‘สังคมผู้สูงอายุ’ และ ‘เด็กเกิดใหม่น้อย’ 2 สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่หลายประเทศต่างกำลังเผชิญหน้าและหาทางรับมือ เนื่องด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ และค่านิยมของคนที่เปลี่ยนแปลงไป หลายคนมีแนวคิดว่าแค่ต้องทำงานหาเงินมาใช้จ่ายหรือดูแลพ่อแม่ที่แก่ชราก็เหนื่อยแล้ว หากมีลูกอีกจึงเป็นเหมือนการเพิ่มภาระความรับผิดชอบให้กับตนมากขึ้นไปอีก หรือบางส่วนไม่ต้องการให้ลูกเติบโตมาในท่ามกลางสภาพสังคมที่การแข่งขันสูงและไม่เอื้ออำนวย การมีลูกจึงไม่ใช่คำตอบสำหรับพวกเขาอีกต่อไป

ทำไมคนไทยถึงมีลูกน้อยลง

“พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายถึงเหตุที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีลูกเอาไว้ สองประการ คือ 1.การเข้าถึงการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นในประชากรบางกลุ่ม ทำให้ชะลอการมีครอบครัว และชะลอการมีบุตรด้วย ขณะที่วิทยาศาสตร์การแพทย์เรื่องการคุมกำเนิดและวางแผนครอบครัวดีขึ้นมาก ส่งผลให้ผู้หญิงที่จะเข้าสู่ความเป็นแม่ หรือตั้งใจมีบุตรถูกชะลอออกไป

2.ความคาดหวังต่อบทบาทของความเป็นพ่อแม่ และความคาดหวังต่อคุณภาพของลูก เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงมากในระยะหลัง หลายคนตั้งความคาดหวัง หากจะต้องเป็นพ่อแม่คน ต้องมีความพร้อม ซึ่งกว่าจะถึงเวลาที่พร้อมจริง ความสามารถในการมีบุตรก็อาจถดถอยลงไป และความเครียดต่อเรื่องนี้ทำให้โอกาสต่อการเจริญพันธุ์ได้รับผลกระทบด้วย

“ส่วนหนึ่งคาดหวังคุณภาพของเด็ก ทำให้หลายคนเริ่มรู้สึกวิตกกังวลต่อบทบาทความเป็นพ่อแม่ คือกว่าจะพร้อมก็เลยเวลาของวัยเจริญพันธุ์ไปพอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม ทำให้โอกาสของการคลอดก็ลดลง แต่เราต้องแก้ไข คือ ควรดูแลให้มีการควบคุมวางแผนครอบครัวเป็นไปอย่างดี มิเช่นนั้น บรรดาทารกที่เกิดบนความไม่พร้อม แม้มีปริมาณมาก อาจด้อยคุณภาพ” พญ.อัมพร กล่าว

ข้อมูลสถิติจำนวนการเกิด สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทย เด็กเกิดใหม่น้อย
ข้อมูลสถิติจำนวนการเกิด สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทย

ผลกระทบต่อสังคมไทย เมื่อเด็กเกิดใหม่น้อยลง

แน่นอนว่าเมื่อจำนวนการเกิดใหม่น้อยลง ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและขาดทรัพยากรบุคคลที่จะพัฒนาประเทศก็ตามมา “รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์” อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วจำนวนเด็กแรกเกิดในประเทศเริ่มต้นลดลงมานานกว่า 40 ปีแล้ว นับตั้งแต่ช่วงที่มีประชากรเกิดใหม่มากกว่า 1 ล้านคนในราวปี พ.ศ. 2506 – 2526 หรือที่เรียกว่ายุค Baby Boom ก่อนที่จำนวนการเกิดใหม่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบในระยะสั้น

  1. คนจะลดลง ด้วยตัวเลขการเกิดต่ำกว่าตัวเลขการตาย จำนวนประชากรจึงลดลง ส่งผลให้อะไรก็ตามที่ตระเตรียมไว้สำหรับการรองรับคนจำนวนที่มากขึ้นหรือเพิ่มขึ้นก็จะไม่เป็นเช่นนั้น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย ธุรกิจร้านค้าและบริการต่างๆ ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงเกษตรกรรมจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน การลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการใช้งานสำหรับคนจำนวนมากๆ จะเสียเปล่า
  2. ครอบครัวจะเปลี่ยนไป ครอบครัวขยายจะหายไปกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันไม่กี่รุ่น การอยู่ลำพังและตายจากอย่างโดดเดี่ยวหรือมีแต่เพื่อนญาติห่างๆ จะมีมากขึ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ของคนระหว่างรุ่นที่จะถูกถ่างขยายออกมากขึ้นด้วยสาเหตุจากการเลื่อนอายุสมรส การอยู่เป็นโสด หรือความไม่พร้อมในการมีบุตร รวมถึงความต้องการชีวิตส่วนตัวและมีอิสระที่มากขึ้น
  3. สังคมจะเปลี่ยนแปลง นอกจากความสำคัญของเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมแล้ว การที่คนลดน้อยลง จึงมีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ หากไม่เกิดการรวมกลุ่มใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์กันบนโลกเสมือนแทนกันมากยิ่งขึ้น สังคมของคนเราจะถูกผลักให้ออกห่างจากกันมากขึ้นด้วยความไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องใดๆ ต่อกันดังเช่นสังคมในอดีตที่ใกล้ชิดผูกพันในเชิงเครือญาติที่ยังพอสืบทราบที่มาได้บ้าง

ผลกระทบในระยะยาว

จะเกิดปัญหาและภาวการณ์หลายสิ่งอย่างที่จะต้องเตรียมการรับมือและพร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ การขาดแคลนแรงงาน สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ปัญหาความมั่นคง ขาดทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาประเทศ ปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

“การเลื่อนอายุเกษียณเพื่อชะลอการขาดแคลนแรงงาน การเตรียมความพร้อมในการดูแลตนเองหรือช่วยดูแลในยามสูงอายุผ่านการออมเงิน การลงทุนในการทำประกัน กองทุน หรือรูปแบบอื่นใด เพื่อให้ใช้ชีวิตในยามสูงวัยอย่างมีอัตภาพและคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการหรือนโยบายรัฐที่ใช้กันโดยทั่วไปในต่างประเทศ บางเรื่องไทยเราก็นำมาใช้ภายใต้บริบทและเงื่อนไขหลักเกณฑ์และประโยชน์ที่คาดหวังได้แตกต่างกันออกไป”

“แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดโดยส่วนตัวในการตั้งรับและเตรียมรุกสำหรับสถานการณ์นี้คือ กรอบความคิด (mindset) ต่อการมีบุตรจำเป็นต้องทำให้เกิดความรับรู้และเข้าใจก่อนตัดสินใจจะมีคนรัก มีคู่ครอง จนกระทั่งเป็นคู่ชีวิตที่พร้อมจะสร้างครอบครัวให้เกิดกรอบคิดทางบวกและลบเพื่อร่วมกันคิดอ่านก่อนการมีบุตร”

คนไทยมีลูกน้อย

มีลูกมากจะยากจน วาทกรรมลดจำนวนประชากร

ในอดีตประเทศไทยเคยเผชิญกับปัญหาจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลในขณะนั้นนำโดย “จอมพล ถนอม กิตติขจร” นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ออกแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2515 – 2519 ที่มีการนำนโยบายด้านประชากรเข้ามารวมไว้ โดยระบุเอาไว้ในแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวว่า

“เนื่องด้วยในปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราเพิ่มของประชากรสูง มีเด็กเกิดมากจนเป็นภาระแก่สังคมและรัฐบาลในด้านการเลี้ยงดูและการให้บริการ ตลอดจนการพัฒนาต่างๆ เช่น ปัญหาด้านการพัฒนาการศึกษา การพัฒนาที่อยู่อาศัย การให้บริการทางด้านสาธารณสุขและสาธารณูปโภค คลอดจนการพัฒนาและยกระดับฝีมือและคุณภาพของกำลังคน รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากรให้ดีขึ้น รัฐบาลจึงได้มีนโยบายเป็นทางการที่จะสนับสนุนการวางแผนครอบครัวโดยสมัครใจ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระการเลี้ยงดูเด็กของบุคคลในวัยทำงานลงแล้ว ยังจะช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ก้าวหน้าเร็วขึ้นหลายประการ เหตุผลที่สำคัญคือเมื่ออัตราการเพิ่มประชากรลดลง รัฐบาลก็จะสามารถประหยัดเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ และนำไปใช้ในทางปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อให้การผลิตทรัพยากรมนุษย์ในอนาคตได้ในมีคุณภาพดีขึ้นต่อไป”

