สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า การวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Environmental Research ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์โปรตีนที่ผู้คนรับประทานกันทั่วไปในชีวิตประจำวัน พบว่า กุ้งชุบแป้งทอด คือเมนูที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนมากที่สุด โดยมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่โดยเฉลี่ย 300 ชิ้นต่อมื้อ
เมนูที่มีไมโครพลาสติกมากเป็นอันดับ 2 รองลงมาคือ นักเก็ตที่ทำจากพืช หรือแพลนต์เบส ซึ่งมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนไม่ถึง 100 ชิ้นต่อมื้อ ขณะที่อันดับ 3 คือ นักเก็ตไก่ ตามด้วยชิ้นปลาคลุกแป้งขนมปัง เนื้อกุ้งสด และปลาแพลนต์เบสคลุกแป้งขนมปัง


อย่างไรก็ตาม อาหารที่เป็นโปรตีนที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนน้อยที่สุดคือ อกไก่ เนื้อสันนอก และเต้าหู้ และเมื่อเปรียบเทียบผลข้อมูลการบริโภค นักวิจัยคาดการณ์ว่าผู้ใหญ่ในสหรัฐมีโอกาสได้รับไมโครพลาสติกโดยเฉลี่ยระหว่าง 11,000-29,000 ชิ้นต่อปี และอาจมากสุดถึง 3.8 ล้านชิ้นต่อปี

ขณะที่ในหมวดหมู่ผักและผลไม้ นักวิจัยพบว่า แอปเปิ้ล และแครอท คือผลไม้และผักที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกมากที่สุด มีมากกว่า 100,000 ชิ้นต่อกรัม โดยไมโครพลาสติกขนาดที่เล็กที่สุดถูกพบในแครอท แต่ไมโครพลาสติกชิ้นใหญ่ที่สุดถูกพบในผักสลัด ซึ่งถือเป็นผักที่ปนเปื้อนน้อยที่สุด


งานวิจัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าพบไมโครพลาสติกอยู่ในตัวอย่างเนื้อสัตว์และผักที่นำมาตรวจสอบราว 90% และผักหรือผลไม้สามารถดูดซับไมโครพลาสติกผ่านรากและนำสารเคมีต่างๆ ไปอยู่ในก้าน ใบ เมล็ด และตัวผลไม้
ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำถึงการที่เราจะลดการรับไมโครพลาสติกได้ ประการแรกคือหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ถูกเก็บอยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบพลาสติก และให้เลือกอาหารที่ถูกเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นแก้ว ภาชนะเคลือบ หรือฟอยล์ ประการที่สองคือสวมเสื้อผ้าหรือซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทำจากวัสดุที่มาจากธรรมชาติ ประการที่สาม อย่านำอาหารใส่บรรจุภัณฑ์พลาสติกไปอุ่นในไมโครเวฟ แต่ให้เลือกอุ่นอาหารด้วยเตาหรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นแก้ว ประการที่สี่คือรับประทานอาหารสดให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และลดการซื้ออาหารแปรรูปสูงที่ห่อในพลาสติก
ขอบคุณภาพ : www.freepik.com