ไต เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วเหลือง มี 2 ข้าง อยู่ด้านหลังใต้กระดูกชายโครงบั้นเอว ซ้ายขวาข้างละ 1 อัน มีหน้าที่ขับของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญอาหาร รักษาความสมดุลของน้ำ และเกลือแร่ในร่างกาย สร้างสารควบคุมความดันโลหิตกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด กำจัดสารพิษ สารเคมี รวมทั้งขับถ่ายยาออกจากร่างกาย

สัญญาณเตือนโรคไต ระยะเริ่มต้น ได้แก่ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะช่วงกลางคืนบ่อยครั้ง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีอาการบวมบนใบหน้าและเท้า เบื่ออาหาร มีอาการขมปาก – ขมคอ จนไม่สามารถรับประทานอาหารได้
โรคไต ในระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็น แต่ไม่ควรมองข้ามหากมีความเสี่ยงหรือพฤติกรรมที่เคยชินที่อาจส่งผลต่อการทำงานของไต เช่น รับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และมีโรคประจำตัว ดังนั้นเพื่อป้องกันสุขภาพการทำงานของไตจึงต้องมีการตรวจสุขภาพประจำปีหาความเสี่ยงของโรคไตในระยะเริ่มต้นเพื่อให้รักษาได้ทันท่วงทีและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง

พฤติกรรมทำลายไตที่ควรลดและเลี่ยง ได้แก่ กลั้นปัสสาวะ ดื่มน้ำไม่เพียงพอ รับประทานอาหารรสเค็มมากเกินไป รับประทานอาหารสำเร็จรูป ไม่รักษาอาการติดเชื้อทั่วไปอย่างถูกต้องในทันที รับประทานเนื้อสัตว์มากเกินไป ใช้ยาฉีดอินซูลิน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป พักผ่อนไม่เพียงพอ ใช้ยาระงับความเจ็บปวดบ่อยๆ และรับประทานอาหารไม่เพียงพอ
พฤติกรรมเหล่านี้หากปรับเปลี่ยนได้จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไต และหากตัวเราหรือคนใกล้ชิดมีอาการหรือความกังวลเกี่ยวกับโรคไต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และได้รับการตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียด

อ้างอิงข้อมูลจาก : ศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล