ชื่อของ “ทนายแจม” ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักวงกว้าง แต่หากผ่านตาข่าวการเมือง และเห็นบทบาททนายความที่ดูเรื่องคดีให้กับผู้ชุมนุมและผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 เธอเป็นหนึ่งในนั้น

จนมาถึงกรณีของการออกมาบอกเล่าเรื่องการเป็นภรรยาของตำรวจ ที่ถูกส่งไป “ฝึกธำรงวินัย” เพราะสามีปฏิเสธที่โอนย้ายไปหน่วยงานพิเศษ จนสามีถูกแยกจากครอบครัวส่งไปฝึกนานถึง 9 เดือน

เรานั่งคุยกับเธอถึงเรื่องราวชีวิตและความฝันที่มีในแต่ละช่วง ตั้งแต่วัยรุ่นที่เธอเข้ารอบประกวด academy fantasia หรือ AF รายการยอดฮิตของวัยรุ่นมีฝันในยุคหนึ่ง การแอบพ่อไปเรียนกฎหมายนอกจากการเรียนบัญชีตามที่พ่ออยากให้เรียน การเป็นทนายความให้กับผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง จนมาถึงความฝันที่อยากจะสร้างสังคมที่ดีส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป

บ้าน AF กับความฝันของวัยรุ่นคนหนึ่ง

ก่อนจะมาเป็นทนายด้านสิทธิมนุษยชนที่ต้องมาทำคดีการเมือง ช่วงชีวิตหนึ่ง “ทนายแจม” ก็มีความฝันเหมือนวัยรุ่นหลายคน ที่เริ่มจากร้องเพลง สู่การหัดเล่นกีตาร์และตั้งวงดนตรี

“แจมเป็นคนชอบร้องเพลงตั้งแต่เด็กๆ แต่หาเพื่อนเล่นกีตาร์ไม่ได้ ก็เล่นเองแล้วกัน เลยไปฝึกเล่นจนเล่นกีตาร์ได้ พอเรียนมัธยมก็เริ่มมีคนมาชักชวนไปร่วมวงดนตรี ก็ไปลองเล่นกับเขาแล้วก็ชอบ ก็เลยมาตั้งวงของตัวเองแล้วก็ประกวด ตอนนั้นอยู่ที่เมืองกาญจน์ ก็จะประกวดตามต่างจังหวัด เมืองกาญจน์ บ้านโป่ง ตกรอบบ้าง เข้ารอบบ้าง ได้รางวัลบ้างแล้วแต่ เหมือนทำให้ชีวิตช่วง ม.ต้น ม.ปลายของแจม ไม่ได้มีแค่เรื่องเรียน แต่ก็ไม่ได้ทิ้งเรียนนะ แจมก็ยังสอบได้อันดับต้นๆ ตลอด แค่รู้สึกว่าถ้าเราเรียนอย่างเดียวก็จะได้มุมเดียว ถ้าเราทำอย่างอื่นด้วยเราจะได้ประสบการณ์ที่มันมากกว่านั้น แจมก็เลยอยู่วงโยธวาทิตด้วย เล่นดนตรีร้องเพลงด้วย แล้วก็ทำกิจกรรมโรงรียนเยอะมาก”

ในช่วงที่รายการประกวดระดับประเทศ ไปเปิดเวทีคัดเลือกระดับภูมิภาค เธอก็ได้ไปเข้าร่วมด้วย

“ช่วงนึงมีประกวดเราก็มองมันเป็นอีกโอกาสที่เปิดให้เราได้แสดงความสามารถก็เลยลองไปกวดทั้ง เดอะสตาร์ ก็ตกรอบน่ะแหละ (หัวเราะ) ตอนนั้นไปต่อคิวกับเขาตั้งแต่ตี 5 บางคนมาต่อแถวตั้งแต่เที่ยงคืน”

“เจอพี่ม้า (อรนภา กฤษฎี) ด่าหนูก็เจอมาเหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะว่าร้องเพลงง่วงนอนมากเลย แต่พอเรามีลูกเราถึงรู้ว่าฉันเกิดมาเพื่อร้องเพลงให้ลูกฉันหลับ (หัวเราะ) ก็โดนเขาว่ามา ส่วน เอเอฟ (academy fantasia) เข้าไปลึกสุดแล้ว คือเป็นตัวแทนภาคกลาง ก็เป็นประสบการณ์นึงที่เราได้เข้าไปสัมผัส ได้ทำตามความฝันที่มนุษย์คนนึงจะฝันได้เหมือนกัน แล้วไปถึงจุดนึงก็รู้สึกว่าฉันได้บันทึกตัวเองแล้วว่า อย่างน้อยๆ ช่วงชีวิตนึงเราก็ไม่ได้ปล่อยให้มันผ่านไปแล้วก็ได้มาเดินตามเส้นทางนั้นเหมือนกัน มันอาจจะไปไม่ได้ถึงสุดทาง แต่เราก็ได้มิตรภาพดีๆ กลับมา”

“มันก็คือความฝันเหมือนกันเนาะ แจมมองว่าไม่ว่ามันจะคือความฝันอะไร มันก็คือความฝันที่ควรจะถูกให้คุณค่าเหมือนๆ กัน ไม่ว่าฝันจะเป็นนักการเมือง เป็นทนาย เป็นนักข่าว ความฝันของทุกคนไม่มีความฝันใครที่มันคุณค่าต่างกันเลย อยู่ที่ว่าเราจะฝันแบบไหนเท่านั้น” เธอสรุปถึงความฝันในช่วงชีวิตวัยรุ่น

นักเรียนบัญชีที่แอบพ่อไปเรียนกฎหมาย

ทนายแจม เล่าว่า เธอมีความฝันอยากเป็นทนายความตั้งแต่เด็กๆ เพราะมีคุณพ่อที่เป็นทนายความที่ว่าความคดีธุรกิจทั่วไป แต่มีบางช่วงที่คุณพ่อได้ไปทำคดีสิทธิมนุษยชน คือ คดีห้วยคลิตี้ที่ จ.กาญจนบุรี (เหมืองแร่ ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารตะกั่วลงสู่แหล่งน้ำ ลำห้วยคลิตี้ จนทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางสุขภาพอย่างรุนแรง) จากจุดนั้นเป็นจุดสนใจที่ว่าพ่อทำอะไร ทำไมพ่อหายไปทีละหลายวัน

“พ่อก็ชอบจะเอาภาพเกี่ยวกับคดีมาให้เราดู มาให้เราเห็นปัญหาว่าเห็นไหม เด็กรุ่นเดียวกับเราหรือเด็กกว่าเราที่เขามีปัญหาสุขภาพ นิ้วเกินบ้าง นั่นนี่ ที่เกิดจากโดนสารเคมีต่างๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าอาชีพของคุณพ่อมันเท่จังเลยได้ช่วยคนด้วย แล้วตลอดการทำงานของคุณพ่อจะช่วยเหลือคนค่อนข้างเยอะ สิ่งที่เราเห็นก็คือบ้านเราอาจจะไม่ได้รวย พอบอกเป็นทนายความคนก็คิดว่าอาจจะต้องมีฐานะใช่ไหม เราก็สงสัยทำไมพ่อเราถึงไม่รวย เรามารู้ว่าพ่อเราช่วยคนเยอะมาก บางคดีไม่มีเงินพ่อก็ไปช่วยเขา สิ่งที่ได้กลับมาคือ ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เขาจะหิ้วมาให้ เราก็รู้สึกว่า ถึงแม้ไม่ได้เป็นเงินแต่มันก็เป็นการที่ได้ช่วยคน พ่อเคยพูดว่า พ่อก็เป็นเหมือนหมอ หมอเขารักษาคน ทนายความคือรักษาความ รักษาคดี ทำให้คนรู้สึกดี รู้สึกสบายใจ ทุกครั้งที่กลับไป”

แม้พ่อจะเป็นทนายความ แต่กลับไม่สนับสนุนเธอเรียนด้านกฎหมาย เพราะอยากให้ลูกสาวทำงานในสายที่มั่นคงเธอจึงเรียนด้านบัญชี แต่ระหว่างนั้นก็แอบคุณพ่อไปลงเรียนกฎหมายที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จนเมื่อสอบผ่านไปแล้ว 1 เทอมจึงได้บอกเรื่องนี้ และเรียนทั้ง 2 ด้านควบคู่กันจนจบทั้งบัญชีและกฎหมาย และได้เริ่มต้นทำงานด้านบัญชีอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะเบนเข็มมาด้านกฎหมาย

จากทนายความ สู่ทนายความสิทธิมนุษยชน


“ทนายแจม” เล่าว่าช่วงแรกๆ เธอทำคดีทั่วไป และมีคดีด้านสิทธิผู้บริโภค สิทธิผู้ประสบอุบัติหตุทางรถสาธารณะ จนเธอได้ใบอนุญาตว่าความในปี 2556 แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557 เธอจึงได้เข้ามาทำคดีเรื่องสิทธิมนุษยชน

