นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการ อาบน้ำ ว่าการอาบน้ำเป็นกิจวัตรประจําวัน ไม่เพียงแต่ช่วยให้ร่างกายสะอาดและรู้สึกสดชื่น แต่ยังเป็นวิธีหนึ่งในการดูแลผิวพรรณให้ดีขึ้นอีกด้วย การอาบน้ำอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทราบ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและทำให้มีสุขภาพดี โดยเฉพาะเรื่องอุณหภูมิมีความสำคัญอย่างมากในการอาบน้ำ แบ่งเป็น

1. การอาบน้ำร้อน ที่มีอุณหภูมิประมาณ 37-42 องศาเซลเซียส จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และรู้สึกผ่อนคลาย เช่นเดียวกับการแช่ออนเซ็น แต่ไม่ควรอาบหรือแช่น้ำร้อนเกิน 15 นาที เนื่องจากอาจเกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ผิวแห้ง จึงควรทาครีมบำรุงผิวทุกครั้งหลังจากอาบน้ำ
2.การอาบน้ำอุ่น ที่มีอุณหภูมิประมาณ 27-37 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการอาบน้ำ ช่วยขับของเสีย ทำให้ผ่อนคลาย ลดอาการบวม มือเท้าเย็น เส้นเลือดขอด และช่วยในการไหลเวียนเลือด ทำให้ผ่อนคลาย สบายตัว และนอนหลับง่ายขึ้น ควรทาครีมบำรุงผิวทุกครั้งหลังจากอาบน้ำอุ่น เพราะน้ำอุ่นก็สามารถทำให้ผิวแห้งได้
3.การอาบน้ำเย็น ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส จะช่วยให้ร่างกายและกล้ามเนื้อตื่นตัว ทำให้รู้สึกสดชื่น มีงานวิจัยต่างประเทศระบุว่า การอาบน้ำเย็นยังสามารถลดอาการซึมเศร้า หดหู่ได้อีกด้วย ควรทาครีมบำรุงผิวทุกครั้งเช่นกัน เพื่อลดอาการผิวแห้งแตก

ด้าน พญ.ชนิศา เกียรติสุระยานนท์ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การอาบน้ำในแต่ละครั้งไม่ควรใช้เวลานานเกินไป โดยทั่วไปควรอยู่ประมาณไม่เกิน 5-10 นาที และไม่ควรอาบน้ำดึกเกินไป เพราะอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลในการปรับอุณหภูมิ ทำให้เกิดผิวแห้งและผิวขาดความชุ่มชื้น ส่วนความถี่ในการอาบน้ำปกติ แนะนำให้อาบน้ำวันละ 1-2 ครั้ง ไม่ควรอาบน้ำบ่อยจนเกินไป เพราะอาจทำให้มีอาการผิวแห้ง ระคายเคืองตามมาได้ และไม่ควรเว้นระยะห่างของอาบน้ำนานเกินไป เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางอย่าง เช่น ผิวหนังอักเสบติดเชื้อ หิด เหา หรือ โลน เป็นต้น
แหล่งที่มาและข้อมูล : ข่าวสด
ติดตามบทความสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่ FEED Life