ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องประชากรอายุยืนมากที่สุดในประเทศหนึ่งในโลก ทว่าในตอนนี้นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมื่อประชากร 1 ใน 10 มีอายุมากกว่า 80 ปี โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติยังแสดงให้เห็นว่า 29.1% ของประชากรทั้งหมด 125 ล้านคนมีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งนับเป็นสถิติครั้งใหม่
ญี่ปุ่นยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำมากที่สุดในโลก และยังเผชิญกับปัญหาในการดูแลผู้สูงอายุมาอย่างยาวนาน โดยสถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติคาดว่า ญี่ปุ่นจะมีจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี คิดเป็น 34.8% ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายในปี 2040
จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้ญี่ปุ่นมีอัตราการจ้างงานผู้สูงอายุเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยมีแรงงานอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 13% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด อย่างไรก็ตามจำนวนการจ้างงานดังกล่าวช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านประกันสังคมได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณปีหน้าสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากค่าประกันสังคมที่สูงขึ้น
ความพยายามกระตุ้นเพิ่มอัตราเกิดใหม่ได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ท่ามกลางค่าครองชีพสูงและปัญหาการทำงานล่วงเวลาที่ฉาวโฉ่
อัตราการเกิดใหม่ของญี่ปุ่นในปีที่ผ่านมาคาดว่ามีจำนวนต่ำกว่า 800,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เริ่มจัดเก็บข้อมูลในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 1970 มีอัตราการเกิดใหม่มากกว่า 2 ล้านคน
หลายประเทศในแถบเอเชียก็เผชิญกับอัตราการเกิดใหม่ต่ำเช่นเดียวกัน ในปีที่ผ่านมาจีนมีจำนวนประชากรลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1961 ขณะที่ในเกาหลีใต้เองมีรายงานว่ามีอัตราการเกิดใหม่ต่ำมากที่สุดในโลก
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : คนไทยมีลูกน้อย เพราะความคิดคนบิดเบี้ยวหรือสังคมไม่อำนวย
แหล่งที่มาข้อมูล