นับตั้งแต่ซีรีส์เกาหลี The Glory ออกฉายทาง Netflix เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา ก็ทำให้เรื่องการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน หรือที่เราคุ้นชินกับคำว่า “บูลลี่” (Bully) กลายเป็นประเด็นสำคัญ ที่ถูกพูดถึงในสังคมไทยมากขึ้น กระทั่งตัวเหยื่อเอง (Victim) ที่เคยโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนก็ได้ออกมาบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเองผ่านทางทวิตเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโดนล้อปมด้อย ทั้งหน้าตา รูปร่าง และผิวพรรณ หรือโดนล้อเรื่องเพศ
ประกอบกับข้อมูลสถิติของกรมสุขภาพจิต พบว่า พฤติกรรมการกลั่นแกล้งกันของเด็กไทยปี 2020 ติดอันดับ 2 ของโลก รองลงมาจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชนได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเรื่องบูลลี่ กลั่นแกล้ง ความรุนแรง ในสถานศึกษา ในกลุ่มเด็กอายุ 10-15 ปี จาก 15 โรงเรียน จำนวน 1,500 คน พบว่า 91.79% เคยถูกบูลลี่ โดย 1 ใน 3 หรือ 35.33% ระบุว่า เคยถูกกลั่นแกล้งประมาณเทอมละ 2 ครั้ง ที่น่าห่วงคือ 1 ใน 4 หรือ 24.86% ถูกกลั่นแกล้งมากถึงสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ส่วนคนที่แกล้งคือเพื่อน รุ่นพี่ และรุ่นน้อง
จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนไทยยังคงน่าเป็นห่วงอย่างมาก และรอวันที่จะได้รับการแก้ไขจนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้สัมภาษณ์กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัก ชุณหกาญจน์ หัวหน้าสาขานักจิตวิทยาพัฒนาการ อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน และแนวทางแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน
การเกิดขึ้นของการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน อาจารย์มีความคิดเห็นหรือมีมุมมองอย่างไรบ้าง
“ถ้ามองของนักจิตวิทยาพัฒนาการ การกลั่นแกล้งกันของเด็กในบางช่วงวัยเป็นเรื่องปกติในพัฒนาการตามธรรมชาติ มีบางช่วงที่เด็กๆ อยากจะให้เพื่อนทำในแบบที่เขาต้องการ เราเรียกพฤติกรรมนี้ว่า Egocentrism เริ่มพบในช่วงวัยเด็กตอนต้น คือการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดังนั้น เมื่อเขาได้ล้อเลียนเพื่อน แล้วเพื่อนหน้าบึ้งหน้างอ เขารู้สึกสนุก สนุกกับการล้อเลียนเพื่อน จุดเริ่มต้นคืออย่างนั้น ซึ่งตรงนี้มันเป็นพัฒนาการตามวัย เด็กๆ ทุกคนพอรู้จุดอ่อนเพื่อน อะไรก็จะแกล้ง ลักษณะการแกล้งกันจึงเป็นเรื่องปกติตามวัย”
“แต่ (เน้นเสียง) ในพัฒนาการตามวัยตรงนี้ มันเป็นกลไกของการเรียนรู้ในเรื่องของสิทธิ เด็กๆ กำลังเริ่มเรียนรู้ในเรื่องของสิทธิของตนเองและผู้อื่น รวมถึงเริ่มเรียนรู้การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้การยึดตนเองเป็นศูนย์กลางลดลง”
“ในส่วนของคนที่ถูกแกล้ง ก็จะรู้ว่าถ้าเขายอม เขาก็จะโดนแกล้งอยู่เรื่อยๆ ดังนั้น โดยธรรมชาติเด็กๆ จะหาทางออกเพื่อให้ไม่ถูกกลั่นแกล้งอีก โดยเขาอาจจะบอกคุณครู หรือแจ้งผู้ใหญ่ให้ผู้ใหญ่ช่วยเหลือ หรือพูดคุยปรึกษาพ่อแม่ เพื่อให้พ่อแม่หาทางออกว่าเขาจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ถูกแกล้ง จะใช้การหลบหลีก ปกป้องตนเองได้อย่างไร ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี ที่ผู้ใหญ่จะได้สอนให้เด็กๆ อย่าทำแบบนั้นกับคนอื่น ในขณะคนที่ทำ ตอนทำอาจจะรู้สึกสนุกดีใจ แต่ระหว่างที่ทำเสร็จแล้ว ผลคือเพื่อนอาจจะกลัวไม่เล่นด้วยแล้ว หรืออาจได้รับการลงโทษ เพราะเป็นคนชอบแกล้งคนอื่น ผู้กระทำก็จะได้การเรียนรู้ว่า สิ่งที่เขาได้แกล้งเพื่อนไปนั้นเป็นการละเมิดสิทธิของคนอื่น เพื่อนไม่ชอบ เพื่อนไม่รัก ไม่มีใครเล่นด้วย และทำให้ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่ เด็กๆ จะค่อยๆ มีโอกาสในการเรียนรู้ที่จะปรับตัว ซึ่งเป็นกระบวนการตามปกติที่เป็น ส่วนหนึ่งในพัฒนาการด้านสังคมของเด็ก โดยจะเริ่มเห็นปรากฏในช่วงวัยเด็กตอนต้น ตั้งแต่อายุประมาณ 4 ปี ถึง 6 ปี”
บางทีจะเห็นคำว่า “บูลลี่” (Bully) หมายถึง การกลั่นแกล้ง หรือไม่ก็การรังแก แท้จริงแล้วควรนิยามว่าอย่างไร
“การกลั่นแกล้ง รังแกกัน ที่ปรากฏในปัจจุบัน อาจจะมีความหมายที่แตกต่างจากอดีต เพราะเป็นการกระทำที่มีผลต่อบุคคลอื่นในลักษณะของการมุ่งเน้น การทำร้ายทางร่างกายและจิตใจ มากกว่าการกระทำเพื่อการหยอกล้อ โดยทั่วไปเด็กๆ อาจจะมีการแกล้งกัน ล้อเลียนกัน ไม่พอใจกัน มีการหลบหลีก ต่อสู้ หรือเลี่ยงเพื่อไปอยู่กับเพื่อนคนอื่นๆ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เด็กบางคนเพื่อนทั้งห้องรวมกันไม่คุยด้วย หรือเพื่อนๆ พากันล้อเลียนในทุกโอกาส จนเด็กคนนั้นรู้สึกแย่ อันนี้น่ากลัว เพราะมันเล่นกับจิตใจ เช่น อยู่ๆ หนูมาเรียน แล้วเพื่อนไม่คุยกับหนูเลย ไม่ให้เข้ากลุ่มทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจนะ”
อะไรทำให้เด็กคนหนึ่งถึงแสดงพฤติกรรมการกลั่นแกล้งออกมา
“ในบริบทของเด็กที่โตขึ้นมากับความที่ไม่ค่อยมีความเข้าใจในความรู้สึกของคนอื่น อาจจะสะท้อนการขาดการสอนจากทั้งในครอบครัวและสังคมที่เด็กอยู่ ในมุมนี้ไม่ได้มองที่เหยื่อ (Victim) แต่มองที่ผู้กระทำ (Abuser) การกระทำของเด็กที่กลั่นแกล้งคนอื่น จุดเริ่มต้นเด็กมีความกลัวในอะไรบางอย่าง ส่วนใหญ่เด็กกลุ่มนี้จะมีความกลัวที่ส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางจิตใจ เช่น กลัวการโดนแย่งความรัก กลัวการถูกลดความสำคัญ กลัวคนอื่นได้รับความสนใจมากกว่าตนเอง รวมถึงกลัวการถูกผู้อื่นรังแก ดังนั้น เด็กบางคน เลือกที่จะแกล้งเพื่อน เพราะเขาคิดว่าเพื่อนคนนั้นอาจจะเป็นที่รักของเพื่อนคนอื่นๆ มากกว่าตนเอง และถ้าเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งเป็นเด็กที่ไม่ตอบโต้ เป็นเด็กที่ไม่ชอบความรุนแรง เขาก็จะถูกกระทำมากขึ้น คนที่ทำดูมีอำนาจมากขึ้น เมื่อตัวเองมีอำนาจ เพื่อนกลัว เพื่อนก็จะยอม ที่ยอมไม่ใช่เพราะรัก แต่ที่ยอมเพราะกลัวต่างหาก แต่เด็กชอบเข้าใจผิด อันนี้เป็นมุมหนึ่งที่อาจารย์เคยเจอกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็ก”
“สื่อก็สำคัญนะ เพราะเด็กเรียนรู้ผ่านสื่อ แล้วยิ่งตอนนี้มันอันตราย โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เด็กเขาไปแล้ว มันบล็อกไม่ได้ ละครไทยแทบทุกเรื่องทุกช่อง ปฏิเสธได้ไหมว่าไม่มีการบูลลี่ ขอได้ไหม คุณช่วยลดบทแบบนี้ลงหน่อย ดังนั้น ปัจจุบันมีทั้งเสพสื่อ สื่อเหล่านี้จำกัดอายุคนดูไหม ก็ไม่ เด็กๆ เรียนรู้ แล้วเด็กก็รู้สึกว่าคนที่แกล้งคนอื่นได้คือฮีโร่ มันเป็นเรื่องของอำนาจ กลายเป็นเรื่องของ การมีอำนาจเหนือคนอื่น แปลว่าเขาเก่ง เขาทำแบบนี้กับเพื่อนแปลว่าเขาเก่ง”
แล้วเราจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กที่กลั่นแกล้งเพื่อนได้อย่างไร
“ปรับเปลี่ยนได้ แก้ไขได้ แต่ว่าต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย สามารถเริ่มได้จากในครอบครัว การอบรม บอกสอนจากพ่อ แม่ ผู้ปกครองตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ เป็นการปูพื้นฐานทางด้านพฤติกรรมที่ดีให้กับเด็กๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อการกลั่นแกล้งรังแกกันปรากฏในบริบทของโรงเรียน คุณครูจึงเป็นเป้าหมายแรกที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่เมื่อดูหน้าที่ครูแล้ว ทั้งสอนหนังสือ ทั้งดูแลเด็กจำนวนมากต่อห้อง มีภาระงานสอนหลายคาบ โอกาสที่คุณครูจะมีเวลาในการสังเกต หรือใส่ใจในพฤติกรรมของเด็กๆ อาจจะมีเวลาไม่มากนัก แต่ว่าวิธีหนึ่งที่จะช่วยดูแลปัญหานี้ คืออาจจะต้องสร้างกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อนในห้องช่วยกันดูแล เป็นกลุ่มที่มาบอกครู ครูแนะแนว ครูนักจิตวิทยา ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นในห้องเรียนตอนนี้ ให้รู้ว่าสถานการณ์นี้ มันเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นเหยื่อ (Victim) ใครเป็นผู้กระทำ (Abuser) ดูแลคนที่เป็นผู้กระทำมากกว่าเหยื่อ เพื่อเป็นการจัดการกับปัญหาที่ต้นเหตุ ดูแลเขาไม่ใช่ดุเขานะ ทำความเข้าใจกับเด็กคนนั้นก่อน ว่าเขามีความไม่สบายใจอะไร อะไรให้เขาทำพฤติกรรมแบบนั้น เขารู้หรือเปล่าว่าทำไปแล้วเกิดอะไรขึ้น มันส่งผลกระทบอย่างไร ไม่ต้องดุ (เน้นเสียง) บางทีเรียกมาดุ เรียกมาตำหนิ เรียกมาลงโทษ มันก็ไม่ใช่วิธีที่ดี ดังนั้น ปัญหาจึงยังคงมีอยู่”
ตัวเหยื่อเองก็บอบช้ำทางจิตใจไม่แพ้กัน แล้วเราจะเยียวยาสภาพจิตใจของเด็กที่โดนกลั่นแกล้งอย่างไรดี
“น้องที่เป็นผู้เสียหาย ต้องไม่ใช่ปล่อยนะ ดูแลเขา และสร้างความเข้มแข็งให้กับเขา ให้เขาเจอจุดดีของเขา เด็กที่ถูกแกล้งจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ตนเองไม่มีความสามารถ ตนเองอ่อนแอ กลายเป็นการพัฒนา ลักษณะด้อยให้กับตัวเด็ก ดังนั้น ต้องสร้างความเข้มแข็ง ดึงข้อดีของเขาออกมา หรืออย่างน้อยให้เด็กได้รู้สึกว่ายังมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขาบ้าง โดยทั่วไปพวกที่ทำร้ายคนอื่นมักจะทำกับคนที่อ่อนแอกว่าตนเองเสมอ แต่คนไหนที่แข็งแกร่ง พวกนี้จะแกล้ง แต่ไม่แกล้งนาน เพราะเขาโดนตอบโต้ เขาจะหยุดทันที”
ตามความคิดของอาจารย์ การแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนควรเริ่มจากตรงไหนก่อน ถึงจะหยุดวงจรนี้ได้อย่างยั่งยืน
“เวลาเด็กมีการกลั่นแกล้งกัน ผู้ใหญ่เห็น ผู้ใหญ่ต้องให้ข้อมูล ต้องสอนเด็กในเรื่องของการเอาใจเขามาใส่ในใจเรา หนูทำเพื่อนเจ็บ เวลาเพื่อนทำหนูเจ็บ หนูชอบไหม หนูไม่ชอบ เพราะฉะนั้นหนูต้องไม่ทำแบบนี้กับคนอื่น กระบวนการสอนตรงนี้ มันเริ่มมาตั้งแต่ในครอบครัว พี่น้องกัน จะแย่งของเล่นกัน จะแกล้งกัน ในครอบครัวสอนอย่างไร สอนให้พี่น้องรักกันไหม สอนให้รู้จักคำว่า ถ้าทำแบบนี้ เดี๋ยวพี่จะเสียใจ พี่จะไม่เล่นด้วย ถ้าทำแบบนี้น้องเสียใจ น้องจะไม่เล่นด้วย แต่ถ้าอยากเล่นด้วยกัน เราต้องไม่แกล้งกัน นี่คือโมเดลที่ถูกต้อง แล้วจะทำให้ปัญหาการบูลลี่ลดลง”
“เพราะฉะนั้นกลไกที่สำคัญคือผู้ใหญ่ในการสอน เวลาที่เห็นลูกเราไปรังแกคนอื่น เอาเปรียบคนอื่น ก็ต้องสอนเขาว่าเรื่องแบบนี้ไม่ได้ แล้วที่ดี ต้องบอกด้วยนะ (เน้นเสียง) แล้วที่ดีควรเป็นอย่างไร การสอนถึงจะครบวงจร ถ้าอันนี้น้องทำไม่ได้ แล้วที่ดีน้องควรทำอย่างไร”
นอกจากบทบาทหน้าที่ของครอบครัวแล้ว ด้านโรงเรียนหรือภาครัฐเองควรจะช่วยแก้ไขปัญหานี้อย่างไรดี
“ถ้าจะสร้างความยั่งยืนจริงๆ ที่อยากเสนอคืออยากให้มีนโยบายนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน ต้องมี (เน้นเสียง) หรืออย่างน้อยที่โรงเรียนต้องให้คนเหล่านี้เข้ามาปฏิงานด้านจิตวิทยา เข้ามาสร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กๆ ในกลุ่มที่เป็นเหยื่อด้วย แล้วก็เป็นพื้นที่ที่จะให้ความช่วยเหลือตัวจี๊ดด้วย (Abuser)”
“แล้วการที่ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์และเห็นความสำคัญของสุขภาพจิตของเด็กๆ สวัสดิภาพ ความเป็นอยู่ของเด็กๆ ในโรงเรียน การที่ผู้บริหารจะมีคนทำหน้าที่เป็นนักจิตวิทยาที่คอยให้คำปรึกษา เรื่องพฤติกรรมของเด็ก แน่นอนว่านักจิตวิทยาน่าจะเข้ามาเพื่อรับมือกับปัญหาในเชิงพฤติกรรมของเด็กที่มีความหลากหลาย ถ้ามีตรงนี้เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ นักเรียนในโรงเรียนก็น่าจะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น”
“กระทรวงศึกษาธิการก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ก็เปิดให้มีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนให้ แต่ (เน้นเสียง) มันโหดร้ายมากนะ สำหรับนักจิตวิทยา คือเปิดอัตราให้นักจิตวิทยาไปสมัคร แต่หนึ่งคนดูแลเด็กทั้งโรงเรียน แล้วทั้งโรงเรียนมีเด็ก 1,000 กว่าคน เอาแค่เป็นตัวจี๊ด (Abuser) สัก 10 คน แค่ 1% แล้วลองเปิดพื้นที่การศึกษาดูนะ นักจิตวิทยา 2 คน ดูแลทั้งหมดเขตพื้นที่การศึกษา มันคือทั้งจังหวัด แล้วทั้งจังหวัดมีกี่โรงเรียน เด็กเล็ก เด็กโต เด็กวัยรุ่น เด็กม.ปลาย เด็กม.ต้น ปัญหามันต่างกันนะ แต่กลับมีนักจิตวิทยาแค่ 2 คน มันก็โหดร้ายไปนะ เพราะเขาต้องเจอเรื่องลบๆ ทุกวัน อันนี้แหละคือปัญหา ถ้าอยากจะทำให้ยั่งยืนจริงๆ ก็คือต้องแก้ทั้งระบบในการให้ความช่วยเหลือนักเรียน”
“เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้ปัญหานี้จบได้อย่างยั่งยืน มันต้องเริ่มตั้งแต่ผู้ปกครอง พ่อแม่สอนอะไร อย่างไร แล้วนโยบายของภาครัฐที่จะมีคนที่มาให้ความช่วยเหลือ ตำแหน่งนักจิตวิทยา จังหวัดหนึ่งขอสัก 10 คนได้ไหม เอาแบบที่ดูแลเฉพาะในโรงเรียน ไม่เอาเขตพื้นที่นะ แล้วทำงานอย่างจริงจัง ให้เขาทำงานในบทบาทของนักจิตวิทยา ไม่ใช่ให้เขาไปทำงานเอกสาร นั่นแหละคือความยั่งยืน”
ก่อนหน้านี้อาจารย์พูดถึงเพื่อนช่วยเพื่อน แล้วโมเดลนี้สามารถช่วยลดอัตราการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนได้ไหม
“ในโรงเรียนสามารถที่จะมีเหมือนกลุ่มการให้คำปรึกษา คือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ถ้ามีเครือข่ายแบบนี้ เพื่อนช่วยเพื่อน หรือแม้กระทั่งเครือข่ายของผู้ปกครองที่มีการพูดคุยกัน ซึ่งตอนนี้ที่เขาก็ทำ แล้วเอาปัญหานี้มานั่งพูดคุยกัน เพื่อหาทางช่วยเหลือเด็กที่เป็นผู้กระทำ (Abuser) ให้เขามีมุมมอง ให้เขามีความสุขกับชีวิตของเขามากกว่าการมีความสุขกับการรังแกคนอื่น อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เราช่วยกัน เพื่อนช่วยเพื่อน คือเพื่อนบอก พอเพื่อนบอกเพื่อน เพื่อนก็คุยให้เพื่อนฟังว่าโดนเพื่อนแกล้งอย่างไง เด็กกลุ่มนี้เขาก็จะมาคุยกับอาจารย์แนะแนวโดยส่วนใหญ่นะ แล้วอาจารย์แนะแนวก็จะให้ความช่วยเหลือ อันนี้เห็นบางโมเดล เคยเจอโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เพชรบุรี แล้วเขาก็ลดอัตรากลั่นแกล้งรังแกได้เยอะ อัตราลดลงจริง ๆ”
อาจารย์รักได้กล่าวปิดทิ้งท้ายว่าหากมีการสอนเรื่อง “Empathy การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และความเป็นมนุษย์” ทั้ง 3 สิ่งนี้จะสามารถช่วยลดพฤติกรรมการกลั่นแกล้งของเด็กในโรงเรียนได้
“มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อเขาโดนกระทำมา เขาก็เลยหาคนที่เป็นเหยื่อกว่า หาคนที่เล็กกว่า แล้วก็กระทำกับคนนั้น ขณะที่คนเป็นเหยื่อโดนกระทำมา เขาก็อยากหาที่ระบาย เพราะอะไร เพราะเด็กลืมนึกถึงคำว่า Empathy เด็กลืมนึกถึงคำว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วบางครั้งเด็กก็ไม่รู้วิธีการสร้างสัมพันธภาพแบบไม่จำเป็นต้องกลั่นแกล้งรังแกกัน แต่ถ้าเราสอนเรื่องนี้ เรื่องของการเป็นมนุษย์ ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนๆ กันมันก็จะเบาลง มันก็จะเข้าใจใน ความเป็นมนุษย์ ของคนอื่น เราไม่ชอบให้คนอื่นทำอะไรกับเรา เราก็อย่าทำอย่างนั้นกับคนอื่น ตัวอย่างที่ไม่ดีที่เด็กๆ อาจได้พบเห็นจากสื่อ มีผู้ปกครองคอยบอก สอนอธิบายว่านี่คือสิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ที่ดีที่ถูกต้องคืออะไร ถ้าร่วมทำกันไปในแนวทางเดียวกัน วงจรนี้มันจะค่อยๆ หายไป หรือฟื้นฟูว่าการแกล้งกันเป็นค่านิยมที่ไม่ดี ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการหยุดการกลั่นแกล้งต้องเริ่มที่พ่อแม่ และเริ่มตั้งแต่เด็กๆ เด็กขนาดไหน เด็กตั้งแต่เกิดมาเลยค่ะ”
แหล่งที่มาข้อมูล
http://• https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30612 http://• https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/861456