำราญชน” จากอัลบั้ม “กัลปาวสาน” ที่เขียนเนื้อร้องได้อย่างงดงามแต่เรียบง่ายโดยเขตต์อรัญ ผู้แต่งทำนองคือ “อาจารย์ดนู ฮันตระกูล” อีกหนึ่งมิตรสหายทางดนตรีของสุรสีห์ที่บัตเตอร์ฟลายและศศิลิยะ

เนื้อร้องช่วงต้นของเพลงที่ว่า “ควันบุหรี่บางเบา เป็นสีเทาลอยไป ความกังวลสลาย เถ้าละลายตามลม เบียร์เย็นเย็นยามบ่าย ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ ระยิบแดดน่าชม เพลงผสมกลมกลืน” กลายเป็นเนื้อเพลงที่หาไม่ได้อีกแล้วในผลงานดนตรีกระแสหลักของสังคมไทยยุค “เคร่งศีลธรรม” (และมี ส.เสือ หลายตัว) ณ ปัจจุบัน

เอมวลี

คำร้อง เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ ทำนอง สุรสีห์

อีกเพลงจากผลงานชุด “กัลปาวสาน” นี่เป็นเพลงแนวให้กำลังใจสบายๆ เขียนคำร้องโดยเขตต์อรัญ ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยท่วงทำนอง-การเรียบเรียงดนตรีอันเปี่ยมชั้นเชิงของสุรสีห์

ยอมจำนน

คำร้อง บางนา ท่าเรือ (นิติพงษ์ ห่อนาค) ทำนอง สุรสีห์

เพลงรักเศร้าๆ ท้อๆ ที่ประทับใจผู้ฟังหลายคน จากผลงานชุด “โปรเจกต์ อัลบั้ม” เมื่อปี 2543 ที่ถือเป็นงานเดี่ยวชุดหลังสุดของสุรสีห์ เขียนคำร้องโดย “บางนา ท่าเรือ” (นามปากกาของดี้ นิติพงษ์) แต่งทำนองโดยเจ้าของอัลบั้ม

สายน้ำ

คำร้อง สุรักษ์ สุขเสวี ทำนอง สุรสีห์

อีกหนึ่งเพลงรักไม่สมหวังจากผลงานชุด “โปรเจกต์ อัลบั้ม” เขียนคำร้องโดยนักแต่งเพลงฝีมือดีอีกรายอย่าง “สุรักษ์ สุขเสวี” โดยมีสุรสีห์เป็นผู้แต่งทำนอง

เปลวไฟในห่าฝน

คำร้อง ธีระชัย แหล่งสนาม ทำนอง สุรสีห์

เพลงแนวสู้ชีวิตแบบเศร้าๆ หม่นๆ จากอัลบั้มเมื่อปี 2543 ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านท่วงทำนองและภาคดนตรีอันเข้มข้นทรงพลังของสุรสีห์ และคำร้องคมๆ ของ “ธีระชัย แหล่งสนาม”

สูงสุดฟ้า

คำร้อง เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ ทำนอง สุรสีห์

บทเพลงว่าด้วยปณิธานอันสูงส่งในการลงมือทำอะไรสักอย่าง ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มชุด “โปรเจกต์ อัลบั้ม” และถือเป็นผลงานการเขียนคำร้องยุคท้ายๆ ของเขตต์อรัญ ซึ่งเสียชีวิตในปี 2546

เหม่อ

คำร้อง เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ ทำนอง สุรสีห์

อีกหนึ่งผลงานร่วมลำดับท้ายๆ ของเขตต์อรัญและสุรสีห์จากอัลบั้ม “โปรเจกต์ อัลบั้ม” ซึ่งพูดถึงคนรักที่จากไกลได้อย่างงดงาม ทั้งด้วยคำร้องที่เป็นเอกลักษณ์และท่วงทำนองอันไพเราะ อย่างไรก็ดี จริงๆ แล้ว บทเพลงเพลงนี้มีเพลงต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษชื่อ “Wish You Were Here” ซึ่งเขียนคำร้องโดยพี่อ้องเอง และถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มชุด “Butterfly II” ที่วางจำหน่ายในปี 2526

