นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศธ. มีการรวบรวมข้อมูล นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ของสถานศึกษาในสังกัดศธ. ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 พบตัวเลขเด็กออกกลางคัน 52,808 คน เฉพาะ สพฐ. จำนวน 21,364 คน นั้น ถือว่าเป็นจำนวนที่มากค่อนข้างน่าตกใจ แต่ยังไม่แน่ใจว่า ตัวเลขดังกล่าว มาจากข้อมูลใดบ้าง ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้ สำนักนโยบายและแผนการศึกษา สพฐ. ไปศึกษารายละเอียด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์
อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวถือว่า ไม่ปกติ จึงขอดูรายละเอียดก่อน ส่วนเด็กออกกลางคันปีอื่น ๆ นั้น ภาพรวมเหลือไม่มากแล้ว เพราะที่ผ่านมา สพฐ. ได้ติดตามเด็กกลับเข้าเรียนตามโครงการพาน้องกลับมาเรียน
นายอัมพร กล่าวต่อว่า ส่วนจำนวนผู้เรียนสายสามัญต่ออาชีวศึกษา ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 68.9 ต่อ 31.1 นั้น ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ผู้เรียนสายสามัญเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การเพิ่มยอดผู้เรียนสายอาชีพ ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 50:50 ตามนโยบายที่วางไว้
ส่วนหนึ่งเพราะผู้ปกครองและนักเรียน ยังไม่นิยมส่งลูกไปเรียนสายอาชีพ กังวลในเรื่องของการมีงานทำ และค่าตอบแทนที่เหมาะสม ทาง สพฐ.ประสานความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในการแนะแนว เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียน
โดยเฉพาะกลุ่มขาดแคลน ให้มาเรียนสายอาชีพ ทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการ จัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี ให้เด็กสามารถเรียนและทำงานไปด้วย เมื่อจบแล้วมีงานรองรับและมีรายได้อย่างแน่นอน
“ยอมรับว่า ตัวเลขเด็กเข้าเรียนสพฐ. เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ผู้ปกครองขาดสภาพคล่อง ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนเอกชนบางแห่ง ก็อาจต้องย้ายเด็กมาเรียนโรงเรียนสังกัดสพฐ. ซึ่งไม่ใช่แค่เอกชนเท่านั้น
จากการวิเคราะห์น่าจะมีสังกัดอื่นย้ายมาเรียนสังกัดสพฐ.ด้วย ส่วนเหตุผลที่ย้ายมาจะเกิดจากปัจจัยใดนั้น สพฐ.ยังไม่ไม่มีรายละเอียด แต่ในส่วนสพฐ. ก็เตรียมพร้อมรองรับทั้งอาคารสถานที่ และทรัพยากรในเรื่องของการเรียนการสอน
ส่วนข้อมูลที่ระบุว่า แนวโน้มการเกษียณอายุราชการของครู ในสังกัดสพฐ. ในระยะ 10 ปีนับจากนี้ แต่ละปี จะมีมากกว่า 11,000 คน โดยปี 2566 จะมีครูที่สอนระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเกษียณอายุราชการถึง 19,739 คน ปี 2567 จะมีครูเกษียณ 17,685 คน นั้น ในส่วนของสพฐ. ถือว่า เป็นอัตราปกติ และไม่มีปัญหาในเรื่องของการหาครูทดแทน
เพราะปัจจุบัน สถาบันผู้ผลิต ก็ผลิตครูออกมาจำนวนมาก ส่งผลให้บางสาขามีมากเกินความต้องการของสพฐ. ส่วนจะเป็นสาขาใดบ้างนั้น สพฐ. คงไม่สามารถบอกได้ เพราะต้องไปดูความต้องการของสังกัดอื่น ๆ ด้วย อย่าง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ก็อาจมีความต้องการในสาขาที่เกินความต้องการของสพฐ.” นายอัมพร กล่าว
เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาขาดแคลนครูของสพฐ. นั้น ไม่ได้ขาดเพราะจำนวนครูภาพรวมไม่เพียงพอ แต่ขาดในกรณีที่ อัตราการเกิดลดลง ทำให้ตัวป้อนคือนักเรียน ที่จะเข้าเรียนลดลง เช่น โรงเรียน ก. จำนวนเด็กลดลง แต่จำนวนครูผู้สอนยังเท่าเดิม ทำให้มีครูเกินกว่าจำนวนเด็ก
ขณะที่บางโรงเรียน มีครูไม่สอดคล้องกับจำนวนเด็ก โรงเรียนที่เกินก็ไม่ยอมขอย้าย เพราะหลักเกณฑ์การย้ายกำหนดให้เป็นไปตามความสมัครใจ ทำให้เกิดปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมาสพฐ. พยายามแก้ไขปัญหา โดยให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เกลี่ยอัตรากำลังไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลนให้ได้มากที่สุด รวมถึงหาแรงจูงใจให้ครูในโรงเรียนที่เกินย้ายไปในโรงเรียนที่ขาดมากขึ้น เช่น วิทยฐานะ ฯลฯ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้มากนัก
แหล่งที่มาและข้อมูล : ข่าวสด
ติดตามข่าวสารและกระแสสังคมได้ที่ FEE:D