ศ.สุชาติ แนะ “แบงก์ชาติเอาแต่รักษาเสถียรภาพมากเกินไป ไม่ปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจมีความเจริญเติบโต ทำให้ประชาชนมีรายได้น้อย ยากจนลง เป็นหนี้มากขึ้น”
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นต่อเรื่องเศรษฐกิจในภาพรวม ในปัจจุบัน ดังนี้
1. “การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า และการรักษาเสถียรภาพมากเกินไปของแบงก์ชาติ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเจริญเติบโตต่ำ เป็นผลให้ประชาชนมีรายได้น้อยลง ยากจนลง และเป็นหนี้มากขึ้น”
2. การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย เป็นสาเหตุให้ระบบเศรษฐกิจไทยกำลังแย่ลง, GDP ปี 2566 นี้ ที่เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ใกล้ๆ 4% กำลังลดลงมาเรื่อยๆ อาจเหลือเพียง 3% การตั้งรัฐบาลล่าช้า ทำให้ภาคการเงินและการลงทุนชะลอตัวลงอย่างมาก
3. นอกจากนี้ แบงก์ชาติดูจะใช้นโยบายรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากเกินไป ตั้งกรอบความเจริญเติบโตเพียง 3-4% ไม่ทำให้กรอบของระบบเศรษฐกิจเติบโตได้ถึง 5-6% ทำให้ประชาชนมีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ต้องไปกู้มากินมาใช้ภาระหนี้ครัวเรือนจึงเป็นหนี้กว่า 90% ของ GDP คือกว่า 15 ล้านล้านบาท รัฐบาลก็มีรายได้ภาษีต่ำจึงต้องไปกู้มาบริหารประเทศ หนี้รัฐบาลต่อ GDP จึงกว่า 60% คือกว่า 10 ล้านล้านบาทแล้ว
4. อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันต่ำเพียง 0.3-0.5% ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3% อย่างมาก แต่แบงก์ชาติยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง อ้างว่าดอกเบี้ยที่เคยต่ำ ทำให้มีการกู้เงินเกินความจำเป็น ไปทำโครงการที่ผลตอบแทนต่ำ แล้วไปไม่รอด
5. ปริมาณเงินที่น้อยเกินไป ทำให้
(ก) เงินเฟ้อต่ำเกินไป ทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตต่ำ จึงทำให้การจ้างงานลดลง
และ (ข) ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน คือค่าเงินบาทแข็งเกินไปด้วย ทั้ง 2 นโยบาย จึงทำให้ทั้งการลงทุนเอกชนและการส่งออกต่ำ แล้วจึงทำให้อัตราการเติบโต GDP ต่ำลงไปด้วย ความจริงประเทศพัฒนาช้า อย่างเช่น ประเทศไทยควรมีเป้าเหมายอัตราเงินเฟ้อ 2-4% (ไม่ใช่ 1-3% ที่กำหนดในปัจจุบัน) เพื่อผลิตขายแล้วมีกำไร ส่งเสริมให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้เพิ่มการจ้างงาน และเพิ่มความต้องการและอำนาจซื้อ
6. ปัจจุบันนี้ แบงก์ชาติใช้อยู่เครื่องมือเดียว คือกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (Inflation targeting) แต่กดเป้าหมายเงินเฟ้อให้ต่ำเกินไป ด้วยการบีบปริมาณเงินบาทในระบบเศษฐกิจให้มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
7. แบงก์ชาติควรใช้ Inflation targeting โดยมีเป้าหมายที่ดีกว่านี้ คือทำให้มีการลงทุนเอกชนสูงกว่านี้ นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังต้องกำหนดเครื่องมือ “การกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate targeting)” ให้การส่งออกแข่งขันได้ดีกว่านี้ รายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยว ได้เป็นเงินบาทมากกว่านี้ ขณะนี้ระบบเศรษฐกิจไทย ยังไม่ได้ใช้เครื่องมือ Exchange rate targeting นี้
8. ความจริง เครื่องมือที่กำหนดอัตราความเจริญเติบโตของ GDP เป็นส่วนใหญ่ คือนโยบายอัตราดอกเบี้ย และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อกำหนดไม่ถูกต้องเหมาะสม GDP growth จึงต่ำ ภาษีจึงต่ำไปด้วย งบประมาณประจำปีของรัฐบาลจึงมีน้อย รายจ่ายรัฐบาลจึงเป็นเพียงการกระจายเงินของรัฐ ที่มีจำกัดมากๆ ว่า ใครจะได้อะไรเมื่อไหร่ ไม่มีเงินเพียงพอต่อการลงทุนของรัฐ เพื่อสร้างฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้เจริญเติบโตในอัตราสูงๆ ได้ในระยะยาว