13 ครั้ง คือจำนวนการรัฐประหารที่สำเร็จที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นับตั้งแต่การรัฐประหารครั้งแรกย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ครั้งนั้นนำโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา มาจนถึงการรัฐประหารครั้งล่าสุดวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดระยะเวลาเกือบศตวรรษที่คนไทยทั้งประเทศต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่บนเส้นด้ายของโชคชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงในมือของผู้มีอำนาจ กองทัพ กลุ่มคนที่อ้างว่าตัวเองเป็นคนดีทำการยึดอำนาจในนามของความรักชาติและเพื่อความสงบเรียบร้อย
การรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่ากลายเป็น ‘วงจร’ ที่กดทับและบดขยี้จนประเทศนี้กลายเป็นดินแดนต้องสาปที่ไม่อาจจะพัฒนาไปได้อย่างเต็มที่ คนยุคเก่าหมดไฟ คนยุคใหม่ไร้ความหวัง มองไปทางไหนล้วนมืดมน ท่ามกลางความมืดมิดแสงสว่างเพียงน้อยนิดก็พอจะให้ความหวังนำมาสู่การถือกำเนิดของ “พรรคอนาคตใหม่” ภายใต้แม่ทัพผู้ถือธงสีส้มนามว่า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งในเวลานั้นเคยถูกปรามาสว่าจะได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกี่คน
จากพรรคการเมืองนอกสายตาสู่ม้ามืดการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 เข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ด้วยจำนวน สส. 81 คน รองจากพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคอนาคตใหม่กลายเป็นพรรคที่ทุกคนพูดถึงเพียงชั่วข้ามคืน ด้วยจุดยืนนโยบายสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมไทยผ่านการกระจายอำนาจ รัฐสวัสดิการ และหยุดวงจรการรัฐประหารที่เป็นตัวทำลายการพัฒนาประเทศ
แต่แล้วไฟแห่งความหวังที่ถูกจุดขึ้นมาก็เริ่มสั่นไหวด้วยแรงลมการเขยื้อนของฝ่ายตรงข้าม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี เนื่องด้วยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะหัวหน้าพรรคให้พรรคกู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
แม้พรรคอนาคตใหม่จะถูกลบออกจากกระดานเกมการเมืองไทย แต่ไฟแห่งความหวังที่ถูกจุดติดกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ “เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์” และ “ธนกฤต ดวงมณีพร” สองผู้กำกับเลือดใหม่ถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีการเมือง “Breaking the Cycle – อำนาจ ศรัทธา อนาคต” ถ่ายทอดมุมมอง เส้นทางก้าวเดิน และเหตุการณ์ในพรรคที่ยังไม่มีใครเคยเห็น
“ตอนนั้นเป็นช่วงหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 เวลานั้นเสรีภาพและการแสดงออกถูกจำกัดมีคนออกไปอ่านหนังสือ 1984 ที่สถานีบีทีเอสและห้างสรรพสินค้ากลับถูกจับ เรามีนายกรัฐมนตรีที่แต่งเพลงเก่ง หนึ่งในบทเพลงพูดถึงการปฏิรูปประเทศที่บอกว่าจะใช้เวลาไม่นาน แต่ผ่านไป 4-5 ปีก็ยังไม่มีทีท่าจะสำเร็จ จึงเกิดความรู้สึกอึดอัดและตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น กระทั่งพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้น ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ณ เวลานั้นยังเป็นนักการเมืองหน้าใหม่แต่ทุกครั้งที่ขึ้นเวทีนี่เดือดมาก พูดจาฉะฉาน ตรงไปตรงมา แม้จะเป็นพรรคขนาดเล็กแต่กลับกล้าประกาศภารกิจที่ยิ่งใหญ่มากคือการหยุดวงจรการรัฐประหาร”
