คำว่า “เหี้ย” พูดเบาๆ ก็เจ็บได้ เหตุไฉนชื่อสัตว์เลื้อยคลานตัวนี้จึงกลายเป็นมาเป็นคำที่คนไทยนำมาใช้สำหรับด่า อุทาน หรือแม้แต่ชื่นชมในเชิงบวก
“ตัวเหี้ย” หรือเรียกแบบสุภาพคือ “ตัวเงินตัวทอง” ชื่อวิทยาศาสตร์ Varanus salvator เป็นสัตว์เลื้อยคลานพบในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีถิ่นที่อยู่อาศัยใกล้กับแหล่งน้ำ มีความยาวประมาณ 2.5 – 3 เมตร ใหญ่เป็นอันดับสองรองมาจากมังกรโกโมโดที่พบบนเกาะโกโมโด ประเทศอินโดนีเซีย มีลิ้นสองแฉกคล้ายกับงูสำหรับรับกลิ่นอาหาร มีลายดอกสีเหลืองพาดขวางทางยาว ชอบอาศัยอยู่บริเวณใกล้แหล่งน้ำ ว่ายน้ำเก่งและดำน้ำนาน มีเล็บที่แหลมคมสำหรับการปีนป่าย ซึ่งสามารถปีนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว
ตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 19 ผู้ใดจะล่า เลี้ยง ซื้อขาย หรือครอบครองไม่ได้ หากต้องการจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากข้อมูลของ “ฮิมวัง” ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมระบุว่า ในอดีตนั้น ‘ตัวเหี้ย’ ถือว่าเป็นสัตว์อุบาทว์ด้วยลักษณะรูปร่างที่น่าเกลียดน่ากลัว โดยในหนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2416 มีการบัญญัติคำว่า “เหี้ยขึ้นเรือน” เอาไว้ โดยอธิบายว่า “คือเหี้ยมันมาขึ้นเรือน, เขาถือว่าจะถึงความฉิบหายแห่งทรัพย์นั้น”
นอกจากเหี้ยแล้วในคัมภีร์อภิโพไธยุบาทว์ยังระบุถึงสัตว์อีกหลายชนิดที่หากเข้าบ้านใครแล้วจะนำมาซึ่งโชคร้ายหรือเรื่องราวไม่ดี เช่น แร้ง, งู, ตะกวด, นกเค้า, นกยาง, หมาจิ้งจอก, รุ้ง, ผึ้ง, เต่าขวานฟ้า, และสัตว์ป่าทั้งปวง อย่างไรก็ตามในคัมภีร์ระบุถึงวิธีแก้เคล็ดด้วยการให้บูชาเหล้า, ข้าว และธูปเทียน
คำด่าที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4
เหี้ยถูกนำมาใช้เป็นคำด่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 เป็นอย่างน้อย ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เล่ม 7/9 แผ่นที่ 1-51 ตุลาคม ร.ศ. 110 – ตุลาคม ร.ศ. 111 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคำด่าว่าเหี้ย สรุปได้ดังนี้
- เหี้ย เป็นกิริยา หมายถึงการทำหน้าไม่ปกติ เพราะความกระดากประกอบกับความจนใจ แก้ไขไปไม่รอด ทำท่าแหะๆ อยู่เช่นนั้นก็เรียกว่า เหี้ย
- เหี้ย ใช้เรียกผู้ที่ทำให้ที่พักอาศัยสิ้นทรัพย์ไปฉิบหายไป เมื่อคนบางคนจะกล่าวโทษหรือด่าทอ ก็มักกล่าวว่า เหี้ย
- เหี้ย เป็นคำเปรียบเอาไว้เรียกชื่อคนร้ายคนชั่ว ดังคำว่า “อ้ายเหี้ย” เพราะเชื่อกันว่า เหี้ยเป็นสัตว์อุบาทว์อย่างหนึ่ง ถ้าเข้าบ้านเรือนใครก็เป็นอุบาทว์จัญไร
- เหี้ย ใช้เป็นคำด่า เมื่อสัตว์ประเภทใดเข้าบ้านแล้วทำเรื่องฉิบหาย ก็เรียกว่า เหี้ย
สาเหตุที่ตัวเหี้ยไม่น่าพิสมัยสำหรับคนมาจากพฤติกรรมการกินของตัวมันเอง คือ หนึ่ง นิสัยขี้ขโมย เหี้ยชอบลักของกินไม่ว่าจะเป็น เป็ด ไก่ ของสดและของคาว สอง คือ ชอบกินของเน่าเหม็นและซากสัตว์ นอกจากนี้โดยธรรมชาติเหี้ยมักอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ที่รกชื้นเต็มไปด้วยโคลน เหี้ยจึงเป็นสัตว์ที่ไม่สะอาดในสายตาคน
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้คำว่า “เหี้ย” ถูกใช้ในบริบทที่แตกต่างจากเดิมไม่ใช่แค่ในเชิงลบเท่านั้นแต่ยังเปลี่ยนเป็นคำในเชิงบวกด้วย เช่น “สวยเหี้ยๆ” หมายถึง สวยมากๆ , “เหี้ยไรเนี่ย” หรือ “เชี่ยไรเนี่ย” คำสบถที่ใช้แสดงความประหลาดใจ
ชื่อไม่เพราะต้องขอเปลี่ยน
ด้วยความที่คำว่า เหี้ย นั้นฟังดูไม่สุภาพ เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ว่า “นายชัชวาล พิศดำขำ” ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะนั้นมีความคิดอยากเปลี่ยนชื่อตัวเหี้ยเป็น “วรนุช” ล้อไปตามชื่อวิทยาศาสตร์ที่ว่า Varanus salvator ซึ่งอาจจะทำให้คนดูถูกเหยียดหยามสัตว์ชนิดนี้น้อยลง
ความต้องการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้กลับสร้างความไม่สบายใจให้กับหลายคนที่มีชื่อว่าวรนุชอย่าง “นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี” (นามสกุลเดิม วงษ์สวรรค์) นักแสดงสาว ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “รู้สึกเฉยๆ เพราะมีคนที่ชื่อว่าวรนุชหลายหมื่นคน ชื่อนี้บุพการีเป็นผู้ตั้งให้ มีความหมายว่าหญิงผู้ประเสริฐ” ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีเสียงคัดค้านโดยมองว่าการใช้คำว่า ตัวเงินตัวทอง ก็ถือว่าสุภาพเหมาะสมแล้ว
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
- ศิลปวัฒนธรรม : https://www.silpa-mag.com/culture/article_84796
- มติชนออนไลน์ : https://www.silpa-mag.com/culture/article_84796
- บีบีซีไทย : https://www.bbc.com/thai/thailand-59662883
- วิกิพีเดีย : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2