“พี่ตุ่น พนเทพ สุวรรณะบุณย์” โปรดิวเซอร์-นักแต่งเพลงฝีมือจากยุค 80 ถึงปัจจุบัน ซึ่งคนรุ่นหลังๆ อาจรู้จักมักคุ้นในฐานะของสมาชิกหลัก “วงนั่งเล่น” และ “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” ปัจจุบันมีอายุ 73 ปีแล้ว
ซึ่งก่อนหน้านี้ FEED มีโอกาสพูดคุยกับ พี่ตุ่น เจาะลึกชีวิตกับความสุขที่แท้จริงในวัยเกษียณ เส้นทางการทำงานดนตรีในยุคที่ค่ายเพลงเฟื่องฟู และกว่าจะเป็นวงนั่งเล่น และดึกดำบรรพ์บอยแบนด์ มาให้ชมกันอีกครั้ง ก่อนจะไปพบกับพวกเขาที่งาน FEED MUSIC : Green Fest ครั้งที่ 2 งานดนตรีในสวนท่ามกลางลมหนาว ที่จัดขึ้นโดย FEED วันที่ 7 ธันวาคมนี้ ณ มิวเซียมสยาม
**บทสัมภาษณ์เมื่อปี 2563**
ชีวิตดนตรีหลายทศวรรษ ของ “ตุ่น พนเทพ”
จาก “วงแฟลช” ถึง “แกรมมี่”
จาก “ยุคค่ายเพลง” ถึง “นั่งเล่น-ดึกดำบรรพ์ฯ”
ปัจจุบัน หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะมือกีตาร์-นักร้องอาวุโสที่มีบุคลิกละม้ายคล้ายคลึง “เอริก แคลปตัน” แห่ง “วงนั่งเล่น” วงดนตรีรวมพยัคฆ์ซุ่มมังกรซ่อนจากวงการเพลงไทยยุค 90 ที่ประสบความสำเร็จเกินคาดกับคลิปเล่นดนตรีและกิจกรรมการแสดงสดใน “ยุคดิสรัปชั่น” ของอุตสาหกรรมบันเทิง
ขณะเดียวกัน หลายคนก็อาจรู้จักเขาในฐานะสมาชิกคนที่สาม ซึ่งเดินเคียงข้างไปกับสองนักร้องรุ่นเก๋า “แต๋ม-ชรัส เฟื่องอารมย์” และ “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว” ในนามของ “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” วงดนตรีที่เน้นการคัฟเวอร์เพลงเก่าของแต๋ม-ปั่น รวมถึงผลงานในอดีตจากมันสมองของตุ่น ด้วยลีลาการร้อง-เรียบเรียงใหม่ที่มีชีวิตชีวาน่าสนใจ
แต่ชีวิตยืนยาวกว่า 7 ทศวรรษของพนเทพ ก็มีอะไรน่าสนใจและสลับซับซ้อนมากกว่านั้น
พนเทพถือกำเนิดในครอบครัวศิลปิน พ่อของเขาคือ “พนม สุวรรณะบุณย์” จิตรกร-นักวาดภาพประกอบเจ้าของนามปากกา “ตุ๊ดตู่”
อย่างไรก็ตาม พอมาถึงรุ่นลูกสามคน ทั้งหมดล้วนหันเหความสนใจมายังเรื่องเสียงเพลง
นอกจากพนเทพในฐานะลูกชายคนโต ที่เป็นโปรดิวเซอร์-นักแต่งทำนอง-นักเรียบเรียงดนตรีคนสำคัญของวงการเพลงไทยสากลมากว่าสามทศวรรษ
“เทพพนม” ลูกชายคนรอง ก็เป็นนักแต่งเพลงที่มีลายเซ็นโดดเด่นไม่แพ้กัน ด้วยการสร้างผลงานน่าจดจำจำนวนมากสมัยยังทำงานร่วมกับบริษัทอาร์เอส
ส่วน “พรเทพ” น้องชายคนเล็ก แม้จะไม่ได้มีชื่อเสียงในฐานะนักแต่งเพลงมากเท่าพี่ชายสองคน แต่ก็ชอบเล่นดนตรี กระทั่งกลายมาเป็นมือกลองของ “วงนั่งเล่น” และ “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” ในทุกวันนี้
พนเทพเล่าว่า สถานที่แรกที่ส่งอิทธิพลต่อการหลงใหลในเสียงดนตรีของเขาอย่างลึกซึ้ง คือ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เพราะที่นั่นเป็นแหล่งบ่มเพาะรสนิยมการชอบเล่นดนตรี-ชอบฟังเพลง พร้อมบรรยากาศการแข่งขันกันระหว่างเด็กหนุ่ม
สมัยพนเทพเรียนอยู่เซนต์คาเบรียล รุ่นพี่คนหนึ่งที่โดดเด่นในทางดนตรีเป็นอย่างมากก็คือ “เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์” ซึ่งทั้งสองจะได้กลับมาร่วมงานกันที่แกรมมี่
แต่เส้นทางดนตรีของพนเทพก็ไม่ได้มุ่งหน้าเป็น “เส้นตรง” หากเขาต้องเผชิญหน้ากับ “ทางเลือก” ระหว่างการเล่นดนตรีอย่างมีความสุขกับการทำงานหาเลี้ยงชีพ (และครอบครัว) อยู่เกือบตลอด
จากเซนต์คาเบรียล พนเทพไปเรียนจบสายวิชาชีพจากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ หลังจบการศึกษา เขาเริ่มฝึกงานกับธนาคารกรุงเทพ แต่เพราะความรู้สึกว่าตัวเองยังไม่โตพอและยังอยากเล่นดนตรีอยู่ เขาจึงกลายเป็นหนุ่มออฟฟิศที่ไม่มีความสุขกับการทำงานและเอาแต่นั่งคิดเรื่องเพลงไปวันๆ
พนเทพตัดสินใจ “ยืดขยายช่วงชีวิตวัยรุ่น” ของตัวเอง ด้วยการไปลงทะเบียนเรียนเป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ที่รามคำแหง เขาได้พบเพื่อนสองคน คือ “แต๋ม ชรัส” และ “ปั่น ไพบูลย์เกียรติ” ที่มีใจรักเสียงดนตรีเช่นเดียวกัน ทั้งหมดรวบรวมสมัครพรรคพวกก่อตั้งวงอาร์ยูแบนด์เป็นรุ่นแรก
แต่ท้ายสุด พนเทพก็ใช้ชีวิตเป็น “เด็กราม” อยู่แค่ปีเดียว เพราะเวลานั้น เขาอยากไปเรียนต่อ-ใช้ชีวิตที่อเมริกา และในมุมมองของคนหนุ่ม การหาเงินจากการเล่นดนตรีน่าจะช่วยให้ฝันดังกล่าวเป็นจริงได้
พนเทพเริ่มทำงานเป็นนักดนตรีอาชีพในสถานบันเทิงย่านคลองเตยตามคำแนะนำของชรัส โดยรับค่าจ้าง 80-100 บาทต่อคืน ก่อนจะกลายมาเป็นสมาชิกคนสำคัญของวง “แฟลช” ที่สร้างชื่อเสียงในยุคไนต์คลับเฟื่องฟู
ทว่าการก่อร่างสร้างชีวิตครอบครัว ก็กระตุ้นให้ “ทางเลือก” แบบเดิมๆ ย้อนกลับเข้ามาในใจเขาอีกครั้ง
นั่นคือทางสองแพร่งระหว่างอาชีพนักดนตรีที่อาจไม่มั่นคงกับการหาเงินมาเลี้ยงดูภรรยาและลูก
พนเทพตัดสินใจนับหนึ่งใหม่ ด้วยการออกตระเวนยื่นใบสมัครงาน แล้วในที่สุด เขาก็ได้งานที่บริษัทการบินไทย
ช่วงแรกๆ เขาเลือกจะทำงานประจำควบคู่กับการเล่นดนตรี
วงจรเลิกเล่นดนตรีตี 1 ตื่นนอนตี 4 เข้าเวรเช้าตี 5 ดำเนินซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่ได้ประมาณ 2 ปี พนเทพก็ตัดสินใจหันหลังให้การเล่นดนตรีกลางคืน แต่ยังรับงานแต่งเพลงอยู่บ้าง ในยุคก่อนอุตสาหกรรมเพลงไทยจะเข้มแข็ง
เขาปักหลักทำงานที่การบินไทยอยู่เกือบทศวรรษ แต่ “ทางเลือก” ที่คุ้นเคย ก็หวนกลับมาวนเวียนในจิตใจของพนเทพอีกคำรบ
“วันหนึ่งก็มานั่งมองตัวเองนะว่า เราตื่นเช้ามา นั่งรถบริษัทไปถึงบริษัท ตอกการ์ดเข้าทำงาน ไปนั่งออฟฟิศ ทำงานเสร็จ เย็นตอกการ์ดออก นั่งรถกลับบ้าน ตอนนั้น มีความรู้สึกเหมือนเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ในโรงงาน เป็นน็อตหรือเป็นอะไรสักตัว ซึ่งมันเหมือนเพื่ออะไร? ชีวิตมันไม่สนุกเลย คิดอยู่คืนเดียว พอตอนเช้ามาเขียนใบลาออกเลย”
“ช่วงก่อนที่เข้าการบินไทย รู้สึกว่าจะต้องหาความมั่นคงแล้ว แต่พอมาถึงวันหนึ่ง มันสูญเสียอะไรในตัวเราไปหมดเลย”
หลังอำลาการบินไทย พนเทพก็มุ่งมั่นทำงานเพลงที่เขารักอย่างเต็มตัว
อย่างไรก็ดี ชีวประวัติในการเป็นโปรดิวเซอร์-นักแต่งเพลงของตุ่น พนเทพ นั้นมีจุดกำเนิดย้อนไปได้ถึงช่วงที่เขายังคงเล่นดนตรีกับวงแฟลชและทำงานที่การบินไทย
ผลงานแรกสุดในฐานะ “คนเบื้องหลังกึ่งเบื้องหน้า” ก็คืออัลบั้มที่เขาทำกับเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง “แต๋ม ชรัส” ในนาม “แฟลช และชรัส เฟื่องอารมย์”
เนื่องจากชรัสตระหนักถึงคุณสมบัติข้อหนึ่งที่เพื่อนรักมี
“แต๋มจะรู้ว่าพี่ชอบแกะเพลง คืออย่างในวง (แฟลช) พี่แกะทุกอย่าง มันเป็นเพราะว่าพี่อยากรู้ อย่างพี่แกะของตัวเอง แกะกีตาร์ของตัวเองแล้ว แต่มันได้ยินเสียงอื่น มันได้ยินเสียงคีย์บอร์ด แล้วมันคืออะไร ก็ไปแกะต่อ แกะคีย์บอร์ดเสร็จ แกะเบส แกะอะไรพวกนี้ เลยกลายเป็นนิสัยว่าเวลาที่เราแกะเพลง เราแกะทุกอย่าง”
“(พี่) ไม่ได้เรียน arrange (เรียบเรียงดนตรี) … แต่กลายเป็นว่าที่พี่ทำงานมาจนเดี๋ยวนี้ พี่ได้เพราะการแกะเพลง”
ในปี 2528 ชรัสชักชวนให้พนเทพมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานชุด “มาลีวัลย์และชรัส” ซึ่งได้ไปบันทึกเสียงกันถึงสหรัฐอเมริกา โดยมีนักดนตรีระดับพระกาฬ เช่น ยอดมือกีตาร์ “แลร์รี คาร์ลตัน” มาเป็นมือปืนรับจ้างในสตูดิโอ
“พี่ก็รู้สึกว่ามันแกะมาเยอะ มันอัดอั้น มันก็อยากจะปล่อยของ คือเมื่อก่อนเนี้ย นึกออกมั้ยว่าเพลงไทยเวลาที่แต่งมาร้องมาธรรมดา ก็จะเป็นเพลงไทยปกติถ้าเราไม่ได้นึกก้าวข้ามเขาไปอีก แต่เวลาที่พี่ฟังเพลง พี่ไม่อยากให้มันเป็นเหมือนทั่วๆ ไป เพราะว่าเราเล่นเพลงสากลมาตลอด แล้วเราก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้ว ไอ้ตรงนี้มันเอามาใส่เพลงไทยได้ (ก็) ลองดู”
ต่อมา พนเทพ-ชรัสยังได้ทำงานร่วมกับอีกหนึ่งเพื่อนซี้ “ปั่น ไพบูลย์เกียรติ” อันเป็นที่มาของการก่อตั้งค่ายเพลงในตำนานอย่าง “ครีเอเทีย อาร์ติสต์”
ความสำเร็จเดินหน้าเข้ามาต่อเนื่อง เมื่อพนเทพรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์อัลบั้ม “รุ้งอ้วน” และเป็นผู้แต่งทำนองเพลงฮิตตลอดกาล “พี่ชายที่แสนดี” ของ “อุ้ย รวิวรรณ จินดา”
พอครีเอเทียร์ฯ ปิดตัว พนเทพ-ชรัสก็ผันตนเองไปเป็นทีมทำดนตรีฟรีแลนซ์ ที่คอยสรรหาศิลปินหน้าใหม่และผลิตงานเพลงป้อนขายให้แก่บริษัทต่างๆ
พวกเขาผลิตงานเปิดตัวของ “ผุสชา โทณะวณิก” และ “วิยะดา โกมารกุล ณ นคร” ป้อนค่ายแกรมมี่ แล้วทำงานเพลงชุดแรกของ “นีโน่-เมทนี บุรณศิริ” ให้ค่ายคีตาฯ
ก่อนที่พนเทพจะเข้าไปทำงานประจำกับสังกัดใหญ่ “แกรมมี่” ในช่วงกลางทศวรรษ 2530 ตามคำชักชวนของรุ่นพี่โรงเรียนเก่าอย่าง “เต๋อ เรวัต”
อย่างไรก็ตาม พนเทพไม่ได้เดินเข้าแกรมมี่ในฐานะสมาชิกใหม่ของทีมทำดนตรีชุดหลักชุดเดียวที่ควบคุมดูแลโดยเรวัต แต่เขามีสถานภาพเป็นหัวหน้าทีมทำเพลงชุดใหม่อีกหนึ่งทีม ซึ่งมีภารกิจในการเพิ่มผลิตภาพให้บริษัทที่กำลังเติบโต
“คือพี่เต๋อเซ็ตให้เลยว่าเข้าไปแล้วยูเป็นทีมหลักของยูหนึ่งทีมเลย ยูก็โปรดิวซ์งานตามทางที่ถนัด ของเขา (ทีมเต๋อ) ตามทางถนัดเขาก็จะออกร็อกออกอะไรพวกนี้ จากที่พี่ทำ (เพลง) คนเดียว ตอนนั้นมันเริ่มมี (ทีมทำเพลง) ประมาณ 6-7 คนแล้ว มันก็ต้องดูแลกัน แล้วก็มีความรู้สึกว่าถ้าเผื่อไปอยู่ตรงนั้น มันค่อนข้างชัดเจนในเรื่องของรายได้ คือส่วนแบ่งทุกอย่างมันเป็นระบบ เพราะงั้นมันอาจจะทำให้พรรคพวกเราแฮปปี้”
ที่แกรมมี่ พนเทพและทีมงาน อาทิ ธนา ชัยวรภัทร์ (เขียนคำร้อง) มณฑวรรณ ศรีวิเชียร (เขียนคำร้อง) เดอะ มัสต์ กฤชยศ เลิศประไพ (เขียนคำร้อง) เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์ (ทำดนตรี) ปานสรวง-ปวงสรร ชุมสาย ณ อยุธยา (ทำดนตรี) เป็นต้น ได้ร่วมกันผลิตผลงานแนว easy listening ให้ศิลปิน เช่น ชรัส ปั่น “มาลีวัลย์ เจมีน่า” และดาวรุ่งอย่าง “กบ-ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี”
แม้ผลงานเหล่านั้นจะไม่ได้มียอดขายสูงปรี๊ด (ระดับทะลุล้านตลับ) แต่ก็ตอบสนองเป้าหมายทางการตลาดอย่างน่าพึงพอใจทุกชุด
สถานการณ์ที่แลดูราบรื่นภายใต้การบรรจบกันระหว่าง “เสียงเพลง” กับ “ธุรกิจ” พลันต้องพบ “จุดเปลี่ยน” ภายหลังการเสียชีวิตของเรวัต
การเสียชีวิตของ “เรวัต พุทธินันทน์” ในปี 2539 ส่งผลสะเทือนให้บุคลากรสายดนตรีของแกรมมี่หลายรายเลือกจะเดินออกไปเผชิญหน้าความท้าทายใหม่ๆ และ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” คือหนึ่งในนั้น
นอกจากเหตุผลหลักข้างต้น พนเทพและทีมยังเริ่มรู้สึกไม่สนุกกับการทำงานที่ต้องมีโจทย์ทางการตลาดบางอย่างมาคอยกำหนด
เวลานั้น กระแสดนตรีแบบอัลเทอร์เนทีฟกำลังมาแรงในบ้านเรา พนเทพจึงตัดสินใจทำเรื่องสนุกๆ ด้วยการทดลองผลิตผลงานแนวนี้ร่วมกับ “เดอะ มัสต์ กฤชยศ เลิศประไพ” อันนำมาสู่การก่อตั้งค่ายเพลงอินดี้ “โอ! มาย ก็อด”
ด้านหนึ่ง “โอ! มาย ก็อด” ก็เป็นพื้นที่ให้พนเทพได้ลงมือทำอะไรใหม่ๆ ทั้งในแง่การบริหารจัดการไปจนถึงการแต่งเพลง
เจ้าพ่อเพลงรักฟังสบายอย่างตุ่น พนเทพ มีโอกาสแต่งทำนอง-เรียบเรียงเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟร็อกของ “เดอะ มัสต์” ภายใต้นามแฝงว่า “นพย์”
เขายังใช้นามปากกา “นพพล ดีประเสริฐ” ควบบทบาทคนแต่งคำร้อง-ทำนองของเพลงซึ้งๆ ชื่อ “อยู่เพื่อรักเธอ” ซึ่งขับร้องโดย “โจ๊กเกอร์-นพชัย มัททวีวงศ์”
อีกด้านหนึ่ง “โอ! มาย ก็อด” ก็ถือเป็นแหล่งพบปะของ “คนคุ้นเคย” ไม่ว่าจะเป็น “อัญชลี จงคดีกิจ” ซึ่งเคยร่วมงานกับพนเทพเมื่อปี 2531
“กุลวัฒน์ พรหมสถิต” เจ้าของเพลง “ไม่บังเอิญ” ก็เคยทำงานอยู่ในทีมของพนเทพที่ตึกแกรมมี่
ศิลปินเดี่ยวอย่าง “ป้อม-เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์” เจ้าของเพลง “อยากจะมีเธอ” นั้นเป็นอดีตนักร้องนำวง “แฟลช” ส่วนอดีตมือเบสของ “แฟลช” อย่าง “อนุสาร คุณะดิลก” (เหม วงพลอย) ก็มาทำงานเบื้องหลังให้ “โอ! มาย ก็อด” เช่นกัน
นอกจากนี้ “ชนินทร์ โปสาภิวัฒน์” ที่มาร่วมบริหารบริษัท ก็เป็นผู้บุกเบิกค่ายครีเอเทียฯ
แต่ท้ายสุด ค่ายเพลงอินดี้แห่งนี้กลับต้องปิดฉากลงอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ผลประกอบการยังอยู่ในระดับ “โอเค” ด้วยเหตุผลเรื่อง “ปัญหาความไม่เข้าใจกัน” ระหว่างคนทำงานข้างใน
การยุติกิจการของ “โอ! มาย ก็อด” ทำให้พนเทพรู้สึกเจ็บปวด เพราะนี่คือธุรกิจที่เขาลงมือสร้างทุกอย่างขึ้นมาจาก “ศูนย์” ด้วยความหวังจะดูแล “น้องๆ ทีมงาน” ให้มีชีวิตที่ดี
พนเทพเลือกใช้ชีวิตอยู่เฉยๆ ด้วยความผิดหวังนานร่วมปี ก่อนจะได้รับการทาบทามให้กลับเข้าไปทำงานในแกรมมี่เป็นรอบที่สอง
นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญอีกหนสำหรับพนเทพ เมื่อเขาได้รับมอบหมายให้ดูแลทีมทำเพลงที่ชื่อว่า “C&D” ซึ่งมีที่มาจากคำว่า “creative” (สร้างสรรค์) และ “develop” (พัฒนา) ในยุคที่ยักษ์ใหญ่ย่านอโศกมีนโยบายเปิดค่ายเพลงย่อยๆ เต็มไปหมด
หน้าที่หลักของทีมงานชุดนี้คือการเข้าไปช่วยสร้างตัวตน ออกแบบแนวเพลง รวมทั้งวางโจทย์ทางการตลาดให้แก่ศิลปินวัยรุ่น ที่ทางแกรมมี่ยังไม่แน่ใจว่าพวกเขาเหมาะสมกับแนวทางการทำงานแบบไหนกันแน่
ผลผลิตที่โดดเด่นของทีม “C&D” เห็นจะได้แก่การปั้น “ลานนา คัมมินส์” และ “พั้นช์-วรกาญจน์ โรจนวัชร” จนมีชื่อเสียง
การทำงานตรงจุดนั้นได้มอบบทเรียนใหม่ๆ แก่คนดนตรีรุ่นเก๋า เช่นเมื่อทีมการตลาดของค่ายตั้งคำถามกับกลิ่นอายแบบเวิลด์มิวสิกในงานของลานนา ฝ่ายครีเอทีฟประจำทีมของพนเทพจึงแก้เกมด้วยการนำเสนอผลงานดังกล่าวให้ “เอ็มทีวี ประเทศไทย” พิจารณา
และนั่นก็กลายเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ชนิดใหม่ ที่ช่วยให้งานเปิดตัวของศิลปินวัยรุ่นชาวเชียงใหม่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง
“ในฐานะที่เราเป็น ‘creative and develop’ มันไม่ใช่แค่แต่งเพลง มันคือต้องคิดให้เข้ากับตัวศิลปิน แล้วไม่ใช่แค่เข้าอย่างเดียว เพราะเข้าอย่างเดียว มันเป็นตัวศิลปินอย่างเดียว บางทีมันก็ไม่เวิร์กกับแมส ตอนนั้นเราต้องคิดถึงตรงนี้ด้วย มันก็ต้องหาส่วนผสมที่พอดีๆ”
พนเทพทำงานที่แกรมมี่จนเกษียณ แต่ก่อนจะเปิดหมวกอำลาอุตสาหกรรมดนตรี เขาก็ได้พบกับความสนุกครั้งใหม่โดยบังเอิญ
เมื่อโปรดิวเซอร์อาวุโสไปเจอกีตาร์สายไนล่อนไม่ทราบเจ้าของถูกวางทิ้งไว้ในห้องอัดเสียง เขาจึงลองหยิบมันขึ้นมาบรรเลง ด้วยความรู้สึกว่า
“มันจับได้เต็มมือดี เพราะว่ามันไม่ใช่สายเหล็ก แล้วมันไม่ต้องกลัวสายขาด แล้วสายเอ็นมันจะไม่ค่อยเพี้ยน”
ความบังเอิญครั้งนั้นทำให้พนเทพหันกลับมาฟื้นฟูทักษะการเล่นกีตาร์ของตนเอง หลังร้างลาจากเครื่องดนตรีชนิดนี้นานนับทศวรรษ ตั้งแต่เขาต้องเปลี่ยนตำแหน่งไปเป็นมือคีย์บอร์ดของวง “แฟลช” และต่อมา พอได้ทำงานเป็นคนเบื้องหลังเต็มตัว คีย์บอร์ดก็ยิ่งกลายเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่เหมาะสมกับการผลิตผลงานเพลงในสตูดิโอมากกว่า
พนเทพฝึกปรือฝีมือกับกีตาร์สายไนล่อนจนคล่องแคล่วอยู่คนเดียวที่บ้าน ก่อนจะคิดได้ว่าควรมีเพื่อนฝูงที่กิน-เที่ยวด้วยกันมาร่วมสนุกในกิจกรรมนี้
นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “วงนั่งเล่น” ซึ่งประกอบด้วยมิตรสหายคนดนตรีมากมายหลายหลากชีวิต-ประสบการณ์-ความถนัดเชี่ยวชาญ ได้แก่ “กมลศักดิ์ สุนทานนท์” (ร้องนำ) อดีตนักเขียนคำร้องมือวางอันดับต้นๆ ของแกรมมี่ “ปิติ ลิ้มเจริญ” (ร้องนำ-กีตาร์อะคูสติก) อีกหนึ่งนักแต่งคำร้องและทำนองฝีมือดี “เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์” (คีย์บอร์ด) มือแต่งทำนอง-เรียบเรียงที่ทำงานใน “ทีมพนเทพ” มายาวนาน