“เราทั้งคู่จบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาภาพยนตร์ รู้สึกว่ามันน่าสนใจและเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ ในฐานะคนในวงการวิชาชีพภาพยนตร์จึงอยากบันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ ตอนนั้นพรรคอนาคตใหม่รวบรวมกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เข้าไปคุยเพื่อจัดทำนโยบาย บังเอิญเรารู้จักกับตัวแทนจากกลุ่มสื่อมวลชนจึงติดต่อเข้าไปขอพูดคุย คุณธนาธรเห็นด้วยอยากให้มีถ่ายบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ 3 วันหลังจากนั้นก็เราก็หยิบกล้องติดไมโครโฟนออกไปถ่ายเลย”
“เราเป็นนักศึกษาจบใหม่ที่ถือกล้องตามนักการเมืองที่มีบริษัทพันล้าน ทุกอย่างมันไวมากเพราะเขาต้องหาเสียงไม่มีเวลานั่งคุยกันแต่มันต้องเริ่มถ่ายแล้ว ส่วนที่ยากคือคนไทยยังไม่เข้าใจคำว่า ‘สารคดี’ เวลาพูดคำนี้คนมักนึกถึงวิถีชีวิตสัตว์ป่า ภาพสโลโมชั่น แต่สิ่งที่เราทำคือการติดตามนักการเมือง ติดตามการเลือกตั้ง เมื่อความเข้าใจไม่ตรงกันจึงมักมีคำถามเสมอว่ามาถ่ายอะไร ถ่ายกี่ชั่วโมง กี่วัน”
ความปกติที่ไม่ปกติในสังคมไทย และฟุตเทจที่ไม่มีใครเคยเห็น
ก่อนที่จะได้เข้าฉายในไทย Breaking the Cycle ได้รับเลือกให้เข้าฉายรอบปฐมทัศน์โลก ในเทศกาล Hot Docs Canadian International Documentary Festival เทศกาลสารคดีที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ เมืองโทรอน ประเทศแคนาดา โดยได้ฉายโรงใหญ่ที่สุด 600 ที่นั่ง ซึ่งผู้ชมกลุ่มแรกต่างชื่นชมและเดินมาถามกับ 2 ผู้กำกับว่าจะเอาอย่างไรต่อกับอนาคตของประเทศหลังจากนี้
“ผมอยากให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มันเป็นเหมือนภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เหมือนเวลาเราไปดู หลานม่า, อนงค์, 4 Kings หรือสัปเหร่อ ถ้าหลานม่าได้ฉายทั่วประเทศเราก็อยากฉายทั่วประเทศเหมือนกัน มันเป็นความหวังที่ตัวเองก็รู้ลึกๆ ว่าน่าจะยากตั้งแต่ตอนที่เริ่มถ่ายทำ วันนี้ที่ได้ฉาย 42 โรงทั่วประเทศก็รู้สึกดีใจมันเกินจากที่เราจินตนาการไปมากแล้ว”
“ทุกคนดูได้ มันไม่ใช่ภาพยนตร์ของด้อมส้มด้วยซ้ำ คนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคอนาคตใหม่หรือการเคลื่อนไหวของเด็กๆ เป็นโอกาสดีที่จะไปดูแล้วจะเข้าใจว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ เมื่อดูจบแล้วผมหวังว่ามันจะนำไปสู่การพูดคุยกันในครอบครัวหรือในสังคมที่มากขึ้น”
“ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าบริบทการเมืองไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกฉายบนจอภาพยนตร์มาก่อน หลายฉากอาจเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ที่ได้ฉายในระบบโรงภาพยนตร์ แม้เราจะรู้ตอนจบอยู่แล้วว่าบทสรุปของพรรคอนาคตใหม่เป็นอย่างไร แต่มีฟุตเทจภายในพรรคที่ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้เข้าไปยกเว้นช่างภาพของพรรค คุณจะได้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดว่าหลังประตูบานนั้นเกิดอะไรขึ้น ทุกสิ่งนั้นอยู่ในโฟลเดอร์ชื่อว่า ‘ฟุตที่ยังไม่มีใครเคยเห็น’”
ภาพยนตร์สารคดี Breaking the Cycle เข้าฉายวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ในโรงภาพยนตร์ 55 จังหวัด 150 สาขาทั่วประเทศ
หมายเหตุ บทสัมภาษณ์วันที่ 30 พฤษภาคม 2567