“คิดว่าตอนนี้การแข่งขันเข้มข้นมากๆ อยู่แล้ว ต้องใช้คำว่าจาก Blue Ocean ตอนนี้ซีรีส์ Y การตลาดซีรีส์ Y กลายเป็น Red Ocean ไปอย่างเรียบร้อยแล้ว เป็นแบบน่านน้ำสีแดงเดือดเลย”
“ตอนนี้ซีรีส์ Y ของ GMMTV ขายไปแล้วกว่า 20 เรื่อง ส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก โดยคู่ค้าหลักคือประเทศญี่ปุ่นซื้อซีรีส์ Y ของเราเกือบทั้งหมดเลย”
สถาพร พานิชรักษาพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GMMTV หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์คู่จิ้นฟีเวอร์ในวงการบันเทิงไทย ได้ฉายภาพการแข่งขันที่ดุเดือดสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตซีรีส์ Y เพื่อเสิร์ฟคนดูทั้งในประเทศไทยและส่งออกสู่ตลาดโลก
ย้อนกลับไปปี 2559 GMMTV ส่งซีรีส์ Y เรื่องแรกของบริษัทออกสู่ตลาดคือ “SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” ที่นำเสนอเรื่องราวความรัก และมิตรภาพของรุ่นพี่รุ่นน้อง สร้างจากนวนิยายชื่อดังของนักเขียน “BitterSweet” โดยไม่ได้คาดหวังว่าซีรีส์เรื่องนี้จะดังไกลระดับนานาชาติ และสร้างปรากฏการณ์มากมาย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GMMTV เล่าว่าในช่วงนั้น GMMTV ได้ผลิตซีรีส์หลายเรื่อง เช่น รักนะเป็ดโง่ Ugly duckling , U-Prince Series โดยมุ่งเน้นซีรีส์วัยรุ่นที่มีความแปลกใหม่ หนึ่งในนั้นคือ SOTUS The Series ที่ถูกนำมาผลิตเพื่อสร้างความแตกต่างและหลากหลาย โดยไม่ได้ตั้งความหวังด้วยซ้ำว่าจะเป็นซีรีส์ที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ให้มาจนถึงวันนี้ได้ แต่เมื่อซีรีส์ประสบความสำเร็จ ทาง GMMTV จึงต่อยอดอย่างครบวงจรจนถึงวันนี้
“SOTUS The Series ประสบความสำเร็จมากๆ จากนั้นก็เกิดความต้องการของตลาด เช่น มีแฟนคลับจากจีน หรือประเทศต่างๆ ในเอเชีย เรียกร้องให้ไปจัดแฟนมีตติ้งที่นั่น จึงเป็นที่มาของการเดินสายไปทั่วเอเชีย”
จากวันนั้น GMMTV จึงได้จัดพอร์ตการผลิตซีรีส์ โดยเพิ่มซีรีส์ Y เข้าไป ปีละ 1-2 เรื่อง จนตอนนี้ผลิตไป 20 กว่าเรื่องแล้ว เผยแพร่ทั้งช่องทาง On Air และแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Netflix ที่นำซีรีส์ไปออกอากาศทั้งหมด 190 ประเทศทั่วโลก โดยมีคู่ค้าหลักคือประเทศญี่ปุ่น ที่ติดต่อซื้อซีรีส์ Y ไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
ส่วนสาเหตุที่ซีรีส์ Y เป็นที่ถูกอกถูกใจเหล่าแฟนๆ จนติดกันหนึบขนาดนี้ คุณสถาพร มองว่าประเด็นหลักมาจากเนื้อเรื่องที่ผู้ชมดูแล้วมีความสุข เกิดความสบายใจ ประกอบกับเคมีของนักแสดงที่ทำให้ผู้ชมคล้อยตามไปได้ ส่วนแฟนๆ แถบเอเชียน่าจะเป็นเพราะวัฒนธรรมเราใกล้เคียงกัน
แต่กว่าจะถึงวันนี้สำหรับ GMMTV ก็ผ่านการลงทุนลงแรงอย่างหนักหน่วง เนื่องจากช่วงแรกตลาดยังไม่เปิดกว้างมากขนาดนี้ สปอนเซอร์ เจ้าของสินค้าหลายๆ รายยังไม่เปิดใจ เช่นขณะที่ GMMTV ผลิต SOTUS The Series แทบไม่มีสปอนเซอร์ที่มาซื้อโฆษณาด้วยความต้องการอย่างแท้จริง เมื่อเทียบกับยุคนี้หลังจากการออกอากาศของซีรีส์ Y หลายๆ เรื่องตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาได้มาตอกย้ำความสำเร็จ จนตอนนี้แทบไม่ต้องอธิบายอะไรกันแล้ว
