นับวันภาวะเรือนกระจกก่อตัวทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศแปรปรวน สุดขั้วจนเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น การเกิดคลื่นความร้อน พายุหมุน ไฟป่า การเกิดภัยแล้งติดต่อกันหลายฤดูกาล หรือกระทั่งน้ำท่วมจากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และแนวโน้มของการเกิดภัยธรรมชาติเหล่านี้ ยังจะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อโลกรับผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก
ก่อนหน้านี้มีข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization; WMO) ระบุว่า ช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลา 8 ปีที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากที่สุด ขณะเดียวกันข้อมูลสำนักอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักรยังได้คาดการณ์ว่า ปี 2023 จะเป็นอีกปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกอยู่ในระดับ “ร้อนมาก” ที่ 1.2 องศาเซลเซียส
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ที่นอกจากจะกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตบนโลกแล้ว ยังขยายไปยังภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และภาคการเกษตร นั่นหมายความว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงรายได้จากการส่งออกของประเทศและอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกอีกด้วย ซึ่งปี 2566 ประเทศไทยเผชิญภัยแล้งต่อเนื่องไป 3 ปี ข้างหน้าเพราะเป็นช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญ หลังจากนั้นจะเกิดน้ำท่วมที่ต่อเนื่องเป็น ช่วง ๆ ด้วยลานีญา
ไทยกำหนดเป้าหมายสู่ Net Zero
สำหรับประเทศไทยได้ยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 และด้วยการสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้ กรอบอนุสัญญาฯ ไทยจะยกระดับ NDC (Nationally Determined Contribution) หรือ เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยมีทั้งแผนระยะสั้น และระยะยาว
ภาคธุรกิจตื่นตัวปรับแผนช่วยโลก
ในทางเดียวกันภาคธุรกิจมีความตื่นตัวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่ทุกคนให้ความสำคัญ ในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินธุรกิจสอดรับกับการเปลี่ยนแปลง อาทิ ซื้อขายคาร์บอนเครดิต การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดซับก๊าซเรือนกระจก และการดักจับกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ เพื่อตอบสนองการต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับ บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ได้ร่วมกับบริษัทคู่ค้า กลุ่มซัพพลายเออร์ผลผลิตข้าวโพด และข้าว เปิดตัวกิจกรรม “Climate Actions For A Better Tomorrow” โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิต ผ่าน“โครงการเกษตรกรรมฟื้นฟู” หรือ Regenerative Agriculture
ดึงเกษตรกรรมฟื้นฟูปลูกข้าวโพดและข้าว
นายปิยรัฐ อมรฉัตร ผู้อำนวยการด้านการจัดซื้อ ภูมิภาคเอเชีย บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า เริ่มดำเนินโครงการเกษตรกรรมฟื้นฟูในการปลูกข้าวโพดและข้าว ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง นำร่องและเป็นโครงการต้นแบบที่ จ.นครราชสีมา และ จ.ลพบุรี ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติการนำร่อง ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีส่วนสำคัญในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และฟื้นฟูดินควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
“โครงการเกษตรกรรมฟื้นฟูมุ่งยกระดับสุขภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพื่อจัดเก็บคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรับปรุงคุณภาพของลุ่มน้ำ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สำคัญยังสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งกับเกษตรกรเพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก้าวไปสู่การเกษตรแบบเท่าทันภูมิอากาศ ( Climate Smart Agriculture) โดยทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์และเกษตรกรส่งเสริมวิธีการทำเกษตรที่ดี และการสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพกระบวนการผลิตข้าวโพดและข้าวอย่างยั่งยืน” นายปิยรัฐ กล่าว
สำหรับโครงการดังกล่าว นับเป็นวาระสำคัญของทุกภาคส่วน จ.นครราชสีมา การทำเกษตรคืออาชีพหลัก นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ตัวแทน จ.นครราชสีมา พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ให้เป็นรูปธรรม