“พอหลังรัฐประหารก็เปลี่ยนเฉดคดีเลย แรกๆ ก็งงเหมือนกันค่ะ ทำคดีการชุมนุมหน้าหอศิลป์ หรือการที่ประชาชนถูกจับกุมในช่วงกฎอัยการศึก ต้องไปตามหาว่าอยู่ที่ไหน จะช่วยเหลือคนที่เขาถูกกระทบสิทธิอย่างไรบ้าง แล้วก็มีคดี มาตรา 112 ซึ่งแทบจะเป็นปริมาณคดีส่วนใหญ่ที่ทำ”

เมื่อขอให้เล่าว่า การทำคดีสิทธิมนุษยชน ส่งผลอย่างไรบ้าง เธอบอกว่า ในช่วงแรกทำให้เธอเสียน้ำตา เพราะหลายเรื่องที่ผิดจากที่เธอเชื่อและมีความหวัง

“ที่เสียน้ำตาคือช่วงที่ทำงานปีแรก คือ หลังรัฐประหาร เป็นช่วงปีที่เราจบใหม่ เป็นทนายอยู่ปีเดียว ยังมี passion ยังมีความหวัง ยังมีความเชื่อในกระบวนการยุติธรรมเยอะมากๆ แทบ 100% เลย พอเรามาเจอคดีการเมืองเราก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าคดีการเมือง มันจะสามารถบิดอะไรได้มากขนาดนี้ หลายครั้งที่เรามั่นใจมากๆ ว่าคดีนี้ชนะแน่ๆ เพราะหลักฐานไม่ถึง แต่พอมันลง (ศาลตัดสินว่าผิดให้ลงโทษ) มันทำให้เราผิดหวัง ทำไมไม่เหมือนที่เราเรียนมา ทำไมศาลตัดสินแบบนี้ ทำไมฟังพยานแบบนี้”

ทนายความที่ขบถต่อระเบียบ (ที่เห็นว่าล้าหลัง?)


ช่วงที่เป็นทนายความ เธอเคยมีส่วนสำคัญในการจุดประเด็นที่ตั้งคำถามกับกฎระเบียบที่ปฏิบัติกันอยู่คือ การห้ามทนายความสตรีสวมกางเกง

ทนายแจมเล่าว่า ตัวเธอเองช่วงแรกก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เท่าไร จนวันหนึ่งที่รุ่นน้องถูกศาลติงมา เธอจึงเป็นตัวตั้งตัวตีในการเคลื่อนไหว

“จริงๆ เป็นระเบียบของสภาทนายความ คือ มรรยาททนายความ ถ้าของเนติบัณฑิตคือ สวมครุยต้องใส่กระโปรง จริงๆ มีมานานมากแล้ว ตัวแจมเองตอนแรกๆ ก็ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เท่าไร แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป จนช่วงที่มีรุ่นน้องรุ่นใหม่ๆ เขาเริ่มใส่กางเกงกันมากขึ้น หรือน้องๆ ที่เป็นทรานสเจนเดอร์ เขาก็จะแต่งตัวตามเพศสภาพของเขาเยอะขึ้น”

“ตัวแจมเองใส่กางเกงบ่อยครั้ง แต่ก็ยังไม่เคยโดนศาลติงเท่าไรนะ แต่น้องๆ เขามาเล่าให้ฟัง ด้วยบุคลิกของเรา พอเห็นก็แบบ…ทำไมน้องๆ ต้องโดน คือ เราโกรธแทนเขา ในเมื่อใส่ชุดไหนก็ว่าความได้เหมือนกัน แล้วยุคสมัยใหม่ มันไม่ควรจะต้องจำกัดในเรื่องการแต่งกายแล้ว เราไม่ได้ใส่กางเกงขาสั้นเนาะ เราใส่การเกงขายาวใส่สูทตามปกติที่เรียบร้อยเหมือนกัน แล้วเขาก็บอกว่ามันผิดระเบียบ”

เธอเคลื่อนไหวเรื่องนี้ในสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง ทวิตเตอร์ ด้วยการใช้คำง่ายๆ อธิบาย จนนำไปสู่การที่คนจำนวนมากร่วมลงชื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงข้ามคืน

“เราเริ่มเคลื่อนไหวในทวิตเตอร์ แล้วทำ #ทนายผู้หญิงใส่กางเกง ปกติทนายความเวลาสื่อสารคนจะไม่เข้าใจว่าพยายามจะสื่ออะไร เพราะคำที่ใช้จะใหญ่จนฟังไม่รู้เรื่อง จะมีปัญหาอธิบายกฎหมายให้คนทั่วไปฟัง เราก็เลยใช้การอธิบายให้ง่ายขึ้น จับคีย์เวิร์ดใจความสำคัญมาเล่าว่า น้องทนายมาเล่าให้ฟังว่าโดนศาลว่า กลายเป็นว่าพูดแค่นี้มัน touch ใจคนมากกว่ามาบอกว่าระเบียบไม่เป็นไปตามโน่นนั่นนี่ โซเชียลเขาเข้าใจ เพราะคนทั่วไปเขาไม่รู้ว่าทนายผู้หญิงใส่กางเกงไม่ได้ พอเป็นกระแส เราก็เอาเรื่องที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและนิติฮับ เคยเคลื่อนไหวไว้เดิมมาใน change.org เผยแพร่อีกรอบให้เขาได้ลงชื่อกัน เลยสามารถเพิ่มคนในเวลาข้ามคืนเป็นหมื่นๆ คน”

“จนมีการขับเคลื่อนกันอีกครั้งและมีการไปยื่นคำร้องที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด ผลออกมาเราชนะคดีออกคำสั่งให้สภาทนายความและเนติบัณฑิตยสภาแก้ไขระเบียบที่มันขัดต่อความไม่เสมอภาคทางเพศ”

เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวทำให้ถูกมองว่าเป็นขบถไหม โดยเฉพาะในสังคมนักกฎหมายที่มีระเบียบกฎเกณฑ์เฉพาะ เธอตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ถ้าเราไม่ขบถต่ออะไรสักอย่างมันก็จะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง

“จริงๆ ตอนที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ก็ถูกทนายด้วยกันหรือคนในวงการกฎหมายมองเหมือนกันว่า เมื่อคุณเลือกที่จะมาอยู่ในวงการนี้ คุณก็ต้องทำตามระเบียบกฎข้อบังคับ แต่มันก็ไม่ต่างกับการบอกว่า ถ้าคุณเลือกมาเป็นตำรวจก็ต้องทำตามสิ่งที่นายสั่ง แจมรู้สึกว่าถ้าเราไม่ขบถต่ออะไรสักอย่างมันก็จะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง เหมือนที่เราเห็นว่า มันไม่เป็นธรรม แต่เราบอกว่า เออ ก็ไม่เป็นไร ทำตามทันไปเรื่อยๆ รอให้มันเปลี่ยนก่อน บางคนก็บอกว่าก็รอแก้ไขก่อนสิ ก็ค่อยมาใส่กางเกงก็ได้ แจมก็บอกว่าว่า อ้าว ถ้าเราไม่เริ่มทำให้คนเห็นปัญหา เรียกร้องปัญหานั้น แล้วเมื่อไรมันจะได้รับการแก้ไข เราจะใส่กระโปรงไปโดยรอให้เขาแก้ไขในอีก 10-20 ปี มันก็ดูเหมือนเราเพิกเฉยต่อปัญหา มันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราได้แต่บ่นแต่เราไม่ทำอะไร แต่ถ้าเราเห็นว่ามันไม่เป็นธรรมแล้วเราทำอะไรบางอย่าง ลุกขึ้นมาบอกว่าไม่เป็นธรรม มันก็เหมือนว่า เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงได้แล้วเหมือนกัน”

ชีวิตสะเทือน เพราะสามีถูก “ธำรงวินัย”

คุณพ่อเคยบอกกับทนายแจมว่า การเป็นทนายความ คือ การช่วยคนอื่น คือเป็นหมอที่ช่วยรักษาลูกความ แต่แล้วครั้งหนึ่งปัญหาที่หนักหนาสาหัสก็เกิดขึ้นกับเธอและครอบครัวเอง โดยที่ไม่มีใครช่วยได้หรือจะยื่นมือมาช่วย

เธอแต่งงานกับสามีที่เป็นตำรวจและมีลูกน้อย 2 คน แต่วันหนึ่งเมื่อมีการตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีโครงการคัดตัวข้าราชการตำรวจ เพื่อโอนย้ายไป แต่เมื่อตำรวจคนใดขอสละสิทธิ์ก็จะถูกส่งไป “ธำรงวินัย”

ทนายแจม เคยเล่าไว้ในการสัมภาษณ์เมื่อปี 2564 ว่า สามีของเธอมีชื่อติดไปยังหน่วยงานนี้ด้วย และได้ทำหนังสือชี้แจงว่าไม่สะดวกในการโอนย้าย เพราะมีภาระทางครอบครัว โดยเฉพาะลูกยังเล็ก

“แต่ไม่มีใครรับฟัง เมื่อทำหนังสือลาออก ก็ปรากฏว่าไม่มีใครกล้าเซ็นให้ออก”

สามีเธอและเพื่อนตำรวจ ถูกส่งตัวไป “ธำรงวินัย” เป็นเวลา 9 เดือน ที่จังหวัดยะลา 1 เดือน และจังหวัดนครราชสีมาอีก 8 เดือน โดยช่วงเวลาที่สามีถูกส่งตัวไปฝึกที่ยะลา 1 เดือนไม่สามารถติดต่อในช่องทางใดๆ ได้เลย จนเมื่อย้ายไปที่นครราชสีมา เธอพยายามขับรถพาลูกๆ ไปเยี่ยม แต่ทุกครั้งเมื่อต้องจากกัน ลูกคนโตก็จะร้องหาพ่อ และถามว่าทำไมพ่อไม่กลับบ้านด้วยกัน

ส่วนลูกคนที่ 2 ที่อายุได้เพียง 6-7 เดือน ผู้เป็นพ่อก็ต้องพลาดช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งไป ไม่มีโอกาสได้เห็นลูกก้าวเดินเป็นครั้งแรก รวมทั้งการที่ลูกเอ่ยคำว่า “ป๊ะป๋า” เป็นครั้งแรกเช่นกัน

ทนายแจม ตอนที่ให้สัมภาษณ์เรื่องสามีถูก “ธำรงวินัย”

นั่นคือช่วงเวลาที่สาหัสไม่น้อยกัยครอบครัวหนึ่ง ซึ่งทนายแจมเล่าว่า หลังจากผ่านเหตุการณ์นั้นไปแล้ว สามีของเธอยังรับราชการตำรวจได้ โดยอาจจะมีผลกระทบบ้างในเรื่องของการขึ้นตำแหน่ง โยกย้ายต่างๆ เพราะถ้าเป็นการทำผิดระเบียบวินัยในวงการตำรวจก็จะมีวิธีการดำเนินการตามขั้นตอน แต่การที่ช่วงนั้นเธอกล้าออกมาพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เมื่อมองย้อนกลับไป เธอรู้สึกภูมิใจที่ได้ออกมาพูดในสังคมรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น

“รู้สึกภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าเรายังเป็นตัวเองได้อยู่ ตั้งแต่เด็กยันโต แจมเป็นคนที่ไม่ชอบเห็นอะไรที่มันไม่ถูกต้องแล้วปล่อยให้มันผ่านไป เรื่องสามีโดนธำรงวินัยแจมอยากจะพูดตั้งนานแล้ว อยากจะพูดตั้งแต่ตอนเขาโดนแรกๆ ด้วยซ้ำ แต่ตอนนั้นแจมก็ยังกังวลถึงความปลอดภัยก็เลยยังไม่พูดอะไร แต่ก็รู้สึกอัดอั้นมาโดยตลอด ช่วงนั้นเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กจะรู้สึกว่า เหมือนแจมมีอะไรบางอย่างที่อยากจะบอกทุกคน แต่บอกอ้อมๆ มาตลอด พยายามเปรียบเปรยนั่นนี่ จนวันที่ รังสิมันต์ โรม (ส.ส.ก้าวไกล อภิปรายเรื่องนี้ในสภา) ได้พูดในสภา เรารู้สึกเหมือนกับว่า เนี่ยถึงเวลาแล้ว เราต้องพูด เราสามารถจะพูดได้แล้ว เรามีคนที่เราสามารถจะพิงหลังได้แล้วหนึ่งคน”

“แจมเลยรู้สึกว่าเราออกมาพูดได้แล้ว ถ้าเราไม่พูดแล้วเราปล่อยผ่านไป คนก็จะมองว่า เฮ้ย มันเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาหรือเปล่า เป็นเรื่องไม่จริงหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เราประสบเหตุจริงๆ ออกมาพูดเนี่ย มันมีน้ำหนักมากกว่า และควรจะต้องเป็นเรา เพราะเทียบกับครอบครัวอื่นๆ เราอยู่ในระดับหนึ่งที่เราสามารถพูดแทนคนอื่นๆ ได้ ถ้าเราไม่ใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ มันก็เหมือนเราเห็นแก่ตัว เราไม่ทำอะไรเลย ทั้งที่เราพูดได้ และการพูดในครั้งนั้นมันทำให้เรายังเป็นตัวเราอยู่ ชีวิตเรายังมีความหมายยังมีคุณค่าในตัวเองอยู่ เรายังสามารถทำอะไรได้อีกมากมายในอนาคต

คุณแม่ที่ซึมเศร้าหลังคลอด ชีวิตจริงสู่ข้อเรียกร้องต่อรัฐ

“แจมเคยเล่าไม่กี่ที่ว่า แจมมารู้ตัวเองว่ามีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งตอนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีการรับรู้กันในวงกว้างเท่ากับปัจจุบัน แต่รู้ว่าเรารู้สึกว่าอยากจะให้เด็กคนนี้หายไปจังเลย ซึ่งมันดูชั่วร้ายนะ ในมุมของคนทั่วไป มองในมุมศีลธรรมก็อาจจะมองว่า มึงเป็นแม่ที่แย่จัง ทำไมถึงคิดไม่ดีนั่นนี่ แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่ามันจัดการไม่ได้ พอมันจัดการไม่ได้ ไม่เราหาย เขาก็ต้องหายไปใช่ไหม ฉะนั้นคนที่เป็นซึมเศร้าจะมี 2 แบบคือ ไม่ทำให้ตัวเองหายไป ก็ทำให้ลูกหายไป เพราะมันเหมือนเป็นการตัดลูปอะไรบางอย่างที่เราไม่อยากมาวนลูปแบบนี้แล้ว”

“มันคือการให้นมๆๆๆ ไปทุก 2 ชั่วโมง มันไม่มีกลางวันกลางคืน มันไม่มีอาหารมื้อไหนที่เป็นมื้อหลักเลย คือว่างก็ต้องเอาอะไรเข้าปาก ขนาดแจมเอง มีคุณแม่สามีที่คอยช่วยนะคะยังขนาดนั้นเลย แล้วคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวคนอื่นๆ คนที่ไม่มีคนช่วย แจมก็เลยคิดว่า นี่ขนาดเราที่เราพร้อมระดับหนึ่ง เรามีคนช่วย เรามีงบประมาณ เราไม่ได้ลำบากเรื่องเงิน เรายังเจอภาวะขนาดนี้เลย แล้วอีกหลายๆ คนที่เขาไม่ได้มีแบบเรา เขาต้องเผชิญกับสิ่งแบบนี้ได้ยังไง เขาผ่านมันไปอย่างไร รัฐเข้ามาบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้อย่างไร”

ทนายแจม เล่าเบื้องหลังการที่เธอออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิต่างๆ ของ “แม่” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเพิ่มวันลาคลอดตามกฎหมายจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน หรือการมีสวัสดิการอื่นๆ เช่น ห้องให้นม ที่หลายคนไม่ได้สนใจในเรื่องนี้ ซึ่งทั้งหมดมาจากประสบการณ์ตรงของเธอเอง

“เรื่องการเป็นซึมเศร้าหลังคลอด คนส่วนใหญ่จะมองถึงเรื่องของการคลอดลูก การท้อง การมีลูกในโมเมนต์ความเป็นแม่ได้ดูแลลูก มีความสุขจังเลย แต่อีกมุมหนึ่งการที่เราได้มาเป็นแม่จริงๆ เมื่อก่อนเรามองว่าลาคลอด 3 เดือนก็น่าจะพอนะ สบายแน่ๆ ฉันจะได้นอนเต็มที่ ฉันต้องได้อยู่กับลูก กอดลูกสบายมีความสุข แต่เรื่องจริงๆ ที่เกิดขึ้น 3 เดือนนั้นทำให้เราเข้าใจเลยว่า โห การเป็นแม่คนมันยากมาก เพราะว่าเป็น 3 เดือนที่เราไม่ได้นอน คนที่มีลูกจะรู้ว่า พอคลอดลูกมาปุ๊บนี่แหละคือชีวิตจริงแล้ว ตอนท้องอีกเรื่องหนึ่ง ตอนท้องสบายกว่า เพราะเรายังสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ อาจจะมีมนุษย์ในท้องขึ้นมาคนหนึ่ง แต่เราก็ยังใช้ชีวิตปกติได้ แต่พอวันที่เราคลอดเขาออกมาแล้วเนี่ย มันคือความรับผิดชอบอย่างหนึ่งของเรา แล้วจะต้องให้นมเขาทุก 2-3 ชั่วโมง อย่างลูกคนแรกของแจมร้องทุก 2 ชั่วโมง ครบ 2 ชั่วโมงต้องกินนม 1 ที เราแทบจะไม่ได้นอนเลย พอให้นมลูกเสร็จ ยังไม่ทันจะได้ปั๊มนม เก็บนม แช่นม กำลังจะเอนตัวลงนอน ลูกร้องอีกแล้ว”

“เพราะฉะนั้นเดือนแรก คือเดือนที่แจมสติแตกมากเลย แล้วก็ขนาดเราคิดว่าเราเป็นคนที่มีวุฒิภาวะ เราสามารถระงับอารมณ์ได้ เราจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดี พอวันที่เรามีลูกจริงๆ ด้วยฮอร์โมน ด้วยภาวะหลายๆ อย่าง เรากลายเป็นใครก็ไม่รู้ รู้สึกเหมือนว่ามันขาดตัวตนไป เหมือนเรามีหน้าที่ในการให้อาหารมนุษย์คนนึงแค่นั้น ไม่มีคุณค่าอย่างอื่นแล้ว แล้วก็รู้สึกว่าชีวิตมันเปลี่ยนจนเราจัดการตัวเองไม่ได้”

เธอมองว่า แม้เด็กคนหนึ่งจะเป็นความรับผิดชอบของครอบครัวก็จริง แต่อีกมุมหนึ่ง เขาควรจะเป็นความรับผิดชอบของรัฐเหมือนกัน เพราะวันหนึ่งเขาก็จะต้องเติบโตไปเป็นบุคลากรของรัฐของสังคม แต่รัฐกลับไม่ได้มาซัพพอร์ตอะไรที่เราจะเลี้ยงเด็กคนนี้เลย ข้อเสนอของเธอก็คือ อยากให้รัฐมีสวัสดิการเกี่ยวกับแม่และเด็กและการสร้างครอบครัวมากกว่านี้ ซึ่งเธอได้ผลักดันให้เป็นนโยบายของพรรคการเมืองที่จะเข้าสู่สนามเลือกตั้งกลางปีนี้ด้วย

“แจมจะมองเป็นสองเรื่อง คือ เรื่องลาคลอด การให้นมลูกปกติจะต้องให้ 6 เดือน อันนี้คือตามมาตรฐานเลย แต่เราลาคลอดได้แค่ 3 เดือน อีก 3 เดือนที่เหลือเราต้องกลับไปทำงานโดยที่เรายังต้องให้นมลูกอยู่ มันยังต้องมีกลไกของน้ำนมที่ยังต้องไหลทุก 2 ชั่วโมงอยู่ แต่มันกลับไม่มีพื้นที่ที่จะซัพพอร์ตเต้านมเลย เหมือนแจมไปศาลหรือเดินทางไปไหนก็ตาม ระหว่างการเดินทางใน กทม. มันเกิน 2 ชั่วโมงอยู่แล้ว มันเจ็บมากแล้ว เฮ้ย ฉันอยากเอาน้ำนมออก แต่มันไม่มีที่ แจมต้องบีบนมทิ้งในห้องน้ำ ห้องน้ำที่มันไม่ได้สะอาด ตามสถานที่ต่างๆ”

“แจมเคยบีบไปร้องไห้ไปแล้วก็รู้สึกว่า นี่ฉันทำอะไรอยู่ ทำไมฉันต้องมาทำอะไรแบบนี้ด้วย ทำไมมันถึงไม่มีห้องที่ฉันจะจัดการเต้านมได้ เก็บนมได้ เวลาเราไปต่างประเทศเราจะเห็นเขามีห้องให้นมแทบจะทุกที่ เช่น ไต้หวัน เคยมีคนบอกว่ามีไปทำไมไม่มีคนไปใช้ แต่พอมีคนจะใช้ เขาก็จะรู้ว่ามีคนให้ความสำคัญกับเรา เราก็มีความเท่าเทียม เหมือนห้องน้ำคนพิการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียม ห้องให้นมก็เห็นถึงความเท่าเทียมเหมือนกัน ให้เห็นว่า แม่ที่เลี้ยงลูก แม่ที่ให้นมลูกก็สามารถมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติได้ ไม่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ไม่ต้องอยู่แต่ในห้างที่มีห้องให้นม แต่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ มันทำให้เรามีศักดิ์ศรีมากขึ้นว่าหน้าที่การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งของเรา มันมีคุณค่ากับคนอื่นๆ ด้วยค่ะ”

“คนบอกว่าเรื่องนมๆ เรื่องอะไรอย่างนี้ มันเป็นเรื่องแบบไร้สาระ ทำไมจะต้องมาเรียกร้องเรื่องอะไรที่มันไร้สาระ แต่มันไม่ไร้สาระนะ มันคือความเจ็บปวดของคุณแม่คนหนึ่งมากๆ ทุกครั้งที่แจมพูด แจมจะมีอารมณ์ เพราะแจมรู้สึกว่า พอย้อนกลับไปคิด มันเศร้าจริงๆ มันรู้สึกว่าเราถูกกดจริงๆ มันรู้สึกว่าเราถูกสังคมลืมจริงๆ “

สังคมไทยที่ยังเป็นพื้นที่เติมเต็มความฝันให้ทุกคนได้

“แจมเคยคุยกับแฟนนะว่า เฮ้ย เราย้ายประเทศกันดีไหม เรารู้สึกว่าสงสารลูกจังเลยที่ต้องมาเกิดในประเทศที่เขาต้องสู้เยอะมาก เพราะเราก็สู้มาเยอะ เราไม่อยากให้ลูกเราเขาต้องมาสู้เหมือนเรา ถ้าอย่างนั้นเราก็ย้ายประเทศดูประเทศที่มีสวัสดิการดีๆ แล้วก็ย้ายไปเลย แต่อีกมุมก็มองว่าถ้าลูกเราไม่ได้อยากย้ายประเทศล่ะ ถ้าเขายังอยากอยู่ที่นี่ การที่เรามาทำการเมืองแล้วทำให้ประเทศมันพัฒนาได้ มันเหมือนกับการสร้างทางเลือกให้กับลูกเรา”

ในหลายช่วงของการพูดคุย “ทนายแจม” เล่าถึง “ความฝัน” ในแต่ละช่วงเวลาของเธอ เราจึงอยากให้เธอปิดท้ายบทสนทนาด้วยเรื่องของ ประเทศไทย “ในความฝัน” ซึ่งเธอยอมรับว่า ช่วงหนึ่งก็เคยคิดถึงการย้ายประเทศเพื่อโอกาสที่ดีกว่า แต่อีกมุมก็มองว่าถ้าลูกไม่ได้อยากย้ายประเทศล่ะ ถ้าเขายังอยากอยู่ที่นี่ล่ะ ดังนั้น การที่เรามาทำการเมืองแล้วทำให้ประเทศมันพัฒนาได้ มันเหมือนกับการสร้างทางเลือกให้กับลูกว่า การที่เขาเกิดมาเป็นคนไทยเนี่ย เขาไม่ได้โชคร้ายนะ เป็นชอยส์หนึ่งของเขาที่เขาเลือกจะอยู่ที่นี่ได้

“เมืองไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่นะ ถ้ามีสวัสดิการที่ดี เรามีอะไรหลายๆ อย่างที่มันดีกว่าต่างประเทศเยอะมาก อาหารการกิน ทรัพยากรทุกอย่างเราดีหมดเลย แต่ระบบบริหารจัดการของเราที่มันแย่ แจมก็ไม่อยากมองว่ามันจะแก้ไม่ได้ ถ้าเรามองว่ามันแก้ไม่ได้เราก็จะปล่อยให้มันเป็นอย่างนี้ไปตลอด แต่ถ้าเรามองว่ามันแก้ได้ แล้วเรามาเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเหมือนคำขวัญที่บอกว่า “อย่ารอการเปลี่ยนแปลง แต่ให้เป็นส่วนหนึ่งของมัน” มันคือตัวเราเลยนะ (หัวเราะ) มันคือนิสัยเรา มันคือบุคลิกของเรา รู้สึกว่า เออ นี่แหละ เราจะไม่ต้องรอการเปลี่ยนแปลงแล้ว เราจะมาเป็นส่วนหนึ่ง
ของการเปลี่ยนแปลงเลย เพื่อตัวเราเองด้วยถ้ามันแก้ไขได้ทันในช่วงนี้ และถ้ามันไม่ทันแล้ว เพื่ออนาคตของลูกเราในอนาคตก็ยังดี วิน-วิน (ยิ้มกว้าง)”

“แจมอยากเห็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ทุกหน่วยจริงๆ ให้ทุกคนในสังคมใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้จริงๆ ทั้งเรื่องของคนพิการ LGBTQ หรือคนที่เป็นแม่ลูกอ่อน คนที่ถูกสโคปว่าเป็น “แม่” ไปแล้วก็จบไปเลย หรือคนที่มีโอกาสไม่เท่ากัน คนจน คนรวย ต้องอยู่บนพื้นฐานสวัสดิการที่เท่ากัน เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าลูกเราในอนาคต เขาจะโตไปเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราสามารถเซ็ตอัพสังคม กฎหมาย อะไรบางอย่างไว้รองรับทุกๆ ความฝันของคนๆ หนึ่งได้ ไม่ว่าวันหนึ่งลูกเราจะโตไปเป็นอะไรก็ตาม เขาก็จะอยู่ในสังคมนี้ได้เหมือนกัน”

ชื่นชอบการขุดเรื่องราวในอดีต

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก