ป้ามลมันมีความหมายว่า ไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งอำนาจถ้าเรียก ผอ. สำหรับเด็กบ้านกาญจนาฯ มันมีความหมายเชิงอำนาจ ดังนั้นพอเป็นป้ามลความหมายเชิงอำนาจมันก็ลดลง

ป้ามล – ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

นี่คือประโยคแนะนำตัวของ “ทิชา ณ นคร” หรือ “ป้ามล” ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก บอกกับเราก่อนจะเริ่มบทสนทนาผ่านสายตาของผู้ที่ทำงานคลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนมาอย่างยาวนาน ถึงการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่บรรดาเด็กๆ ออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องสิ่งที่พวกเขาต้องการ ซึ่งการกระทำบางอย่างกลับกลายเป็นการแสดงออกที่ก้าวร้าวหรือเอาแต่ใจในมุมมองของผู้หลักผู้ใหญ่

“อำนาจนิยม” มือที่มองไม่เห็นที่กดทับสังคมไทย

“บ้านกาญจนาฯ ที่ป้าทำงานโดยทั่วไปจะเรียกให้ตรงที่สุดและไม่ต้องตีความเลยก็คือ “คุกเด็ก” ประเทศไทยมีคุกเด็กอยู่ 21 แห่ง บ้านกาญจนาฯ เป็น 1 ใน 21 แห่งนั้น ป้าพบว่ากว่าเด็กๆ จะไหลมาถึงจุดที่เรียกว่าปลายน้ำ ต้นน้ำของเด็กๆ ก็คือโรงเรียนส่วนหนึ่ง ก็คือบ้านส่วนหนึ่ง เราพบว่าการที่เด็กๆ เป็นอย่างนี้มันไม่ใช่เป็นปัญหาระดับปัจเจก มันเป็นปัญหาในเชิงโครงใหญ่เลย เพราะว่าถ้าเราจะตีความว่ามันเป็นปัญหาระดับปัจเจกก็ต่อเมื่อมันมีแค่หนึ่งคน สองคน หรือสามคน แต่นี่มันมีเป็นหมื่น มีเป็นแสน ที่เด็กๆ หลุดออกมาจากโรงเรียน หลุดจากครอบครัว เพื่อมาก่ออาชญากรรมและมาติดคุก ซึ่งพอมันหลุดจากสี่คนห้าคนเป็นหมื่นเป็นแสน มันเป็นปัญหาเชิงระบบบางอย่างของประเทศนี้”

บ้านกาญจนาภิเษก ภาพจากมติชนออนไลน์
บ้านกาญจนาภิเษก ภาพจากมติชนออนไลน์

“มันมีระบบอำนาจนิยมทั้งในระดับครอบครัวและในระดับห้องเรียน ซึ่งอำนาจนิยมเหล่านี้พอมันมาถึงจุดที่เด็กคนหนึ่งเป็นวัยรุ่น เขาไม่สยบยอมง่ายๆ นะ มันก็เกิดการปะทะกันหรือไม่อย่างนั้นก็คือเขาเชื่องไปเลย แต่ทั้งสองอย่างนั้นมันก็ไม่ดีต่อการที่จะเป็นพลเมืองในอนาคต ดังนั้นเราก็จะต้องพูดเรื่องของอำนาจนิยมซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการผลักไสไล่ส่งเด็กๆ ออกมาจากพื้นที่ที่ควรจะได้อยู่ เช่น โรงเรียนหรือบ้าน แต่ว่าสังคมไทยยังไม่ค่อยคิดว่าอำนาจนิยมเป็นปัจจัยผลักไสไล่ส่งเด็กๆ เราไม่ค่อยเห็นเพราะว่าเราก็เติบโตมาภายใต้อำนาจนิยมโดยปราศจากข้อสงสัย เราชินกับมัน”

ทิชา ณ นคร หรือ ป้ามล
ทิชา ณ นคร

“เราต้องนึกให้ออกนะว่าไทม์ไลน์ของเด็กรุ่นใหม่กับไทม์ไลน์เวลาของเรามันไม่เหมือนกัน เขาเติบโตภายใต้ระบบนิเวศอีกแบบหนึ่ง สื่ออีกแบบหนึ่ง ป้าเกิด พ.ศ.2495 บวกไปอีก 15 ปี ป้าเป็นวัยรุ่น ความอดทนของป้ายังโอเคนะเพราะว่าเราไม่ได้มีอะไร โลกของเรามันแคบมากติดเพดานอยู่ตรงนั้นแหละ เกิดตรงไหนก็ติดเพดานอยู่ตรงนั้น แต่เราจะเอาสถานการณ์ทั้งหมดนั้นมาวางในปีพ.ศ.นี้ (2566) แล้วบอกให้เด็กๆ ใช้ชีวิตเหมือนเรา อดทนเหมือนเรา เชื่อฟังเหมือนเรา เชื่องเหมือนเรา ป้าคิดว่าเรานี่น่าจะเพี้ยนถ้าเราทำแบบนั้น เราน่าจะต้องเป็นผู้ใหญ่ที่แบบติดกับดักจนกระทั่งเราถอนตัวไม่ขึ้น ไม่ใช่เด็กวัยรุ่นเขาไปเร็ว แต่เราตายช้า”

“ป้าไม่ได้เข้าข้างเด็กวัยรุ่น ป้าทำงานบ้านกาญจนาฯ ซึ่งเป็นเด็กที่ก่ออาชญากรรมขึ้นหน้าหนึ่ง ป้าไม่ได้ตามใจเขา แต่ป้าปลดอำนาจนิยมทุกอย่างออกหมดจากบ้านกาญจนาฯ หนึ่งในนั้นคือบ้านกาญจนาฯ จะไม่มีกุญแจมือ ไม่มียูนิฟอร์ม เพราะว่าทั้งหมดนั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ เราเอาออกไปหมดเลย แล้วเราพบว่าเมื่อเราเอาสัญลักษณ์แห่งอำนาจออกไปทั้งหมดเลยและเปิดพื้นที่ของอำนาจร่วม เช่น ตัดสินใจร่วมกันว่าเราจะเอาอะไรหรือไม่เอาอะไร มันเกิดความปกติสุขอย่างไม่น่าเชื่อ

เกิดก่อนใช่ว่าต้องล้าสมัย

“ถ้าดูจากอายุคน พ.ศ.2495 ป้าก็ยุคเบบี้บูมเมอร์ ป้าต้องเป็นคนรุ่นเก่ามากๆ แต่ว่าเนื่องจากป้าต้องทำงานกับเด็กวัยรุ่นและเป็นวัยรุ่นที่เขาเรียกว่ากู้คืนยากมาก ป้าต้องทำงานกับตัวเองก่อน ป้าต้องชวนเจ้าหน้าที่บ้านกาญจนาฯ ทำงานกับตัวเราเองก่อน อะไรบ้างที่อุปสรรคที่ทำให้เรากับวัยรุ่นมันอยู่ห่างกันคนละขั้ว เราจะต้องทลายมันทั้งหมด เช่น วิธีคิดของเราความเป็นคนอาบน้ำร้อนมาก่อน เราต้องทิ้งมันไปหมดทุกอย่างเลย ดังนั้นถ้านับที่อายุป้าก็น่าจะเป็นพวกฝ่ายอนุรักษนิยม แต่ถ้าวัดจากความคิดวิธีคิดของป้า ป้าคิดว่าป้าอัพเดตตัวเองเสมอเพื่อให้ทันกับเด็กๆ ที่คนที่อยู่ในบ้านกาญจนาฯ”

ป้าคิดว่ามนุษย์ก็ต้องมีเฉดสีเหล่านี้ไม่มีคนไหนดำสนิทแล้วก็ขาวสนิท รวมทั้งตัวพวกเราทุกคนด้วย เราไม่มีขาวและไม่มีดำ เราเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาระหว่างขาว-ดำ-เทากันอยู่อย่างนี้ ดังนั้นอย่ามาตัดสินกันง่ายๆ

“จริงๆ แล้วเคยมีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินไปบ้านกาญจนาฯ เขาก็เคยถามป้าเหมือนกันอะไรคือปัจจัยความสำเร็จของบ้านกาญจนาฯ ป้าบอกว่าถ้าให้พูดตรงๆ มีหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือบ้านกาญจนาฯ มีความเป็นรัฐที่น้อยถึงขั้นไม่มีเลย หนึ่งในนั้นคือมีเรื่องการใช้อำนาจร่วมอย่างจริงจังไม่ใช่พิธีกรรม หมายถึงว่าทำให้ว่าฉันฟังเอ็งนะ ไม่ใช่ แต่ว่ามันตัดสินใจร่วมกันจริงๆ เลยในทุกๆ เรื่อง ดังนั้นป้าคิดว่ามันจึงไม่ได้อยู่ที่อายุมันอยู่ที่ฮาวทูแล้วฮาวทูนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับมายด์เซ็ตของคุณด้วย”

“แต่ถ้ามันไม่มีสิ่งนี้เลยมันมีแค่ความเป็นผู้ใหญ่ล้วนๆ ในนามแห่งกฎ ในนามแห่งระเบียบ ในนามแห่งความปรารถนาดี ในนามแห่งอนาคต คือพัง เพราะจริงๆ แล้วถ้าเด็กเขาฟังเด็กเขาจะไม่ฆ่าคนแล้วมาติดคุก เพราะเขารู้อยู่แล้วฆ่าคนติดคุกมันอาจจะจบอนาคต ดังนั้นเรากำลังทำงานเพื่อกู้เด็กซึ่งอาจจะความคิดยังไม่เสถียรเพื่อดึงเขาออกมา ดังนั้นเราต้องทำงานกับตัวเราเองให้ชัดก่อน ไม่ใช่แค่มีตำแหน่ง ไม่ใช่แค่เรียนจบ ไม่ใช่แค่อาวุโส หรือไม่ใช่แค่เป็นข้าราชการ C8 C9 ซึ่งประเทศเราก็พังด้วยบริบทนี้มาเยอะแล้ว”

ทิชา ณ นคร หรือป้ามล ภาพจากเฟซบุ๊ก Thicha Nanakorn
ทิชา ณ นคร หรือป้ามล ภาพจากเฟซบุ๊ก Thicha Nanakorn

“เหมือนกับ “หยก” คนก็ชอบบอกว่า หยกมันพูดไม่ดีอย่างนู้นอย่างนี้ ตอนอายุ 15 มึงพูดดีขนาดนั้นไหมล่ะ? บางทีเราก็เอาอัตวิสัยของเรา อายุของเราที่เดินทางมาไกลแล้ว นิ่งแล้วในบางเรื่อง แล้วเราก็เอาไปตัดสินเด็ก ซึ่งป้าคิดว่าเวลาเราคุยอย่างนี้มันไม่สร้างสรรค์และเราก็ไม่ได้มีความเป็นผู้ใหญ่ที่มากพอ เราหลงลืมวันคืนที่เราเป็นเด็ก เราหลงลืมการต่อสู้แบบเด็กๆ แต่ว่าจำเป็นต้องมี เพราะนั่นมันเป็นทุนอย่างหนึ่งของมนุษย์ ถ้าเราเชื่องตลอดตั้งแต่เด็กจนกระทั่งโต กระทั่งแก่ เราจะพาประเทศไปไหน ถ้าเราเชื่องขนาดนั้นซึ่งเราก็ไม่ได้ต้องการคนเชื่องไม่ใช่เหรอ ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งก็ชอบบอกว่าเด็กรุ่นใหม่เปราะบาง พอวันหนึ่งเด็กเขาไม่เปราะบางขึ้นมาเราก็สงสัยเขาอีก ตกลงเราต้องการคนแบบไหน ป้าคิดว่าผู้ใหญ่ต้องไปคุยกันเองให้จบก่อนแล้วค่อยมาแสดงตัวต่อสาธารณะว่าฉันจะนำประเทศนี้อย่างไร”

“ที่บอกว่าเราก็ต้องรอเขาไม่ใช่บอกว่ารอก่อนนะ อดทนก่อนนะ พอจบมหาลัยทำงานได้เดี๋ยวเราก็จะได้ในสิ่งที่เราร้องขอทั้งหมดเลย ซึ่งเด็กเขาก็ต้องสวนมาสิ ทำไมต้องรอล่ะ ทำไมต้องอดทนล่ะ ในเมื่อเรารู้สึกได้ว่าเราก็อยากได้สิ่งเหล่านี้ อย่างเช่นการไม่แต่งยูนิฟอร์ม รุ่นพ่อแม่ทนได้เขาก็สงสัยทำไมรุ่นเขาต้องทน เราต้องตอบคำถามนี้อย่างมีเหตุและผล ไม่ใช่บอกว่าฉันทนได้เธอก็ต้องทนได้ อย่างนี้มันไม่ใช่ บทสนทนาแบบนี้มันเป็นบทสนทนาที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัว โรงเรียน ไม่ใช่ว่าเอาในปี พ.ศ.หนึ่ง มาวางทาบของคนปี พ.ศ.หนึ่ง แล้วบอกว่าเราต้องเหมือนกัน”

“ป้าชอบพูดเสมอนะเวลาป้าทำเวิร์คช็อปให้กับพ่อแม่บ้านกาญจนาฯ เพราะพ่อแม่ก็จะบ่นเรื่องลูกเขาสารพัดเลย ป้าบอกว่าป้าเกิด 2495 นะพ่อ ป้าเกิด 2495 นะแม่ แล้วก็บวกไปอีก 15 ปี พ่อกับแม่รู้ไหมคะว่าแรดที่สุดของเด็กหญิง 2495 บวก 15 ปีคืออะไร? งง ก็แค่ไปปูเสื่อดูหนังกลางแปลงใกล้เด็กผู้ชาย นั่นคือแรดสุดของ 2495 บวก 15 ปี ซึ่งมันอธิบายปี พ.ศ.นี้ ไม่ได้เลย มันเปลี่ยนไปหมดไง ป้าคิดว่านั่นแหละคือพื้นที่อุดมคติ มันต้องมีแต่ว่าตอนนี้เราหาผู้ใหญ่ที่จะทำให้ความต่างกันทั้งทางความคิด อายุ เจเนอเรชั่น มันสามารถมาแลกเปลี่ยนกันได้เพื่อทำให้เกิดจุดคานงัดของสังคมไทย เรายังไม่มี ซึ่งมันน่าจะเป็นโจทย์ของทุกคนช่วยกันหาหน่อยว่า จริงๆ แล้วเราต้องการพื้นที่ตรงกลางเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง”

‘ชุดไปรเวท’ ความสวยงามหรือสิทธิในร่างกาย

“เรื่องการแต่งตัวไปรเวทไปโรงเรียนซึ่งเด็กเจนแซตเขาจริงจังกับการแต่งไปรเวทไปโรงเรียนมากนะ ถ้าให้ป้าตีความเขาไม่ได้อยากสวย เขาไม่ได้อยากหล่อ เขาไม่ได้อยากแต่งตัวเพื่อไปเป็นแฟชั่น แต่ในความหมายของเขานั่นคือการได้เป็นตัวของตัวเอง การได้ตัดสินใจบนเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง ซึ่งเราต้องไปให้ถึงตรงนั้นอย่าไปคิดเรื่องไปโรงเรียนก็ไปเรียนหนังสือสิจะมาเอาแต่แต่งตัวได้อย่างไร คือเหตุผลตรรกะของเรากับของเขามันคนละขั้วกันเลย”

ภาพประกอบนักเรียนแต่งชุดไปรเวท จากประชาชาติธุรกิจ
ภาพประกอบนักเรียนแต่งชุดไปรเวท จากประชาชาติธุรกิจ

