วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) กำหนดให้เป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก” โดยเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1987 เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนเห็นถึงอันตรายจากยาสูบ และยังระบุไว้ชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ จึงมีการกำหนดคำขวัญในการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในแต่ละปี และอนุสัญญาควบคุมยาสูบโดยแสดงโทษของยาสูบและแสดงภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ขึ้น สำหรับคำขวัญในวันงดสูบบุหรี่โลกครั้งแรกคือ “บุหรี่หรือสุขภาพต้องเลือกสุขภาพ“
นับตั้งแต่นั้นทุกวันที่ 31 พฤษภาคม หน่วยงานด้านสุขภาพในแต่ละประเทศต่างจัดกิจกรรมรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ โดยในปีนี้ พ.ศ. 2566 คำขวัญคือ “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติดอันตราย” ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยที่คนนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น และเน้นย้ำให้เห็นถึงอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้าสำหรับนักสูบหน้าใหม่
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดดอกไม้ประจำวันงดสูบบุหรี่โลกขึ้น ได้แก่ “ดอกลีลาวดี” ที่มีความหมายถึงการมีความสุข ซึ่งถูกนำมาใช้สื่อความหมายในวันลดสูบบุหรี่โลกว่าเป็นการกำจัดสิ่งไม่ดีให้ออกไป ชื่อเดิมของดอกลีลาวดี คือ “ดอกลั่นทม” แต่ก่อนไม่นิยมปลูกในบ้าน เนื่องจากเชื่อว่าจะนำแต่ความทุกข์ระทมเข้ามา แต่ภายหลังได้รับการตีความใหม่กลายเป็นดอกไม้ที่มีความหมายอันเป็นมงคล คำว่า “ลั่น” หมายถึง การเลิกหรือละทิ้ง ส่วน “ทม” หมายถึง ความระทม รวมกันจึงมีความหมายว่าการละทิ้งความทุกข์ระทมหรือการพบความสุขนั่นเอง
ยาเลิกบุหรี่
นอกจากการรณรงค์ไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่แล้ว เทคโนโลยีด้านการแพทย์ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง “พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์” ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมได้วิจัยและพัฒนายาเลิกสูบบุหรี่ชนิดใหม่ “ยาเม็ดไซทิซิน จีพีโอ” (1.5 มิลลิกรัม) เป็นรายแรกในประเทศไทย และจากที่ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ศึกษาวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ ผลการวิจัยมีความปลอดภัย และมีประสิทธิผลดี
ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการขออนุมัติทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเภทยาควบคุมพิเศษ ที่จำหน่ายได้ในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยองค์การเภสัชกรรม จะเริ่มผลิตจำหน่ายยาในเดือนมกราคม 2567
ในประเทศไทยมียา 5 รายการที่ใช้สำหรับเลิกบุหรี่ ได้แก่ ยาเม็ด Varenicline, ยาเม็ด Bupropion, นิโคตินทดแทน (Nicotine replacement therapy), ยาเม็ด Nortriptyline และยาชงสมุนไพรหญ้าดอกขาว ปัจจุบันมีเพียง 2 รายการ ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้แก่ ยาเม็ด Nortriptyline และยาชงสมุนไพรหญ้าดอกขาว
ปัจจุบันสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่จะได้รับยาเม็ด Varenicline หากเปลี่ยนมาใช้ยาเม็ดไซทิซิน จีพีโอ ในการรักษาแทนจะทำให้ประหยัดงบประมาณค่ายาต่อคอร์สและลดระยะเวลาในการรักษาได้ 3-4 เท่า รวมทั้งลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้ประมาณ 12 ล้านบาทต่อปี
โรคร้ายคร่าชีวิตคนไทย
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2564 พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่มากถึง 9.9 ล้านคน และเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร ถุงลมโป่งพอง และโรคหัวใจ ขณะที่ “นพ.แสนศักดิ์ ลิขิตพงษ์วิทย์” อายุรแพทย์โรคปอด ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์และพยาบาล รพ.บ้านแพ้ว บรรยายในงานมหกรรมสุขภาพเฮลท์แคร์ 2022 หัวข้อ “มัจจุราชเงียบ มะเร็งปอด ภัยร้ายที่รักษาได้” ไว้ว่า
สถิติมะเร็งที่พบบ่อยในไทย คือมะเร็งปอด ในผู้ชายเกิดเป็นอันดับ 2 ส่วนผู้หญิงอยู่อันดับที่ 5 กล่าวคือ ในประชากร 100,000 คน ผู้ชายมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงถึง 23 คน ส่วนผู้หญิง ประมาณ 10 คน ต่อ 100,000 คน
นพ.แสนศักดิ์ ลิขิตพงษ์วิทย์
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถิติสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2562 พบผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่วันละ 47 คน หรือ 17,222 คน/ปี (เพศชาย 10,766 คน และเพศหญิง 6,456 คน) ขณะเดียวกันมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวัน 40 คน หรือ 14,586 คน/ปี (เพศชาย 9,361 คน และเพศหญิง 5,225 คน) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจาก การสูบหรือรับควันบุหรี่ การสัมผัสสารก่อมะเร็ง (แร่ใยหินก๊าซเรดอน) รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ
สถานการณ์ผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ แต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ถึงวันละ 381 คน หรือ 139,206 คนต่อปี และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี
5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในชายไทย
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- มะเร็งตับและท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งปากมดลูก
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : https://feedforfuture.co/feed-read/14953/
แหล่งที่มาข้อมูล
- https://www.matichonweekly.com/scoop/article_625652
- https://www.prachachat.net/d-life/news-1307628
- https://www.prachachat.net/marketing/news-1307210
- https://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านสังคม/สาขาสุขภาพ/สำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร/2564/report_2501_64.pdf
- https://www.nhso.go.th/news/3893
- https://www.nci.go.th/th/File_download/fight_cancer/รู้สู้มะเร็ง.pdf
- https://ch9airport.com/%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2/