จากกรณีที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่ละสถาบันการเงินต่างทยอยปรับอัตราดอกเบี้ย ทั้งเงินฝากและเงินกู้
ผลกระทบตรง ๆ คือลูกหนี้รายย่อย ที่เป็นหนี้กับธนาคาร ไม่ว่าจะกู้ซื้อรถ ซื้อบ้าน และอื่น ๆ
อย่างที่ทราบกันดีว่า คนไทยเป็นหนี้กันเยอะมาก เยอะขนาดไหน?
คุณชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เขียนบทความลงใน หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2566 โดยเทียบให้ดูว่า ถ้ามีคนไทยเดินมา 3 คน อย่างน้อย 1 ใน 3 คนนี้จะมีหนี้ และกว่าครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ มีหนี้มากกว่า 1แสนบาท
โดยข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่าตั้งแต่ปี 2563 หนี้ครัวเรือนของไทยมีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงกว่า 80% มาต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีสัดส่วนถึง 87% สะท้อนว่ารายได้ทั้งหมดของประเทศไทย จะเหลือสำหรับใช้จ่ายน้อยลง เพราะต้องรับภาระหนี้สูงขึ้น และอาจกระทบกับความมั่นคงทางการเงินของครัวเรือนไทยจำนวนมาก
นอกจากหนี้ในระบบ ซึ่งหมายถึงการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ แล้ว ยังมีหนี้นอกระบบอีกจำนวนมหาศาล โดยหากจะเปรียบก็คือ หนี้ในระบบคือหนี้ที่เราเห็นตัวเลขจริงๆ เป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง ส่วนหนี้นอกระบบคือสิ่งที่อยู่ใต้ผิวน้ำ และจะมีขนาดใหญ่กว่าหนี้ในระบบหลายเท่า
นอกจากนี้ คุณชญาวดี ยังได้มีคำแนะนำสำหรับคนที่จำเป็นต้องกู้หนี้นอกระบบจริงๆ ดังนี้
1.ให้หากู้จากคนที่รู้จักก่อน เช่น เพื่อน ญาติ เพื่อให้การเจรจาง่ายขึ้น
2.เทียบดอกเบี้ยระหว่างเจ้าหนี้แต่ละรายให้ได้ต่ำที่สุด
3.กู้ในจำนวนเงินที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ เท่านั้น โดยให้นึกเสมอว่า หนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยแพงมาก
4.เมื่อกู้แล้ว ควรปิดหนี้ให้ไวที่สุด โดยเอาหนี้ทุกก้อนมาดู หนี้ก้อนไหนใกล้หมด ปิดจบก้อนนั้น เพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจ
5.หนี้ก้อนไหน ดอกเบี้ยสูง ลองหาทางลดดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นการเจรจากับเจ้าหนี้ หรือกู้เงินจากแหล่งที่ดอกเบี้ยต่ำกว่ามาปิดหนี้ หากกู้จากสถาบันการเงินได้ ก็จะได้สัญญาที่เป็นธรรมกว่า ซึ่งสถาบันการเงินหลายแห่ง ก็เริ่มให้บริการนี้ เพื่อช่วยลูกหนี้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ (สอบถามได้ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213)
สำหรับผู้ที่ต้องการขอคำปรึกษาหรือร้องเรียนเรื่องหนี้นอกระบบ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (กระทรวงการคลัง) โทร. 1359 หรือศูนย์ดำรงธรรม (กระทรวงมหาดไทย) โทร. 1567
นอกจากนี้ ยังมีคำเตือนจาก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) รวมทั้งที่ปรากฏชื่อเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโควตาของ “พรรคเพื่อไทย” และเป็น 1 ใน ทีมที่ปรึกษา คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคในช่วงหาเสียง
ดร.ศุภวุฒิ พูดถึงการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจอย่างน้อยในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยย้ำว่าสภาพคล่องจะหายากมากขึ้น
“ประการแรกในฐานะประชาชนทั่วไป คงต้องมีข้อมูลที่ดี พยายามศึกษาข้อมูล รับรู้ข้อมูลให้ดี อย่าให้อะไรมันเกิดขึ้น แล้วคุณตกใจไม่รู้เรื่อง ต้องยอมรับรู้เรื่อง ประการที่สอง ผมคิดว่าแต่ละคนต้องระมัดระวังตัวเองอยู่แล้ว เพราะประเทศไทยเรา เห็นเลยว่าเรามีปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้ของเอสเอ็มอี ต้องระมัดระวังการสร้างหนี้เพราะดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น สภาพคล่องดูแลของตัวเองให้ดี อีกทั้ง สภาพคล่องจะหายากขึ้นเรื่อยๆ”
ชมคลิปคุณศุวุฒิ สายเชื้อ กล่าวถึง การรับมือกับภาวะเศรษฐกิจอย่างน้อยในอีก 12 เดือนข้างหน้า