ด้วยพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไปของประชากรไทย ทำให้พบคนไทยที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่มีสาเหตุ เกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในโรคกลุ่มนี้ คือ “โรคตับคั่งไขมัน” หรือที่เรียกกันว่า “โรคไขมันพอกตับ” และปัจจุบันประชากรไทย ร้อยละ 25 – 30 เป็นโรคไขมันพอกตับโดยไม่รู้ตัว
โรคไขมันพอกตับ (fatty disease) เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากการสะสมไขมันในตับ และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดที่ทำให้ผลการตรวจการทำงานของตับผิดปกติเล็กน้อย โรคนี้มักไม่ทำให้เกิดการเจ็บปวด แต่บางครั้งจะบ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ
สาเหตุของโรคไขมันพอกตับสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
– จากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (alcoholic fatty liver disease) ความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับประเภท ปริมาณ และระยะเวลาที่ดื่มแอลกอฮอล์
– ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver disease) โดยมีผลจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกาย เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไวรัสตับอักเสบซี
– การรับประทานยาบางชนิดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะฮอร์โมน และสเตียรอยด์ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคไขมันพอกตับ
– โรคนี้มักพบในผู้ป่วยที่อ้วนลงพุง น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน น้ำหนักตัวมากเกิน
(ดัชนีมวลกายหรือ BMI 25-30) ประมาณร้อยละ 20 ของคนที่เป็นโรคอ้วนจะมีโรคไขมันพอกตับอยู่ด้วย
– ผู้ที่ตรวจพบโรคเบาหวาน
– ผู้มีภาวะไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง
– ผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากเกินไป
ภาวะไขมันพอกตับ แบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
– ระยะแรก เป็นระยะที่มีไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับ แต่ยังไม่มีการอักเสบหรือพังผืดเกิดขึ้นในตับ
– ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เริ่มมีอาการอักเสบของตับ ในระยะนี้หากไม่ควบคุมดูแลให้ดี และปล่อยให้การอักเสบดำเนินไปเรื่อยๆ เกินกว่า 6 เดือนอาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
– ระยะที่ 3 การอักเสบรุนแรง ก่อให้เกิดพังผืดในตับ เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลายลง
– ระยะที่ 4 เซลล์ตับถูกทำลายไปมาก ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป ทำให้ตับแข็ง และ
อาจกลายเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด
กุญแจสำคัญในการรักษาโรคไขมันพอกตับ คือ
การลดน้ำหนักให้ได้ 5 – 10% ของน้ำหนักตัว และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ
5 วัน คุมอาหาร หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น นม เนย กะทิ ชีส กุ้ง ปูไข่ ไข่แดง พร้อมหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแป้ง และน้ำตาลมากเกินไป ควรลดปริมาณอาหารลงในแต่ละมื้อ แต่ไม่ควรลดน้ำหนักด้วยการงดอาหาร หรือรับประทานผลไม้แทนมื้ออาหาร เนื่องจากทางการแพทย์พบว่าการรับประทานผลไม้มากเกินไปจะทำให้มีการสะสมน้ำตาลจากผลไม้มากจนสุดท้ายจะกลายเป็นไขมันในเนื้อตับ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง รวมทั้งทำให้ผู้ป่วยเบาหวานจะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี (ในกรณีที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาล หรือไขมันในเลือดสูง ที่ต้องควบคุมอาหาร หรือใช้ยาเพื่อทำให้ผลเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ)
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไขมันพอกตับโดยเฉพาะแต่การรักษาสามารถทำได้โดยวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ และพบแพทย์เป็นประจำ เพื่อติดตามการดำเนินของโรค
ที่มา : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์