“ป้าเคยเจอเด็กคนหนึ่ง บ้านกาญจนาฯ เราใช้วิธีดูหนังแล้วใช้วิเคราะห์หนังกันวันนั้นหนังที่เราดูเป็นหนังที่เด็กกลุ่มหนึ่งถูกนำไปสู่พื้นที่ที่คล้ายกับว่าปรับพฤติกรรมพวกเขาที่ประเทศฝรั่งเศส based on true story คือสร้างมาจากเรื่องจริง ก็คือเด็กๆ ต้องเข้าไปอยู่ในที่แห่งหนึ่งเพื่อปรับพฤติกรรม ทันทีที่หลุดประตูเข้าไปเขาต้องถูกถอดเสื้อผ้าหมด เขาต้องถูกโกนหัวหมดเลย แล้วหนังมันก็เดินเรื่องไปจนจบ 1.45 ชั่วโมง พอออกจากห้องดูหนังที่บ้านกาญจนาฯ เรามาวิเคราะห์กัน”

“เด็กๆ พูดชัดมากเลยว่าทันทีที่เนื้อตัวของเขาถูกตัดสินใจโดยคนอื่น ทันทีที่เนื้อตัวร่างกายของพวกเขาโดยเฉพาะวันที่เขาเข้าบ้านแรกรับที่ถูกจับครั้งแรกแล้วมันถูกตัดสินใจโดยคนอื่น ป้ารู้ไหมว่าตัวเรารู้สึกไร้ค่า ตัวเราไร้พลังทันที”

“แล้วเขารู้สึกว่าพลังทั้งหมดมันถูกกู้มาอีกครั้งหนึ่งในวันที่เขามาถึงบ้านกาญจนาฯ เมื่อป้าพูดกับผมว่า “ที่นี่เสื้อผ้าหน้าผมและร่างกายเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ ไปดูกระจกต่างหูคู่ไหน เสื้อผ้าแบบไหน ผมทรงไหน ที่มันเรียกความเชื่อมั่นทั้งหมดของหนูกลับคืนมาได้ให้เลือกเลย ป้าและเจ้าหน้าที่ไม่มีหน้าที่อดทนแต่เรามีหน้าที่ยอมรับ”

“ตอนวิเคราะห์หนังวันนั้นเราได้ฟังความคิดเขาเยอะแยะไปหมดเลยจากหนังเรื่องนั้นทำให้เราเห็นเลยว่า เด็กรุ่นหลังจริงจังกับการที่เขาอยากครอบครองตนเอง สิทธิในเนื้อตัวร่างกายเป็นสิทธิที่เขาอยากตัดสินใจเอง ความหมายมันไม่ได้แคบเท่ากับความหล่อความสวยที่ผู้ใหญ่คิดเอาเอง แล้วอย่ากลัวว่าเมื่อเราปล่อยให้เขาคิดแล้วเขาจะไปตกเหว การที่เราปล่อยให้เขาคิดนั่นแหละจะเป็นวิธีที่ทำให้เขาขึ้นจากเหว”

ก่อนจบการสนทนา “ป้ามล” ฝากถึงคนรุ่นหลังที่กำลังต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่พวกเขาต้องการว่า “เวลาเราเดินผ่านเหตุการณ์ที่มันยากๆ เหตุการณ์ที่มันมีแรงเสียดทานสูงๆ เหตุการณ์ที่ฝุ่นตลบเยอะๆ ถ้าเราพาตัวเองออกมาได้อาจจะบาดเจ็บหน่อยอาจจะบอบช้ำหน่อย แต่สิ่งหนึ่งที่มันออกมาพร้อมกับเราด้วยก็คือ “กูไม่กลัวมึง กูจะไม่เหมือนเดิม” ป้าก็เลยอยากเชียร์ให้ทุกคนเดินเข้าไปในที่ๆ ยากๆ แล้วก็เจอแรงเสียดทาน เจอฝุ่นตลบ เจออะไรก็แล้วแต่ที่รู้สึกผิดหวังมากๆ ผ่านเข้าไปเถอะ ถ้าเราออกมาได้ไม่ตายซะตรงนั้นก่อนเราจะไม่เหมือนเดิม”

รับชมบทสนทนาเต็ม :: เอ็กซ์-อ๊อก talk “ป้ามล ทิชา ณ นคร” เวลาอยู่ข้างคนรุ่นใหม่ ทุกฝ่ายยึดหลักปชต. ประเทศไทยไปรอด

coffee lover and caffeine addict หลงใหลในการเดินทาง เรียนรู้ประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ มองโลกผ่านกล้องถ่ายภาพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก