นายภูรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อธิการบดี ม.กรุงเทพ กล่าวถึงเรื่องถอดรหัสการศึกษาของโลกอนาคต ในฐานะอธิการบดีของคนรุ่นใหม่ว่าคำถามที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ว่ามหาวิทยาลัยกำลังจะตายหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในการประชุมของมหาวิทยาลัย ซึ่งคำตอบมีทั้งใช่ และไม่ใช่ “มหาวิทยาลัยกำลังจะตาย หากไม่ปรับตัวตามเทรนด์และความต้องการของโลกได้ แต่หากเราสามารถปรับตัวให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษาและภาคธุรกิจ จับกรอบที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาได้ ก็จะสามารถไปต่อได้”
อธิการบดี ม.กรุงเทพ กล่าวต่อว่า เมื่อนึกถึงช่วงชีวิตของคนคนหนึ่ง เด็กหนุ่มสาว อายุ 18 ปี เรียนชั้นมัธยมศึกษามาทั้งชีวิต โดยเรียนในเรื่องทั่วไป ยังไม่ได้ค้นพบแพชชั่นของตัวเอง และยังไม่ได้ถูกปลูกฝังด้วยทักษะของมืออาชีพ ฉะนั้น เด็กต้องถูกปลูกฝัง ด้วย 2 คำ คือ แพชชั่น และ โปรเฟชชันแนล โดยคนส่วนมากยังไม่ทราบว่าตัวเองอยากทำอะไร ต้องใช้เวลาในการค้นหาเยอะ เพราะฉะนั้นอีกงานหนึ่งของมหาวิทยาลัย คือต้องเป็นชุมชน เป็นพื้นที่ในการเชื่อมคนเข้ามา
นายภูรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับแพชชั่นที่นักเรียน นักศึกษา ต้องหาให้เจอนั้น การที่ได้เจอคนใหม่ๆ ที่สนใจอะไรคล้ายๆกัน ทำให้ได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ ทำให้เขา กลายเป็นคนที่เรียกว่า well-rounded หรือคือคนที่มีความสามารถหลายด้าน โดย ม.กรุงเทพ มีกลยุทธ์ใหม่ที่ตั้งใจสร้างช่วงเวลามหัศจรรย์ เพื่อกระตุ้นแพชชั่นให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับสร้างมหาวิทยาลัยโดยแบ่งเป็นกลุ่มอาชีพ หรือคลัสเตอร์ เช่น อาจมีเด็กคนหนึ่ง ชอบครีเอทีฟ อยากอยู่โปรดักชั่น อยากเป็นสตรีมเมอร์ อยากเป็นนิเทศ ก็จะรู้ได้ว่าเขาเหมาะกับ Creative Cluster
“ปัญหาคือ เขาไม่รู้ว่า แล้วอาชีพจริงๆ คือ อาชีพอะไร ตรงจุดนี้เราต้องสร้างช่วงเวลาให้เขาได้มีและสัมผัสประสบการณ์จริง ซึ่งการทำงานในอุตสาหกรรมนั้น จะให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในหลักสูตรเลย สิ่งสำคัญคือ ถ้าเขามีประสบการณ์ยิ่งเร็ว เขายิ่งมีแพชชั่นมากขึ้น สามารถสร้างทักษะวิชาชีพ ได้ภายใน 3-4 ปี โดย ม.กรุงเทพ จะสร้าง กลุ่มอาชีพ ทั้งสายธุรกิจ อย่าง Business Cluster สายสร้างสรรค์ อย่าง Creative Cluster และสายนวัตกรรมเทคโนโลยี อย่าง Innovative Cluster” อธิการบดี ม.กรุงเทพ กล่าว
นายภูรัตน์ กล่าวอีกว่า การเรียนของเราไม่ใช่การนั่งเลคเชอร์แล้วกลับบ้าน แต่จะให้ผู้เชี่ยวชาญ หรือโปรตัวจริง ของแต่ละสายงานเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเราต้องเริ่มต้นด้วยการติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกก่อน เริ่มจากหาแพชชั่นให้เจอก่อนว่าชอบอะไร หรืออย่างน้อย ต้องให้เขารู้สึกว่า เขาน่าจะมาทางนี้ก่อน
ขณะเดียวกัน เราต้องสร้างทักษะวิชาชีพ ไปพร้อมกับแพชชั่นด้วย ยกตัวอย่างในปัจจุบัน หลักสูตรหลายหลักสูตร นักศึกษาต้องอยู่ปี 3 ถึงจะได้ฝึกงาน ต้องอยู่ ปี 4 ถึงจะได้ลองเข้าทำงานบริษัท ซึ่งอาจช้าไป ฉะนั้นต้องทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริง กับพาร์ตเนอร์ และผู้เชี่ยวชาญในสายต่างๆ ตั้งแต่ปีการศึกษาแรก เพื่อต่อยอดไปสู่การค้นพบความชอบและแพชชั่นของตัวเองที่ยิ่งเร็ว ยิ่งดี
อธิการบดีของคนรุ่นใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือ ไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง ภาษาอังกฤษของเด็กไม่แข็งแรง จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการบริหาร และแก้ปัญหา คือ การหาเครือข่ายจากต่างชาติ และสร้างพันธมิตร ทั้ง จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่เป็นระดับนานาชาติอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ต้องมีชุมชน โปรแกรมแลกเปลี่ยน รวมถึงสร้างโครงการกลุ่มระหว่างเด็กไทยและเด็กต่างชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ทั้งภาษา วัฒนธรรม และการทำงานที่เป็นสากลมากขึ้น
นายภูรัตน์ กล่าวถึงเรื่องแนวโน้มการทำงานปัจจุบัน ที่บอกได้ว่าวุฒิการศึกษาอาจไม่จำเป็นอีกต่อไปว่า ปัจจุบัน ช่องว่างระหว่าง อุตสาหกรรม และการศึกษา เริ่มใหญ่ขึ้น บริษัทเริ่มเน้นไปที่ชุดทักษะและความสามารถเฉพาะทางเพราะปริญญา หรือ วุฒิการศึกษาอาจไม่ตรงตามความต้องการของการทำงานบริษัท ฉะนั้นมหาวิทยาลัยจึงต้องตีโจทย์ความต้องการใหม่ เพื่อให้วุฒิการศึกษาของม.กรุงเทพ ยังเป็นที่ต้องการของตลาด
เช่น บริษัท Unreal Engine ที่ทำ 3D graphic และ พัฒนา software ของตนเองเสมอ ซึ่งมหาวิทยาลัยทั่วไปไม่สามารถตามทัน บริษัทจึงต้องสร้างศูนย์ฝึกของตนขึ้นมา ตรงจุดนี้เราจึงเข้าไปจับมือเป็นพาร์ตเนอร์ทางวิชาการ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ประกอบการและมหาวิทยาลัย และสามารถออกใบรับรองร่วมกับบริษัทพันธมิตรได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะสร้างหลักสูตรที่จำเป็นสำหรับการทำงาน เพื่อให้ปริญญาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แสดงถึงชุดทักษะความรู้ความสามารถที่ยังคงเป็นที่ต้องการของโลกปัจจุบันอยู่เสมอ
“ภาพในอนาคตของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือ เรามุ่งสู่การเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของอาเซียน ทั้ง Creative Cluster, Business Cluster และ Innovative Cluster และส่งเสริมให้เด็กไทยรุ่นใหม่ สามารถค้นพบแพชชั่นและมุ่งหน้าสู่การเป็นโปรในแบบของตัวเอง ในการตามหาแพชชั่น โดยมีความตั้งใจว่า ม.กรุงเทพ จะเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในไม่ช้า”อธิการบดี ม.กรุงเทพทิ้งท้าย