แผลในใจ

คำร้อง สุรักษ์ สุขเสวี และโอภาส พันธุ์ดี (นิติพงษ์ ห่อนาค) ทำนอง สมชาย กฤษณะเศรณี

อัลบั้มชุด “งานซนคนดนตรี นานที 10 ปีหน” ถูกผลิตขึ้นในวาระครบรอบหนึ่งทศวรรษค่ายแกรมมี่เมื่อปี 2536 โดยกำหนดโจทย์ให้ศิลปินดังๆ จำนวน 13 ราย นำเพลงฮิตของศิลปินร่วมค่ายรายอื่นๆ มาขับร้องใหม่ ผ่านการเรียบเรียงดนตรีที่แตกต่างจากเดิม

ในผลงานชุดนี้ สุรสีห์ได้ขับร้องเพลง “แผลในใจ” ซึ่งเวอร์ชั่นต้นฉบับเป็นของ “อำพล ลำพูน”

รักไม่รู้ดับ

คำร้อง-ทำนอง สุรพล โทณะวณิก

นอกจากรับงานแสดงแล้ว สุรสีห์ยังร้องเพลงประกอบภาพยนตร์-ซีรีส์ไว้ไม่น้อย เช่น เพลงที่หลายคนเพิ่งได้รับฟังกัน นั่นคือการนำเพลงเก่าฝีมือการประพันธ์ของ “ครูสุรพล โทณะวณิก” อย่าง “รักไม่รู้ดับ” มาขับร้องแบบเรียบง่าย โศกซึ้ง และงดงาม ใน “Analog Squad”

Walk You Home

คำร้อง วิโอเลต วอเทียร์ ทำนอง พูนศักดิ์ จตุระบุล

เพลงประกอบภาพยนตร์เพราะๆ อีกเพลงที่พี่อ้องเป็นผู้ขับร้อง ก็คือ “Walk You Home” เพลงภาษาอังกฤษจากหนังเรื่อง “ไอฟาย แต๊งกิ้ว เลิฟยู้” ฝีมือการเขียนคำร้องของ “วิโอเลต วอเทียร์” และแต่งทำนองโดย “พูนศักดิ์ จตุระบุล” หรือ “อ๊อฟ บิ๊กแอส”

ยุโรป

คำร้อง เรวัต พุทธินันทน์ ทำนอง อุกฤษณ์ พลางกูร

หนึ่งในเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “วัยระเริง” เมื่อปี 2527 ซึ่งสร้างสรรค์โดยทีมบัตเตอร์ฟลาย เพลงที่มีเนื้อหาเหมือน “บทเรียนว่าด้วยทวีปยุโรป” ที่ขับร้องโดยสุรสีห์เพลงนี้ เป็นผลงานของสองคนดนตรีผู้ล่วงลับ คือ “เรวัต พุทธินันทน์” (2491-2539) และ “อุกฤษณ์ พลางกูร” (2493-2566)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Analog Squad ทีมรักนักหลอกโกหกเพื่อความสุข…สนุกกับความปลอม90s จัดเต็ม …. โคตร “คลาสสิก”

เพลงเพราะๆ จาก “ปั่น-วิยะดา” ที่คุณจะได้ฟังแน่ๆ ในงาน FEED RETRO 25-26 พ.ย.นี้

เก็บตกโมเมนต์ประทับใจในงาน FEED RETRO เมื่อ “เพลงยุค 90” มีอะไรมากกว่าที่เราคุ้นเคย

รำลึกถึง “อุกฤษณ์ พลางกูร” คนดนตรีผู้ล่วงลับ ผ่าน 12 บทเพลงในความทรงจำ

เรื่องบันเทิงก็ยากและละเอียดลออได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก