ทุกวันนี้สังคมไทยเริ่มยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ กันมากขึ้น สะท้อนให้เห็นจากจำนวนผู้คนที่เข้าร่วมงานบางกอกนฤมิตไพรด์ ไพรด์พาเหรด 2022 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเนืองแน่นไปด้วยชาว LGBTQ+ ตลอดทั้งสองฟากฝั่งของถนนสีลม รวมไปถึงแรงสนับสนุนในเรื่องการผลักดันร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม และร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ล่าสุดผ่านวาระแรกในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่เส้นทางยังอีกยาวไกล กว่าจะกลายเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์แบบได้
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องชี้วัด “การยอมรับ” กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศให้เด่นชัดขึ้น นั่นก็คือภาคอุตสาหกรรมวงการบันเทิงไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีผู้ผลิตละครโทรทัศน์หรือซีรีส์ในปัจจุบัน สร้างคอนเทนต์เพื่อตอบโจทย์กลุ่ม LGBTQ+ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลามจากผู้คนในสังคมบนทุกแพลตฟอร์ม
แต่ในส่วนของวงการกีฬาไทย ต้องยอมรับว่าเรื่องความหลากหลายทางเพศยังคงจำกัดอยู่ในวงแคบๆ แม้ว่าจะมีนักกีฬาไทยจำนวนหนึ่งที่รับรู้กันดีว่าเป็นชาว LGBTQ+ แต่คนคนนั้นก็ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาได้ เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ในองค์กรที่ตัวเองทำงานอยู่ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานราชการทั้งทหารและตำรวจ
สำหรับนักกีฬาไทยที่เปิดเผยตัวตน และมีทัศนคติเชิงบวกกับความหลากหลายทางเพศ อาจจะมีอยู่ไม่มากก็จริง เช่นในรายของ วรรณา บัวแก้ว ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย, มลิกา กันทอง อดีตนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย, ศานิกุณ (โสภิตา) ธนสาร นักกีฬายกน้ำหนักฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2016 และ สุจิตรา เอกมงคลไพศาล อดีตนักกีฬาแบดมินตันหญิงทีมชาติไทย ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ล้วนภาคภูมิใจกับความเป็นตัวของตัวเอง และมีความสุขกับชีวิตคู่ โดยที่ไม่ต้องหลบซ่อนอีกต่อไปแล้ว
ขณะที่วงการกีฬาต่างประเทศ การออกมายอมรับว่าตัวเองเป็น LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องที่น่าอายแต่อย่างใด นักกีฬาหลายคนรู้สึกภูมิใจกับการเผยอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศ โดยเฉพาะในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีนักกีฬา LGBTQ+ ที่เข้าร่วมการแข่งขันอย่างน้อย 182 คน นับเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิกอีกด้วย
FEED ได้รวบรวม 10 นักกีฬาชื่อดังในต่างประเทศ ที่เปิดเผยตัวตนเป็น LGBTQ+ มีใครบ้างลองไปดูกันเลย
1. ทอม เดลีย์ นักกีฬากระโดดน้ำ – สหราชอาณาจักร
ทอม เดลีย์ เป็นนักกีฬานักกระโดดน้ำที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก เขามีผู้ติดตามในอินสตาแกรมมากกว่า 3.3 ล้านคน เจ้าตัวเคยสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมเอาไว้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 โดย ทอม เดลีย์ กับ แมตตี้ ลี ช่วยกันทำคะแนนจากการกระโดดทั้งหมด 6 รอบ รวม 471.81 คะแนน ล้มแชมป์เก่าจากจีนอย่าง เฉา หยวน และ เฉิน อ่ายเซิน ที่ทำได้ 470.58 คะแนน ส่งผลให้ ทอม เดลีย์ กับ แมตตี้ ลี คว้าเหรียญทองกระโดดน้ำชายคู่ ประเภทซิงโครไนซ์ แพลตฟอร์ม 10 เมตร และนับเป็นเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในชีวิตของทั้งคู่อีกด้วย
หลังจากคว้าเหรียญทองมาครอง ทอม เดลีย์ เปิดใจว่า รู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ตัวเองเป็นเกย์ และได้แชมป์โอลิมปิกด้วย นอกจากความสำเร็จในโตเกียวเกมส์แล้ว หนุ่มคนนี้ยังกลายเป็นขวัญใจคนทั่วโลกด้วย หลังจากมีภาพไวรัลที่เจ้าตัวกำลังนั่งถักนิตติ้งขณะชมการแข่งขันกระโดดน้ำสปริงบอร์ด 3 เมตร บุคคลหญิง เขาพูดถึงการถักนิตติ้งในครั้งนั้นว่า มันเป็นกิจกรรมที่ดีในการฝึกสมาธิ ส่วนชีวิตนอกสนาม ทอม เดลีย์ แต่งงานกับ ดัสติน แลนซ์ แบล็ก นักเขียนบทคนดังของฮอลลีวูด และทั้งคู่เพิ่งฉลองแต่งงานครบรอบ 5 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
2. เอ็ดเวิร์ด กัล และ 3. ฮานส์ เพเทอร์ มินเดอร์ฮูด สองนักกีฬาขี่ม้า – เนเธอร์แลนด์
กัล กับ มินเดอร์ฮูด เคยได้เหรียญทองแดงการแข่งขันขี่ม้าประเภททีม ในรายการชิงแชมป์โลก ปี 2014 และทั้งคู่ต่างเคยได้เหรียญรางวัลโอลิมปิกส่วนตัวมาแล้ว โดย มินเดอร์ฮูด ได้เหรียญเงินในปี 2008 ส่วน กัล ได้เหรียญทองแดงในปี 2012
ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทั้งคู่ตกลงปลงใจใช้ชีวิตร่วมกันตั้งแต่เมื่อไร แต่ กัล กับ มินเดอร์ฮูด รู้สึกภาคภูมิใจในความสัมพันธ์ของพวกเขา และไม่รู้สึกอายที่จะพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะ นอกจากนั้น มินเดอร์ฮูด ยังเคยกล่าวด้วยว่า ในกีฬาของเรา มันไม่ใช่ข้อยกเว้นสำหรับการเป็นเกย์
4. เมแกน ราปิโน นักฟุตบอล และ 5. ซู เบิร์ด อดีตนักกีฬาบาสเกตบอล – สหรัฐอเมริกา
นับเป็นอีกหนึ่งคู่รักที่ยิ่งใหญ่ในวงการกีฬา ราปิโน ได้แชมป์ฟุตบอลโลกหญิง 2 สมัย ในปี 2015 และ ปี 2019 ส่วน เบิร์ด ได้แชมป์บาสเกตบอลประเภททีมหญิงโอลิมปิกเกมส์ 5 สมัย ในปี 2004, 2008, 2012, 2016 และ 2020
ก่อนหน้านี้ เบิร์ด ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนว่าตัวเขาเป็นเลสเบี้ยนในปี 2017 และได้ออกเดตกับ ราปิโน มาหลายเดือนแล้ว ก่อนที่ทั้งคู่จะประกาศหมั้นกัน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ปี 2020
นอกจากนี้ทั้ง เบิร์ด กับ ราปิโน ยังเคยสร้างประวัติศาสตร์เป็นคู่รักเพศเดียวกันคู่แรกที่ได้ลงปกนิตยสาร ESPN The Magazine’s body issue ในวาระฉลองครบรอบ 10 ปี เมื่อปี 2018 อีกด้วย
6. ลอเรล ฮับบาร์ด นักกีฬายกน้ำหนัก – นิวซีแลนด์
ฮับบาร์ด ถือเป็นสตรีข้ามเพศคนแรกที่ได้ลงแข่งโอลิมปิกเกมส์ในกีฬาประเภทเดี่ยว แม้ว่าเธอจะไม่ได้เข้าไปชิงเหรียญรางวัลในรุ่นน้ำหนักเกิน 87 กิโลกรัม แต่ชื่อของเธอได้กลายเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก ไม่เพียงแค่นั้น ฮับบาร์ด ยังเป็นจอมพลังที่มีอายุมากที่สุดในการแข่งขันด้วยวัย 43 ปี
ทั้งนี้แม้ว่า ฮับบาร์ด อาจจะได้รับเสียงสนับสนุนและกำลังใจจากชาว LGBTQ+ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์จากนักกีฬาและแฟนกีฬาอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการลงแข่งของเธอ เพราะทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบด้านสรีระระหว่างนักกีฬาข้ามเพศกับนักกีฬาเพศหญิงโดยกำเนิด
7. สเตฟานี ดอลสัน นักกีฬาบาสเกตบอล – สหรัฐอเมริกา
ดอลสัน คือหนึ่งในผู้เล่นของทีมชิคาโก สกาย แชมป์ลีกบาสเกตบอลอาชีพหญิง (WNBA) ปี 2021 พ่วงด้วยตำแหน่งแชมป์บาสเกตบอล 3×3 ครั้งแรกของสหรัฐอเมริกา ในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 และแชมป์ยูโรลีกหญิง 2022
ในปี 2016 ดอลสัน ได้ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนในฐานะสมาชิกของกลุ่ม LGBTQ+ โดยระบุว่า ฉันรู้ดีว่าฉันเป็นใครและไม่ได้สนใจถ้าคนอื่นมาตัดสินฉัน การที่ฉันเป็นตัวของตัวเองได้สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและกลุ่ม LGBTQ+
8. ลุค โพรคอป นักกีฬาไอซ์ฮอกกี้ – แคนาดา
โพรคอป คือนักกีฬาคนแรกในศึกเนชั่นแนล ฮอกกี้ ลีก (NHL) ที่ออกมาเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ และเขาได้ประกาศจุดยืนผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัวเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โพรคอปเปิดใจว่า ผมไม่จำเป็นต้องหลบซ่อนตัวตนอีกต่อไปแล้ว และหวังว่าการแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองในครั้งนี้จะช่วยให้คนอื่นๆ ได้รู้ว่า “เกย์” เป็นที่ยอมรับในวงการฮอกกี้ ปัจจุบันโพรคอปเล่นให้กับทีมเอ็ดมอนตัน ออย คิงส์ สวมเสื้อหมายเลข 6 เล่นตำแหน่งแนวรับ
9. อีบราร์ คาราคูร์ต นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิง – ตุรกี
คาราคูร์ต เป็นที่รู้จักอย่างดีในหมู่แฟนลูกยางชาวไทย เพราะสาวผมสีชมพูจอมว้ากคนนี้เคยแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักกับทีมวอลเลย์บอลสาวไทย หลังจากตบทำคะแนนให้ทีมชาติตุรกี ในการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิง VNL 2022 รอบก่อนรองชนะเลิศ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และต่อมาเธอออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้ขัดแย้งกับนักกีฬาไทย ตัวเธอเองก็รักประเทศไทย รักผู้เล่นวอลเลย์บอลทีมชาติไทย เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาวอลเลย์บอล
ด้วยบุคลิกและคาแรคเตอร์ห้าวๆ แมนๆ ในสนาม คาราคูร์ต จึงเป็นที่ถูกใจของสาวๆ หลายคน แต่นั่นก็เป็นดาบสองคมกับตัวเธอเองด้วยเหมือนกัน ย้อนกลับไปเมื่อปี 2021 มือตบคนดังได้โพสต์ภาพที่กำลังอุ้มแฟนสาวลงอินสตาแกรมส่วนตัว ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมและคนเคร่งศาสนาในตุรกี โจมตีเธออย่างรุนแรง กล่าวหาว่าเธอเป็นพวกรักร่วมเพศ หลังจากนั้น คาราคูร์ต ก็ไม่เคยเปิดเผยตัวตนลงในโซเชียลมีเดียอีกเลย
10. เรเวน ซานเดอร์ส นักกีฬาทุ่มน้ำหนักหญิง – สหรัฐอเมริกา
ซานเดอร์ส เป็นเจ้าของเหรียญเงินทุ่มน้ำหนัก ในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ด้วยสถิติ 19.79 เมตร ช่วงที่ขึ้นโพเดียมรับเหรียญเธอยกแขนไขว้กันทำเป็นสัญลักษณ์ตัว X เพื่อสนับสนุนผู้ถูกกดขี่ ต่อมามีข่าวว่า ซานเดอร์ส อาจถูกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) สอบสวน เนื่องจากการกระทำของเธอเข้าข่ายละเมิดข้อบังคับที่ห้ามไม่ให้นักกีฬาแสดงสัญลักษณ์ หรือการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง ศาสนา และเชื้อชาติ ในพื้นที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่สุดท้ายการสอบสวนถูกระงับไว้ เพราะคุณแม่ของเธอเสียชีวิต หลังจาก ซานเดอร์ส คว้าเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ได้เพียงแค่ 2 วัน
ด้านชีวิตส่วนตัว ซานเดอร์ส เคยออกมายอมรับว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยน และเคยต่อสู้กับโรคซึมเศร้ามาแล้ว ขณะเดียวกัน ซานเดอร์ส ยังได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนที่มีปัญหาทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่ม คนแก่ คนผิวสี และชาว LGBTQIA จงภูมิใจกับความสวยงามของตัวเอง เพราะมันเป็นสิ่งที่คู่ควรและน่าทึ่ง ขอให้ทุกคนต่อสู้เพื่อตัวเองต่อไป และเมื่อเร็วๆ นี้นิตยสาร Womens Running Magazine ได้ยกย่อง ซานเดอร์ส ให้เป็น 1 ในพลังสตรีแห่งปี 2022 อีกด้วย
แหล่งที่มา