ถ้าเราไม่ใช่สโมสรใหญ่จริง เราไม่มีสายป่าน เราไม่ได้มีเงินเป็นก้อนใหญ่ๆ สำรองไว้ ไม่มีทางเลยที่จะทำฟุตบอลไทยได้ อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันเป็นความเจ็บปวดของคนทำฟุตบอล
มิตติ ติยะไพรัช ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด
แฟนบอลไทยได้เฮกันอย่างสุดเหวี่ยงไปแล้ว หลังจากขุนพลแข้ง “ช้างศึก” ทีมชาติไทย ผงาดครองแชมป์อาเซียน หรือ เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คัพ 2022 ได้เป็นสมัยที่ 7 ต่อจากปี 1996, 2000, 2002, 2014, 2016, 2020 และ 2022 โดยนัดชิงชนะเลิศทีมชาติไทยเอาชนะคู่ปรับตลอดกาลอย่าง เวียดนาม ด้วยสกอร์รวม 2 นัด 3-2
ผลงานความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ต้องยกเครดิตให้กับนักฟุตบอล สตาฟโค้ชผู้ฝึกสอน และทีมงานเบื้องหลังทุกคนที่ทำงานกันอย่างหนัก ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์ จนสามารถสร้างความสุขและทำให้คนไทยทั้งประเทศกลับมามีรอยยิ้มได้อีกครั้ง
เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าก่อนหน้านี้แฟนบอลไทยต้องพบเจอความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า กับผลงานของทีมชาติไทยในระดับเยาวชนที่ฟอร์มการเล่นตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย เช่น ชุดยู-23 ปี แพ้ให้กับ เวียดนาม 0-1 ในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
รวมถึงแมตช์ที่ช็อคความรู้สึกแฟนบอลชาวไทยทั้งประเทศ เมื่อแข้งชุดยู-19 ปีแพ้ให้กับ สปป.ลาว อย่างหมดรูป 0-2 ในศึกฟุตบอลยู-19 ปี ชิงแชมป์อาเซียน 2022 รอบรองชนะเลิศ ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนกรกฎาคม ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกับผลงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ
จากความสำเร็จของทีมชาติไทยชุดใหญ่ และความล้มเหลวของช้างศึกหนุ่มชุดยู-19 ปี และยู-23 ปี FEED จึงชวน “ฮั่น” มิตติ ติยะไพรัช ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด มาพูดคุยกันในประเด็นทิศทางและแนวทางการพัฒนาวงการฟุตบอลไทย
เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่าแฟนบอลไทยทั้งประเทศ ก็อยากจะเห็นทีมชาติตัวเองประสบความสำเร็จยืนหนึ่งในอาเซียนทุกรุ่นอายุ พร้อมๆ กับยกระดับขีดความสามารถเพื่อมุ่งสู่เส้นทางที่ยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระดับทวีปและฟุตบอลโลกที่เราวาดฝันไว้
มิตติ ติยะไพรัช : ในวันนี้ฟุตบอลไทยถ้าพูดถึงเรื่องของจุดแข็งก็คงจะเป็นในเรื่องของการบริหารงานที่ค่อนข้างจะเป็นมืออาชีพ ในเรื่องของการทำงานรูปแบบบริษัท แต่สิ่งที่เป็นจุดด้อยของสมาคมฟุตบอลฯ ตอนนี้ก็คือการที่จะมองในระยะยาว ซึ่งการให้โอกาสกับเยาวชนไทย การสร้างระบบ ผลักดันเยาวชนขึ้นสู่สารบบของฟุตบอลไทย ก็ยังคงทำได้ดีไม่พอ
ในวันนี้ CO- Product ของสมาคมฟุตบอลฯ ของฟุตบอลไทยก็คือฟุตบอลลีก วันนี้หลังจากที่มีวิกฤตโควิด ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเงินสนับสนุน สปอนเซอร์ ผู้สนับสนุนต่างๆ ลดเงินเข้ามาสนับสนุน ซึ่งหลายๆ สโมสรก็ยังมีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ทัน
พอเกิดการประกาศลดเงินสนับสนุน มันก็ทำให้หลายๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะสโมสรสมาชิกก็ค่อนข้างที่จะได้รับปัญหา และส่งต่อเป็นลูกโซ่ไปถึงนักฟุตบอล สตาฟโค้ช และบุคลากรต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ก็จะเห็นข่าวว่าตอนนี้ฟุตบอลไทยค่อนข้างที่จะมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ่ายเงินช้า หรือว่าอาจจะไม่ได้รับเงินเดือนเลย
ผมคิดว่าจุดยืน และความสำคัญของสมาคมฟุตบอลไทย ณ วันนี้ ถ้าเป็นในระยะที่จะต้องทำเร่งด่วนเลย ผมคิดว่าคงจะต้องเริ่มกลับมาจ่ายเงินและสนับสนุนเงินให้ตรงกับวันที่กำหนดก่อน ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุด ถึงแม้จะมีการกล่าวอ้างอะไรต่างๆ แต่ผมคิดว่าถ้าสโมสรเดินไปไม่ได้ สมาคมฟุตบอลฯ ลีกไทย รวมถึงบริษัทไทยลีกเราล้มแน่นอน
เพราะฉะนั้นอันนี้คือการแก้ปัญหาในระยะสั้น ในระยะยาวต่อมาก็คือการที่จะต้องสร้างแรงจูงใจให้กับสโมสรได้มีการพัฒนาในเรื่องของระบบเยาวชน แล้วก็โครงสร้างพื้นฐาน
หากโครงสร้างพื้นฐานของสโมสรยิ่งดี ก็เหมือนนักฟุตบอลที่มีเบสิคที่ดี ถ้าเรามี foundation มีฐานที่แข็งแกร่ง ทุกๆ สโมสรจะเป็นเครื่องจักร จะเป็นแรงสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดนักกีฬาเก่งๆ เข้ามาสู่ทีมชาติไทยในอนาคต
สมาคมฟุตบอลฯ ยุค พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง บริหารงานเป็นมืออาชีพ แต่ขาดความเข้าใจ
มิตติ ติยะไพรัช : ผมคิดว่าในช่วง 4 ปีแรกท่านก็ทำได้ดีในเรื่องของการมาจัดระบบ ระเบียบให้สมาคมฟุตบอลฯ ได้มีความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือความเข้าใจที่มีให้กับวงการกีฬาฟุตบอล เพราะหลายๆ เรื่องหลายๆ ครั้งการตัดสินใจไม่ได้มาจากพื้นฐานที่มีความเข้าใจในเรื่องของฟุตบอลมากพอ
โดยเฉพาะไม่ได้เข้าใจว่าพื้นฐานของคนทำฟุตบอลเขาต้องการอะไร ปัญหาสำคัญที่ควรจะต้องเอามาแก้ไขเร่งด่วนนั้น มันไม่ได้รับการ prioritize หรือไม่ได้รับการจัดลำดับว่าอันไหนคือเร่งด่วน ระยะกลาง-ยาว ก็เป็นการตัดสินใจโดยที่ไม่ได้มีส่วนร่วมของสมาชิกสักเท่าไรนัก
สิ่งสำคัญที่สุดคือวิสัยทัศน์ การพัฒนาเยาวชน การสร้างพื้นฐานระยะยาว ควรจะต้องถูกกำหนดออกมาแล้วว่าแต่ละสโมสรควรจะต้องมีพื้นฐาน มีให้จัดลำดับความสำคัญอย่างไร เป็นขั้นเป็นตอน
ก่อนที่เราจะไปกำหนดว่าปีนี้เราจะไปฟุตบอลโลก หรืออีก 10 ปีเราจะไปฟุตบอลโลก ผมคิดว่าภายใน 2 ปีนี้ แต่ละสโมสรควรจะต้องมีอะไรก่อน ภายใน 4 ปีข้างหน้าระบบเยาวชนควรจะต้องพัฒนาถึงขั้นไหน ต้องมีโค้ชกี่คนอย่างไร รวมไปถึงเม็ดเงินที่จะนำเข้ามาสนับสนุนก็ควรจะมีเป็นพื้นฐานให้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับแต่ละสโมสร
วิสัยทัศน์ตรงนี้มันคือความสำคัญที่จะทำให้วงการฟุตบอลไทยสามารถที่จะพัฒนาได้ ไม่ว่าจะเป็นสโมสรเล็ก หรือสโมสรใหญ่ ซึ่งวันนี้การบริหารต่างๆ มันทำให้เห็นว่าถ้าเราไม่ใช่สโมสรใหญ่จริง เราไม่มีสายป่าน เราไม่ได้มีเงินเป็นก้อนใหญ่ๆ สำรองไว้ ไม่มีทางเลยที่จะทำฟุตบอลไทยได้ อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่ามันเป็นความเจ็บปวดของคนทำฟุตบอล
นอกจากนั้นการที่นายกสมาคมฯ คนต่อไป หรือในอนาคตที่อยากที่จะเห็นก็คือ อยากจะให้มีความเข้าใจในเรื่องของตัวสมาชิกสโมสรด้วย แล้วก็ควรที่จะให้สโมสรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในการพัฒนาให้มากขึ้น อันนี้คือสิ่งที่อยากจะเห็นจากนายกสมาคมฯ คนต่อไป
ใช้ของแบรนด์เนมไม่ตอบโจทย์ ประเทศไทยต้องมีศูนย์กลางพัฒนานักกีฬาในแต่ละภูมิภาค
มิตติ ติยะไพรัช : การที่ใช้ของแบรนด์เนม หรือบริษัทชื่อดังที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งเขาไม่ได้มีความเข้าใจ คือฟุตบอลถึงแม้คุณจะเก่งที่อังกฤษหรือบราซิลมา แต่ยังไงก็ตามคุณต้องใช้เวลาในการที่จะต้องปรับพื้นฐาน ปรับความเข้าใจ รวมไปถึงการสร้าง knowledge ของตัวเองกับวัฒนธรรมผู้เล่น รวมไปถึงพื้นฐานจิตใจ
วันนี้พวกเราพูดถึงการสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ นั่นคือการที่เอามารวมศูนย์อยู่ตรงกลาง ผมไม่เคยมีความคิดตรงนี้มาก่อน ผมคิดว่า prioritize แรก คือต้องกระจายศูนย์ฝึก ต้องมีศูนย์กลางในการพัฒนานักกีฬาในแต่ละภูมิภาค
ประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการเก็บสถิติ ไม่ได้ให้ความสำคัญของการอบรมโค้ช ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการที่จะทำทัวร์นาเมนต์ให้ได้มาตรฐาน วันนี้เราจะสังเกตนักกีฬาฟุตบอลอายุ 10 ปี ก็ยังเตะฟุตบอลไซซ์เท่ากับผู้ใหญ่ ซึ่งตรงนี้ในประเทศต่างๆ ที่เขาพัฒนานักกีฬาเยาวชนขึ้นมาเป็นลำดับเป็นขั้นตอน เขาจะทำไซซ์ตามแต่ละอายุเลย
การเก็บสถิติต่างๆ คือสิ่งสำคัญ นี่คือหัวใจว่านักกีฬาคนนี้เราใช้สถิติเป็นตัวกรองเลย เป็นตัวพัฒนาเลยว่าคนนี้ทำผลงานได้ดีไหม พอมีตัวเลขที่ดีขึ้นมาแล้วสามารถพัฒนาได้ตลอด อันนี้จะเป็นสิ่งที่ทีมชาติจะเอามาใช้ในการตัดสินใจเลือกนักฟุตบอล
แต่วันนี้เรายังไม่มีอะไรเลย คิดว่าเราจะต้องรวมศูนย์ ทำศูนย์ฝึกกีฬา ซึ่งมันยาก มันเป็น Budget มันเป็นโครงสร้างใหญ่ ถ้าเราไปใช้เวลาตรงนั้น เราต้องไปหาเงินตรงนั้น ผมคิดว่าเราควรจะสร้าง Foundation ตรงนี้ให้มันเกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาคก่อน และต้องควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจ
เหมือนที่ผมพูดว่าสโมสรเล็กๆ ถ้ามีแผนงานที่ดี มีความตั้งใจมากพอ สมาคมฯ ก็ควรจะมีงบประมาณเจียดให้กับตรงนั้น ฟุตบอลหรือกีฬาในต่างประเทศ อย่างอเมริกาเขาจะให้แต้มต่อกับทีมที่ได้อันดับต่ำ เพราะจะให้สิทธิ์ดราฟต์นักกีฬาที่ดีที่สุดก่อน ซึ่งการันตีเป็น Salary อยู่แล้ว
แต่ในประเทศไทยวันนี้ไม่มีแต้มต่อ ความเหลื่อมล้ำในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ การเมืองแล้ว ในฟุตบอลไทยก็มี อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ และยังไม่ได้รับการแก้ไข
มิตติ ติยะไพรัช กล่าวทิ้งท้าย