วงรอบปฏิทินเวียนมาจนครบ 4 อีกครั้ง เท่ากับได้เวลาของ ฟุตบอลโลก ทัวร์นาเมนต์ที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกรอคอย เพียงแต่ครั้งนี้มาในแบบที่ไม่คุ้นเคยทั้งสถานที่และเวลา เพราะเป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกจัดในดินแดนตะวันออกกลาง คือ กาตาร์ แถมยังต้องย้ายเวลาจากเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม มาเป็น พฤศจิกายน-ธันวาคม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่จะไม่โหดร้ายกับการแข่งขันกีฬากลางแจ้งจนเกินไป
แม้กระแสฟุตบอลโลก 2022 ในบ้านเราจะเงียบเหงาไปกว่าทุกคราว (และเกือบจะไม่มีการถ่ายทอดสด) แต่ขึ้นชื่อว่า ฟุตบอลโลกแล้ว แน่นอนว่ามีหลากหลายแง่มุมให้คุย ไม่เฉพาะกับคนในวงการฟุตบอลโดยตรง แต่เราเชื่อว่าคนหลากหลายอาชีพมีความทรงจำและมุมมองที่น่าสนใจกับการแข่งขันรายการที่ใหญ่ที่สุดในโลกฟุตบอล
เช่นเดียวกับแฟนบอลทั่วไป “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เป็นอีกคนหนึ่งที่เฝ้ารอชมฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้
ภายใต้ภาพของนักธุรกิจ หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า เศรษฐา คือคอบอลชนิดเข้าเส้นคนหนึ่งที่ดูฟุตบอลและวิพากษ์ฟุตบอลอย่างลึกซึ้ง เขาเคยเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์กีฬา และเคยออกหนังสือรวมเล่มเรื่องกีฬามาแล้ว โอกาสนี้ FEED จึงไม่พลาดชวน เศรษฐา นั่งสนทนาเรื่องฟุตบอล ผ่านมุมมองของนักธุรกิจและนักบริหาร
FEED : ในฟุตบอลโลกเชียร์ทีมอะไร
เศรษฐา : แน่นอนผมเชียร์ทีมชาติอังกฤษ เพราะช่วงไฮสกูลไปเรียนที่อังกฤษ ในอดีตก็ผิดหวังโดยตลอดนะ แต่ครั้งนี้ก็ยังมีความหวังผมว่าอังกฤษเป็นหนึ่งในเต็ง 5 ก็คิดว่าน่าจะมีลุ้นได้บ้าง
FEED : คิดว่าทีมชาติว่าทีมอังกฤษจะไปถึงรอบไหนในฟุตบอลโลกครั้งนี้
เศรษฐา : ถ้าเกิดเชียร์ก็ต้องให้ไปถึงรอบชิง แต่ว่ามันก็ต้องอาศัยโชคชะตา และอะไรหลายๆ ด้วย อย่างในอดีตทีมชาติอังกฤษจะแพ้ตกรอบคัดเลือก หรือแพ้ลูกโทษค่อนข้างจะเยอะ เป็นเรื่องของจิตวิทยา เรื่องของการฝึกซ้อม ผมเชื่อว่าเรื่องของการยิงจุดโทษต้องฝึกซ้อม ความเข้มแข็งมั่นคงของจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ ครั้งนี้ก็ไม่หนีเรื่องนี้ อย่างไรก็ต้องถึงฎีกา (ยิงจุดโทษ) ต้องมีสักแมตช์หนึ่ง ส่วนความคาดหวังคิดว่าก็ต้อง semi-final (รองรองชนะเลิศ) เป็นอย่างน้อย
