คุณจำหน้าคนที่เดินสวนกันเมื่อเช้าได้หรือเปล่า ?
ในยุคที่เราทุกคนต่างใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบเพื่อแข่งกับเวลา สิ่งต่างๆ รอบตัวหมุนผ่านไปอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งเราอาจจะจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าคนที่เดินสวนกันตอนออกจากรถไฟฟ้าหน้าตาเป็นอย่างไร หรือคนที่ต่อแถวสั่งอาหารด้านหลังมีรูปร่างลักษณะแบบไหน
นี่จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับ พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ หรือ “ผกก.ป้อม” ผู้กำกับการฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งมีหน้าที่ในการสเก็ตซ์ภาพตามคำบอกเล่าของพยานที่เห็นเหตุการณ์และยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวาดภาพสเก็ตซ์คนร้ายในคดีลอบวางระเบิดบริเวณศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์เมื่อปี พ.ศ. 2558 และภาพเด็กหายที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ รวมถึงบนขวดน้ำดื่มสิงห์ด้วย
จากเด็กเพาะช่างสู่วงการสีกากี
“พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ จบจากคณะจิตรกรรมสากล วิทยาลัยเพาะช่าง เริ่มต้นทำงานสาย art director สั่งสมประสบการณ์ กระทั่งหน่วยงานตำรวจมีงานเกี่ยวกับงานสเก็ตซ์ภาพใบหน้าคนร้าย ด้วยความที่ชอบทำงานเกี่ยวกับสังคมเลยมองว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นประโยชน์ต่อองค์กรตำรวจ ในการที่จะช่วยเหลือประชาชนเราก็เลยมาสอบเข้า เรามองว่าการเป็นตำรวจในยุคนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เราจบศิลปะไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อยเราเข้ามาเป็นตำรวจได้ไหม”
อีกจุดหนึ่งก็คืองานนี้มันท้าทาย ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปหาคนร้ายต้องรู้ลักษณะใบหน้าของคนร้ายก่อน คดีอาชญากรรมมันอาจจะจบลง ความเดือดร้อนของประชาชนถูกแก้ด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและการทำงานส่วนหนึ่งก็คือการสเก็ตซ์ภาพคนร้าย
พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ เล่าขั้นตอนการทำงานว่า “การสเก็ตซ์ภาพคนร้ายจะเกิดขึ้นเมื่อมีอาชญากรรมเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานจะเข้าไปตรวจสถานที่เกิดเหตุเพื่อเก็บวัตถุพยานต่างๆ ในสถานที่เกิดเหตุ พนักงานสอบสวนจะต้องหาข้อมูลจากพยานบุคคลเพื่อส่งตัวพยานบุคคลนั้นมาให้ที่กองทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อสเก็ตซ์ภาพใบหน้าคนร้าย พยานก็จะให้ข้อมูลรูปพรรณสัณฐานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสเก็ตซ์เป็นภาพใบหน้าขึ้นมา เมื่อได้ภาพใบหน้าของผู้ต้องสงสัย ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนก็จะนำภาพสเก็ตซ์ไปเป็นแนวทางในการสืบสวนหาตัวต่อไป”
คดีวางระเบิดแยกราชประสงค์
หนึ่งในคดีดังระดับประเทศที่ ผกก.ป้อม มีส่วนร่วมในการไขคดี ซึ่งในช่วงแรกเลยถือเป็นเรื่องยากในการที่จะติดตามตัวคนร้าย เพราะว่าคนร้ายที่ก่อเหตุวางระเบิดส่วนมากจะเป็นคนร้ายมืออาชีพและหลบหนีอย่างรวดเร็ว อาจจะหลบหนีออกต่างประเทศ แต่ว่าคดีนี้เราก็ใช้ภาพสเก็ตซ์ในการเป็นแนวทางในการสืบสวนโดยมีผู้เสียหายหรือพยานแจ้งเบาะแส ซึ่งภาพสเก็ตซ์ออกมามีความคล้ายถึงเกือบ 70%”
ประกาศหาเด็กหายบนขวดน้ำ
ตลอดระยะเวลาที่รับราชการ ผกก.ป้อม ยังทำงานร่วมกับ “มูลนิธิกระจกเงา” สเก็ตซ์ภาพเด็กหายที่เผยแพร่อยู่บนขวดน้ำดื่มสิงห์และป้ายประกาศต่างๆ ซึ่งความยากของงานนี้ คือเด็กที่หายในช่วงเวลานั้นกับปัจจุบันมีอายุแตกต่างกันเพราะเด็กโตขึ้นทำให้ใบหน้าของเด็กเปลี่ยนไป จึงต้องอาศัยการเปรียบเทียบจากใบหน้าของผู้ปกครองหรือญาติพี่น้องของเด็กเพื่อมาวิเคราะห์และสเก็ตซ์ภาพออกมา ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า “Age Progression”
“หนึ่งในโครงการที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้เรียนรู้เรื่องของการสังเกตจดจำ แต่สิ่งที่เราเน้นจริงๆ เลยก็คือเรื่องของการปิดช่องโอกาสอาชญากร เมื่อเขารับรู้ข้อมูลแล้วเขาจะป้องกันตัวเองมากยิ่งขึ้น พอป้องกันตัวเองมากยิ่งขึ้นนั่นก็คือการปิดช่องโอกาสของอาชญากร ทำให้อาชญากรก่อคดีอาชญากรรมได้ยากขึ้น แต่ถ้าเรายังไม่สามารถที่จะยุติการกระทำของคนร้ายได้ อย่างน้อยคนกลุ่มนี้ก็จะรับรู้ข้อมูลในเรื่องของการสังเกตจดจำอย่างที่ผมพูดไปตั้งแต่แรกๆ คือรับรู้สถานการณ์ก่อนเกิดเหตุคือต้องรู้ให้ได้เลยว่าบุคคลต้องสงสัยคือใคร สังเกตให้ได้ก่อน รู้ทันอาชญากร สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เด็ก เยาวชน หรือประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถถ่ายทอดข้อมูลเหล่านี้ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้”
ก่อนจบบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้ ผกก.ป้อม ฝากข้อคิดถึงทุกคนในสังคมว่า “เราต้องช่วยกันดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม สิ่งใกล้ตัวอะไรต่างๆ เราต้องสังเกตเราต้องมองเห็นอย่าปล่อยปละละเลย เรื่องของการสังเกตจดจำเรียกว่าเป็นมาตรการแรกเลยที่จะทำให้ตัวเราปลอดภัยและเราสามารถที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดเหตุอาชญากรรมได้ เหมือนเราขับรถ เราจะขับมองใกล้ๆ เหตุเกิดไกลๆ เราไม่เห็นก็อุบัติเหตุเกิดขึ้นทันที อาชญากรรมเหมือนกันเราก็ต้องมองให้กว้าง อย่าเอาตัวเข้าไปในสถานที่เสี่ยง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ การเดินไปในสถานที่ต่างๆ แล้วใช้โทรศัพท์โดยไม่ดูสิ่งแวดล้อมอะไรเลย เราก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ รถมาเราก็อาจจะมองไม่เห็นอันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องระมัดระวังด้วย”