ในภาพคือ นางโรเบิร์ต ลอค กับ แมวสยาม คาลิฟ (ตัวกลาง), สยาม (ตัวบนตัก) และ แบงคอก (บนไหล่)
บันทึกของนักวิฬาร์ศึกษารุ่นบุกเบิกอย่าง แฮร์ริสัน วิลเลียม เวียร์ จนถึงงานของ เมย์ อุสทัซ (May Eustace) มักจะระบุเรียก “Siamese cat” ด้วยอีกคำหนึ่งสลับกันคือคำว่า “Royal cat” สืบเนื่องจากมีข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางออกนอกประเทศของแมวสยามในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 เช่น แมวของ เลดี้โดโรธี เนวิลล์ (Lady Dorothy Neville) เมื่อ ค.ศ. 1872/พ.ศ. 2415 ซึ่ง แฮร์ริสัน วิลเลียม เวียร์ ได้มีโอกาสพบและได้ฟังประวัติเรื่องราวของมัน เนวิลล์ได้มันมาโดย เซอร์ อาร์. เฮอร์เบิร์ต (Sir. R. Herbert) เจ้าหน้าที่อาณานิคมอังกฤษนำมันมามอบให้ แต่ผู้ที่นำมันมาจากสยามให้เขาคือ นายพล วอล์คเกอร์ (General Walker) ซึ่งได้รับมันมาจากพระราชวังกรุงเทพฯ ไม่ระบุว่าเป็นวังใด ภรรยา นายพล วอล์คเกอร์ยังเล่าแก่เวียร์ถึงลักษณะเด่นของมันว่า “เลี้ยงง่าย ชอบกินข้าวกับปลา”
ด้วยความที่มันถูกนำมาจากพระราชวัง (ของสยาม) ก็เลยเป็นที่เข้าใจไปว่าเป็น “แมวหลวง” (Royal cat) หรือ “แมวในวัง” ตัวหนึ่ง (a cat in the palace) แต่ทว่าแมวชนิดเดียวกันนี้ก็เป็นแมวที่ไพร่ราษฎรนิยมเลี้ยงกันทั่วไป ซึ่งนั่นเป็นร่องรอยหลักฐานแสดงว่าในวังกับตามบ้านเรือนของราษฎรชาวสยามนั้นต่างก็มีเลี้ยงแมวชนิดเดียวกัน
แต่ความเข้าใจของชนชั้นนำอังกฤษเวลาเมื่อแรกมันเดินทางไปนั้น เขาเชื่อกันว่ามันเป็นแมวเฉพาะของชนชั้นสูงในสยาม และนั่นก็ทำให้พวกเขาเปิดใจรับพวกมันเข้าสู่พระราชวังของอังกฤษเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของชนชั้นสูงด้วยกัน อีกทั้งการมีสัตว์เลี้ยงจากประเทศห่างไกลในย่านละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงกับอาณานิคมของตนในอุษาคเนย์ ทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในสถานะอำนาจบ่งชี้อัตลักษณ์ความเป็นเจ้าอาณานิคม (Colonial identity) ของคนชั้นนำประเทศที่ “พระอาทิตย์ไม่ตกดิน” อีกทางหนึ่ง
ภายหลังเมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วว่าเป็นแมวทั่วไป เหล่าผู้ดีอังกฤษก็เปลี่ยนมานิยมเรียก “Siamese cat” กันขึ้น คำว่า “Royal cat” หรือ “Royal Siam cat” ก็ค่อยๆ หมดความนิยมเรียกไป กล่าวกันว่าที่อังกฤษพวกมันได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากชนชั้นสูงที่เลี้ยงเป็นอย่างดี ความพยายามในการดูแลสุขภาพ พิถีพิถันกับข้าวปลาอาหาร ตลอดจนการบำรุงสารพัดวิธีเพื่อให้มันได้มีชีวิตอยู่ได้นาน นำมาซึ่งการปรับปรุงองค์ความรู้สัตววิทยาและสัตวแพทย์ในเวลาต่อมา เพราะแมวที่ไปจาก “โลกอาณานิคม” มักจะอายุสั้น ไม่แข็งแรง
อย่างไรก็ตาม การที่พวกมันได้ไป “โกอินเตอร์” กันมากในช่วงนั้น ทั้งในอังกฤษและอเมริกา ส่งผลทำให้สถานภาพของญาติพี่น้องร่วมเผ่าพันธุ์ของมันที่ยังอยู่ประเทศแม่ (สยาม) ได้รับการปรับปรุงแก้ไขในทางที่ดีขึ้นด้วย จากเดิมที่ “แมวขาว” ไม่เป็นที่ต้องการด้วยถือเป็น “แมวอัปมงคล” ตามตำราแมวที่แต่งเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็กลายมาเป็น “แมวมงคล” อีกชนิดหนึ่ง ไม่เพียงแต่นิยมเลี้ยงกันตามบ้านเรือนของไพร่ราษฎร ในพระบรมมหาราชวังเองพวกมันก็เข้าไปยึดไว้ได้เป็นที่เรียบร้อย
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศช่วงนั้นกล่าวกันว่า มี 2 สิ่งที่ทำให้ชาวตะวันตกรู้จักสยามประเทศ คือ ฝาแฝดอิน-จัน กับ “ไซมีสแคต” โดยมีแมวสำคัญปรากฏชื่อในช่วงนี้ ได้แก่ “พ่อ” “แม่” ที่อังกฤษ “ไซแอ้ม” ที่อเมริกา ตลอดจนแมวดำตัวจ้อยที่เป็น “เพื่อนรัก” ของนักเขียนอัจฉริยะอย่าง เอ็ดการ์ อัลลัน โพ ผู้โด่งดัง ความเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างประเทศของเหล่าบรรดาเจ้าแมวเหมียว “ไซมีสแคต” นี้เป็นที่รับรู้ของราชสำนักสยาม เมื่อมีชาวต่างชาติเข้าเฝ้าทูลลากลับประเทศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมักพระราชทานแมวให้เขานำกลับไปด้วยเสมอ
กล่าวได้ว่าแมวคือ “ซอฟต์พาวเวอร์” ของสยามในยุคเผชิญหน้ากับจักรวรรดินิยมตะวันตก เพราะเหตุนี้ด้วยหรือไม่สยามถึงไม่เป็นเมืองขึ้นโดยตรงในสมัยนั้น อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันครับ (ฮ่า ฮ่า ฮ่า)
อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง เมื่อแมวเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ของสยามยุคโคโลเนียล เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ ใน E-Magazine ศิลปวัฒนธรรม มกราคม 2566
ซื้อ E-Magazine : http://bit.ly/SILAPAWATTANATHAM
สมาชิก E-Magazine 6 เดือน รับส่วนลด 10%
สมาชิก E-Magazine 1 ปี รับส่วนลด 15%
.
สามารถอ่านได้ทั้งระบบ ios และ Android ผ่าน Application
Ookbee, MEB, SE-ED, NAIIN, Hytexts, Google Play Books
.
#แมว#ทาสแมว#softpower#ประวัติศาสตร์#ศิลปวัฒนธรรม#Emagazine#MatichonMIC