หลังจากที่สร้างความฮือฮาให้กับแฟนกีฬาชาวไทยกันไปแล้ว กับฟอร์มการเล่นที่น่าประทับใจของทีมเทคบอลไทยในรายการ “เทคบอล เวิลด์ แชมเปียนชิพ 2022” ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการแข่งขันในระดับนานาชาติรายการแรกของนักกีฬาเทคบอลทีมชาติไทย
ล่าสุดทีมเทคบอลไทยเตรียมลงแข่งรายการที่ 2 ในเวทีโลก คือ “เอเชียน เทคบอล ทัวร์ 2023” ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) ระหว่างวันที่ 2-5 มีนาคม 2566 ชิงเงินรางวัล 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 1 ล้านบาท) โดยมีการแข่งขันในประเภทชายคู่, หญิงคู่ และคู่ผสม
ย้อนดูจุดเริ่มต้นของกีฬาเทคบอล
เทคบอล (Teqball) ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในปี 2012 ในฮังการีโดยผู้ที่ชื่นชอบฟุตบอล 3 คน หนึ่งในนั้นคืออดีตผู้เล่นมืออาชีพ กาบอร์ บอร์ชานีย์, นักธุรกิจชาวฮังการี György Gattyán และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ Viktor Huszár ความคิดริเริ่มของการเล่นกีฬานี้มาจาก กาบอร์ บอร์ชานีย์ ซึ่งเคยเล่นฟุตบอลบนโต๊ะปิงปองมาก่อน แต่การออกแบบที่เป็นแนวนอนของโต๊ะทำให้ลูกบอลไม่ค่อยกระดอนเข้าหาผู้เล่น เกมนี้จึงไม่สนุก เขาจึงคิดว่าถ้าทำให้โต๊ะโค้งงอลง อาจจะช่วยให้ลูกบอลกระดอนไปที่เท้าได้
ต่อมาได้มีการพัฒนาร่วมกับ Viktor Huszár ซึ่งทำโต๊ะเทคบอลได้สำเร็จและถูกสร้างขึ้นในปี 2014 หลังจากนั้นก็ได้มีการเปิดตัวกีฬาเทคบอลอย่างเป็นทางการขึ้นในปีเดียวกัน ก่อนที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2017 ก็ได้มีการจัดการแข่งขัน “เทคบอล เวิลด์คัพ” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมี 20 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน
FEED มีโอกาสพูดคุยกับ “โค้ชเรวัต” จ.ส.อ. เรวัต ผาบชมภู ผู้ฝึกสอนกีฬาเทคบอลทีมชาย และ “โค้ชแนน” ส.ท.หญิง ศิรินภา พรหนองแสน ผู้ฝึกสอนกีฬาเทคบอลทีมหญิง ในหลากหลายแง่มุม รวมถึงได้ให้โค้ชทั้ง 2 คนช่วยอธิบายกฎกติกาการเล่นกีฬานี้อย่างละเอียด เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ที่สนใจในกีฬาเทคบอล
ผู้เล่นสามารถใช้ทักษะต่างๆ ของร่างกายได้ 9 ส่วน
- เท้า (ซ้าย-ขวา)
- หน้าขาจนถึงหัวเข่า (ซ้าย-ขวา)
- ไหล่ (ซ้าย-ขวา)
- หน้าอก
- ศีรษะ
- ด้านหลัง
วิธีการเล่นกีฬาเทคบอล By FEED ตรวจสอบโดย เรวัต ผาบชมภู
- แข่งขัน 12 แต้ม เล่น 2 ใน 3 เซ็ต ในเซ็ตที่ 1-2 ถ้าแต้มเสมอกันที่ 11 แต้ม จะไม่มีดิวซ์ แต่จะมาดิวซ์กันในเซ็ตที่ 3 และจะทำการดิวซ์กันเพื่อหาผู้ชนะด้วยคะแนนที่ห่างกัน 2 แต้มไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผู้ชนะ โดยที่ไม่มีที่สิ้นสุดของแต้ม (คล้ายกับกีฬาวอลเลย์บอล)
- การเสิร์ฟ ทั้งประเภทเดี่ยวและประเภทคู่ จะเปลี่ยนฝ่ายเสิร์ฟทุกๆ 4 คะแนน
- ผู้เล่นต้องเสิร์ฟหลังเส้นเสิร์ฟ 2 เมตรห่างจากปลายโต๊ะ ห้ามเหยียบเส้นเสิร์ฟ ห้ามกระโดดเสิร์ฟ และเท้าต้องสัมผัสพื้นก่อน
- ระหว่างการแข่งขันห้ามล้ำเส้นกลาง ยกเว้นกรณีล้ำไปชงลูกกลับมาเพื่อเล่นจังหวะที่ 2 และส่งลูกกลับไปยังฝ่ายตรงข้ามในจังหวะที่ 3 (คล้ายกับกีฬาวอลเลย์บอล)
- การเสิร์ฟ นักกีฬาสามารถเสิร์ฟได้คนละ 2 ครั้ง (คล้ายกับกีฬาเทนนิส) หากเสิร์ฟพลิกเน็ต หรือ แฉลบเน็ต จะถือว่าเสิร์ฟเสีย และจะต้องทำการเสิร์ฟครั้งที่ 2 และหากเสิร์ฟเสียทั้ง 2 ครั้งก็จะเสียแต้ม
- edgeball หมายถึง ลูกบอลโดนขอบโต๊ะ หรือโดนปลายโต๊ะแล้วเปลี่ยนทิศทาง ถ้าลูกบอลกระดอนขึ้นจะเรียกว่า edgeball แต่ถ้าหากลูกบอลเปลี่ยนวิถีลงพื้น ไม่กระเด้งขึ้น จะเรียกว่า ไซด์บอล ฝ่ายที่เล่นบอลจะเสียแต้ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการว่าจะตัดสินให้กรณีนั้นๆ เป็นลูก edgeball หรือ ไซด์บอล
- หากผู้เล่นเสิร์ฟบอลครั้งแรกแล้วเกิดกรณี edgeball กรรมการจะให้เสิร์ฟลูกแรกใหม่ แต่ในกรณีที่เล่นโต้กันแล้วเกิด edgeball กรรมการจะให้เริ่มเล่นในแต้มนั้นใหม่อีกครั้ง
- จังหวะที่โต้กัน ห้ามทำซ้ำทักษะเดิม ยกตัวอย่างเช่น ฝ่ายรุกเตะด้วยเท้าขวามา ฝ่ายรับสามารถโต้กลับไปด้วยทักษะอะไรก็ได้ แต่ฝ่ายรุกจะไม่สามารถส่งลูกด้วยเท้าขวาแบบเดิมได้ เพราะถือเป็นการทำซ้ำทักษะเดิม ต้องเปลี่ยนมาใช้ศรีษะ หรือ เท้าซ้ายแทน เป็นต้น
- ไม่สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นระหว่างการแข่งขันได้ ถ้าเกิดนักกีฬาบาดเจ็บ จะให้เวลาพัก 15 นาทีเพื่อดูอาการ หากแข่งต่อไม่ไหว จะถูกปรับแพ้ทันที
- ประเภทเดี่ยวสามารถเล่นลูกได้ทุกจังหวะ 1-2-3 แต่ไม่เกิน 3 จังหวะใน 9 ทักษะ และสามารถตีโต้ไปยังฝั่งตรงข้ามครั้งเดียวได้เลย
- ประเภทคู่ทั้งชายและหญิง หรือคู่ผสม ลูกบอลจะต้องโดนผู้เล่นทั้ง 2 คนก่อน จึงจะสามารถข้ามไปฝั่งตรงข้ามได้ ไม่สามารถตีโต้ครั้งเดียวได้เหมือนในประเภทเดี่ยว
- การขอเวลานอก ใน 3 เซ็ตสามารถขอได้แค่ครั้งเดียว และนักกีฬาจะเป็นผู้ขอเวลานอกด้วยตัวเอง
โต๊ะแข่งมีความโค้งลง เพื่อความท้าทาย
เรวัต ผาบชมภู : อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของวิศวกรที่เขาคำนวณออกมาแล้วว่ามันจะเป็นความยาก หรือเป็นจุดที่ยากที่จะเสิร์ฟให้ลงตรงโค้ง เพราะมันจะโค้งหนีพอดี เวลาเล่นลูกมันจะลงยากขึ้น ตรงนี้มีส่วนที่จะทำให้มันสนุกขึ้น ให้มันท้าทายขึ้น
ข้อมูลจากสมาคมกีฬาเทคบอลแห่งประเทศไทย
- โต๊ะเทคบอล โต๊ะทรงโค้ง กว้าง 1.7 เมตร รวมตาข่าย (1.5 เมตร ไม่รวมตาข่าย) ยาว 3 เมตร ความสูงจากพื้นถึงตาข่าย 90 เซนติเมตร
- โต๊ะเดี่ยว (Teq One) เป็นโต๊ะเทคบอลที่ได้รับการพัฒนารุ่นล่าสุดเพื่อความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการแข่งขัน เหมาะกับกฎ กติกาของการแข่งขัน นักกีฬาสามารถแสดงความสามารถของแต่ละบุคคลได้อย่างเต็มที่ โต๊ะเทคบอลรุ่นนี้สามารถยึดติดกับพื้นสนามได้ ใช้ได้ทั้งการแข่งขันในร่มและกลางแจ้ง
- โต๊ะพับได้ (Teq Smart) เป็นโต๊ะเทคบอลรุ่นเดียวกันกับ โต๊ะเดี่ยว (Teq One) แต่สามารถพับได้ ใช้ได้ทั้งการแข่งขันในร่มและกลางแจ้ง จึงง่ายและสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย นอกจากนี้ยังสามารถพับโต๊ะลงครึ่งหนึ่ง แล้วใช้ในการฝึกซ้อมกับผนังแทนการโต้ตอบกับคู่ต่อสู้ได้
- โต๊ะขนาดเบา (Teq Lite) โต๊ะเทคบอลรุ่นสล่าสุดที่ได้รับการพัฒนาทั้งด้านวัสดุของตัวโต๊ะเป็นไฟเบอร์กลาส ซึ่งมีน้ำหนักเบาแต่มีความทนทานมากขึ้น และเพิ่มการติดตั้งล้อที่ขาโต๊ะ เพื่อความสะดวกมากยิ่งขึ้นในการเคลื่อนย้าย
- ตาข่าย ทำจากวัสดุแข็ง กว้าง (ความยาว) 1.7 เมตร หนา 20 มิลลิเมตร สูง 14 เซนติเมตร (วัดจากพื้นโต๊ะ)
- ลูกบอล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ไม่น้อยกว่า 67 เซนติเมตร ไม่เกิน 69 เซนติเมตร (ลูกบอลเบอร์ 5) น้ำหนักไม่เกิน 435 กรัม ไม่น้อยกว่า 420 กรัม เป็นแบบสูบลม ความดันที่ระดับน้ำทะเล 0.3 – 0.5 atm วัสดุทำจากหนังหรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม
ต่างชาติทึ่งศักยภาพเทคบอลไทย
ศิรินภา พรหนองแสน : พอเราไปแข่งเขาเห็นศักยภาพในการกระโดดฟาดของเรา เขาก็เลยเปลี่ยนกติกา เรียกประชุมเปลี่ยนกติกา ณ เวลานั้นก็คือให้เราสามารถกระโดดเตะได้ แต่กระโดดเตะในทีนี้คือห้ามหันหลังกระโดดเตะ ห้ามหันหลังให้โต๊ะเลย คืออาจจะมีเฉียงบ้างอะไรบ้างได้
แต่ของเดิมก็คือต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่งต้องสัมผัสพื้นก่อนถึงจะเตะได้ นึกถึงฟุตบอลที่จะใช้เหมือนวอลเลย์ แต่ว่าเตะแค่ครึ่งๆ รอบ แต่ของเราจั้มป์คิกเลยประมาณนั้น เป็นจุดเปลี่ยนของเราที่จะทำให้ได้เปรียบเขา แต่ถ้าเขาตัดตรงนั้นออก เราก็ซ้อมที่จะไม่กระโดดเตะไปอยู่แล้ว
เราไม่มีแมตช์แข่งที่ไหนเลย แข่งแต่ภายในประเทศ คือชิงแชมป์ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ก็มีแต่พวกเราที่เล่นเป็น มีแต่หน้าเก่าๆ ที่เล่น ยังไม่มีการเปิดรับคนใหม่ๆ เข้ามา เพราะว่าเรายังไม่ได้เข้ากีฬาเยาวชน หรือกีฬาแห่งชาติ
แต่ก็กำลังผลักดัน สมาคมฯ ของเราก็กำลังผลักดันให้เข้ากีฬาเยาวชนแห่งชาติ หรือกีฬาแห่งชาติ เพื่อจะได้มีตัวนักกีฬาเข้ามาฝึกซ้อมให้เยอะขึ้น
แต่ตอนที่ไปเยอรมนีต้องบอกว่าสุดจริง คือมีเวลาเก็บตัวซ้อมน้อยมาก แล้วกติกาเราก็รู้เท่าที่คนมาอธิบายให้เราฟัง หรือว่าดูจากที่เขาแข่ง คือยังไม่ชัดเจนว่าลูก edgeball ตรงนี้คืออะไร edgeball เสิร์ฟลูกแรกแล้ว edgeball เป็นยังไง คือพอเราได้ไปประสบการณ์จริงจากที่เยอรมนี เราก็รู้เลยว่ามัน edgeball ตรงนี้นะ คือลูกเสิร์ฟเป็นยังไง ลูกเตะเป็นยังไง edgeball ลูกที่เท่าไหร่ คือกติกาเราก็เป๊ะมากขึ้น
อยากฝากถึงแฟนๆ เทคบอลนะคะ ก็อยากให้ติดตามกันเยอะๆ ค่ะ เพราะว่าน้องๆ เขาก็เต็มที่กับแมตช์นี้ที่ดูไบนะคะ อย่าลืมเชียร์และเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
ศิรินภา พรหนองแสน กล่าวทิ้งท้าย