FEED : มีทีมไหนอีกบ้างที่น่าจับตา นอกจากอังกฤษ
เศรษฐา : ผมว่าอย่างไรก็ไม่พ้น บราซิล บราซิลนี่เป็นขวัญใจคนไทยตลอดกาล ขุมกำลังค่อนข้างจะพร้อม เป็นทีมที่ไม่เคยหลุดนอกสายตา ถึงแม้ฟอร์มก่อนแข่งจะไม่ดีอะไรก็แล้วแต่ ส่วน เยอรมนี มาตรฐานคงเส้นคงวา ซื้อขนมกินได้แน่นอน แล้วก็อีกทีมหนึ่งซึ่งระยะหลังเวลาเขาจัดอันดับมาเป็นเบอร์หนึ่งเยอะคือ เบลเยียม ซึ่งตอนนี้ผมใช้คำว่าเป็น ยุคทองก็ได้ เพราะ เควิน เดอ บรอยน์ เองก็ยังท็อปฟอร์มอยู่ เพราะฉะนั้นเบลเยียมเองก็เป็นหนึ่งในตัวเต็งเหมือนกัน จริงๆ แล้วทั้ง อังกฤษ เยอรมนี บราซิล แล้วก็เบลเยียม ได้ลุ้นหมด ขึ้นอยู่กับโชคชะตาในการเข้าที่หนึ่งหรือที่สองในสาย แล้วไปอยู่สายไหน สายบน สายล่าง อาจจะมาตัดกันเองก่อนรอบ quarter (รอบ 8 ทีม) ก่อนก็เป็นไปได้
FEED : ประเมินทีมจากเอเชียในฟุตบอลโลกครั้งนี้อย่างไรบ้าง
เศรษฐา : ผมว่าในแง่ของทีมเอเชีย ถ้าเข้ารอบได้ก็ดี เข้ารอบได้ก็ถือว่าเป็นโบนัสแล้ว ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็ยังเป็นทีมที่เรียกว่าน่าจับตามองในหมู่ทีมเอเชีย แต่ผมฝากไว้นิดนึงแล้วกันว่า จริงๆ แล้วฟุตบอลโลกครั้งนี้มันค่อนข้างประหลาดนิดนึงในแง่ของเวลาในการจัด เพราะว่ามาจัดกันในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ธรรมดาจัดกันในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ซึ่งเป็นช่วงซัมเมอร์ของยุโรป เป็นช่วงที่เขาพักซีซันกันมา แล้วทีมในยุโรปตัวเต็งทั้งหลายมีการฝึกซ้อมกันพอสมควร ในแง่ของการมาผสมผสานกัน ในแง่ของทีมชาติมีแมตช์อุ่นเครื่องอะไรกันเยอะพอสมควร เพราะฉะนั้นยุโรปก็พร้อม
แต่คราวนี้อาทิตย์ที่แล้วยังเตะพรีเมียร์ลีกกันอยู่เลย เพิ่งรวมทีมกันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี่เอง วันอาทิตย์นี้เปิดสนามแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องของความพร้อมผมไม่ค่อยแน่ใจทีมยุโรป ทั้งนี้ทั้งนั้นที่เอาเรื่องนี้มากล่าวก็เพราะว่าผมคิดว่ามันเป็นโอกาสของทีมในเอเชียที่อาจจะไม่เคยได้เปรียบเรื่องนี้ ก็อาจจะมีสิทธิ์ที่จะเข้ารอบลึกได้บ้าง อาจจะถึง quarter-final (รอบ 8 ทีม) ในแง่ของบางทีม
FEED : พูดถึงความทรงจำ มีเหตุการณ์ไหนในฟุตบอลโลกที่ยังจำไม่ลืม
เศรษฐา : ทุกอันตื่นเต้นหมด ตอนนั้นยังเด็กอยู่ ได้ไปดูเทปเก่า ปี ค.ศ. 1966 ที่อังกฤษได้แชมป์ อันนั้นก็ตื่นเต้น ตื่นเต้นในแง่ของมาดูย้อนหลัง เพราะตอนนั้นผมก็ 4-5 ขวบเอง ก็ไม่ได้ดูอะไรขนาดนั้นหรอก เพียงแต่ว่าดูแล้ว เห็นอังกฤษเป็นเจ้าลูกหนังโลก เอ่อ ไม่ใช่เจ้าลูกหนังโลกหรอก เป็นคนที่เริ่มต้นในการคิดค้นฟุตบอลมาอะไรมาแล้วได้แชมป์ต่อเวลากับเยอรมนี แถมยังมีเรื่องประตูที่เข้าหรือไม่เข้า นอกจากนั้น ก็มีเหตุการณ์ซีดานหัวโขกเอย (ซีดานเอาหัวโขกหน้าอก มาร์โก มาเตรัซซี่ กองหลังอิตาลี นัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 2006 จนถูกไล่ออกจากสนาม) หรือเยอรมนีชนะฮอลแลนด์ 2-1 , การเล่นของ โยฮัน ครัฟฟ์ (ทีมชาติฮอลแลนด์) ผมว่าเราคนรักฟุตบอล ทุกๆ เหตุการณ์มันมีเสน่ห์ในตัวมันเอง ที่บราซิลก็ไม่เลว บราซิลแพ้เยอรมนีเท่าไร 1-7 อะไรอย่างนี้ ใครจะไปคิด ถึงบอกขอเถอะขอให้มีโอกาสได้ดูเถอะ
FEED : คิดอย่างไรกับคำวิจารณ์ที่ว่าฟุตบอลโลกครั้งนี้ที่กาตาร์ไร้เสน่ห์กว่าทุกครั้ง
เศรษฐา : ผมว่าต้องย้อนไปที่เขาคัดเลือกเมืองที่จะจัดฟุตบอลโลก เพราะว่าจริงๆ แล้วมันก็ยังมีเรื่องของการโต้เถียงเยอะพอสมควร ในอดีตเวลาที่เขาจะประกาศว่าเมืองไหนได้เป็นเจ้าภาพเขาจะประกาศแค่หนึ่งครั้ง อันนี้เหมือนกับประกาศทิ้งทวนของคณะกรรมการฟีฟ่ารุ่นเก่าหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจเท่าไร แต่ประกาศพร้อมกันเลยก็คือรัสเซีย 2018 กับกาตาร์ 2022 พร้อมๆ กัน
อยู่ดีๆ กาตาร์มันหลุดออกมาตรงนี้มันก็ส่อให้เกิดความน่าสงสัยเหมือนกันว่าความพร้อมของประเทศนั้นๆ มันเหมาะสมขนาดไหนอย่างไร ภูมิอากาศเอยอะไรเอย แล้วก็แน่นอนปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าเกิดฟุตบอลโลกถ้าเกิดมาจัดในเมืองที่เคยจัด อย่างเช่นอังกฤษ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส บราซิล มันมีเสน่ห์เรื่องอื่นด้วย เป็นเมืองท่องเที่ยวจัดไปตามหัวเมืองต่างๆ เยอะแยะไปหมด กาตาร์เป็นประเทศที่เล็กมากแต่ก็มีเสน่ห์ว่าสามารถดูแมตช์บ่ายสอง บ่ายห้า ทุ่มนึง สี่ทุ่มได้เลย 3-4 แมตช์ได้ในวันเดียวกันมันก็เป็นเสน่ห์อันนึงเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าคราวนี้ในแง่ของเวลาที่มันจัดแล้วก็ประเทศที่เป็นเจ้าภาพเองถ้าให้ผมฟันธงผมว่าเสน่ห์มันลดหายไปพอสมควร กระแสออกมาซื้อตั๋วฟุตบอลเป็นยังไง ตั๋วเหลือ ตั๋วขาด ตั๋วไม่พร้อม มันไม่ค่อยได้ยิน
FEED : แต่อีกมุมคือการสะท้อนให้เห็นว่าฟุตบอลโลกจัดได้ทุกที่ไม่ใช่แค่ยุโรปหรืออเมริกาใต้ ?
เศรษฐา : ผมว่าส่วนนึง ถ้าเกิดในแง่มุมมองของเจ้าภาพหรือคนที่อยู่ในตะวันออกกลางก็ตามทีเป็นอะไรที่มันนำมาซึ่งเสมือนความเสมอภาคเท่าเทียม เป็นการที่นำฟุตบอลไปเผยแพร่ในทวีปที่ยังไม่ได้มีการจัดเหมือนกัน สมัยก่อนเราก็มีคล้าย ๆ กฎไม่ตายตัวว่าเวียนไปทวีปเอเชีย ทวีปยุโรปเยอะหน่อย แล้วก็ไปอเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ แอฟริกาก็ไปมาแล้วปี 2010 ที่แอฟริกาใต้ แล้วตอนนี้ก็มาที่ด้านตะวันออกกลางเป็นส่วนหนึ่ง ออสเตรเลียก็ยังไม่มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมว่าก็ต้องจับตาดู ยังไงฟุตบอลโลกก็คือฟุตบอลโลก 4 ปีมีหนเป็นกีฬาที่มีคนดูชื่นชมรับชมรับฟังเยอะที่สุดเพราะฉะนั้นอย่างไรฟุตบอลโลกก็ยังเป็นฟุตบอลโลก ผมเชื่อว่าอย่างนั้นนะ
FEED : ในแง่ธุรกิจเราได้อะไรจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก
เศรษฐา : มโหฬารครับ ยิ่งถ้าเกิดเป็นประเทศที่มีการท่องเที่ยวเป็นหลักหรืออยากจะโปรโมทเรื่องการท่องเที่ยว ผมว่าอันนี้สำคัญ อย่างเช่น กาตาร์เนี่ย ปกติคนไม่คิดจะไปกาตาร์ แต่วันนี้มีฟุตบอลแล้ว สมมติว่า ททท.ของกาตาร์ tie-in เรื่องของการไปอยู่ที่ทะเลทรายดียังไง มีวัฒนธรรมเป็นยังไง อาหารการกินเอยอะไรเอย อาจจะช่วยโปรโมทว่าหลังจากฟุตบอลโลกแล้วจุดหมายการเดินทางก็จะดีขึ้น เพราะ Qatar Airways ก็เป็นสายการบินที่ค่อนข้างจะดีอยู่แล้วมีบินไปทั่วโลกอยู่แล้ว ผมว่าก็เป็นส่วนสนับสนุนได้ดีนะ แต่ก็ไม่ต้องพูดถึง ถ้าเกิดเป็นประเทศอย่างประเทศไทยที่เป็นที่รู้จักมากในแง่เรื่องของจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยวผมว่ามโหฬาร ผลประโยชน์มโหฬาร
FEED : แต่แลกมาด้วยการลงทุนมหาศาล ที่ไม่รู้ว่าจะคุ้มหรือไม่
เศรษฐา : ผมว่ามันขึ้นอยู่กับการดำเนินการโดยรวมมากกว่า ถ้าเราทำด้วยกันในเป็นหนึ่งเดียวในประเทศ ไม่ว่าจะการท่องเที่ยว กระทรวงนั้น กระทรวงนี้เข้ามาผมว่ามันก็น่าที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้บ้าง แต่ว่าเราก็ต้องดูด้วยว่าถ้าเกิดจริงๆ แล้วประเทศเจ้าภาพได้เข้าไปเล่นอัตโนมัติ เราพร้อมขนาดไหน บางคนก็พูดเล่นจะเป็นการด้อยค่าทีมชาติไทยหรือเปล่า มันก็ไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่ บอกว่าถ้าไทยจะไปฟุตบอลโลกได้ ต้องเป็นเจ้าภาพเท่านั้น อันนี้มันก็เป็นอะไรที่คนเขามาพูดกันเยอะ เราเองก็ต้องดูเราเองเหมือนกัน
ถ้าพูดไปไกลกว่านั้น อย่างนั้นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกดีไหม มันก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ผมว่าก็เป็นอะไรที่เรา ที่รัฐบาลไหนมาก็ควรที่จะวางแผนระยะยาว เพราะการที่จะไปทำเป็นเจ้าภาพใน world event, world sporting event ต้องมีระยะเวลาในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกก็จะเยอะ แล้วก็ต้องคำนวณด้วยว่าหลังจากสร้างเสร็จแล้วเหล่านี้จะทำอะไร เอาไปใช้ประโยชน์อะไร จัดเป็น regional event (รายการระดับภูมิภาค) ได้ไหม มีอะไรมาเสริมต่อได้บ้างหรือเปล่าอันนี้ก็เป็นอันนึงเหมือนกันที่ต้องพิจารณา ไม่ใช่ว่ารัฐบาลที่จะขึ้นมาแล้วจะเป็นรัฐบาลอยู่ 4 ปี แล้วอีก 4 ปีหน้าจะเป็นเจ้าภาพ เป็นไปไม่ได้หรอกครับ ต้องวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 8-12 ปี
FEED: มองในมุมนักธุรกิจ การที่ทีมชาติได้ไปฟุตบอลโลก หรือไปถึงแชมป์โลก ถอดรหัสออกมาเห็นอะไรบ้าง
เศรษฐา : อย่างที่เคยพูดถึงเยอรมนี จริงๆ แล้วตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว เยอรมนีเป็นตัวเต็งมาโดยตลอด โครงสร้างทางด้านฟุตบอลของเขาเอื้อให้เขาเป็นตัวเต็งตลอด ไม่ว่าจะเป็นลีกของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาเขาพร้อมมานาน แต่ถ้าจะถามถึงบริบทของประเทศไทยมันแตกต่าง ไม่ใช่บอกอีก 4 ปีจะไปบอลโลก ไม่มีทาง ญี่ปุ่นผมได้ยินว่าเขาใช้เวลา 30 ปี จากปีที่ 1 ถึง ปีที่ 30 ถึงจะได้ไปบอลโลก แล้วจากนั้นพอฐานเขาแน่น ฐานเขาแข็งแกร่ง ลีกเขาดีเขาก็ได้ไปเกือบตลอดทุกๆ หนที่ผ่านมา มันต้องวางแผนระยะยาวจริงๆ มันไม่ใช่ระยะสั้นขนาดนั้น
FEED : ในมุมการบริหาร ระหว่างแข่งขันหน้างาน เราเห็นเยอรมนี ที่มีความละเอียด ทั้งการวางแผน เลือกที่พัก จนไปถึงแชมป์โลกได้
เศรษฐา : หน้างานแต่เป็นปลายงานนะ ปลายเหตุเพราะคุณต้องไปให้ได้ก่อน มันเป็นปลายเหตุ แต่ถ้าเกิดถามถึงปลายเหตุ จากที่ผมไปคุยกับหลายท่าน มันก็มีอะไรที่ชวนคิดเหมือนกันนะ อย่างเช่นนักกีฬาต้องเจาะเลือดด้วย ดูสิคุณขาดโปรตีนหรือเปล่า คุณกินเนื้อสัตว์น้อยไป มากไป คุณขาดผัก คุณต้องกินผักเยอะๆ หน่อย มีการชั่งน้ำหนักของอาหารแต่ละจาน เมื่อกี๊คุยกับเจ ชนาธิป สรงกระสินธ์ (กองกลางทีมชาติไทย) เจบอกเขาดูตลอด อาหารของคุณ ไม่ใช่ One Size fit all เขาจะแยกคุณต้องกินอย่างนี้ คนนี้ต้องกินอย่างนี้คือมันไม่เหมือนกัน คนนึงอาจจะกินอีกแบบนึง ผมอาจจะกินอีกแบบนึง รายละเอียดหน้างานใช่ไหม เรื่องการนอน เรื่องคุณภาพของเตียง ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปเช่าโรงแรม ก-ข-ค-ง เสร็จ แล้วนักกีฬาไปนอน มันก็ต้องมีคนไปทดสอบก่อนว่านอนเป็นยังไง รูดม่านเสร็จแล้วมีแสงเข้ามาหรือเปล่า การพักผ่อนอะไรพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด อุณหภูมิเป็นยังไง สนามซ้อม ระยะทางการเดินทางเป็นยังไง
ผมว่าอันนั้นมันเป็นรายละเอียดหน้างาน แต่เป็นปลายเหตุ คุณต้องไปถึงจุดนั้นให้ได้ก่อน ถ้าถึงตรงนั้น เป็นผมก็ไปจ้างผู้จัดการทีมมาดีๆ ที่เขามีประสบการณ์มาจากทั่วโลกมันก็หาได้ เราพร้อมหรือเปล่าที่เราจะลงรายละเอียดขนาดนั้น ถ้าถึงจุดๆ นั้น ผมว่าทีมแชมป์ กับรองแชมป์มันชนะกันด้วย พูดอย่างเว่อร์ๆ นะ ม่านที่โรงแรมคุณปิดมิดหรือไม่มิด ใช่ไหม ที่นอนคุณนุ่มขนาดไหน นุ่มเกินไปหรือเปล่านุ่มเกินไปจริงๆ นุ่มเกินไปสรีระเวลาไปนอนมันก็อาจจะไม่เอื้อเรื่องของการฟื้นฟูของกล้ามเนื้อ เชฟก็ต้องมีเชฟประจำทีม คือรายละเอียดมันชนะในรายละเอียดแบบนิดเดียวเท่านั้นนะครับ นิดเดียวจริงๆ นะครับ
FEED: ชวนคนไทยมองอะไรในฟุตบอลโลกครั้งนี้
เศรษฐา : สมมติว่าผมเป็นทีวีช่องใดช่องหนึ่ง เข้าไปดูเนี่ย ผมก็อยากจะไปถ่ายทำเบื้องหลัง ว่าเนี่ยสนามฟุตบอลเป็นอย่างนี้ มีอย่างนี้ มีห้องแอร์อย่างนี้ เวลาเดินทางจากตรงนี้จุดนี้ไปจุดนี้ เพราะว่ากาตาร์มันก็มีอุปสรรคในการจัดฟุตบอลโลกเยอะ อยากให้เห็นเบื้องหลังว่าเจ้าภาพพยายามเยอะขนาดไหน แรงกาย แรงงาน แรงใจ ที่เขาต้องทุ่มเทไปเยอะขนาดไหน ผมอยากดูเบื้องหลังการถ่ายทำด้วยเหมือนกัน อันนี้ไม่ต้องพูดถึงเรื่องแทคติก ผมก็ไม่ได้จบไลเซนส์อะไรมา ดูฟุตบอลก็อยากให้สนุกอยากให้มีการยิงประตูเยอะๆ ไม่อยากให้มีการโกงกันเกิดขึ้น หรือว่าฟีเวอร์ ใครคนใดคนหนึ่งอันนี้เป็นเรื่องธรรมดา
เรื่องที่ผมสนใจ สนใจเรื่องว่าแล้วเวลาที่เขาไปดูฟุตบอลที่กาตาร์ ฟุตบอลแข่งตอนเย็น ตอนเช้าเขาทำอะไรกัน กลางคืนทำอะไร ก็จะมีคำถามตลอด ดื่มเหล้าได้หรือเปล่า เราเองก็มีความสนใจทางด้านสังคมทั้งหมดที่มันเป็นองค์ประกอบของฟุตบอลโลก เสน่ห์ของฟุตบอลไม่ได้อยู่ที่ฟุตบอลอย่างเดียว อยู่ที่การที่ได้ไปจัดที่เมืองต่างๆ ได้เห็นจารีตประเพณีเรื่องวัฒนธรรมของเขา
เบื้องหลังการถ่ายทำว่าเนี่ยในสมัยก่อนเขาต้องไปสร้างสนามใหม่ทุกสนามเลยนะ สนามนี้มันมีเครื่องปรับอากาศอย่างไร เอ๊ะ แล้วนักกีฬาถ้าเกิดออกมาจากโรงแรมอากาศร้อน รถบัสอากาศเย็นลงมาจากรถบัสอากาศร้อน อากาศเย็น แล้วการปรับตัวของร่างกายมันจะเป็นอย่างไร มันก็เป็นหลายอย่าง อยากให้ดู Behind The Scenes อย่างนักข่าวไปทำข่าวที่นั่นไปดูสิ ถ้าเกิดเราติดต่อกับฟีฟ่าได้ก่อน ไปคุยกับประธานของฟีฟ่าว่าที่มาที่ไปทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ มีเหตุผลอย่างไรที่จะเป็นตรงนี้ ผมสนใจเบื้องหลังการถ่ายทำมากกว่าว่าเป็นอย่างไร
ฟุตบอลมันสนุกอยู่แล้ว เราคอฟุตบอลอย่างไรก็มั่นใจ แต่ผมว่าคนธรรมดาทั่วไปก็อยากรู้นะ ว่าเบื้องหลังการถ่ายทำมันเป็นอย่างไร
สัมภาษณ์ โดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร