ทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้ริเริ่มโครงการ “อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่” (พ.ศ. 2477-97)

วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ตรงกับวันปราบดาภิเษก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  แล้วเราเคยทราบกันไหมว่า ที่มาของการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ใครเป็นผู้ริเริ่ม

ศูนย์ข้อมูลมติชน ขอนำเนื้อหาบางส่วนจากบทความเรื่อง ชีวิตอุทิศแด่ “พระเจ้าตาก ประชาธิปไตย และพระนิพพาน” ส.ส. พรหมจรรย์ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ (พ.ศ. 2442-2514) เขียนโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์ จากศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2561 ดังนี้

อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงม้าออกศึกชูดาบใบหน้าองอาจเหี้ยมหาญ หนวดเฟิ้มเหนือพระโอษฐ์ ทรงเครื่องกษัตริย์นักรบ สวมพระมาลาเบี่ยง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ บ่ายพระพักตร์ไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นทิศทางของเมืองจันทบุรี ประดิษฐานบนแท่นสูงโดดเด่นเป็นสง่าใจกลางวงเวียนใหญ่ฝั่งธนฯ

ถือเป็นผลงานชิ้นเอกของ “ครูทองอยู่ พุฒพัฒน์” ผู้นี้โดยแท้ ถึงแม้อาจจะกล่าวได้ว่า นายเทียม ลดานนท์ นับเป็นท่านแรกๆ ที่ได้เกริ่นถึงอนุสาวรีย์ของพระเจ้าตาก ณ ฝั่งธนบุรี ใน พ.ศ. 247510 แต่เป็นนายทองอยู่ ที่ผลักดันจนประสบผลสำเร็จจับต้องได้ ซึ่งหากเริ่มนับจากดำริส่วนตัวจากครั้งสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระทั่งถึงพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ใช้เวลาดำเนินการไปทั้งสิ้น 32 ปี (พ.ศ. 2465-97) โดยสามารถแบ่งระยะไว้ได้ 3 ระยะ ดังต่อไปนี้

ระยะแรก นายทองอยู่กล่าวไว้ในหนังสืออนุสรณ์วันพระเจ้ากรุงธนบุรี 28 ธันวาคม 2497 ความว่า

“…เดิมทีเดียวเมื่อหลายปีมาแล้ว คือ พ.ศ. 2465 ข้าพเจ้าได้เป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ และต้องสอนวิชาประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ ข้าพเจ้าจึงจำต้องตรวจค้นหาข้อเท็จจริงจากหนังสือประวัติศาสตร์และพงศาวดารหลายเล่ม จึงเทียบเคียงกัน แล้ววินิจฉัยตามความเป็นจริงพร้อมกับหลักฐานและเหตุผล โดยเฉพาะแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนี้ มีอะไรอย่างหนึ่งที่บังเกิดผุดขึ้นในใจข้าพเจ้าในขณะโน้น และอะไรที่เกิดขึ้นนั่นเอง ได้กระทำให้ข้าพเจ้าคลายจากความเชื่อถือในข้อบันทึกไว้ จากนั้นข้าพเจ้าได้เริ่มขบคิด และค้นถึงข้อเท็จจริงปรากฏแล้วก็ให้รู้สึกเศร้าและสลดใจเป็นอย่างยิ่งในพฤติการณ์ของนักประวัติศาสตร์บางคนที่ได้บันทึกไว้ในลักษณะมุ่งร้ายป้ายสี ในพฤติการณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชให้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในตอนที่สำคัญๆ หลายแห่ง อันเป็นเหตุให้อนุชนรุ่นหลังพลอยเข้าใจผิดไปด้วย กล่าวคือ กลับขาวให้เป็นดำ กลับดำให้เป็นขาว บันดาลให้ดีกลายเป็นร้าย เอาร้ายกลับมาเป็นดี เป็นต้นว่าพระองค์มิได้ทรงเสียพระสติ ถูกป้ายสีว่าเสียพระสติ ไม่ได้ทรงเฆี่ยนตีพระภิกษุสงฆ์ ถูกกล่าวหาว่าเฆี่ยนตีพระภิกษุสงฆ์ ไม่ได้มีพระทัยอำมหิตโหดร้ายทารุณดังเช่นที่ได้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ แต่ถูกนักประวัติศาสตร์ผู้มีอคติบันทึกไว้อย่างน่าเกลียด ฯลฯ…แต่กลับตรงกันข้าม ในตอนท้ายรัชสมัยของพระองค์ พระองค์กลับมีพระทัยเต็มไปด้วยพรหมวิหาร กล่าวคือ ความเมตตากรุณาต่อประชากรของพระองค์ เพราะรสพระธรรมได้ซาบซ่านอยู่ในพระทัยของพระองค์อันเนื่องมาจากการวิปัสนากรรมฐาน…ด้วยเหตุนี้ในขณะโน้นข้าพเจ้าจึงตั้งใจว่า ถ้าหากจะมีท่านผู้หนึ่งผู้ใดมีใจกรุณามีกำลังทรัพย์และมีใจกตัญญูคิดดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ท่านขึ้น เพื่อลบรอยบันทึกของนักประวัติศาสตร์ที่มุ่งร้ายป้ายสีแล้ว ข้าพเจ้าจักต้องขอเข้าร่วมด้วยในกิจการนั้นเพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน แต่ได้รออยู่เช่นนั้นเรื่อยๆ มาก็ไม่ปรากฏว่าจะมีผู้ใดที่จะเป็นตัวตั้งตัวตีคิดจัดสร้างขึ้น…”

นายทองอยู่ได้เขียนเล่าสืบต่อไว้ว่า “…จนถึงปี พ.ศ. 2477 เมื่อเห็นว่าไม่มีผู้ใดที่จะสนใจในการสร้างพระราชอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระผู้กู้ชาติขึ้นเป็นแน่แล้ว ข้าพเจ้าซึ่งในขณะนั้นได้อยู่ในตำแหน่งผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี ซึ่งพอจะมีเสียงอยู่บ้าง จึงได้เรียกประชุมผู้แทนตำบลของจังหวัดธนบุรีทั้งหมด 126 คน พร้อมกับท่านผู้มีเกียรติแห่งสมาคมธนบุรีอีก 10 คน เริ่มประชุมปรึกษาหารือกันเป็นครั้งแรกในอันที่จะจัดสร้างอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระผู้กู้ชาตินี้ที่หอประชุมโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา…”

ครั้นมีมติเสนอเรื่องไปยังรัฐบาลเป็นเวลานานแล้วมิได้รับผลแต่ประการใด นายทองอยู่จึงได้มีหนังสือถึง พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นว่า “ถ้ารัฐบาลเพิกเฉยในเรื่องนี้แล้ว ประชาชนผู้ใฝ่ใจทั้งหลายจะได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดสร้างขึ้นเอง” หากแต่รัฐบาลก็ยังเฉยอยู่ จนนายทองอยู่จำจัดตั้งคณะกรรมการและพากันเข้าเฝ้าพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อขอความร่วมพระทัยในการสร้าง “พระองค์ท่านได้รับสั่งโดยให้ความคิดเห็นว่า สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเคารพขุนหลวงตากมาก ขุนหลวงตากไม่บ้า พงศาวดารเขียนเลอะเลือนป้ายสีกันจนเกินไป ฉันมีข้อพิสูจน์หลายอย่าง” ก่อนคณะทูลลากลับ ท่านรับสั่งต่อว่า “ถ้าจะลงมือสร้างกันเมื่อใดแล้ว ฉันจะให้ 100 บาท เป็นการสมทบทุนเริ่มแรก แต่พระรูปที่จะสร้างนั้นควรเป็นรูปนักรบ เมื่อจำลองพระรูปแล้วให้ทูลปรึกษาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศร์ฯ”

ต่อจากนั้นคณะกรรมการชุดของนายทองอยู่นี่จึงได้ทยอยเข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นๆ อีกหลายท่าน ซึ่งทั้งหมดต่างก็เห็นชอบด้วย และรับเรื่องมาดำเนินการต่อ

ระยะที่ 2 รัฐบาล พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา มีมติแต่งตั้งกรรมการ ซึ่งนายทองอยู่ถูกรวมอยู่ในคณะนี้ด้วย และเป็นผู้ยืนกรานจนเป็นฝ่ายมีชัยในการเลือกสร้างเป็น “พระบรมรูป” แทนที่ “ถาวรวัตถุอย่างหนึ่งอย่างใด” ที่มีผู้นำเสนอ โดยงานนี้ได้ร่วมมือกับเทศบาลธนบุรี อันเป็นสมัยที่พระยามไหสวรรย์เป็นนายกเทศมนตรี ทางฝ่ายกรมศิลปากรขณะนั้นมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นอธิบดีได้รับมอบหมายให้ไปคิดแบบ เมื่อเริ่มดำเนินงานได้ปั้นพระบรมรูปจำลองเล็กๆ ขึ้น 7 แบบ โดย 6 ในนั้นเป็นพระบรมรูปทั้ง ทรงม้า ทรงช้าง และแบบยืน มีเพียงแบบที่ 3 ที่ออกแบบเชิงสัญลักษณ์ แล้วนำขึ้นตั้งโชว์ในงานหนึ่งที่สวนสราญรมย์ เมื่อ พ.ศ. 2480โดยแบบที่ 1 ได้รับคะแนนนำขาดลอย ซึ่งก็คือ “พระบรมรูปทรงม้า พระหัตถ์ขวาเงื้อพระแสงดาบสถิตอยู่บนยอดสูง” อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

“เมื่อเดือนมกราคมต่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 นายทองอยู่ได้ก่องานขึ้นที่วัดอินทาราม รวม 5 วัน 5 คืน เรียกว่างานหาทุนสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ครั้นถัดมาอีก 1 ปี “เมื่อราวเดือนธันวาคม พ.ศ. 2483 ในสมัยเกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ระยะนี้นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ นายกเทศมนตรีนครธนบุรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นผู้อำนวยการป้องกันภัยทางอากาศส่วนท้องถิ่นนครธนบุรีและเป็นกรรมการกลางสงเคราะห์ประชากรและครอบครัวทหารยามสงคราม ได้นำพนักงานเทศบาลครูอาจารย์และนักเรียนเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งประชาชนชาวธนบุรีที่เข้าสมทบด้วย ไปที่ศาลเจ้าพ่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งตั้งอยู่ที่พระราชวังเดิมบริเวณโรงเรียนนายเรือ กระทำพิธีบวงสรวงอธิษฐานจิตเพื่ออัญเชิญให้สมเด็จเจ้าพ่อช่วยประเทศไทยให้ได้มาซึ่งดินแดนที่ต้องเสียไปคืน”

อย่างไรก็ตามเมื่อประเทศไทยถูกชักพาเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 กอปรกับเหตุที่รัฐบาลสลับสับเปลี่ยนชุดบริหารหลายครั้งหลายหนในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2484-90โครงการทั้งหมดข้างต้นจำต้องหยุดชะงักลงชั่วขณะ

ระยะที่ 3 ภายหลังสงครามยุติ ต่อเนื่องถึงกรณีสวรรคต จนนำไปสู่รัฐประหาร พ.ศ. 2490 ยังผลให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถพลิกฟื้นอำนาจกลับขึ้นมาเป็นผู้นำของชาติอีกครั้ง “เมื่อปี พ.ศ. 2491 นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ กับ นายเพทาย โชตินุชิต สองสมาชิกสภาเทศบาลนครธนบุรี ได้เข้าร่วมมือกันฟื้นฟูการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระผู้กู้ชาตินี้ให้บรรลุถึงจุดหมายอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นทั้งสองคนนี้จึงร่วมใจกันไปปฏิญาณตนที่ศาลเจ้าพ่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อันสถิตอยู่ในพระราชวังเดิม ณ โรงเรียนนายเรือ เพื่อยืนยันในการสร้างนี้ให้สำเร็จจงได้ ต่อมา เมื่อ นายเพทาย โชตินุชิต ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ธนบุรีใน พ.ศ.2492 ส.ส. เพทายได้รับการกระตุ้นเตือนจาก นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ จึงได้ขอแปรญัตติตัดยอดเงิน 200,000 บาท จากงบประมาณแผ่นดินเป็นทุนเริ่มแรกในการสร้าง”