“ซีรีส์ Y สามารถสร้างไอดอลได้ และยังสร้างปรากฎการณ์อีกมากมาย เช่น แฟนคลับจากประเทศที่เราไม่คาดคิด เช่น บราซิล เม็กซิโก ถึงขนาดสถานทูตไทย ณ กรุงเม็กซิโก ได้ติดต่อเรามาเพื่อนำ ไบร์ท วชิรวิชญ์ และ วิน เมธวิน ไปไลฟ์พบปะผู้ชมชาวเม็กซิโก”
คุณสถาพร ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าตอนนี้กลุ่มเป้าหมายของซีรีส์ Y มีการขยายฐานที่กว้างมากขึ้น จากเดิมจะอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น หรือคนทำงานตอนต้น แต่ตอนนี้พบว่าแฟนคลับของไบร์ท วชิรวิชญ์ และ วิน เมธวิน มีกลุ่มคนอายุมากกว่า 60 ปี นี่คืออีกหนึ่งสิ่งที่ตอกย้ำถึงความสำเร็จของซีรีส์ Y
เมื่อความต้องการมีมากขึ้นผู้ผลิตก็ลงมาเล่นในสนามนี้มากขึ้นเช่นกัน และเกิดการแย่งชิงบทประพันธ์กันอย่างดุเดือด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GMMTV เล่าว่าขณะนี้มีผู้ผลิตซีรีส์ Y ออกมาจำนวนมากคาดว่าไม่ต่ำกว่า 100 เรื่องต่อปี แต่ถ้านับเม็ดเงินในประเทศในแง่ของสปอนเซอร์เห็นว่ายังไม่ได้มากไปกว่าซีรีส์ หรือละครทั่วไป
แต่มูลค่าที่ประเมินไม่ได้ จริงๆ มาจากช่องทางอื่นทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น กลุ่มแฟนคลับที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อมาเจอนักแสดงที่เขาชื่นชอบ ตามงานอีเวนต์ มาท่องเที่ยว ตามรอยสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ และยังพบว่าชั้น 30 ตึก GRAMMY กลายเป็นแลนด์มาร์ก สถานที่เช็คอิน ของบรรดาแฟนคลับชาวต่างชาติไปแล้ว
“คิดว่าตอนนี้การแข่งขันเข้มข้นมากๆ อยู่แล้ว ต้องใช้คำว่าจาก Blue Ocean ตอนนี้ซีรีส์ Y การตลาดซีรีส์ Y กลายเป็น Red Ocean ไปอย่างเรียบร้อยแล้ว เป็นแบบน่านน้ำสีแดงเดือดเลย คือตอนนี้มันกลายเป็นว่าทุกบริษัท ทุกผู้ผลิต ทุกสถานีคิดว่าต้องมีซีรีส์ Y ปริมาณมันก็เลยมหาศาลมาก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ณ ขณะนี้”
ขณะที่ GMMTV เองมีแผนการผลิตซีรีส์ Y ในปี 2566 ประมาณ 7-8 เรื่อง โดยเชื่อว่าตลาดของซีรีส์ Y จะยังคงเติบโต ตราบใดที่ยังมีคนดูการผลิตจะยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีคอนเทนต์ที่ถูกผลิตออกมามหาศาล แต่ส่วนตัวคุณสถาพร เชื่อว่าไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะดัง ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคอนเทนต์ที่จะเป็นตัวนำ และเติบโตอย่างมีทิศทาง เช่น การต่อยอดของ GMMTV ที่นำไปสู่การจัดอีเวนต์ แฟนมีตติ้ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ยกตัวอย่างกิจกรรมล่าสุด กับการนำทัพนักแสดงซีรีส์ของ GMMTV บินลัดฟ้าเสิร์ฟความสนุกสุดฟินให้กับแฟนๆ ชาวญี่ปุ่น ภายในงาน “GMMTV FAN FEST 2022 LIVE IN JAPAN” ซึ่งเป็นการจัดร่วมทุนกันของสื่อและบริษัทออแกไนซ์ของญี่ปุ่น
“บรรยากาศการยอมรับและการเปิดกว้างของสังคมตอนนี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้ซีรีส์ Y เติบโตได้อย่างลื่นไหล” ส่วนคำถามที่ว่าต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านใดบ้าง “ก็คงเป็นเรื่องความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการส่งออกผลงานไปต่างประเทศ แต่ขณะนี้เราก็ได้ลงมือทำเองไปทั้งหมดอยู่แล้ว” คุณสถาพร กล่าวทิ้งท้าย