สำหรับมนุษย์ออฟฟิศหลายๆ คน “ตู้เต่าบิน” กลายเป็นส่วนหนึ่งของวันทำงานไปแล้ว บางคนหลังสแกนนิ้ว รูดบัตรเข้างาน ต้องกดตู้ติดมือไปก่อนสักแก้ว
บางคนอาจจะเป็นช่วงบ่าย เติมกาแฟร้อนหรือกาแฟเย็น ให้คลายง่วงกับภารกิจในอีกช่วงครึ่งวัน
ซึ่งตรงกับโจทย์ที่ทาง “เต่าบิน” วางไว้ คือ ให้ทุกคนทานได้ทุกวันจากหลากหลายเมนู
พร้อมประกาศยังมีเมนูใหม่ เป็นหมัดเด็ดต่อคิวรออยู่
ก่อนถึง “ตู้เต่าบิน” เริ่มต้นผลิตตู้ขายน้ำกระป๋อง (ของคนอื่น) แล้วขาดทุน
ตอง-วทันยา อมตานนท์ ผู้อยู่เบื้องหลัง “ตู้เต่าบิน” บอกเล่าในงาน “พลิกเกมไว โอกาสใหม่ SMEs” ที่จัดโดย นิตยสารเส้นทางเศรษฐี เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่มาว่า จุดเริ่มต้น คือ การผลิตตู้อัตโนมัติขายเครื่องดื่มกระป๋องและขวด จากแบรนด์ต่างๆ เป็นลักษณะซื้อมาขายไป ซึ่งทำให้ขาดทุน และต้องใช้เวลานานกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน จึงคิดว่าจะทำอย่างไรดี เราจะเปลี่ยนแนวทางอย่างไรดีให้ไปรอด
“การมองเห็นว่ามีดีมานด์ มองเห็นว่ามีจุดที่เราพอจะเอาความถนัดเรามาเสริม เพื่อให้เราได้เปรียบคือจุดไหน นี่คือคีย์สำคัญของ เต่าบิน”
“คือการมองออกว่าปัญหาไม่ใช่ปัญหาที่มันเป็นเดดเอ็นด์ (ทางตัน) แต่เป็นปัญหาที่ถ้าเราแก้ได้เรารุ่ง เราไปได้แน่ๆ”
คิดใหม่ “ตู้เต่าบิน” ทำตู้เครื่องดื่มเอง คิดได้แต่ทำไม่ง่าย
“เราอิจฉาคนอื่น เราเป็นบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีซึ่งทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว แป๊บเดียวเทคโนโลยีใหม่ก็เข้ามาแล้ว แต่พวกเครื่องดื่ม บางแบรนด์อยู่เป็นร้อยปี ทำอย่างไรให้เราเข้ามาจุดนี้ได้ เริ่มก็มาดูเอาความถนัดของเรามาช่วยมาเสริมทางด้านนี้ เพื่อให้เราเข้ามาในตลาดนี้ที่เราต้องการจะอยู่ให้ได้”
ตอง-วทันยา เล่าต่อว่า บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH ซึ่งเป็นบริษัทแม่มีความถนัดคือ เทคโนโลยี จึงนำไปสู่การเริ่มผลิตการพัฒนา เริ่มต้นจากตู้ต้นแบบ 3 ตู้ใช้เวลา 2 ปี ก่อนจะเริ่มออกไปวาง ซึ่งสำหรับคนอื่นมองว่าเร็ว แต่สำหรับเราที่อยากผลักดันโปรเจ็กต์นี้มองว่าเป็นเวลาที่นาน
จนมาถึง “ตู้เต่าบิน” รุ่นปัจจุบันกว่า 3 พันตู้ ที่คนมองว่าโอเคแล้ว แต่ ตอง-วทันยา บอกว่า สำหรับเธอ เต่าบินยังไม่เสร็จ ยังเป็นผลงานประดิษฐ์ที่ไม่สมบูรณ์ ยังค่อยๆ พัฒนา มีปัญหาที่ค่อยๆ ซ่อมกันไป เช่น ผงติด การทำความสะอาด การล้าง การเพิ่มยูวี เปลี่ยนถังน้ำ ทำอย่างไรให้เพิ่มประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้ไปเซอร์วิซน้อยที่สุด
จากกลยุทธ์ที่วางไว้ คือ มูฟยังไงให้เร็ว ความกล้าเอาของไปในตลาดให้เร็ว ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะกลับมา คือ มีปัญหาก็ต้องกลับไปซ่อม เท่ากับต้องมีการแบกค่าใช้จ่ายมีอะไรต่างๆ อีกมากมาย
“ปัญหาหลักๆ คือ ตู้เสียเพราะ เราเริ่มผลิตและพัฒนาเอง โอกาสได้เทสต์คือไปเทสต์ข้างนอกเลย คอนเซ็ปต์ของเต่าบินคือ ต้องการมูฟเร็วๆ ต้องการพัฒนาโปรดักส์ออกมาและต้องการออกไปสู่ตลาดให้เร็วที่สุด จึงมีอยู่บ้างที่จะต้องออกไปแก้จริงในหน้างาน แต่แลกมาด้วยการเป็นเฟิร์สมูฟเวอร์ เป็นคนที่อยู่ในตลาดก่อนและขยายได้เร็ว”
นอกจากนั้น ยังต้องเตรียมเรื่องการจัดหาและบริหารวัตถุดิบ การวางระบบการจัดการ ซึ่ง วทันยา บอกว่า ต้องลงไปศึกษาแบบ “ลงไปคลุกเอง” กว่าจะได้มา
“เราไม่รู้ Supply chain การเริ่มต้นช่วงมีเครื่องแล้ว ต้องเซ็ตอัพ Supply chain เซ็ตอัพ Ecosystem เซ็ตอัพเติมของอย่างไร จ้างคนมาเทรนอย่างไร มันละเอียดยิบย่อยไปหมด จะต้องไปเติมของเมื่อไร ต้องเขียน software ขึ้นมาเพิ่มนะ แล้วบาลานซ์อย่างไรแต่ละตู้จะเติมเท่าไร มีดีเทลเต็มไปหมด”
“ต้องนักเลงนิดนึง ต้องไปคลุกไปกลิ้งบนดิน ดิ้นๆ ดู บางทีก็ต้อง…อะไรแพลนได้แพลน อะไรแพลนไม่ได้ก็ทำไปก่อนเดี๋ยวค่อยไปแก้ปัญหาเอา”
สร้างความรู้สึกให้ เต่าบิน คุ้มค่า กินได้ทุกวัน
ตู้มีแล้ว เครื่องดื่มมีแล้ว ทำอย่างไรให้คนมาซื้อต่อเนื่อง
“เราพยายามสื่อสารว่าเราใช้วัตถุดิบที่ดีจริงๆ พยายามมากที่สุดให้ราคาเข้าถึงได้ อย่างเป๊บซี่แก้วละ 15 บาท ที่กดจากตู้เต่าบิน หาถูกกว่านี้ที่มาเป็นแก้วพร้อมน้ำแข็งจะหาได้ที่ไหน มันแทบจะหาไม่ได้แล้ว แบรนด์เต่าบินต้องการให้ทุกคนทานได้ทุกวัน เรื่องราคากับคุณภาพเราค่อนข้างมั่นใจกับสิ่งที่ให้ไป”
“วัตถุดิบนมผง ทำมาจากนมสดแท้ กาแฟใช้อาราบิก้า 100% เราต้องการนำควอลิตี้ โปรดักส์คุณภาพสูงมาใช้ในตู้ เรามีมาตรฐานของเรา เป็นทั้ง vision และ mission ให้ทุกคนทานได้ทุกวันและได้ของที่คุณภาพดีจริงๆ รวมทั้งด้านสุขภาพ เราไม่ใช้ครีมเทียม เราคำนึงถึงทุกอย่างจริงๆ การทานได้ทุกวันไม่ใช่แค่เรื่องเงินแต่เป็นเรื่องของสุขภาพด้วย”
“ส่วนเมนูใหม่ๆ มีมาเรื่อยๆ เต่าบิน เรายังมีเคล็ดลับและอาวุธลับอีกมายมาย”
เป้าหมายไปที่ไหนก็เจอ ตู้เต่าบิน
แม้ทุกวันนี้จะมีตู้เต่าบินกระจายไปรวม 3 พันตู้ แต่ วทันยา บอกว่ายังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ที่อยากให้เป็นความสะดวกสบาย เดินไปที่ไหนก็เจอ โดยวางเป้าในเมืองไทยภายใน 3-5 ปี จะมี 2 หมื่นตู้ และครบทุกจังหวัดภายในปีนี้ รวมทั้งการขยายไปยังต่างประเทศ เน้นที่กลุ่มเพื่อนบ้านก่อนเพราะดูแลง่ายและนิยมเมนูแบบเดียวกัน เพราะ 90% ของเต่าบิน เป็นเมนูเย็น ต้องมุ่งไปประเทศที่อากาศร้อนและนิยมเมนูแบบเดียวกัน
“การไปต่างประเทศมีคนมาชวนแล้วแต่เรายังไม่พร้อม เรายังต้องพัฒนาต่อและการไปต่างประเทศยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น การพัฒนา Server การพัฒนา payment system ต้องพัฒนาต่ออีกนิดนึง”