“อิศรพงศ์ ชุมสาย ณ อยุธยา” (คีย์บอร์ด-เมโลดิก้า) อดีตหัวหน้าวงพลอยและคนเบื้องหลังค่ายแกรมมี่ “ณัฏฐ์ (เทิดไทย) ทองนาค” (กีตาร์ไฟฟ้า) อดีตสมาชิกวงพรรณนาและนักแต่งเพลงที่เคยทำงานกับทั้งแกรมมี่-อาร์เอส “เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์” (เพอร์คัสชั่น) อดีตศิลปินค่าย “โอ! มาย ก็อด” และนักร้องนำวงแฟลช
“พรเทพ สุวรรณะบุณย์” (กลอง) มือกลอง-ซาวด์เอ็นจิเนียร์ ผู้เป็นน้องชายของพนเทพ และ “ศราวุธ ฤทธิ์นันท์” (เบส) ซาวด์เอ็นจิเนียร์คู่ใจของพนเทพในตลอดหลายปีหลั
น่าเหลือเชื่อว่าเพลงแต่งใหม่ (ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา) ของ “วงนั่งเล่น” อาทิ สายลม, ขอคนใจ๋ดีเป็นเพื่อนปี้สักคน, ดอกไม้ในที่ลับตา, อกหักให้มันเท่ๆ หน่อย และ Something Good ล้วนได้รับการตอบรับที่ดีจากแฟนเพลงหลายรุ่น พิสูจน์จากยอดชมคลิปการแสดงสดเพลงเหล่านั้นในโซเชียลมีเดีย ที่ทะลุหลักล้านวิวอย่างสบายๆ
สำหรับพนเทพ จุดประสงค์หลักของ “วงนั่งเล่น” (ที่สมาชิกหลายรายอายุเกิน 60 ปี) ไม่ใช่ความสำเร็จทางธุรกิจ แต่คือการได้มีความสุขกับคนที่อยากจะมีความสุขด้วย การสื่อสารบทเพลงที่มีเนื้อหาเหมาะสมกับวัยของตัวเอง เป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์ ให้กำลังใจ และกระตุ้นให้คนฟังสังเกตเห็นสิ่งที่พวกเขาอาจมองข้ามไปในชีวิตประจำวัน
หรือที่กมลศักดิ์นิยามว่าเป็น “เพลงเพ่งชีวิต”
ขณะเดียวกัน พนเทพยังก่อตั้งวง “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” ร่วมกับเพื่อนเก่าแก่อย่าง “แต๋ม-ชรัส เฟื่องอารมย์” และ “ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว”
ในแง่การรวมกลุ่มเล่นดนตรี โปรเจ็กต์ดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อทั้งหมดไปร่วมร้อง-เล่นเพลง “รักนิรันดร์” ที่เขาใหญ่ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558
ในแง่ชื่อเสียงเรียงนาม การเรียกขาน “แต๋ม-ปั่น” ว่าพวก “ดึกดำบรรพ์” นั้นหลุดออกมาจากปากพนเทพเมื่อครั้งคอนเสิร์ต “รักนิรันดร์” ปลายปี 2558 ก่อนจะได้รับเสียงเชียร์จาก “ธีร์ ไชยเดช” ศิลปินรุ่นน้อง และความเห็นชอบของชรัสกับไพบูลย์เกียรติ
ถึงปัจจุบัน “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” มีคอนเสิร์ตใหญ่และโชว์ย่อยๆ มาแล้วมากมายหลายครั้ง รวมทั้งมีคลิปการแสดงสด (ที่พวกเขามักเรียกว่า “การซ้อม”) ซึ่งเรียกยอดวิวจากผู้ชมคนฟังในโลกออนไลน์ได้ไม่น้อย
อย่างไรก็ดี พนเทพยอมรับว่ายังมีคนจำนวนมากที่อาจสับสนสงสัยว่า “วงนั่งเล่น” และ “ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์” นั้นแตกต่างกันอย่างไร?
“จริงๆ แล้วเนื้อในมันต่างกันโดยชัดเจน คือ นั่งเล่น (ร้อง-เล่น) เพลงใหม่ เป็นเพลงใหม่ที่เราแต่ง ส่วนดึกดำบรรพ์ฯ ถ้าไปเล่นที่ไหน ยังไงคนเห็นหน้าปั่น ก็ต้องขอรักนิรันดร์ รักล้นใจ อะไรพวกนี้ แต่แทนที่ว่าเราจะเล่นเพลงเก่าในรูปแบบเดิม มันเหมือนกับเราไม่ได้ทำการบ้านอะไรมาเลย (ก็) ทำให้มันดีหน่อย ก็เอาเพลงเก่าๆ ของพวกเรานี่แหละ มา (เรียบเรียง) ให้มันดูรู้สึกว่ามีอะไรที่คนดูเขาร่วมได้”
“… โดยตัวชรัสกับปั่น ปกติก็เป็นนักร้องที่รับงานทั่วไปอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคืออาชีพเขาเลย เวลามาทำดึกดำบรรพ์ฯ ไปไหนก็เหมือนกับปกติ ก็คือว่าเป็นงานจ้างศิลปิน ด้วยตัวศิลปินเอง ด้วยตัวเพลง ไปเล่นที่ไหนคนเขาก็รู้จักอยู่แล้วแหละ เขาโอเค แฮปปี้ แต่อย่างนั่งเล่นเป็นเพลงที่สื่อสารเรื่องคอนเทนต์ เพราะฉะนั้น ก็เลยคิดว่านั่งเล่นเนี่ยขอเถอะ ถ้าจะเล่นงานไหน ขอให้เป็นที่ที่เราอยากไป แล้วเรารู้ว่ามีคนอยากฟัง ได้เงินไม่ได้เงินอีกเรื่องหนึ่ง”
ทุกวันนี้ นอกจากเล่นดนตรีกับพี่เพื่อนน้อง พนเทพยังชอบฟังเพลงของศิลปินต่างชาติรุ่นลูก-หลาน เช่น เดอะ เชนสโมกเกอร์ส, บิลลี่ ไอลิช และเจเรมี่ ซัคเกอร์ รวมทั้งชื่นชมเรื่องราวในบทเพลง “Memories” ของวงมารูนไฟว์
พี่ตุ่นยืนยันว่าการทำงานดนตรีไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ และถ้าเราพร้อม “เปิดรับ” อะไรใหม่ๆ เราก็จะได้รับสิ่งดีๆ ย้อนกลับมาเป็นการตอบแทน
สอดคล้องกับที่ “กมลศักดิ์ สุนทานนท์” แห่ง “วงนั่งเล่น” กล่าวยกย่องเพื่อนรุ่นพี่ของเขาเอาไว้ว่า “ตุ่น-พนเทพ สุวรรณะบุณย์” อาจเป็นคนดนตรีรุ่นเกินเจ็ดทศวรรษเพียงรายเดียว ที่ยังขยันขันแข็งและมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานใหม่ไม่ยอมหยุด
ไปพร้อมๆ กับการดำรงสถานะ “มือวางอันดับต้นๆ” ในวงการเพลงได้อย่างต่อเนื่อง
พลาดไม่ได้!! เตรียมพบกับ พี่ตุ่น พนเทพ และพี่ๆ วงนั่งเล่น ได้ที่งาน FEED MUSIC : Green Fest ครั้งที่ 2 งานดนตรีในสวนท่ามกลางลมหนาว ที่จัดขึ้นโดย FEED วันที่ 7 ธ.ค.67 เวลาประมาณ 19.30 – 20.30 น. ณ มิวเซียมสยาม
**เข้าร่วมงานฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่าย**