นับจากวันที่ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการจัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ประกาศวิสัยทัศน์พร้อมกำหนดทิศทางขององค์กร (และเป็นภารกิจร่วมของกลุ่มบริษัทในเครือ) ว่าจะเลือกเส้นทาง Powering Life with Future Energy and Beyond ซึ่งถือเป็นการปรับทิศทางครั้งสำคัญภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไปทั้งในอุตสาหกรรมพลังงานภายในประเทศไทย รวมถึงในเวทีโลก มีความท้าทายมากขึ้นในการปรับตัวเพื่อรักษา-ต่อยอดความสำเร็จ รวมถึงก้าวออกไปบุกเบิกน่านน้ำใหม่ เพื่อที่จะเติบได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน
โดยมีเป้าหมายปลายทางที่สำคัญคือ ปตท. หรือ PTT จะต้องเคลื่อนตัวเข้าสู่ยุคใหม่ของ ธุรกิจพลังงานสะอาด หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงไฮโดรเจน
คู่ขนานไปกับการรุกเข้าธุรกิจที่สนับสนุนการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คนนอกเหนือธุรกิจพลังงาน (Beyond) อาทิ ธุรกิจ Life science (ยา Nutrition อุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์) ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) ซึ่งรวมถึงธุรกิจค้าปลีก Non-oil ธุรกิจหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (AI, Robotics & Digitalization)
ปฏิบัติการที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้เดินไปในทิศทางดังกล่าว ยังคงเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องและแน่นอนว่ายังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ ผลักดัน ลองผิดลองถูกอีกเพราะสมควร เพราะนี่มิใช่โปรเจ็กต์ในแบบ Quick Win ที่จะเนรมิตความสำเร็จ หรือผลตอบแทนได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ในระหว่างการเดินทางไปดูงานร่วมกับสื่อแขนงต่างๆ ในประเทศโปรตุเกส และสเปน เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการจัดการใหญ่ ปตท.ยังคงยืนยันว่า การขับเคลื่อนในทิศทางดังกล่าวมีผลการดำเนินงานที่คืบหน้าไปในหลายๆ ส่วน ขณะเดียวกันก็ยังเปิดรับโอกาสต่างๆ สำหรับการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญสำหรับการเข้าเยี่ยมชม และรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน, Solution ใหม่ๆ สำหรับการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ฯลฯ จากกลุ่มนักพัฒนา บรรดาสตาร์ทอัพหลายๆ กลุ่มของ UPTEC – Science and Technology Park of University of Porto อันเป็นส่วนสำคัญของมหาวิทยาลัย ปอร์โต สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ โปรตุเกส เป็นจุดหมายแรก
โปรแกรมถัดมาคือการดูงานและรับฟังการบรรยายจาก ท่าเรือเซบีญา (Port of Seville )ท่าเรือเชิงพาณิชย์ที่ตั้งอยู่ตอนในของประเทศ (inland maritime) ริมแม่น้ำกวาดัลกีบีร์ ใจกลางเมืองเซบีญา ประเทศสเปน และห่างจากทางออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติกประมาณ 90 กิโลเมตร
ผู้บริหารของท่าเรือเซบิญา แชร์ข้อมูลที่น่าสนใจว่า นี่เป็นโมเดลท่าเรือหลายรูปแบบที่สมบูรณ์เนื่องจากมีระบบโลจิกติกส์ที่ดีเยี่ยม ที่เชื่อมต่อกับท่าเรือทั้งทางรถไฟและทางบก มีการจัดตั้งเขตปลอดอากร (Free Zone) มีพื้นที่กว้างขวางขนาด 850 เฮกตาร์ พัฒนารองรับการใช้งานด้านโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
เป็นโมเดลที่ ปตท. เองก็สนใจและเดินหน้าลงทุนอย่างจริงจัง หลังได้สิทธิ์เข้าดำเนินการโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F จัดตั้งบริษัท GPC International Terminal ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ บริษัท PTT Tank ถือหุ้นในสัดส่วน 30% ลงทุนร่วมกับ การท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 35 ปี มีมูลค่าการลงทุนร่วมกันในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างหน้าท่าประมาณ 30,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการลงทุนในธุรกิจโลจิกติกส์เต็มตัว ผ่านบริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) อันเป็นบริษัท Flagship ด้านโลจิสติกส์ ของ ปตท. (ปตท. ถือหุ้นผ่าน บริษัท สยาม แมนเนจเมนท์โฮลดิ้งจำกัด (SMH) ทุนจดทะเบียน 230 ล้านบาท) มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งของประเทศไทยและระหว่างประเทศซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ New S-Curve ของ ปตท. ในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน
จุดหมายถัดมาของทริปดูงานนั่นคือ Iberdrola Green Hydrogen Plant (Virtual Visit) at Campus Iberdrola Madrid บริษัท Iberdrola จัดเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดจากประเทศสเปน มีธุรกิจหลักๆ คือ พลังงานหมุนเวียน, ธุรกิจเครือข่ายกระแสไฟฟ้า(ระบบสายส่ง) และธุรกิจขายส่ง-ขายปลีกพลังงานไฟฟ้า มี capacity ในการผลิตพลังงานหมุนเวียนจำนวน 40 กิกะวัตต์
พลังงานสะอาดที่โดดเด่นของพวกเขาคือ พลังงานลมบนบก (onshore wind) พลังลมนอกชายฝั่งทะเล (offshore wind) พลังงานน้ำ Solar Cell , เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ และล่าสุดมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาห่วงโซ่ทางธุรกิจกรีนไฮโดรเจน ปัจจุบันมีโรงงานผลิต Green Hydrogen ที่เมือง Puertollano ประเทศสเปน ถือเป็นโรงงานผลิต Green Hydrogen สำหรับอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป (ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100%) นอกจากนี้เริ่มทำต้นแบบในการใช้พลังงานไฮโดรเจนสำหรับรถบัส ในเมือง บาร์เซโลนา อีกด้วย
สำหรับ ปตท.แล้ว แม้ Iberdrola จะเป็นตัวอย่างที่ดี แต่เงื่อนไขปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบอื่นๆ ในการพัฒนาพลังงานสะอาดแบบ โรงงานผลิต Green Hydrogen ในประเทศไทยยังมีมูลค่าการลงทุนสูง เทคโนโลยีมีราคาแพง ซึ่งมีข้อที่จะต้องพิจารณาให้รอบด้านด้วยเช่นเดียวกัน
ถึงวันนี้ จึงยังอยู่ในขั้น ศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (green hydrogen) ในประเทศไทย โดยเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ACWA Power ประเทศซาอุดีอาระเบีย
ที่สุดแล้ว บนเส้นทางที่ ปตท.กำลังแสวงหาลู่ทางใหม่ในมุมของ พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy ) ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมุ่งไปในสาย Green เพื่อตอบโจทย์เรื่อง บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2583 (ค.ศ.2040) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)
หรือการการไปสู่น่านน้ำใหม่ ธุรกิจใหม่ (Beyond) ไม่ว่าจะเป็นในไลน์ของ ยา, Nutrition , ค้าปลีก Non-oil , โลจิสติกส์ , ธุรกิจหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (AI, Robotics & Digitalization) ฯลฯ นั้นยังคงเป็นทิศทางหลักที่ ปตท.และบริษัทในเครือต้องลงแรง และใช้เวลาอีกพอสมควร เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ รายได้, ผลกำไร เท่านั้น หากต้องเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน ภายใต้กรอบกติกาที่ท้าทายมากขึ้น ทั้งในวันนี้และในอนาคต