ในที่สุด สภาผู้แทนราษฎรพร้อมทั้งคณะรัฐบาลอันมี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้มีความเคารพและเลื่อมใสในพระผู้กู้ชาติอยู่แล้วลงมติเป็นเอกฉันท์เป็นรายแรกในประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่อนุมัติเงินงบประมาณแผ่นดิน 200,000 บาท ให้เป็นทุนเริ่มแรก คณะอำนวยการได้รับการแต่งตั้งวันที่ 22 มีนาคม 2493 ซึ่งแน่นอนว่ามีรายชื่อนายทองอยู่ในนั้น และเริ่มหารือที่สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2493 อย่างไรก็ตามหลังมีมติว่าพระบรมรูปจะต้องขยายขนาดเป็น 2 เท่าครึ่งของตัวคน ทรงม้าประดิษฐานอยู่บนแท่นเสาใหญ่หล่อคอนกรีตความสูงประมาณ 15 เมตร ทั้ง 2 ด้านจารึกประติมากรรมรูปนูนข้างละ 2 กรอบรูป จะต้องสิ้นค่าใช้จ่ายเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท และมอบงานนี้ให้แก่กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบปั้นหุ่นซึ่งได้ตกถึงมือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งถอดแบบจากม้าตัวจริงของกรมทหาร ส่วนพระพักตร์อิงรูปหน้าจาก ทวี นันทขว้าง และ จำรัส เกียรติก้อง ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้เรี่ยไรเพิ่มจากประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ที่มีจิตศรัทธา

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลมติชน

#พระเจ้าตาก #วงเวียนใหญ่ #ประวัติศาสตร์ #ศิลปวัฒนธรรม #Emagazine #MatichonMIC

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ (Strictly Necessary Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้มีความสำคัญต่อการปฏิบัติการของเว็บไซต์ feedforfuture.co ซึ่งจะช่วยให้ท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ของเว็บไซต์เราได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนสมาชิกผู้ใช้งานของเว็บไซต์ ตลอดจนการตรวจสอบจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน เพื่อวิเคราะห์ และช่วยให้เราทราบถึงพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการใช้งานบนเว็บไซต์ของเรา

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาเข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้ในการบันทึก และจดจำคุณลักษณะต่างๆ ที่ท่านได้เลือกขณะเข้าชมเว็บไซต์ของเรา เช่น หมวดหมู่ และเนื้อหาที่ท่านชอบอ่านมากที่สุด เราจะบันทึกข้อมูลเหล่านี้ และนำกลับมาใช้เมื่อท่านกลับเข้ามาที่เว็บไซต์ของเราอีกครั้ง เพื่อปรับให้ท่านได้รับชมเนื้อหาได้ตรงกับความชอบของท่านให้มากที่สุด

  • คุกกี้เพื่อนำเสนอโฆษณาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย (Advertising Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ใช้เพื่อจดจำพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์ของท่าน รวมถึงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ท่านใช้ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์การนำเสนอโฆษณาที่เหมาะสมกับท่านมากที่สุด และช่วยวัดความมีประสิทธิผลของโฆษณาที่เรานำเสนอด้วย ตลอดจนช่วยป้องกัน หรือจำกัดจำนวนครั้งที่ท่านจะเห็นโฆษณาเดิมซ้ำๆ

บันทึก