เรื่องและภาพ : ธิติ มีแต้ม
ไม่ถึง 100 หรอก แต่น่าจะเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ที่ ฮิเดกิ โมริ Sound Engineer จากแดนอาทิตย์อุทัยมีส่วนร่วมในวงการเพลงเพื่อชีวิตไทยยุคปลายทศวรรษ 80 ถึง 90
สตอรี่นี้ว่าด้วยเรื่องจากเด็กผู้รักการตกปลาแล้วผันตัวมาทำอาชีพด้านดนตรี ประสบการณ์ในการทำงานสตูดิโอที่เมืองไทยกว่า 36 ปี การคลุกคลีตีโมงกับศิลปินบิ๊กเนมทำให้เขาตกผลึกอะไร
ไปจนถึงเสียงเพลงและศิลปินที่ทรงพลังในทรรศนะของเขาเป็นแบบไหนด้วย
1
บ้านเกิดโมริอยู่ที่เมืองโทโยฮาชิ ติดกับนาโกย่า ตอน 2 ขวบ ในปี 1964 เป็นปีเดียวกับที่โตเกียวจัดโอลิมปิก และมีรถไปหัวกระสุนชินคังเซ็นวิ่งเป็นครั้งแรก ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังก้าวไปสู่ความศิวิไลซ์ โมริยังทันเห็นรถม้าวิ่งปะปนได้ด้วย เขาบอกว่าบรรยากาศในวัยเด็กนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาเป็นคนโตมาสนใจเทคโนโลยีด้านเสียงใหม่ๆ และยังคงหลงใหลเสน่ห์ของเสียงดนตรีแบบดั้งเดิม
2
โมริเป็นเด็กชอบใช้ชีวิตกลางแจ้ง กิจกรรมตกปลาคือส่วนหนึ่งของชีวิต จันทร์ถึงศุกร์อยู่โรงเรียน มีครูยืนสอนอยู่หน้าห้อง เสาร์อาทิตย์อยู่แม่น้ำ-ทะเล มีปลาและคลื่นลมเป็นครูอยู่เบื้องหน้า ข้างๆ มีคุณตากำลังเย่อปลาเป็นเพื่อนร่วมชั้น
3
ราวประถมปลาย ตอนที่เขากำลังคลั่งไคล้เบสบอล แต่พ่อแม่ดันบังคับให้เขาเรียนเปียโนวีคละ 1 วัน ด้วยเหตุว่าพ่อแม่เป็นครูที่ชอบสังสรรค์คาราโอเกะกับเพื่อน “แต่พ่อผมเขาร้องเพลงเพี้ยน เขาคับแค้นตัวเอง ไม่อยากให้ผมเป็นแบบเขา ก็เลยบังคับผมเรียน เพื่อจะฝึกให้รู้จักโน้ต-ร้องให้ถูกคีย์ พอทุกวันหยุดพ่อจะชวนเพื่อนๆ มาสังสรรค์ที่บ้าน และให้ผมเล่นเปียโนโชว์ แต่ความจริงผมเบื่อฉิบหาย ฮ่าๆ”
4
โมริเรียนเปียโนอยู่ 2 ปี เมื่อเขาอ่านโน้ตได้ ก็ขยับมาจับกีตาร์ และรู้สึกถูกคอกับกีตาร์มากกว่า แต่แม่ยังไม่ยอมซื้อให้ เพราะกลัวเขาไม่เรียนหนังสือ เขาเลยยืมกีตาร์เพื่อมาเล่นจนเก่ง การไม่มีกีตาร์เป็นของตัวเองในวันนั้น เขาตกผลึกว่า “มันทำให้ผมตั้งใจฝึกซ้อมจนเล่นเก่งขึ้น เพราะถ้าแม่ซื้อให้ทันที ผมอาจจะไม่ตั้งใจเล่น” เหมือนอะไรที่ได้มาง่ายเกินไป เราจะไม่ใส่ใจมัน
5
กระทั่งโมริพิสูจน์ให้แม่เห็นว่าเขาจริงจังกับกีตาร์แล้ว แม่จึงออกเงินให้ครึ่งหนึ่ง และกีตาร์ตัวแรกในชีวิตโมริก็ได้มาตอน ม.2 มันคือกีตาร์อะคูสติกไม้บราซิเลี่ยน โรสวูด แบรนด์ MORRIS รุ่น w40 ปี 1976 และได้ใช้ทำวงคันทรีโฟล์คกับเพื่อนๆ จนถึงวันนี้เขายังเก็บมันไว้ใช้อัดเสียงอยู่
6
ทำวงสมัยเด็กชายได้สักพัก พอโตเป็นหนุ่ม โมริขยับมาจับเบส ค่าที่ว่าวงของเขาเล่นกีตาร์ 3 ชิ้นแล้วมันทับไลน์กัน แต่ความเดียงสา เขายังไม่เคยเห็นเบสจริงๆ เลยสักครั้งในชีวิต “มันคืออะไรวะ เห็นแต่ในทีวี มี 4 สาย เสียงบึ้งๆ ผมเด็กบ้านนอก ไม่รู้เรื่อง เพื่อนก็หาซื้อมือสองมาให้เล่น เล่นเบสครั้งแรก ทำไมเสียงมันเบาจังวะ อ๋อ เบสไฟฟ้าต้องมีตู้แอมป์ถึงจะดัง พอเล่นเป็นเรียบร้อย ผมแฮปปี้มากจนปวดขี้ โคตรมันส์ พูดจริงๆ นะ”
7
พอถึงวัยมหาวิทยาลัย ที่บ้านขอให้โมริเรียนด้านการเกษตรที่เมืองฮอกไกโด เขาร่ำเรียนการเลี้ยงวัวเลี้ยงไก่ไปพร้อมๆ กับทำวงดนตรีไปด้วย แต่ใจที่ใฝ่ดีทางการศึกษาเริ่มฝ่อ เพราะใจกลับเบิกบานไปทางเสียงเพลงมากกว่า ทนได้อยู่ 3 ปี พอคะแนนสอบตกต่ำมากเข้าๆ เขาตัดสินใจโบกมือลามหาวิทยาลัยเพื่อออกไปเสี่ยงโชคที่โตเกียว
8
มาถึงย่านชินจุกุ เขาเจอสถาบันเอนจิเนียร์เรคคอร์ดดิ้ง “โอ้โห ผมมาจากบ้านนอก ไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ถูกใจมาก เท่มาก ผมสนใจการผลิตทั้งไวนิล เทป และซีดี อยากรู้ว่าเขาทำยังไง บันทึกเสียงยังไง มิกซ์เสียง มาสเตอร์ริ่ง ที่นี่ทำทุกกระบวนการ และมีศิลปินหลายคนมาทำงานที่นี่ ผมเลยขอเงินแม่เรียนที่นี่” โมริเรียนได้ 1 ปี และทำงานต่อที่นี่ในฐานะผู้ช่วย Sound Engineer
9
ระหว่างนั้น ราวปี 1986 อาจารย์ของโมริบอกเขาว่า “โมริว่างไหม เดี๋ยวจะมีวงคาราวานจากไทย มาทัวร์ที่ญี่ปุ่นสองอาทิตย์ เขาต้องการคนดูแล” โมริเริ่มฟังเทปเพลงวงคาราวานเพื่อทำความรู้จักแนวเพลง ก่อนตอบตกลงทันที นอกจากเสียงกีตาร์โฟล์ค ยังมีพิณ วูด ไวโอลิน เพอร์คัสชั่น คอรัส “ฟังครั้งแรก อ้อ เสียงประมาณนี้ เสียงน้าหงา (สุรชัย จันทิมาธร) ก็แปลกๆ โคตรเอเชียเลย น่าสนใจ แต่เล่นกี่คนไม่รู้ ยังฟังไม่ออก” พอคาราวานมาถึงแดนอาทิตย์อุทัย เขาทำหน้าที่เกือบทุกอย่าง ดูแลซาวนด์ เครื่องดนตรี ซื้อกับข้าว พาไปเที่ยว ด้วยการสื่อสารภาษาอังกฤษระดับงูๆ ปลาๆ มีแค่ Yes หรือ No
10
เมื่อคาราวานกับโมริ ร่วมงานกันถี่ขึ้น วันหนึ่งสุรชัยก็ออกปาก “โมริอยากไปเมืองไทยมั้ย” เขาลังเลเล็กน้อยและคิดว่าเมืองไทยหน้าตาเป็นยังไง โดยยังไม่ให้คำตอบ ผ่านเดือนผ่านปีไปสักพัก วันหนึ่งจู่ๆ ก็มีสายการบินส่งตั๋วเครื่องบินมาให้เขา ระบุปลายทางเป็นดอนเมือง ชื่อคนเดินทางคือฮิเดกิ โมริ ลงวันที่ 10 ม.ค. 1988 มีขาไปเที่ยวเดียวไม่มีขากลับ
11
วันถึงดอนเมือง เขาโทรหาคนปลายสายที่ได้คอนแทคไว้ คือ อู๊ด ยานนาวา (มือกลองคาราวานขณะนั้น) ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าเป็นโมริโทรหา เพราะต้นทางผู้วางแผนทริปนี้คือสรุชัยต้องการเซอร์ไพรส์ทุกคน ตอนที่โมริก้าวขาลงจากเครืองบินสัมผัสเมืองไทยครั้งแรก เขาบอกว่ากลิ่นเมืองไทยเหมือนกลิ่นอาหารผสมน้ำมันรถ
12
เมื่อเริ่มทัวร์คอนเสิร์ตในไทยร่วมกัน วงก็เริ่มจ่ายค่าตัวให้โมริงานละ 3,000-4,500 บาท เขาบอกว่าน้าหงาจ่ายให้เท่ากันทุกคน สมัยนั้นถือว่าค่อนข้างมาก ถ้าเทียบกับราคาก๋วยเตี๋ยวชามละ 6 บาท “ผมอยู่ได้สบายมาก” แล้ววันหนึ่งโมริก็ได้รับการรีเควสจากวงคาราวานให้เล่นเบส เขาตัดสินใจซื้อเบสมาทันที
13
“พอได้เบสมา ผมกำลังภูมิใจมาก น้าหงาบอกว่า เราได้มือเบสแล้ว โมริเล่นคีย์บอร์ดให้ได้มั้ย” โมริเล่าขำตัวโยก พลางเอามือตบหน้าผากตัวเอง “บางครั้งน้าหงาก็ให้สลับมาเล่นเบสด้วย อ้าว ผมถามแกว่าทำไมถึงจะเล่นเบสสองตัวล่ะ น้าหงาว่าวงเราเล่นกีตาร์กันตั้งสามตัว เล่นเบสสักสองตัวจะเป็นไร” เขาส่ายหัวสรุปรวบรัดความประทับใจในวัยหนุ่ม “นี่คือคาราวาน สุดยอด มั่วดี”
14
โมริอยู่กับคาราวานได้ปีเศษๆ สมาชิกก็แยกทาง “น้าหงา น้าหว่อง (มงคล อุทก) แยกไปทำงานเดี่ยว เอ็ดดี้ (สุเทพ ปานอำพัน) อู๊ด ยานนาวา ย้ายไปเล่นให้วงซูซู” เขาเลือกตามน้าหว่องไปด้วยเหตุผลว่าจูนความเป็นดนตรีได้ตรงใจกันมากกว่า ส่วนน้าหงาขณะนั้นมีความเป็นกวี-วรรณกรรมมาก ซึ่งเขายังเข้าไม่ถึง
15
ขณะที่เดินสายเล่นกับวงของน้าหว่อง โมริเริ่มรับงานอัด-มิกซ์เสียงแบบใต้ดินไปด้วย ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่โมริได้คลุกคลีมีส่วนร่วมในยุครุ่งเรืองราวทศวรรษ 80-90 ก็ทยอยตามกันมาจากคำแนะนำผ่านเพื่อนของเพื่อน ได้แก่ วสันต์ สิทธิเขตต์, อารักษ์ อาภากาศ, อี๊ด ฟุตบาท, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, ด้ามขวาน, มาลีฮวนน่า, คีตาญชลี, ตุ๊ แครี่ออน , ประทีป ขจัดพาล, ศุ บุญเลี้ยง, ฌามา, แสง ธรรมดา, บรรพชน และอีกหลายวงที่ไม่โด่งดัง เขาบอกว่าผลงานเพลงที่ผ่านมือเขา คือทั้งเล่นกีตาร์-เบส-คีย์บอร์ด-ออแกน และอัด-มิกซ์ให้เฉลี่ยปีละ 1 อัลบั้มหรือประมาณ 15 เพลง อยู่เมืองไทยมา 36 ปี (1988-2024) เขามีผลงานกว่า 540 เพลงแล้ว
16
อยู่ใกล้ศิลปินมาหลายคน โมริบอกความประทับใจส่วนตัวถึงศิลปิน 3 คน คนแรก-น้าหว่อง มงคล อุทก เพราะเป็นทั้งพี่ชายและเป็นศิลปินตัวจริง น้าหว่องสอนโมริว่าการมีชื่อเสียงหรือไม่มีชื่อเสียงไม่สำคัญว่าทำงานต่อเนื่องแค่ไหน เพราะจะมีเงินเลี้ยงตัวเองได้แปลว่ายังทำงานอยู่ แต่ถ้าไม่ทำงานแปลว่าจะไม่มีทั้งเงินและชื่อเสียง
17
คนที่สอง-ยงยุทธ์ ดำศรี วงด้ามขวาน เป็นคนใต้ เพลงจะมีความสนุก บริสุทธิ์ใจ ทำนองและเนื้อหามีความออริจินัลสูงมาก เป็นเรื่องเล่านิทานง่ายๆ เช่น เพลงแมวดำแมวลาย, เรื่องมันเป็นพรรค์นี้
18
คนสุดท้าย-น้าหมู พงษ์เทพ เป็นคนพิเศษมาก เวลาอัดเสียงร้องให้นักร้องส่วนใหญ่จะร้องเป็นท่อนๆ วรรคๆ แต่สำหรับน้าหมู “ตั้งแต่หัวจนท้ายเพลง ห้ามหยุดเลย” เขาจะอัดยาวเพราะน้าหมูมักจะอิมโพรไวส์เรื่องเล่าสดๆ แทรกไปด้วย
19
เป็น Sound Engineer แบบใต้ดิน เช่าอพาร์ทเมนท์อยู่แถวบางยี่ขัน มีมิกเซอร์ ลำโพงมอนิเตอร์เล็กๆ กับเครื่องอัดเสียง 4 แทรคยี่ห้อยามาฮ่า รับงานมิตรสหายจนมีเงินเก็บพอจะขยับขยาย เขาก็ได้รับคำแนะนำจาก ตุ๊ แครี่ออน ให้ทำเป็นระบบ โมริจึงย้ายมาซื้อบ้านย่านบางบัวทองก่อตั้ง ‘โมริ สตูดิโอ’ รับงานบันทึกเสียงครบวงจร
20
ในวัย 30 ต้นๆ เขาตัดสินใจลงหลักปักฐานที่ไทยด้วยเหตุผลว่า เขาอายุเยอะเกินกว่าจะกลับไปเริ่มต้นใหม่ที่บ้านเกิดแล้ว เพราะงานหายาก แข่งขันสูง และทุกอย่างแพงไปหมด “ผมไม่รู้ว่าผมไม่ชอบญี่ปุ่นหรือญี่ปุ่นไม่ชอบผมนะ แต่สไตล์ชีวิตผมเหมาะกับเมืองไทยมากกว่า ขี้เกียจได้ ตื่นสายได้ ถ้าอยู่โน่นโดนไล่ออกทันที” โมริแซวตัวเอง
21
มีอะไรในวงการเพลงเพื่อชีวิตยุครุ่งเรืองที่โมริจดจำ เขาบอกว่าการทำเพลงที่ตั้งใจขายเพื่อให้ได้เงิน มีโฆษณา และมีชื่อเสียงไม่ผิด แต่กับเพลงเพื่อชีวิต เมื่อเริ่มต้นอยากทำก็ต้องเผื่อใจว่าอาจขาดทุนทันที “เพราะคุณกำลังโชว์อุดมการณ์” แต่นั่นไม่เท่ากับว่าไปลอกเพลงคนอื่นมาเพื่อให้ขายได้ “ใครจะภูมิใจก็แล้วแต่ แต่ผมไม่”
22
เขายังเชื่ออีกว่าการทำเพลงก็เป็นศิลปะ มีความหมายที่ดี อาจไม่จำเป็นต้องลึกซึ้งทุกเพลง แต่ไม่ควรอยากมีชื่อเสียงด้วยการ COPY ในทรรศนะของโมริเขาให้ความสำคัญกับออริจินัลมาก เส้นแบ่งชัดเจนที่โมริขีดคือนักดนตรีสามารถเล่นเพลงของใครก็ได้ แต่ศิลปินจะมีผลงานเป็นของตัวเอง
23
หลายครั้งที่มีคนเข้ามาขอให้เขาทำเพลงให้ โมริจะถามเสมอว่าอยากได้แบบไหน “คำตอบที่ผมได้ยินจากพวกเขาบอกว่า ขอแบบมาลีฮวนน่า เพราะง่ายและขายได้” โมริมักจะถามกลับไปเสมอว่า “จริงเหรอ ไม่อย่างนั้นทุกคนที่เล่นแบบมาลีฮวนน่าก็ขายได้สิ ซึ่งไม่จริง” โมริบอกพวกเขาเสมอว่าถ้าอยากทำแบบมาลีฮวนน่า “คุณสายไปเสียแล้ว”
24
เขาขยายความว่าอะไรที่เป็นของใหม่มันจะเซอร์ไพรส์คน อะไรที่เหมือนคนอื่นจะถูกมองข้าม ที่สำคัญ โมริย้ำว่าคุณต้องชอบเพลงของตัวเองสองร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเท่าที่เขามีประสบการณ์ ศิลปินที่ชอบเพลงตัวเองแค่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อเอาไปให้คนอื่นฟัง มักดรอปลงเหลือเพียงห้าสิบเปอร์เซนต์ “ถ้าอยากให้คนอื่นชอบร้อย เราต้องชอบสองร้อย เอาให้ตัวเองรู้สึกว่าดีฉิบหายเลย”
25
อยู่ไทยจนพอเข้าใจภาษาไทย โมริยกตัวอย่างเพลง “จดหมายถึงพ่อ” ของอี๊ด ฟุตบาท ที่เขาร่วมเล่นแอคคอร์เดียนช่วงอินโทรและบันทึกเสียงให้ เขาบอกว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่มีความหมายดี ติดหู เห็นภาพ “กระถินริมรั้วสูงขึ้นเลยบ่า พุ่มกระดังงาเลื้อยซุ้มประตู ทานตะวันชูคอชูช่อรออยู่ คงชะเง้อดูคอยพ่อกลับมา” เขาแนะนำคนเขียนเพลงรุ่นใหม่ๆ เสมอว่าพยายามเขียนเนื้อทำให้คนเห็นภาพให้ได้ว่าจะเล่าเรื่องอะไร สร้างรูปธรรมให้ชัดเจน แล้วเพลงจะทำหน้าที่ของมันต่อ
26
ทำงานบันทึกเสียงมาทั้งชีวิต ถามโมริว่า Sound of Thailand ในทรรศนะของเขาคืออะไร โมริบอกว่าที่เขาทำอยู่นั้นอาจยังไม่ใช่ “ผมว่าเพลงหมอลำน่าจะตรงที่สุด โดยเฉพาะพวกหมอแคน หมอพิณ ผมว่าสุดยอด นี่เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครในโลก และรัฐบาลควรจะซับพอร์ตมากกว่านี้” โมริอยากให้ภาครัฐลงทุนกับวงการเพลงอย่างจริงจัง “ผมพูดตรงๆ นะ เพราะคนเล่นพิณส่วนใหญ่ไม่น่าจะรวย”
27
โมริมองย้อนกลับไปวัยเยาว์ถึงจุดเริ่มต้นของการหลงใหลการบันทึกเสียง “สมัยเด็กๆ ที่เล่นกีตาร์เป็นใหม่ๆ ผมขโมยวิทยุเทปของพี่ชายมาเล่น มันอัดเสียงได้ ผมลองอัดเสียงกีตาร์กับเสียงร้องตัวเองดู แล้วพบว่าทำไมเสียงมันเหี้ยอย่างนี้” โมริขำเสียงของตัวเองที่ได้ฟังจากวิทยุ เพราะมันไม่เหมือนเสียงที่เขาได้ยินทางหูปกติ “แสดงว่าเสียงที่เราได้ยินกับคนอื่นได้ยินไม่เหมือนกัน”
28
หลังจากนั้นเขาเริ่มทดลองวิธีอัดแบบใหม่ เอาวิทยุเทปที่อัดเสียงได้มาอีกเครื่อง แล้วเล่นไปอัดไป เหมือนเป็นเครื่องอัดสองแทรค คือมิกซ์เสียงในอากาศสดๆ ไปด้วย ถ้าดังไปหรือเบาไปก็ใช้วิธีขยับวิทยุเข้าออกเอา การที่โมริทำแบบข้างต้น คือวิธี Analog บ้านๆ ที่ทำให้เขาเข้าใจเรื่องระยะของการเซ็ตไมค์อัดเสียงในสตูดิโอทุกวันนี้
29
เขาบอกว่าถ้าไม่มีประสบการณ์แบบนั้นในวัยเด็ก เขาจะไม่เข้าใจที่มาของเสียง ว่าเสียงที่ได้ยินถูกบันทึกแบบไหน “นี่เป็นหัวใจของ Sound Engineer” เพราะปัจจุบันโปรแกรมบันทึกเสียงดิจิตัลสามารถเซ็ตค่าระยะเสียงใกล้ไกล-ทุ้มแหลมได้อัตโนมัติแล้ว ประสบการณ์ด้านเสียงของโมริบอกเขาว่าเสียงที่ดีมีหลายทรรศนะ ขึ้นอยู่กับว่าใครนิยาม สำหรับเขาเปิดกว้าง ไม่ตายตัว
30
โมริบอกอีกเรื่องเกี่ยวกับหูว่า คนมักเข้าใจว่า Sound Engineer จะมีหูที่ดีกว่าคนทั่วไป แต่ถูกส่วนเดียว “หูไม่เหมือนตา ถ้าไม่ชัดก็ใส่แว่น แต่หูไม่มีแว่น เชื่อเถอะ ซาวนด์เอนฯ เกือบทุกคนหูไม่ดีหรอก เพราะมันอยู่กับเสียงดังทุกวัน” เขาขำและย้ำว่าแต่กระบวนการบันทึกเสียงสำหรับโมริจะเป็นตัวบ่งบอกว่าจะได้เสียงดีหรือไม่ ตั้งแต่กระแสไฟฟ้า สายไฟ สายสัญญาณ แอมป์ ไมค์ มิกเซอร์ ลำโพง เขาเปรียบเพลงเหมือนเบียร์ “ถ้าน้ำผลิตเบียร์สะอาด แต่วาล์วไหลไม่ลื่น เบียร์หยดติ๊งๆ กว่าจะเต็มแก้วก็ไม่เย็นแล้ว ถ้าคุณกินเบียร์ กินเย็นๆ ชื่นใจกว่า” โมริยิ้ม ก่อนจบบทสนทนาและถามกลับว่าคุณดื่มไหม.