เว็บไซต์ข่าว Nikkei Asia รายงานว่าในปีนี้พฤติกรรมการท่องเที่ยวของวัยรุ่นจีนเปลี่ยนไป หลายคนเริ่มหันมาท่องเที่ยวแบบ “Special force style” หรือท่องเที่ยวสไตล์กองกำลังพิเศษ ที่เน้นท่องเที่ยวให้ได้หลายที่มากที่สุด กินให้มากที่สุด โดยใช้เงินให้น้อยที่สุด ในเวลาสั้นที่สุดคือ 1-2 วัน
เทรนด์การท่องเที่ยวแบบวันเดียวเที่ยวให้เยอะที่สุดนี้ได้รับอิทธิพลมาจาก Xiaotiantian (บล็อกเกอร์ท่องเที่ยวชาวจีน) ที่เดินทางไปท่องเที่ยวที่ เมืองฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน ในเดือนพฤษภาคม 2566 และเธอได้โพสต์วิดีโอสั้นๆ ซึ่งเป็นคอนเทนต์ “กินทุกอย่างใน 24 ชั่วโมง” บนแอปไลฟ์สไตล์ของจีน โดยเธอกินทั้งชานมร้านดัง , ราเมงกุ้งรสเผ็ด , หม่าล่าฮอทพอท , เกี๊ยวเย็น รวมทั้งหมด 21 เมนู และคลิปวีดีโอของเธอก็มีผู้เข้าชมมากกว่า 110,000 ครั้ง
นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของการเดินทางแบบ “Special force style travel” ซึ่งคนหนุ่มสาวที่มีงบประมาณจำกัดในประเทศจีนจะรวบรวมอาหาร ความสนุกสนาน และที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในทริปสั้น เพียง 24 หรือ 48 ชั่วโมง
ส่วนเรื่องที่พักนั้น “ชาวกองกำลังพิเศษ” เลือกประหยัดงบด้วยการอาศัยสถานที่ หรือร้านอาหารที่ให้บริการ 24 ชั่วโมงอย่างร้านฮอตพอตไหตี่เลา อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือเลือกที่จะใช้เวลาช่วงกลางคืนไปกับการเดินทาง เช่น การนอนบนรถไฟ
การท่องเที่ยวแบบสั้นๆ เป็นที่นิยมมากขึ้นนี้มีต้นตอมาจาก “ความจำเป็น” มากกว่า “ความชอบ” เน้นประหยัด อัดทุกอย่างไว้ภายใน 1-2 วัน แต่ก็เป็นที่น่ากังวลเรื่องสุขภาพของนักท่องเที่ยวประเภทนี้ เพราะต้องเดินกันวันละหลายหมื่นก้าว
แถมบางคนยังต้องอดหลับอดนอน หลายคนจึงตั้งคำถามถึงความหมายที่แท้จริง ของการท่องเที่ยวแบบรีบไปรีบกลับนี้ โดยเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือนการนั่งชมดอกไม้จากบนหลังม้า หรือ ที่รู้จักในภาษาไทยว่า “ชะโงกทัวร์” นั่นเอง
ด้วยเหตุผลทางหน้าที่การงานของคนรุ่นใหม่ในจีนที่การลาพักร้อน หมายถึง การต้องชดเชยวันทำงานที่ขาดหายไป และแม้แต่การทำงานหนักก็ไม่ได้ทำให้มีเงินมากมาย งานมันหนักมากถึงขนาดที่ว่าแค่ได้พักสักนิด และออกไปสนุกสักหน่อยมันก็ดีมากแล้ว การท่องเที่ยวแบบมีความหมายเป็นเรื่องของคนรวย จึงเป็นสาเหตุที่ให้การท่องเที่ยวแบบกองกำลังพิเศษ เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าคนหนุ่มสาวสมัยนี้ไม่มีเงิน พวกเขาต้องการเดินทาง แต่ไม่ต้องการใช้เงิน ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกเดินทางแบบนี้
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบการท่องเที่ยวแบบนี้ แต่เป็นเพราะข้อจำกัดทางการเงิน ถ้าคนรุ่นใหม่ได้เงินเดือนมากกว่านี้ และมีเวลาลาพักร้อนมากกว่านี้พวกเขาก็คงใช้วันลาพักร้อนแบบ ไม่ต้องรีบร้อน และประหยัดขนาดนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก : nikkei