ปัจจุบันหลายภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ กำลังพูดถึงภาวะโลกร้อน ซึ่งนำมาสู่การแปรปรวนของสภาพอากาศ อันมีผลต่อทุกการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ด้วยเหตุที่การแปรปรวนนี้ ทำให้เราคาดการณ์ วางแผน ทำธุรกิจหรือการดำเนินชีวิตยากขึ้นรวมทั้งในการค้าระดับโลก ก็ไม่แน่ว่า ต่อไปจะมีการนำสิ่งนี้มาเพื่อกีดกันการค้าหรือไม่
ขณะนี้ ภาคธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรม จะต้องหันมามองถึง คำว่า “ภาวะโลกร้อน ก๊าซเรือนกระจก ความยั่งยืน และคาร์บอนเครดิต” เพื่อนำไปสู่ความสง่างามในเวทีการค้าระดับประเทศและระดับโลก
“คุณสุมน สุเมธเชิงปรัชญา” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและแผนกลยุทธ์ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้เผยข้อมูลว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยเอง โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ก็ต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเอง เพื่อแสดงความรับผิดชอบทางสังคม รวมทั้งได้ประหยัดพลังงานไปด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. ก็แจ้งไว้ว่า นอกจากมีรายงานแล้วจะต้องได้รับการรับรองจากองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบด้วย
“ปัจจุบันราว 500 องค์กรทั่วโลก ประกาศว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี ค.ศ.2065 ซึ่งประเทศไทยมี 48 องค์กรที่เข้าร่วมและเป็นองค์กรในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด” คุณสุมน กล่าว
การที่ ก.ล.ต. ได้เข้ามามีส่วนร่วมก็เป็นการตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการดำเนินธุรกิจที่มีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมุ่งเน้นความร่วมมือจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดีและส่งผลให้เกิดการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในองค์กร
ดังที่กล่าวข้างต้น ภาวะโลกร้อน มีผลต่อเนื่องมาจาก “ก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งในเว็บไซต์สำนักงานโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอธิบายว่า ก๊าซเรือนกระจกมีทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติ (Natural Greenhouse Gas) เช่น ไอน้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากหายใจของสิ่งมีชีวิต เป็นต้น และก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมของมนุษย์หรือเรียกได้ว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้น (Anthropogenic Greenhouse Gas) เช่น ก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินในกระบวนการการผลิตไฟฟ้า การเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ กระบวนการหมักของจุลินทรีย์จากน้ำในนาข้าว กระบวนการในภาคอุตสาหกรรม เช่น การผลิตปูนเม็ด กระบวนการทางเคมีต่างๆ สารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ แอร์รถยนต์และระบบทำความเย็นในอาคาร เป็นต้น
คุณสุมนกล่าวอีกว่า การที่องค์กรต่างๆ ประกาศว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero นั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ปล่อยเลย จึงนำมาสู่การชดเชยด้วยการซื้อ คาร์บอนเครดิต ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้ CDM หรือ Clean Development Mechanism ซื้อขายในต่างประเทศได้แต่อยู่ระหว่างตกลงว่า จะได้ไปต่อไหมหลังมี “ความตกลงปารีส” (ความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ความตกลงดังกล่าวเจรจากันในช่วงการประชุมภาคีสมาชิกของ UNFCCC ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส)
กระนั้นทางการไทยก็ปรับตัวมาตั้งแต่ปี 2556 โดยคิดมาตรการภายในที่เรียกว่า T-Ver หรือการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เป็นโครงการที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิต ไปขายในตลาดคาร์บอน
คาร์บอนเครดิตคือ ใบรับรองปริมาณความสำเร็จในการลด การกักเก็บก๊าซเรือนกระจก จากการดำเนินโครงการ T-Ver มีหน่วยเป็น “ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า” ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากผู้ประเมินภายนอก และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
สรุปง่ายๆ คาร์บอนเครดิตคือ การลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากการโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เปรียบเทียบระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ยังไม่ได้เข้าโครงการเทียบกับช่วงที่เข้าโครงการแล้ว ลดได้เท่าไหร่ นำมาหักลบ คิดเป็นคาร์บอนเครดิตที่นำไปซื้อขายได้