“เป้าหมายในการลดอัตราเพิ่มของประชากร โดยการวางแผนครอบครัวด้วยความสมัครใจก็คือ จะลดอัตราเพิ่มของประชากรจากร้อยละ 3.0 ในปัจจุบัน (พ.ศ.2515) เป็นร้อยละ 2.5 ในปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2519) คาดว่าภายในระยะของแผนจะสามารถดำเนินงานให้บริการแก่ผู้สมัครใจวางแผนครอบครัวด้วยวิธีการต่างๆ ประมาณ 2.5 ล้านคน ด้วยการระดมทรัพยากรด้านกำลังคน สถานที่ อุปกรณ์ และกำลังเงินของหน่วยราชการและสถาบันเอกชน ปรับปรุงการดำเนินงานด้านการวางแผนครอบครัวและการให้บริการแก่มารดาและเด็ก ตลอดจนงานสาธารณูปโภคให้สอดคล้องและสัมพันธ์กันทั่วประเทศ”

นโยบายลดอัตราประชากรดังกล่าวมีสโลแกนที่คุ้นหูกันดีว่า “ลูกมากจะยากจน” ซึ่งภายหลังที่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 บังคับใช้นั้นอัตราการเกิดใหม่ของคนไทยได้ปรับตัวลดลง ก่อนที่ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฉบับถัดมาก็ปรากฏนโยบายลดอัตราประชากรลงเช่นกัน

  • ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520 – 2524) จากร้อยละ 2.5 ให้เหลือร้อยละ 2.1
  • ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 – 2529) ให้เหลือร้อยละ 1.5
  • ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530 – 2534) จากร้อยละ 1.7 ให้เหลือร้อยละ 1.3

วาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขในสภา

ปัญหาเด็กเกิดน้อยถูกนำไปอภิปรายระหว่างการประชุมสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา โดย “ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์” ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ระบุว่า “หลายประเทศทั่วให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์เพราะเป็นกำลังสำคัญในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในอนาคต มีการรณรงค์ สนับสนุน ให้ประชาชนสร้างสิ่งแวดล้อมให้ทุกคนอยากสร้างครอบครัวและมีบุตร ดังมีคำกล่าวที่ว่า “เราอยากเห็นอนาคตของประเทศเป็นแบบไหนให้เราดูว่ารัฐลงทุนกับเด็กเล็กแบบไหน”

"ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์" ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล
“ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์” ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล

“มีงานวิจัยยืนยันถึงความสำคัญของการดูแลเด็กในช่วง 0 – 7 ปีแรก เป็นช่วงที่จะกำหนดบุคลิกภาพและนิสัยของเด็กที่จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต โดยเฉพาะในช่วง 0 – 6 เดือนแรกที่เด็กควรจะได้รับนมแม่ ทว่ากฎหมายที่มีอยู่ในตอนนี้ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น อีกทั้งยังขาดศูนย์เลี้ยงดูเด็กเล็กที่ครอบคลุมบางครอบครัวจึงต้องส่งลูกกลับต่างจังหวัดให้ปู่ย่า-ตายายเลี้ยงดูแทน”

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ด้าน “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า “โครงสร้างประชากรของคนไทยขณะนี้เกิดการบิดเบี้ยว ประชากรเข้าสู่วัยผู้สูงอายุเกิน มากกว่าร้อยละ 20 ขณะที่คนเกิดใหม่น้อยมาก อัตราเกิดที่เหมาะสมอยู่ที่ 2.1 ต่อแสน แต่ขณะนี้เมืองไทยได้แค่ 1.6 นั่นหมายความว่าปีหนึ่งเราเกิดน้อยกว่าสิ่งที่เราต้องการ 5-6 หมื่นคน มันก็เลยเป็นปัญหาว่าเราจะไม่มีประชากรไม่มีคนที่จะมาพัฒนาประเทศ”

“กระทรวงสาธารณสุขเองที่ดูแลมิติสุขภาพเรื่องของ reproductive health อนามัยเจริญพันธุ์ เราต้องการใช้กระทรวงเราเป็นจุดกำเนิดจะผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ มาดูเรื่องประชากรกันใหม่ ลูกมากจะยากจนต้องเอาออกจากสมองคนไทย คนไทยไม่ยอมมีลูกโดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี มีความรู้ มีความสามารถ มีฐานเศรษฐกิจที่รองรับไม่ยอมมีลูก หลายคู่แต่งงานปุ๊บบังคับให้สามีทำหมันเลย ไม่อยากมีลูก นั่นคือสิ่งที่กำลังบิดเบี้ยวในสังคมไทย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญเราจะทำในมิติของกระทรวงสาธารณสุขและผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ”

นโยบายเงินอุดหนุนเงินจากรัฐ

สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลมีโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดซึ่งเป็นนโยบายสำคัญระดับชาติตามแผนบูรณาการ การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ‘เงินสงเคราะห์บุตร’ สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33,39 และมาตรา 40 และ ‘เงินอุดหนุนบุตร’ สำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองและให้เด็กได้รับการดูแลที่มีคุณภาพ

เงินสงเคราะห์บุตร 800 บาท ผู้ที่มีสิทธิ์คือผู้ประกันตนมาตรา 33,39 ที่มีการจ่ายเงินสมทบมาระยะหนึ่งแล้ว และมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ผู้ที่จ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 200 โดยจะได้รับเงินจนตั้งแต่แรกเกิดจนกว่าบุตรจะมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ และสามารถได้รับเงินสงเคราะห์บุตรสูงสุด ไม่เกิน 3 คน

เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท มีเงื่อนไขว่า 1.เด็กต้องมีสัญชาติ พ่อแม่เด็กต้องมีสัญชาติไทย 2.เด็กไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน 3.เด็กอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยจะรับได้เงินอุดหนุนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำคนไทยไม่อยากมีลูก คือสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ขยับตัวไม่ทัน ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้จึงไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้อย่างมีคุณภาพ จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ทำให้ตัดสินใจไม่อยากมีลูก เนื่องจากกังวลเรื่องรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สิน โดยการเลี้ยงลูก 1 คน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 500,000 – 2,000,000 บาท

คนไทยมีลูกน้อย

แจกเงินปั๊มลูก

รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศแคมเปญ Baby Bonus Cash Gift แจกของขวัญเป็นเงินสด 11,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 288,000 บาท สำหรับครอบครัวที่มีลูกคนแรกและลูกคนที่สอง และเงินสด 13,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 341,000 บาท สำหรับครอบครัวที่มีลูกคนที่สาม โดยจะมอบเงินให้ทุกๆ 6 เดือนจนกว่าเด็กจะเติบโตจนอายุ 6 ขวบครึ่ง เพื่อกระตุ้นให้คนมีลูกเนื่องจากจำนวนการเกิดใหม่ต่ำสุดในประวัติการณ์อยู่ที่ 1.05 เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา

โจทย์ใหญ่ที่ต้องร่วมกันหาทางออก

สุดท้ายแล้วปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อย สวนทางกับจำนวนคนแก่และคนเสียชีวิตที่มากกว่า เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันหาทางรับมือ ทั้งการสนับสนุนดูแลจากภาครัฐ การแก้ไขกฎหมายลาคลอด การปรับตัวของภาคเอกชน และการเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม ก่อนที่ประเทศไทยจะเดินไปสู่จุดที่มีการคาดการณ์ว่า ประชากรจะหายไปครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 33 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2626 หรืออีก 60 ปีข้างหน้า

แหล่งที่มาข้อมูล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก