มันคือโชคชะตาที่ลิขิตให้เรามาอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่าเป็นเบ้าหลอมสร้างนักกีฬาทีมชาติ ถ้าพี่ไปอยู่โรงเรียนอื่นที่ไม่มีสระว่ายน้ำ ฉันก็อาจจะเป็นนักเรียนที่เรียนกลางๆ จนถึงเรียนไม่ค่อยดี เพราะว่าหัวไม่ค่อยดี แต่พอมาอยู่ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ สิ่งแวดล้อมมันนำพาไป
“อาย” ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทย
ไม่นานมานี้ชื่อ “อาย” ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร กลายเป็นที่สนใจของคนไทยอีกครั้ง หลังจากเธอประกาศร่วมว่ายน้ำกับนักแสดงและนักร้องหนุ่ม “โตโน่” ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ในโครงการ “ONE MAN AND THE RIVER หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” เพื่อระดมทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลแขวงคำม่วน สปป.ลาว เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565
ตอนแรก ศรสวรรค์ ตั้งใจว่าจะร่วมว่ายน้ำกับโตโน่ที่ฝั่งไทย ช่วงตั้งแต่ลานพญานาคถึงศาลาแสงสิงแก้ว ริมฝั่งโขงหน้าวัดพระอินทร์แปลง เพราะเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ดี ช่วยเหลือสังคม และส่งเสริมการท่องเที่ยว ดังนั้นการที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ ถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในฐานะอดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทย
แม้ว่าสภาพร่างกายและหัวใจของเธอจะพร้อมมากแค่ไหน แต่หน้าที่ความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายก็ต้องมาก่อนเสมอ สุดท้าย ศรสวรรค์ ไม่สามารถร่วมว่ายน้ำกับโตโน่ได้ และให้เหตุผลว่า ในฐานะ “นักข่าว” การได้อยู่ในเหตุการณ์ ได้บอกเล่าประสบการณ์ตรง มันคือเรื่องที่สมควรทำ
แต่หากทำแล้วอาจส่งผลต่อการทำงานที่ต้องรับผิดชอบก็คงไม่ใช่เรื่องดี เพราะในวันนั้นเธอต้องรายงานสดและทำสกู๊ปข่าว แม้จะมั่นใจในทีมงาน แต่ก็ไม่คุ้มเสี่ยง พร้อมขอโทษโตโน่และทีมงานทุกคน ขอทำหน้าที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ให้ล้านคนชม ตามหน้าที่ “นักข่าวภาคสนาม” คนหนึ่ง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมที่สุดแล้ว
FEED ขอพาทุกท่านไปทำความรู้จัก และย้อนดูเส้นทางชีวิตนักกีฬาว่ายน้ำของ “อาย” ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร จากจุดเริ่มต้นที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ สู่ตำแหน่งราชินีกบอาเซียน เจ้าของ 7 เหรียญทองกีฬาซีเกมส์
เริ่มเรียนว่ายน้ำตั้งแต่ 4-5 ขวบ
ศรสวรรค์ : เท่าที่เคยฟังคุณพ่อ เขาก็มีความเชื่อมโยงเกี่ยวกับเรื่องของกีฬา ป๊าเคยว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แถวๆ โรงเบียร์บุญรอด แล้วว่ายข้ามฝั่งมา เราก็เคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ก็นึกไม่ออกหรอกว่ามันจะเกี่ยวพันกับเรายังไง แล้วพอมาเข้าโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนที่ผลิตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ เรามาอยู่ก็ตั้งแต่สมัย ป.มูล คือต่ำกว่า ป.1 หรือเตรียมอนุบาล
หลังเลิกเรียนคุณแม่จะบอกว่า “อ้วน-โอ๋-อาย” มารอแม่ที่สระว่ายน้ำนะ ตอนนั้นเราก็เห็นแล้วล่ะว่าที่โรงเรียนมีสระว่ายน้ำ แล้วก็มีนักว่ายน้ำทีมชาติซึ่งดูเท่มาก แต่ว่าตอนนั้นเราก็เด็กมากนะ ป.1 ป.2 ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมากมาย แต่ว่าเป็นความทรงจำของเรา แต่คุณแม่บอกว่าไหนๆ ก็มารอที่สระว่ายน้ำแล้ว ก็ส่งไปเรียนว่ายน้ำเลยสิ
คุณแม่บอกว่าอย่าให้เสียเวลาเรียนไปเลยลูก พี่อ้วนพี่โอ๋เขาก็ห่างจากเรา 7-8 ปี เขาก็เป็นสาวกันแล้ว นางก็ไม่ได้อะไรมากมาย แต่เราเรียนตั้งแต่เด็กประมาณ 4-5 ขวบ ก็เริ่มเรียนว่ายน้ำที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ส่วนพี่สาวก็เริ่มเป็นสาวไง เขาก็ไม่ได้อยากว่ายน้ำ นางก็เลิกกันไป
แต่ว่าพี่ฝึกตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยมีทักษะ เริ่มที่จะชอบว่ายน้ำ จากนั้นอาจารย์วรรณะ สง่าอารีย์กูล อาจารย์วรพงศ์ ภัชรวิทย์ ที่เป็นครูสอนว่ายน้ำคนแรก เห็นแล้วบอกว่า ศรสวรรค์เด็กคนนี้มีพรสวรรค์นะ คือแบบน่องใหญ่ไง น่องเป็นลูกตั้งแต่เด็กๆ ถีบขากบดีนะ คุณแม่คุณพ่อน่าจะให้เป็นนักกีฬาว่ายน้ำ
จากนั้นเราก็เริ่มที่จะเข้าทีมว่ายน้ำของโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ฝึกซ้อมแบบเต็มที่ พอฝึกถีบกบกับเด็กผู้ชาย เราชนะเว้ย! อาจารย์วรรณะก็บอกว่าอายเนี่ยน่องเหมือนพวก 3 ล้อเมืองนนท์ เราก็แบบชมหรือด่า คือเป็นเด็กที่แข็งแรงมีพรสวรรค์ เรื่องการถีบขากบมาก
ศรสวรรค์ เล่าจุดเริ่มต้นเล่นกีฬาว่ายน้ำ ด้วยน้ำเสียงที่สนุกสนาน
เป็นคนชอบการแข่งขัน สนุกกับการได้ออกกำลัง
ศรสวรรค์ : เราเริ่มที่จะว่ายน้ำภายในของโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ได้เหรียญทองแดงแรกตั้งแต่ประมาณ 5-6 ขวบ ดีใจมาก ก็ฝึกไปเรื่อยๆ ว่ายเช้าว่ายเย็น ว่ายน้ำเสร็จตอน 7 โมงครึ่งแล้วก็เข้าเรียน เข้าเรียนโดยหัวเปียกเหม็นคลอรีนไปยืนเข้าแถว จนกระทั่ง 11 ขวบ เริ่มติดเป็นเยาวชนทีมชาติของโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากจุดเริ่มต้นที่โรงเรียนอยู่ในสิ่งแวดล้อมเบ้าหลอมที่ดีมากอย่างโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ทำให้เราอยากจะเป็นทีมชาติเหมือนกับรุ่นพี่
ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมากนะ คุณแม่ให้ว่ายเราก็ว่าย ว่ายแล้วสนุกไง เป็นคนชอบแข่งขัน แบบผู้ชายคนนี้ เฮ้ย! แกว่ายยังไง ฉันแซงก็ได้ คือชอบแข่งขัน เป็นคนที่สนุกกับการออกกำลัง สนุกกับการใช้แรง มันท้าทายและชาเลนจ์ตัวเอง เป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว และเวลาที่ไปแข่งบรรยากาศมันก็เหมือนกับไปเที่ยว ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ ได้นั่งเครื่องบิน ถ้าเราไม่ได้เป็นนักกีฬา ฉันจะมานั่งเครื่องบินได้ยังไง มันคือความสนุก มันคือรสชาติของชีวิต
ความภูมิใจของครอบครัว อายุ 14 ติดทีมชาติ
ศรสวรรค์ : มันคือโชคชะตาที่ลิขิตให้เรามาอยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่าเป็นเบ้าหลอมสร้างนักกีฬาทีมชาติ ถ้าพี่ไปอยู่โรงเรียนอื่นที่ไม่มีสระว่ายน้ำ ฉันก็อาจจะเป็นนักเรียนที่เรียนกลางๆ จนถึงเรียนไม่ค่อยดี เพราะว่าหัวไม่ค่อยดี แต่พอมาอยู่ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ สิ่งแวดล้อมมันนำพาไป
ตอนเราเด็กๆ ก็ยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ อาจารย์ใหญ่ก็จะประกาศชื่อคนที่ไปแข่งแล้วได้เหรียญทอง ได้รับเสียงปรบมือ ได้รับเสื้อสามารถ ได้เรียนฟรี ได้ยืนหน้าแถว ใส่เสื้อวอร์มทีมชาติ มีธงไตรรงค์ ข้างหลังเขียนคำว่า Thailand นั่นคือภาพจำของเราตั้งแต่เด็กๆ เราอยากเป็นแบบนั้น
เห็นรุ่นพี่ยืนหน้าแถว มันเท่มากนะ ยืนหน้าหอประชุม เราก็อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง พออายุ 11 ขวบเราเริ่มเป็นเยาวชนทีมชาติ ได้ยืนหน้าเสาธง ได้รับการประกาศชื่อ ได้เรียนหนังสือฟรี จนต่อมาติดชุดซีเกมส์ตอนอายุ 14 ขวบ เราก็ได้ยืนหน้าเสาธงตลอด ได้เรียนฟรีตลอด พ่อแม่ก็ประหยัดเงินไปด้วย
เผชิญความผิดหวังครั้งแรก คัดตัวซีเกมส์ไม่ผ่าน
ศรสวรรค์ : สมัยนั้นจะมีโควตาละ 2 ที่นั่งเท่านั้น สมมติพี่ลงแข่งประเภทกบ 100 เมตร และ 200 เมตร คนที่ได้อันดับ 1 และ 2 ของประเทศเท่านั้นที่จะได้ไปแข่งขัน พี่เคยไปคัดตั้งแต่ซีเกมส์ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ตอนนั้นอยากไปมากนะ เราอายุเพียง 12-13 คือเด็กมาก ยุคนั้นมีรุ่นพี่ “เอ๋” นันทนา ขาวปลื้ม” ซึ่งเป็นมือ 1 ตลอดกาล อีกคนที่เป็นตัวเต็งคือ กนกวรรณ ศรีประเสริฐ อันดับ 3 มันไม่ได้ไปนี่หว่า
เราก็เลยฟิตซ้อม เพราะอยากไปแข่งมาก ตอนนั้นไปแข่งที่สระกรมพละฯ เมื่อก่อนเขาเรียกว่าสระโอลิมปิก พี่ก็ไปคัดกับเขา แต่สุดท้ายเราได้อันดับ 3 คือเรารู้อยู่เต็มอกว่ายังไงก็ไม่ได้ เพราะอันดับ 1-2 คือ นันทนา กับ กนกวรรณ แน่นอน
พอเราไม่ได้ไปก็เสียใจนิดนึง นั่นคือความพลาดหวังแรกที่อยากจะไปแข่ง แต่ว่าไม่ได้ไป อีก 2 ปีถัดมาทั้ง 2 ท่านก็เลิกเล่น มองไปแล้วเหลือใครบ้าง ต้องเป็นเราแน่นอนเลย พี่ก็คัดไปซีเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่อินโดนีเซีย เราคือเด็กน้อย เราโนเนม นับเป็นครั้งแรกที่เราติดทีมชาติชุดใหญ่
ศรสวรรค์ เผยความประทับใจคัดตัวติดทีมชาติไทยชุดใหญ่
ประสบการณ์ชีวิตกับการแข่งลงซีเกมส์ครั้งแรก
ศรสวรรค์ : อายุ 14 ปีได้ไปแข่งซีเกมส์ที่อินโดนีเซีย ก่อนเดินทางไปแข่งได้ยืนหน้าเสาธง ใส่เสื้อเบลเซอร์รูปช้างซึ่งเป็นโลโก้ของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย เท่มาก
ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เข้าวัง มันคือโมเมนต์ที่สุดของชีวิต เราไม่เคยนึกมาก่อนว่าวันหนึ่งเราจะได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวง ได้เห็นพระเนตรแบบชัดเจน ท่านให้โอวาทก่อนการแข่งขัน ขนลุกมาก มันคือความทรงจำที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้
ศรสวรรค์ เล่าโมเมนต์ที่สุดของชีวิต เข้าเฝ้าฯ ในหลวง รัชกาลที่ 9
นั่นคือครั้งแรกที่เราได้ไปแข่งซีเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่อินโดนีเซีย เราโนเนมเป็นเด็กน้อยอายุแค่ 14 ไม่มีใครรู้ว่าเราคือใคร คนจะรู้แค่ว่าเราเป็นเด็กที่มาแทนพี่เอ๋-นันทนา ขาวปลื้ม แล้วครั้งนั้นต้องแข่งกับตระกูลนาซูเตียน ซึ่งดังมากของอินโดนีเซีย และพี่น้องนาซูเตียนก็มีหลายคนมาก เขาคือตัวเต็งและเป็นเจ้าภาพ
แต่เราก็คือว่ายแบบที่ฉันซ้อมมา ฉันก็แบบตั้งเตอะไรของฉันไป แต่ปรากฏว่าเราได้เหรียญทองทั้ง 100 และ 200 เมตร ซึ่งเราได้เหรียญทอง 200 เมตรก่อน คนก็แตกตื่นกัน คือกองเชียร์อินโดนีเซีย ต้องหลับตานึกนะ โอ้โห! กดดันมาก เสียงดังมาก แต่เราเป็นเด็กน้อย เราก็ไม่รู้ เพราะว่ายท่ากบมันต้องขึ้นมาหายใจ
พอหายใจปุ๊บ เราก็ได้ยินเสียงเชียร์อะไรไม่รู้ ไทยแลนด์เหรอ!? อ๋อไทยแลนด์!? เราก็ใช้มโนของเราเพื่อสร้างกำลังใจ เพราะมันมีทั้งเสียงเชียร์และเสียงโห่ในเวลาเดียวกัน เราก็ว่ายในสโตรกที่เราซ้อมมา ทำเต็มที่ พอเราแตะขอบสระ หันไปดูสกอร์บอร์ด ป้าด! เหรียญทอง!
ศรสวรรค์ เล่านาทีสำคัญในชีวิต คว้าเหรียญทองว่ายน้ำ 200 เมตร
ภาพจำ “น้องอาย” ชูมือเรียกแม่ หลังคว้าชัยชนะ
ศรสวรรค์ : เราก็ไม่รู้ว่าเราได้ เพราะเขาเป็นตัวเต็ง โมเมนต์แรกหลังจากชนะคือ มองหาแม่ เพราะแม่มาดูแข่งด้วย คือแม่รับราชการ แล้วแม่ก็ต้องลางานตลอด แม่ก็นั่งอยู่ที่อัฒจันทร์ เราก็หันไปหาแม่ แล้วตะโกนเรียกแม่ มันก็เป็นช็อตที่สื่อมวลชนจับภาพได้ เป็นโมเมนต์ที่เราชูมือแล้วเรียกแม่
นั่นคือครั้งแรกที่เราแข่งซีเกมส์แล้วคว้าเหรียญทองให้กับประเทศไทยทั้ง 100 เมตร และ 200 เมตร อย่างที่บอกว่าเราแข่ง 200 เมตรก่อนแล้วไปชนะเจ้าภาพ ถัดมาแข่ง 100 เมตร เขาก็จะเอาให้ได้ แต่เราดันไปชนะเขาอีก กลายเป็น 2 เหรียญทองของทีมชาติไทยในว่ายน้ำซีเกมส์ที่อินโดนีเซีย นั่นคือจุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้คนเริ่มรู้จัก “น้องอาย”
แต่ว่าจริงๆ แล้วคำว่า “น้องอาย” มันมาจากพี่โย่ง-เอกชัย นพจินดา เป็นคนเรียกก่อน คือพี่โย่งเป็นผู้บรรยายกีฬา เป็นผู้ประกาศกีฬาที่โด่งดังมาก และพี่โย่งก็เป็นคนที่น่ารักมากๆ ช่วงที่เราเป็นนักกีฬานักข่าวหลายๆ คนก็จะมาแค่สัมภาษณ์ ก่อนแข่ง-หลังแข่ง
แต่พี่โย่งเขาไม่ได้มาพร้อมไมค์ เขามานั่งคุยกับเรา ถามเราว่าเป็นยังไงบ้าง เพราะด้วยความที่เขาต้องการข้อมูลจากเรา พอเรารู้จักคุ้นเคยกัน มันก็สนิทกันระดับหนึ่ง และเขาก็เป็นคนแรกที่เรียกเราว่า “น้องอาย” จากนั้นสื่อมวลชนก็จะพาดหัว “น้องอาย” กันหมด มันก็ดูน่ารักดี เป็นน้องอายตั้งแต่ตอนนั้น จนตอนนี้เป็นป้าอายไปแล้ว
ศรสวรรค์ เผยที่มาคำว่า น้องอาย ที่ได้มาจากสื่อมวลชน
ราชินีกบอาเซียน คว้าเหรียญทอง 3 สมัยติดต่อกัน
ศรสวรรค์ : จริงๆ ก็อาจจะไม่ได้ราชินีมาก เพราะพี่ว่ายได้แค่กบ 100 เมตร กับ 200 เมตร หรือผลัดผสม จากการที่เราได้เหรียญทองในซีเกมส์ติดต่อกันถึง 3 สมัย การที่ 3 สมัยหมายความว่า 6 ปี ที่เราว่ายและเรายังไม่แพ้ใคร เริ่มจากซีเกมส์ที่อินโดนีเซีย ต่อมาซีเกมส์ครั้งที่ 15 ที่มาเลเซีย และที่ฟิลิปปินส์
เราได้เหรียญทองกบ 100 เมตร และกบ 200 เมตรมาต่อเนื่อง ชื่อของน้องอายมันก็จะคงอยู่มาจนถึง 6 ปี และซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ เราได้เหรียญทองกบ 100 เมตร กับ 200 เมตร และยังได้เหรียญทองผลัดผสม 4×100 เมตรอีกรายการ
มันก็เลยทำให้ตอกย้ำความรู้สึกว่า ถ้าเป็นว่ายน้ำประเภทกบ น่าจะเป็นศรสวรรค์นะที่โด่งดังและอยู่ในใจของแฟนกีฬา อยู่ในสปอร์ตไลต์ของวงการกีฬามาโดยตลอด คงเป็นภาพจำของคำว่าราชินีกบอะไรประมาณนี้
ศรสวรรค์ กล่าวถึงฉายาราชินีกบ
มุมมองถึงการพัฒนาวงการกีฬาว่ายน้ำของไทย
ศรสวรรค์ : จริงๆ ก็โทษไม่ได้หรอกว่ามันผิดพลาดตรงไหน ถ้าเทียบกับโมเดลสมัยก่อนที่มีความยิ่งใหญ่ เช่น รัฐพงศ์ ศิริสานนท์ ประพาฬสาย มินประพาฬ คือนักกีฬาเหล่านี้เราได้ส่งไปฝึกซ้อมต่างประเทศในทุนโอลิมปิก โซลิดาริตี้ เข้าไปอยู่ในโรงเรียนที่เป็นเบ้าหลอม อย่าง Bolles School ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ผลิตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติระดับโลก ระดับโอลิมปิก
ถ้าเราเอานักกีฬาที่มีทาเลนท์ มีความหวัง และมีศักยภาพสูง ส่งไปโรงเรียนแบบนั้นได้อีกครั้งหนึ่ง หากว่าเรามีทุนพอ แต่ไม่แน่ใจว่าติดปัญหาตรงไหนในปัจจุบัน และทุกประเทศเขาก็มีโมเดลแบบนี้กันหมด เช่น เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งของไทยเราอาจจะส่งไปแค่คนสองคนก็ได้
ไม่แน่ใจว่าสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย เขาให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน การที่เราจะมีนักกีฬาที่เก่ง ถ้าเราฝึกในประเทศได้ ก็โอเค แต่ถ้าเราฝึกไม่ได้ เราก็ควรที่จะนำนักกีฬาที่เป็นความหวังไปอยู่ในสโมสรที่มีศักยภาพสูงเพื่อพัฒนา
ขณะเดียวกันเราก็ต้องพัฒนาเด็กน้อยของเรานะ เพื่อที่จะปั้น เพราะตอนนี้มันขาดช่วง เราอยากได้แบบณัชฐานันตร์ จันทร์กระจ่าง สัก 10 คน เราอยากได้แบบรัฐพงศ์ ศิริสานนท์ สัก 10 คน คือเราต้องสร้าง ต้องปั้นนักกีฬาขึ้นมา
ศรสวรรค์ กล่าวทิ้งท้าย และหวังเห็นวงการว่ายน้ำไทยประสบความสำเร็จเหมือนในอดีต
ชมคลิปสัมภาษณ์ : ศรสวรรค์ ภู่วิจิตร ผู้ประกาศข่าวช่อง 7HD และอดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติไทย