เอเลี่ยน สปีชีส์ (Alien Species) หมายถึง ชนิดพันธุ์สิ่งมีชีวิต ที่ไม่เคยปรากฏในถิ่นชีวภูมิศาสตร์หนึ่งมาก่อน แต่ได้ถูกนำเข้ามาหรือเข้ามาโดยวิธีใดๆ จากถิ่นอื่น ซึ่งอาจจะดํารงชีวิตอยู่และสืบพันธุ์ได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของปัจจัยแวดล้อมและการปรับตัวของชนิดพันธุ์นั้นๆ
หลายประเทศทั่วโลกต่างประสบปัญหาการรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่บางชนิดก็ยังไม่สามารถควบคุมได้เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่มีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมาอยู่ในบ้านเรานานมากแล้ว จนบางครั้งเราอาจจะนึกไปว่ามันคือพืช หรือสัตว์พื้นเมืองของเรา เช่น “ผักตบชวา” มาจากประเทศอินโดนีเซีย“ผกากรอง” ดอกไม้แสนสวยมาจากประเทศเม็กซิโก “ไมยราบยักษ์” เป็นพันธุ์พืชในทวีปอเมริกาใต้ และเจ้า “ปลาทอง” ตัวน้อยสีสันสดใสมาจากเมืองจีน
ปัจจุบันมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณากลุ่มชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเป็น 4 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว และสามารถตั้งถิ่นฐานและมีการแพร่กระจายได้ในธรรมชาติ และเป็นชนิดพันธุ์ที่อาจทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นหรือชนิดพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ รวมไปถึงส่งผลคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เช่น ไมยราบยักษ์ ผักตบชวา ปลานิล ปลาซัคเกอร์ นกพิราบ
ประเภทที่ 2 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีหลักฐานว่ามีการรุกรานในถิ่นอื่น ที่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว และสามารถตั้งถิ่นฐาน และมีการแพร่กระจายได้ในธรรมชาติหากมีปัจจัยเกื้อหนุน หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เคยรุกรานในอดีต ซึ่งสามารถควบคุมดูแลได้แล้ว เช่น บานไม่รู้โรย ปลาหมอสียักษ์ กบบลูฟร็อก
ประเภทที่ 3 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติว่ารุกรานแล้วในประเทศอื่นแต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทยแล้วมีหลักฐานว่ามีการรุกรานในประเทศอื่น เช่น สนอินเดีย ปลาปิรันยา ปูขนจีน
ประเภทที่ 4 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีข้อมูลหรือหลักฐานว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานในประเทศอื่น แต่ยังไม่ได้นำเข้ามา หรือห้ามนำเข้าตามกฎหมาย
หากย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าบ้านเราก็เคยถูกเหล่า เอเลียนสปีชีส์ เข้ามาขยายเผ่าพันธุ์แต่ด้วยภูมิปัญญาและความเป็นยอดนักสู้ของคนไทยเราก็สามารถปรับเปลี่ยนสัตว์บางสายพันธุ์ให้กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้
ปี 2520 ได้มีการนำเข้า “ปลาซัคเกอร์” ปลาที่มีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ พบมากในประเทศบราซิล ซึ่งเป็นปลาสายพันธุ์เดียวกับปลากด ปลาแขยง และปลาดุกของไทยมาจากต่างประเทศ โดยเจตนาเลี้ยงเพื่อให้มันทำความสะอาดตู้ปลา ก่อนถูกปล่อยลงแหล่งน้ำแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ชาวประมง และผู้เลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิด ปัจจุบันเริ่มนำปลาซัคเกอร์ มาประกอบอาหารแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่นิยม
ปี 2525-2530 หลายจังหวัดในประเทศไทยถูก “ตั๊กแตนปาทังก้า” ฝูงใหญ่เข้ามาทำลายพืชผลทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านจึงจับใส่น้ำมันร้อนๆ เคี้ยวกินเล่นเพลินๆ
ปี 2530 มีการนำเข้า “หอยเชอรี่” หอยที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ มากำจัดตะไคร่น้ำและเศษอาหารในตู้ปลาก่อนถูกปล่อยลงแหล่งน้ำขยายพันธ์ได้อย่างรวดเร็ว กำจัดเท่าไหร่ก็ไม่หมด ไปกัดกินต้นข้าวสร้างความเสียหายให้กับชาวนา ชาวบ้านจึงจับลวกใส่ในส้มตำ จิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด
ปี 2531 “ปลาดุกบิ๊กอุย” ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการผสมพันธุ์ระหว่างปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกากับปลาดุกอุยของไทย ซึ่งมีลักษณะภายนอกคล้ายปลาดุกอุย แต่มีขนาดใหญ่ ปัจจุบันนิยมนำไปประกอบอาหาร แต่ไม่ควรปล่อยลงในแหล่งน้ำลำคลอง เนื่องจากเป็นอีกหนึ่งเอเลี่ยนสปีซีส์ที่เติบโตเร็ว กินทุกอย่างที่ขวางหน้าทั้งพืชและสัตว์
ปี 2538 มีการนำเข้า “กุ้งเครย์ฟิช หรือกุ้งก้ามแดง” กุ้งน้ำจืดจำพวกหนึ่ง มีรูปร่างโดยรวมลำตัวใหญ่ เปลือกหนา มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรป, โอเชียเนียและบริเวณใกล้เคียง มาเพื่อทดลองเลี้ยง และต่อมามีการขายกันอย่างแพร่หลาย แต่มีราคาสูง และได้รับขนานนามว่า “ล็อบสเตอร์น้ำจืด” ทำให้มีพละกำลังในการจับสัตว์น้ำท้องถิ่นกินเป็นอาหาร และเป็นอันตรายที่มีต่อระบบนิเวศ ก่อนพบว่ามีการแพร่ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งมีคนเคยพบกุ้งชนิดนี้ที่น้ำตกศรีดิษฐ์ จ. เพชรบูรณ์ โดยกรมประมงแนะนำว่าหากพบกุ้งชนิดนี้สามารถนำไปประกอบอาหารได้เลย
ปี 2508 เมื่อครั้นสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อนถวายแด่พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 “ปลานิล” จึงได้เข้ามายังประเทศไทยครั้งแรก
สำหรับ “ปลานิล” มีถิ่นกำเนิดอยู่ลุ่มแม่น้ำไนล์ แต่เมื่อนำเข้ามาแล้วพบว่า เลี้ยงง่าย เนื้อมีรสชาติดี จึงพระราชทานปลาที่เพาะเลี้ยงจากสวนจิตรลดา เพื่อขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่ประชาชนเพื่อนำไปเลี้ยงในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พร้อมพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” เป็นที่นิยมนำมาทานกันอย่างแพร่หลาย แต่อย่างไรก็ตามแม้ปลานิลจะไม่รุกรานสัตว์อื่นในระบบนิเวศ แต่ก็ไม่ควรปล่อยลงสู่แหล่งน้ำอีก เนื่องจากระบบนิเวศที่สมบูรณ์ อาจจะถูกรบกวนได้
“อิกัวนาเขียว” บุกลพบุรี
ปี 2531 พบมีการนำเข้า “อิกัวนาเขียว” ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นในป่าเขตร้อนของเม็กซิโก อเมริกากลาง อเมริกาใต้และหมู่เกาะแคริบเบียน เป็นสัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ ถูกนำเข้ามาหลายสิบปีแล้ว มีอายุขัยประมาณ 20 ปี เมื่อปลายปี 2566 ได้พบว่า “อิกัวนาเขียว” ระบาดในพื้นที่ธรรมชาติและชุมชนใกล้เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี กัดกินพืชผลทางการเกษตรของประชาชน โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กำหนดห้ามนำอิกัวนา เข้าไทยแล้ว
การระบาดและวิธีการจัดการของเอเลี่ยน สปีชีส์ ในต่างประเทศ
จากข้อมูลเว็บไซต์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังพบการระบาดและวิธีการจัดการของเอเลี่ยน สปีชีส์ ที่น่าสนใจ ในต่างประเทศ โดยพบว่าในประเทศแถบหมู่เกาะแปซิฟิกได้เผชิญกับการแพร่ระบาดของ หอยทากยักษ์แอฟริกา และได้มีการทางออกด้วยการปล่อยหนอนตัวแบนนิวกินีเข้าสู่พื้นที่เพื่อกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา แต่ทว่านอกจากเจ้าหนอนตัวแบนนิวกินีจะกำจัดศัตรูให้ชาวเกษตรกรแล้ว แต่พวกมันยังไล่ล่าทากท้องถิ่นจนกระทั่งสูญพันธุ์ไปอีกด้วย และเจ้าหนอนชนิดนี้ก็ได้มีเข้ามาในประเทศไทยเราเป็น 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบให้เป็นที่ประจักษ์
ขณะที่ออสเตรเลีย ก็ได้พบกับการแพร่พันธุ์ของ โท้ดซิลลา หรือที่เรียกกันว่าคางคกยักษ์ ที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้และอเมริกากลาง พวกมันถูกนำเข้ามาในออสเตรเลีย เพื่อควบคุมปริมาณด้วงอ้อยและสัตว์รบกวนอื่นๆ ในไร่อ้อยเพื่อใช้แทนใช้ยาฆ่าแมลง แต่ปัจจุบันพวกมันถูกพิจารณาว่าเป็นสายพันธุ์ดุร้าย ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศ คางคกยักษ์ จึงถูกการุณยฆาต
นอกจากเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ยกตัวอย่างมาแล้ว ยังมีสัตว์อีกหลายสายพันธุ์ ที่ถูกนำเข้ามาในบ้านเรา บางสายพันธุ์ก็ยังไม่ได้มีผลกระทบมากนัก บางสายพันธุ์ยังเป็นสีเทาๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่บางสายพันธุ์ก็สร้างผลกระทบระดับประเทศแล้ว
ปลาหมอคางดำ ปลาที่มาพร้อมกับความหิวโหย
ปลาหมอคางดำ หรือก่อนหน้านี้ที่เรียกกันว่า ปลาหมอสีคางดำ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา พบแพร่กระจายอยู่บริเวณชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ปัจจุบันมีการนำเข้าพันธุ์ปลาหมอสีคางดำในหลายประเทศ ส่วนไทยมีรายงานเข้ามาตั้งแต่ปี 2553 ปลาชนิดนี้สามารถอยู่ได้ในน้ำเกือบทุกประเภท ปลาตัวผู้จะทำหน้าที่อดอาหารอมไข่ไว้ในปาก ทำให้โอกาสรอดของลูกปลาหมอคางดำรอดถึง 99% แพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และพวกมันยังกินทั้งพืช สัตว์ สามารถย่อยอาหารได้ไวสุดๆ ทำให้หิวตลอดเวลา สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ
สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ปลาหมอคางดำ ได้ระบาดไปยังแหล่งน้ำในพื้นที่ 16 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ,สมุทรปราการ ,สมุทรสาคร ,สมุทรสงคราม ,เพชรบุรี ,จันทบุรี ,ระยอง ,ฉะเชิงเทรา ,ราชบุรี ,ประจวบคีรีขันธ์ ,ชุมพร ,สุราษฎร์ธานี ,นครศรีธรรมราช ,สงขลา ,นครปฐม และนนทบุรี และตอนนี้ก็ได้มีมาตรการหลากหลายออกมาเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำให้สิ้นจากไปจากน่านน้ำไทย
ปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ ปฏิบัติการไล่สังหารปลาหมอคางดำ
การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง ไปล่าปลาหมอคางดำ ซึ่งวิธีการนี้พบว่างานวิจัยของกรมประมงในปี 2566 ระบุว่าปลากะพงขาว และปลาอีกงมีความสามารถเป็นผู้ล่าและควบคุมประชากรปลาหมอสีคางดำได้ในระดับหนึ่ง หากปลาหมอสีคางดำมีขนาดเล็กกว่า
แต่การวิจัยของกรมประมง เป็นการจัดทำในระบบปิด หากปล่อยปลาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จะมีความเสี่ยงต่อลูกปลา หรือสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ จะถูกล่าไปด้วยหรือได้รับผลกระทบหรือไม่ และถึงแม้ปลาหมอคางดำตัวโตเต็มวัยจะโตได้ไม่เท่าปลากะพงขาว แต่ความว่องไวนั้นชนะขาด และความอึด ทนต่อคุณภาพน้ำที่ออกซิเจนต่ำนั้นมีมากกว่าปลากะพงขาว จึงเป็นห่วงว่าปลากระพงขาวจะหมดแรง
ดัดแปลงพันธุกรรม ทำหมัน ให้สิ้นซาก
โครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ เพื่อทำให้เป็นหมัน ก่อนปล่อยสู่แหล่งน้ำให้ไปผสมพันธุ์กับปลาที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n)ทำให้เกิดลูกปลาหมอที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n)เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ โดยคาดว่าจะทยอยปล่อยปลาที่ทำหมันแล้วอย่างน้อย 2.5 แสนตัว ภายในระยะเวลา 15 เดือนนี้
เครื่องแกงรังสรรค์เมนูเด็ด เพชฌฆาตปลาหมอคางดำ
ปลาหมอคางดำ สามารถนำมาประกอบอาหารได้เหมือนกับปลาชนิดอื่นๆ จึงมีการรณรงค์ให้นำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เช่น ทำปลาป่น แปรรูปเป็นเมนูต่างๆ แต่ต้องเป็นปลาตัวใหญ่หน่อย เนื่องจากพวกมันตัวเล็ก ก้างใหญ่ ชาวบ้านจึงยังไม่ค่อยนิยมมาทำเป็นเมนูอาหาร
ใช้งบประมาณ สนับสนุนรับซื้อปลาหมอคางดำ
มาตรการล่าสุดจากภาครัฐกับการตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ ในราคากิโลกรัมละ 7-15 บาท เพื่อนำไปทำปุ๋ย หรือทำประโยชน์อื่นๆ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้แก่ประชาชนในการมีส่วนร่วมควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยคาดว่าจะเริ่มรับซื้อได้ในสัปดาห์หน้า
เผยโฉมหน้าลูกผสม ปลาหมอคางดำ X ปลานิล
ขณะที่ เพจอ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาปลาหมอคางดำ โดยระบุว่า เปิดภาพ “ลูกผสม ปลานิล x ปลาหมอคางดำ” (แต่อย่าเพิ่งตกใจ ยังไม่เจอในธรรมชาตินะครับ)
หลังเกิดกระแสความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของปลาหมอคางดำว่าจะมันจะไปผสมพันธุ์กับปลานิล “ปลานิล” ซึ่งก็เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์จากทวีปแอฟริกาเหมือนกัน และจะเกิดผลกระทบหรือไม่
เรื่องนี้อาจารย์เจษฎ์ สรุปไว้ว่าตอนนี้ยังไม่มีรายงานการพบปลาลูกผสมระหว่างปลาหมอคางดำกับปลานิลในประเทศไทย แต่ถ้าใครเจอที่ไหนช่วยบอกด้วย แต่ตอนนี้มีลูกผสมเกิดขึ้นจากการทดลองวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งก็เกิดขึ้นได้ยากและเป็นจำนวนน้อย เนื่องจากปลาทั้งสองชนิดนี้ เป็นปลาคนละสกุล (genus) กันเลย และความพยายามที่จะผสมพันธุ์ปลากลุ่มนี้ ข้ามระหว่างสกุลนั้น ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ในเชิงพาณิชย์ เช่น มีความพยายามพัฒนาปลาลูกผสมระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ที่เจริญเติบโตได้ดีเหมือนกับปลานิล แต่สามารถเพาะเลี้ยงได้ในน้ำกร่อยและน้ำเค็มเหมือนปลาหมอคางดำ แต่จากงานวิจัยพบว่า ลูกผสมข้ามสกุลเช่นนี้ “ไม่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ”และปลาลูกผสมที่เกิดขึ้นกลับ “ไม่ได้เป็นหมัน” สามารถมีรุ่นหลาน ต่อไปได้
อ่านรายละเอียด ลูกผสม ปลานิล x ปลาหมอคางดำ เพิ่มเติมที่ : เพจอ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
จากข้อมูลทั้งหมดนี้พบว่าการกำจัดปลาหมอคางดำให้สิ้นซากคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และเราคงจะได้คำตอบเร็วๆ นี้ว่า เอเลี่ยน สปีชีส์ สายพันธุ์นี้จะหมดไปจากน่านน้ำไทยหรือไม่